เบื้องหลัง "คุณหญิงกษมา" ทิ้ง "เก้าอี้" เลขาฯ กพฐ.


เบื้องหลัง "คุณหญิงกษมา" ทิ้ง "เก้าอี้" เลขาฯ กพฐ.

เบื้องหลัง "คุณหญิงกษมา" ทิ้ง "เก้าอี้" เลขาฯ กพฐ.
+โพสต์เมื่อวันที่ : 9 ต.ค. 2552

 somsakksn*กศน.อำเภอผาขาว

 

                    เหลือเวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนถึงวันที่ 26 ต.ค.ที่หนังสือลาออกของ “คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา” เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะมีผล ซึ่งทำให้เก้าอี้ตัวสำคัญของวงการการศึกษาไทยจะว่างลง วันนี้จึงถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ “เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน” จะได้มีโอกาสพูดคุยกับเลขาฯ กพฐ. ก่อนอำลาตำแหน่ง
       
       การทำงานที่ผ่านมาพบปัญหา อุปสรรคอย่างไร และมองทิศทางการศึกษาในอนาคตจะไปในทิศทางไหน ที่สำคัญ ผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ เลขาฯ กพฐ. คนใหม่ จะต้องเป็นมีคุณสมบัติอย่างไรนั้นคุณหญิงกษมามีคำตอบ
       
       **การทำงานในตำแหน่งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร...
       
       ดิฉันมีโอกาสทำงานหลายด้าน ที่นำไปสู่ประสบการณ์ในการทำงานครั้งต่อๆ ไป ซึ่งงานที่ทำแรกๆ คือ การรณรงค์ให้คนรู้หนังสือ เน้นหลักสูตรให้ผู้เรียนเป็นตัวตั้ง จนกลายมาเป็นพื้นฐานสู่การทำงานในระบบโรงเรียน โดยทำอย่างไรให้เด็กสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนสู่ชีวิตจริงได้ ทั้งนี้มีโอกาสเห็นเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบโรงเรียน ไม่รู้หนังสือ ในพื้นที่ห่างไกล เด็กมีปัญหาการเรียน เป็นจำนวนมากในตลอดระยะเวลาที่ทำงานมา ก็พยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อกำหนดทิศทาง กำหนดวิธีคิดให้สอดคล้องกัน พร้อมกันนี้ที่ผ่านมายังได้เรียนรู้งานจากผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หลายท่าน ที่คอยเป็นพี่เลี้ยงตอนเข้ามาใหม่ๆ และสิ่งที่ผู้ใหญ่สอนก็เป็นพื้นฐานที่ทำให้เราอยู่รอดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งแนวทางตรงนี้ก็จะถ่ายทอดไปสู่ข้าราชการรุ่นใหม่ต่อไป นอกจากนี้ งานที่ทำส่วนใหญ่จะเน้นลักษณะเครือข่ายเป็นสำคัญ และงานที่สร้างความภาคภูมิใจมากที่สุด คือ การมีส่วนร่วมในการผลักดันโครงการจัดทำห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ในท้องถิ่นที่ยากจน ตรงนี้ถือเป็นเแนวคิดที่สำคัญ คือสร้างความตระหนัก ความหลากหลายให้แก่ผู้เรียนได้เข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้การมีส่วนร่วมจริงๆ

 

 **สิ่งที่เรียนรู้จากผู้ใหญ่นำมาปรับใช้กับการทำงานอย่างไรบ้าง...
       
       ที่คิดว่าได้มาก คือ การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และเรื่องการลงไปดูพื้นที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง ถือว่าสำคัญเช่นกัน เพราะเมื่อออกไปดูสภาพจริงถึงแม้จะมีการปลูกผักชีอยู่บ้าง แต่หากเราลงไปดูมากๆ เราก็จะรู้ว่าอันไหนคือผักชี อันไหนคือของจริง ถึงจะปลูกผักชีแต่หากปลูกได้อย่างถูกต้องก็เป็นผลดีได้ เดี๋ยวนี้เวลามีปัญหา ตัดสินใจอะไรไม่ได้ก็จะบอกทีมงานเสมอว่าให้ลงไปดูพื้นที่จริง ซึ่งจะรู้ในแง่มุมที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
       
       **การทำงานที่ผ่านมาประสบปัญหาอะไรบ้าง....
       
       ดิฉันเชื่อว่าหากเราสะอาด โปร่งใส ตั้งใจจริง ปัญหาต่างๆ จะคลี่คลายได้ ทั้งนี้จุดอ่อนของการศึกษาบ้านเราในตอนนี้อยู่ที่การสื่อสารสู่สาธารณชน เพราะไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความรู้สึกในการมีบทบาทด้านการศึกษา เมื่อไม่สามารถสื่อสารให้คนเข้าใจถึงแก่นของความคิดในแต่ละเรื่องได้ หลายเรื่องจึงกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานไป
       
       **ในส่วนโครงการใน SP2 คิดว่าสิ่งไหนสำคัญและต้องเร่งดำเนินการเป็นอันดับแรก...
       
       ที่สำคัญคือ การพัฒนาครูทั้งระบบ ซึ่งทำได้ยาก แต่มีเสียงบ่นว่าเราจะตั้งมาตรฐานอย่างไร เพราะเชื่อว่าการฝึกอบรมแบบเหมาโหลคงไม่ได้ผล หากอยากดูว่าครูมีจุดอ่อน จุดเด่นต่างกัน ก็ต้องพุ่งไปในจุดที่เรายังขาด ดังนั้น จึงต้องมีกลไกติดตาม มีพี่เลี้ยงคอยดูแล แต่ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำไม่ง่ายเลย ในเรื่องผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนนั้น ตอนนี้เรามีข้อมูล จากเขตพื้นที่ที่มีผลประเมินทุกแห่ง ไม่มีโรงเรียนที่ไม่รู้ว่าผลสัมฤทธิ์เป็นอย่างไร แต่ปัญหาคือเราไม่สามารถสอนเด็กเรียนอ่อนให้เก่งขึ้นได้ สังคมสนใจแต่เด็กเก่ง ซึ่งกลุ่มที่ต้องดูแลมากที่สุดคือเด็กอ่อน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ การส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ และการรปรับระดับการสอนระหว่างเด็กอ่อน เด็กปานกลาง เด็กเก่ง ก็ถือว่ามีความมสำคัญ สำหรับความต้องการของเขตพื้นที่นั้นคือความพร้อมด้านครุภัณฑ์ อุปกรณ์ และสิ่งก่อสร้าง แต่ก็ต้องดูว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่ต้องการที่สุด และต้องทำอย่างโปร่งใสที่สุดเช่นกัน แต่สิ่งที่ถือว่ายากที่สุดก็คือการสร้างสำนึกรักษ์ความเป็นไทย ทุกคนเห็นด้วยในส่วนของเป้าหมาย แต่ความจริงเป็นนามธรรมมาก ต้องมีการช่วยเหลือกันของคนในพื้นที่อย่างมากเช่นกัน
       
       **มองการศึกษาไทยในอนาคตอย่างไร...
       

       ทิศทางที่วางไว้ตั้งแต่ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นโครงการใดก็ตามถือเป็นสิ่งที่จะสานต่อไปสู่อนาคตได้ ทั้งการยกระดับคุณภาพโรงเรียน ซึ่งเป็นความหวังของทุกรัฐบาล การลงทุนที่ตัวโรงเรียน พัฒนาครูทั้งระบบ การดึงคนมาเป็นครู หลักสูตรการผลิตครู การพัฒนาครูประจำการ หรือเรื่องวิทยฐานะ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น พร้อมทั้งการดึงการมีส่วนร่วมทั้ง พัฒนาห้องสมุด ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็จะทำให้อนาคตเด็กไทยดีขึ้น ช่วยลดช่องทางการศึกษาได้มากขึ้น

 

**ในส่วนของเก้าอี้เลขาธิการ กพฐ. ที่กำลังจะว่างลง มองว่าคนใน หรือ คนนอก จะมีความเหมาะสม...
       

       งานใน สพฐ.เป็นงานที่ซับซ้อน มีหลายหน้า ดูแลคนเยอะ ถ้าใครเข้ามาใหม่เพียงแค่เรียนรู้เกี่ยวกับคนก็เหนื่อยแล้ว ซึ่งคนที่จะมาเป็นเลขาฯ กพฐ. ต้องถึงขั้นว่าเพียงแค่หลับตา ก็สามารถนึกหน้าผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท.)ทั้ง185 แห่งออกทันทีว่าคนนั้น คนนี้เป็นคนอย่างไร ที่สำคัญต้องไร้ซึ่งอคติต่อกัน แต่หากเป็นคนนอกก็จะนำมุมมองใหม่ๆ เข้ามาในองค์กรมีแง่มุมใหม่ที่ดีขึ้น ความคิดจะได้ไม่ซ้ำซาก ทั้งนี้ที่สำคัญต้องเป็นคนที่เปิดฟังข้อมูลหลากหลาย ทันเกม หากไม่ทันก็อาจตกเป็นเครื่องมือของคนไม่หวังดีได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่มั่นใจ และภูมิใจอย่างมากคือทีมงาน สพฐ.ในปัจจุบัน โดยกล้าท้าเลยว่าเข้มแข็งมาก มีการวางตัวที่ถูกที่ถูกทาง และมั่นใจว่าหาก เลขาฯ กพฐ.คนใหม่เปิดใจรับฟังและให้โอกาส ก็จะได้อะไรดีๆ จากทีมงานตรงนี้ไปไม่น้อย
       
       **มีอะไรที่อยากฝากเลขาฯ กพฐ.คนใหม่ให้สานงานต่อบ้าง...
       
       เรื่องที่สำคัญตอนนี้คือเรื่องของ SP2 ซึ่งเป็นความหวังขององค์กรและเชื่อว่าคนในวงการศึกษาฝันเห็นมาช้านาน แต่ที่ผ่านมาไม่มีเงินเพียงพอเหมือนครั้งนี้ ซึ่งการได้เงินมามากก็ต้องช่วยกำกับไม่ให้มีช่องโหว่ ไม่ให้นำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่เหมาะสม เชื่อว่างานแค่นี้คนที่มาใหม่ก็แย่แล้ว ที่สำคัญคือต้องพร้อมได้รับการตรวจสอบ ไม่ให้เกิดข้อกังขาด้วย
       
       **มีกระแสข่าวการทุ่มซื้อเก้าอี้ เลขาฯ กพฐ. คิดเห็นอย่างไร...
       

       แหม..ไม่น่าจะมีใครทำอย่างนั้นนะ ทีแรกก็ยังงงอยู่เลย คิดว่าไม่ค่อยคุ้มค่า ใครคิดจะซื้อก็บอกไว้ก่อนเลยว่ามันไม่คุ้ม เอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า และโดยเฉพาะตัวของ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เองคงไม่มีใครกล้าทำเรื่องอย่างนี้ เพราะท่านเป็นคนตรงมาก เรื่องนี้จึงไม่น่าจะมีจริง อาจเป็นเรื่องโจ๊กที่พูดกันเฉยๆ จนกลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น
       
       **มีชื่อเลขาฯ กพฐ.คนใหม่อยู่ในใจบ้างหรือยัง ...
       
       มีอยู่แต่คงไม่พูด (หัวเราะ)... หลายคนขึ้นมาได้ และก็มาได้ดีซะด้วย แต่ตอนนี้คนที่รู้ที่สุดก็คงเป็นท่านรัฐมนตรี เพราะท่านทำงานใกล้ชิดกับทุกคน รับฟังข้อมูลมาเยอะ จึงไม่เป็นห่วงเลยกับเรื่องใครจะมานั่งเก้าอี้แทน เมื่อดิฉันหลีกทางให้แล้วก็ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดขอบของท่านรัฐมนตรีที่จะวางใครมาทำหน้าที่แทน ทั้งนี้สังคมจะช่วยตัดสินเองว่าดีหรือไม่ดี

 

**ดูเหมือนจะยังสนุกกับงานอยู่...
       
       (หัวเราะ)...จริงๆ ก็ยังสนุก แต่คิดว่าถึงเวลาแล้ว เพราะตอนนี้แก่เกินไปที่จะวิ่งงานเช้าจดเย็น การทำงานตรงนี้เราต้องพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง แต่ด้วยวัยขนาดนี้ก็น่าจะใช้ความแก่ไปทำอย่างอื่น เช่น งานเขียน วิเคราะห์ เจาะลึกรายละเอียด มากกว่าการลงมือเป็นผู้ปฏิบัติ จึงอยากพุ่งความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับเด็ก บทบาทของพ่อแม่ อย่างงานแรกที่จะทำหลังจากหมดหน้าที่ตรงนี้ คือจะจัดเวิร์คช็อบ ให้แก่คุณย่า คุณยายทั้งหลาย ในการดูแลหลานๆ สอนทำหนังสือทำมือเพื่อหลาน สอนเล่านิทาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้หากยังอยู่ในตำแหน่งก็ไม่สามารถทำได้
       
       **สิ่งที่จะทำต่อไปภายหลังจากหมดหน้าที่ตรงนี้...
       
       ตั้งใจจะช่วยพัฒนาโรงเรียนปีละโรง ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านทุน อาหารกลางวัน หนังสือ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งจะพยายามผลัดเปลี่ยนไปปีละแห่งตามโรงเรียนในต่างจังหวัด
       
       **สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงผู้ที่จะมารับตำแหน่ง เลขาฯ กพฐ...
       
       ยังมีงานอีกมากที่รอคอยการขับเคลื่อน ซึ่งเรื่องของงบประมาณถือว่าสำคัญที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่จะถูกติดตามตรวจสอบ และต้องทำคู่ขนานกันคือความคิด ที่ต้องสร้างความเข้าใจต่อสาธารณาชน ดังนั้น ผู้บริหารคนใหม่ต้องแบ่งเวลาให้พอดี มีทีมงานที่เข้มเข็ง ก็จะสามารถผ่านงานสำคัญตรงนี้ไปได้

 

 

 

 

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 ตุลาคม 2552 07:10 น.
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000119389

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 305109เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 06:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท