Bangkok Climate Change


ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

 วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11536 มติชนรายวัน


ปิดฉาก"บางกอก ไคลเมท เชนจ์" แล้วเจอกันที่บาร์เซโลน่า

คอลัมน์ บางกอก ทอล์ค 2009 28 ก.ย.-9ต.ค.  
 
วันสรุปสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด ของการประชุมเจรจาเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ บางกอก ไคลเมท เชนจ์ ทอล์ค ที่กรุงเทพฯ หลังจากวันที่ผ่านมา ตัวแทนจากประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงท่าทีออกมาค่อนข้างชัดว่า ไม่อยากให้แต่ละประเทศต้องมาลงนามเพื่อผูกมัดว่าใครจะต้องลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกเท่าใด อย่างไร ภายใต้พิธีสารเกียวโต แต่ต้องการให้แต่ละประเทศเสนอตัวเองออกมาเลยว่า ต้องการจะลดเท่าไร ท่ามกลางความไม่พอใจอย่างหนักจากตัวแทนของประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ จี 77 บวกประเทศจีน

การเจรจาในวันสุดท้ายเป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายคาด คือ หาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ ได้แต่โต้เถียง ต่อรอง แสดงท่าทีระหว่างกันเท่านั้น แต่ก็มีความคืบหน้าคือ ตัวแทนของกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมการเจรจารู้ว่าปัญหาในการเจรจาคืออะไร แต่ละประเทศต้องการอะไรบ้าง เพื่อจะได้นำไปหารือในประเทศของตัวเอง เพื่อจะไปเจรจาต่อที่ บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน ในอีก 3 สัปดาห์ ต่อจากนี้

นายโว เดอ บัว เลขาธิการองค์การสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ ในส่วนของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) แถลงว่า ผลที่ได้จากการเจรจาที่กรุงเทพฯเป็นเสมือนการก่ออิฐโบกปูน เพื่อใช้สำหรับการก่อสร้างที่โคเปนเฮเกนที่จะมีในเดือนธันวาคมนี้ ยอมรับว่ายังคงไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็นสำคัญที่ยังคงมีความเห็นขัดแย้งกันระหว่างภาคีสมาชิกอนุสัญญาฯ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการบังคับใช้ในทางปฏิบัติอยู่มาก
 
"เจตนาเบื้องต้นสำหรับการเจรจากรุงเทพฯ คือเพื่อให้การดำเนินการเรื่องโลกร้อนทำได้เร็วขึ้น ถึงจะมีความขัดแย้งกันบ้าง แต่มั่นใจว่า การประชุมเพื่อหาข้อสรุปสุดท้ายสุดที่ โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในเดือนธันวาคมนี้ ทุกคนบนโลกจะได้รับทราบพร้อมๆ กันอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลพวกเขาจะทำอะไรเพื่อป้องกันมหันตภัยโลกร้อน เวลานั้น ทุกคนทุกประเทศบนโลกจะต้องถอยออกมาจากผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อปกป้องโลก" นายเดอ บัวกล่าว

นายเดอ บัวกล่าวว่า เวทีเจรจาครั้งนี้ นับว่ามีความก้าวหน้าในประเด็นการปรับตัวรับมือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเสริมสร้างศักยภาพ รวมถึงสามารถตกลงกันได้ในประเด็นเชิงเทคนิค เรื่องการจัดการป่าไม้ และการใช้ที่ดินเพื่อบรรเทาวิกฤตโลกร้อน รวมถึงวิธีการประเมินศักยภาพของก๊าซเรือนกระจกตัวใหม่ๆ และหาทางเลือกที่จะทำให้กลไกซีดีเอ็มของพิธีสารเกียวโตใช้การได้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น แม้จะมีความก้าวหน้าเล็กน้อยในประเด็นการตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศอุตสาหกรรมในระยะกลาง เช่นเดียวกับเรื่องกลไกการเงินที่ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องให้มีเพื่อช่วยในการลดก๊าซฯ และปรับตัว

"ตัวอย่างที่ดีเรื่องนี้คือ การที่ประเทศนอร์เวย์ที่วันนี้ประกาศเป้าการลดก๊าซในประเทศอย่างต่ำ 40% ของระดับการปล่อยปี 1990 และต่อจากนี้ ผู้แทนเจรจาของประเทศต่างๆ มีเวลาอีก 3 สัปดาห์ ที่จะรวบรวมทิศทางจุดยืนจากภาคการเมืองของแต่ละประเทศต่อแต่ละประเด็นเจรจาไปเจรจาอีกครั้งที่บาเซโลน่า" นายเดอ บัวกล่าว

ดร.โจนาธาน เพอชิ่ง ผู้ช่วยผู้แทนพิเศษการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แห่งสหรัฐอเมริกา เปิดแถลงข่าว เพื่อชี้แจงประเด็นที่สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ถูกโจมตีว่า เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในโลก แต่ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไรเลย ว่าทีมงานเจรจาของสหรัฐอเมริกาพยายามทำงานอย่างหนักมากเพื่อเตรียมตัวสำหรับการมาพูดคุยที่กรุงเทพฯ รวมทั้งพยายามทำความเข้าใจสำหรับทุกประเทศที่มีความแตกต่างกัน

"ที่ผ่านมาเราก็เป็นที่ปรึกษาที่ดีกับประเทศที่ต้องการเราเสมอ ทั้งเรื่องการให้คำปรึกษาการประเมิน การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือแม้กระทั่งการตั้งกองทุน เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นเข้ามาใช้เงิน ให้เกิดประโยชน์กับการลดปัญหาโลกร้อน ยืนยันว่า เราให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนมาก เร็วๆ นี้เรากำลังจะออกกฎหมายในประเทศ ในกฎหมายฉบับนี้จะมีความชัดเจนอย่างมากว่า ในอนาคตเราจะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเท่าไร ภายในปีไหน ใช้งบประมาณเท่าไร ที่สำคัญคือจะมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเอาไว้อย่างหนักด้วย" ดร.โจนาธานกล่าว

สำหรับข้อสรุปอย่างเป็นทางการสำหรับคณะทำงานเฉพาะกิจ ด้านความร่วมมือระยะยาวภายใต้อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (AWG-LCA) มีประเด็นสำคัญที่จะนำไปเจรจากันต่อที่บาเซโลน่า คือ การลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องเป็นเท่าไร ใช้ปีไหนเป็นปีฐาน ลดด้วยวิธีอะไร การลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศกำลังพัฒนา จะใช้วิธีแบบตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศหรือไม่ แล้วจะเป็นแบบสมัครใจหรือบังคับ แล้วจะได้รับการสนับสนุนไหม อีกทั้งจะมีวิธีการวัดการลดอย่างไร กลไกการพัฒนาที่สะอาด (ซีดีเอ็ม) จะทำให้การดำเนินการทำได้ง่ายขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้นไหม อย่างไร จะมีโครงการประเภทใดได้บ้าง การลดก๊าซรายภาค มีการพูดถึงลดโดยภาคเกษตรและภาคการขนส่ง (การบินกับการเดินเรือ) ว่าควรมีมาตรการอย่างไร

สุดท้าย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรมในประเทศกำลังพัฒนา หรือ REDD คำจำกัดความ กลไกควรเป็นอย่างไร

แล้วทุกคนก็เก็บของกลับบ้าน เตรียมตัวเจอกันคราวหน้าที่ บาร์เซโลน่า

 

หมายเลขบันทึก: 305003เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2009 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท