ผลกระทบของอินเตอร์เน็ตที่มีต่อเด็ก


ผลกระทบของอินเตอร์เน็ตที่มีต่อเด็ก

ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของทุกคนทั่วโลก และแทรกซึมเข้าไปถึงตัวเด็กในวัยที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งอินเตอร์เน็ตนั้นมีประโยชน์มากมายเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร การศึกษาหาความรู้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฯลฯ แต่ก็มีผลกระทบต่างๆมากมายเช่นกัน เปรียบเสมือนดาบสองคม ผลกระทบของอินเตอร์เน็ตที่มีต่อเด็กนั้นมีหลายด้านทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสังคม มีดังนี้

                ลักษณะของผลกระทบทางด้านร่างกาย พบว่า เด็กที่ติดอินเตอร์เน็ตจะมีพฤติกรรมนอนดึก-ตื่นสาย ทำให้การพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้การหลั่ง Growth hormone ซึ่งหลั่งในเวลาหลับจะทำงานไม่เต็มที่ ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตช้า และส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็ก รวมถึงการที่เด็กนอนดึกนั้น ก็จะทำให้เด็กรู้สึกหิว จนต้องหาขนมกรุบกรอบรับประทาน และไม่มีกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมากในการเผาผลาญในช่วงเวลานั้น ส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักเกินมาตรฐานได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าเด็กมีอาการติด อินเตอร์เน็ต มาก เด็กก็จะไม่สนใจที่จะรับประทานอาหาร เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร เด็กก็จะหาขนมที่รับประทานง่ายๆ เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการเล่นอินเตอร์เน็ตส่งผลให้เด็กมีภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งส่งผลให้มีการเจริญเติบโตทางร่างกายที่ล่าช้า เพราะไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ โดยเด็กในวัยนี้มีพัฒนาการทางสมองยังไม่เต็มที่ จึงต้องการสารอาหารที่เหมาะสมกับวัย เพื่อกระตุ้นกระบวนการพัฒนาสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนที่ทำหน้าที่คิดเป็นเหตุเป็นผล เกิดปัญญา มีจินตนาการ มีความสามารถในการวิเคราะห์ ที่เรียกว่า Frontal Cortex ดังนั้น เด็กจึงถูกชักจูงได้ง่าย เช่น การถูกล่อลวงไปล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงพฤติกรรมความรุนแรงต่างๆ เช่น การกลั่นแกล้งกันทางอินเตอร์เน็ต (cyber bully)

                เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ในผู้หญิงที่อายุ 11 – 13 ปี จะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางร่างกายต่างๆ เช่น สะโพกผาย เสียงแหลมเล็ก เต้านมขยาย มีความรักสวยรักงามมากขึ้น ส่วนในผู้ชายที่อายุประมาณ 12 -14 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ส่งผลให้เด็กผู้ชายมีนิสัยท้าทาย ชอบเอาชนะ ชอบการแข่งขัน โดยผู้ชายจะเริ่มมองผู้หญิงด้วยความรู้สึกที่เปลี่ยนไปจากเดิม และผู้หญิงก็จะมองผู้ชายด้วยความรู้สึกตื่นเต้นแปลกใหม่เช่นกัน และเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง ดังนั้น เมื่อใช้ อินเตอร์เน็ต ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ดูสื่อลามกบวกกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้เด็กอยากทดลองมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย เช่น ท้องก่อนวัยอันควร ปัญหาการล่อลวง เป็นต้น

ในปัจจุบัน พบว่า มีโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ อินเตอร์เน็ต คือ โรคเสพติดอินเทอร์เน็ต IAD (Internet Addiction Disaster) หรือโรค Webaholic ทำให้ผู้เสพติดมีความต้องการในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตสูง มีอาการอยากใช้อินเทอร์เน็ตคล้ายคนติดเหล้าที่อยากกินเหล้า ( โรคพิษสุราเรื้อรัง) หรือคนติดยาเสพติดที่มีอาการอยากเสพยา มีความโหยหา ต้องการบ่อยๆ เมื่อว่างจะต้องหาโอกาสเข้าใช้อินเทอร์เน็ต เช่นต้องการเข้าไปแชท ต้องการสืบค้น แต่บางครั้งไม่รู้จะสืบค้นอะไร แชทหรือสืบค้นแบบไม่มีเป้าหมายชัดเจนในการค้นหาข้อมูล ขอเพียงให้ได้เข้าไปเล่นก็ผ่อนคลายอาการติดไปได้ระยะหนึ่ง

ลักษณะของผลกระทบทางด้านจิตใจและสังคม พบว่า เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่ต้องการการปรับตัว โดยอาศัยการเลียนแบบบุคคลที่ชื่นชอบ (identification) การเลียนแบบนอกจากจะเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมือนกับบุคคลที่ตนเลียนแบบ รวมถึงจะยึดค่านิยมและมีความรู้สึกร่วมกับบุคคลที่เราเลียนแบบด้วย โดยการเลียนแบบไม่จำเป็นจะต้องเลียนแบบจากบุคคลจริง (Psychoanalytic Theory ; Defense mechanism : Freud, 1856 - 1939) และการเลียนแบบนั้นก็ต้องอาศัยการเรียนรู้จากการสังเกต ซึ่ง อินเตอร์เน็ต เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ทางอ้อมของเด็กโดยอาศัยตัวแบบสัญลักษณ์(Symbolic Model) เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์  คอมพิวเตอร์ เป็นต้น(Social cognitive Theory ; Albert Bandura, 1989) ดังนั้น เมื่อ อินเตอร์เน็ต เป็นช่องทางการสื่อสารที่แพร่หลายและง่ายต่อการเข้าถึงเป็นอย่างมาก หากมีการกระทำใดๆ  ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ก็มักจะเป็นสิ่งดึงดูดให้เกิดการเลียนแบบตามได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้น อาจจะเป็นทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย เช่น การถ่ายคลิปเพี๊ยนๆ แปลกๆลง YouTube การถ่ายภาพของตัวเอง หรือการเผยแพร่ภาพของคนอื่น อันเป็นการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมใหม่ๆให้กับตัวของเด็กเองและสังคม  ซึ่งก่อให้เกิดความเสื่อมเสียตามมามากมาย

เด็กวัยนี้จะใช้เหตุผลในการเลือกกระทำสิ่งที่กลุ่มยอมรับ เพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบและเป็นที่ยอมรับของเพื่อน ไม่เป็นตัวของตัวเอง คล้อยตามการชักจูงของผู้อื่น เพื่อต้องการรักษาสัมพันธภาพที่ดี (พัฒนาจริยธรรมของโคลเบิร์ก ; Interpersonal Concordance or Good boy-Nice girl Orientation : Kohlberg) ดังนั้น เมื่อเด็กเห็นเพื่อนมีสังคมทาง อินเตอร์เน็ต กัน เด็กจึงรู้สึกอยากมีส่วนร่วมและอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม จึงเป็นสาเหตุให้เด็กเข้าหา อินเตอร์เน็ต ได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกัน เมื่อเด็กใช้ อินเตอร์เน็ต ในระยะเวลานานๆ ก็จะทำให้เกิดอาการติด จนกลายเป็นอยู่แต่กับสังคมของโลก cyber ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลอื่นๆ โดยเฉพาะครอบครัว ทำให้ความเข้าใจน้อยลง เกิดความขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้น

                ด้านภาษายังเป็นอีกด้านหนึ่งที่อินเตอร์เน็ตมีอิทธิพลอย่างมาก โดยมาจากการพิมพ์สนทนากันผ่าน Chat หรือ MSN ที่เรียกกันว่า ภาษาวิบัติ ซึ่งคือ ภาษาที่ถูกแปลงมาจากคำในภาษาเดิม ให้สามารถเขียนได้ในรูปลักษณ์ใหม่ หรือไม่ก็คิดกันขึ้นมาใช้เองหรือใช้เฉพาะกลุ่ม ซึ่งโดยส่วนใหญ่ภาษาวิบัตินี้มักจะผิดหลักในการเขียนอยู่เสมอ ถ้าจะให้แยกแยะได้ง่ายๆ คำที่ไม่อยู่ในพจนานุกรม และไม่เป็นไปตามกฏของหลักภาษาไทย ซึ่งเด็กหลายคนหันมาใช้เนื่องจากเป็นภาษาที่พิมพ์ได้ง่าย หรือเพื่อแสดงอารมณ์ต่างๆในการสนทนาให้มีสีสันมากยิ่งขึ้น

                ดังนั้น การใช้อินเตอร์เน็ตจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนอย่างมาก เพราะจากที่กล่าวข้างต้นว่า อินเตอร์เน็ตนั้นมีประโยชน์มากมาย แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราใช้ไปในทางที่ผิด ผลเสียที่ได้กลับมานั้น ก็ทวีความรุนแรงได้มากมายเช่นกัน และในขณะที่เราไม่สามารถควบคุมความก้าวไกลของการสื่อสารที่ไร้พรมแดนได้นั้น เราจึงต้องหันมาจัดการกับตัวบุคคล ซึ่งก็คือ ตัวเด็ก โดยทุกฝ่ายต้องมีความร่วมมือและตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตนอยู่ร่วมกัน

 

 

 

 

นางสาวเบญจรัตน์ นุชนาฏ์

นางสาวนัตตา ประทีปชัยกูร

นางสาวจิรารัตน์ สุพร

 นักศึกษาสาขาพัฒนาการมนุษย์

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

คำสำคัญ (Tags): #internet
หมายเลขบันทึก: 304755เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท