ผลกระทบของสื่อโทรทัศน์ต่อเด็กช่วงอายุ 3 - 12 ปี


ผลกระทบของสื่อโทรทัศน์ต่อเด็ก

ผลกระทบของสื่อโทรทัศน์ต่อเด็กช่วงอายุ 3-12ปี

        โทรทัศน์เป็นสื่อที่คนเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะมองไปทางไหน บ้านทุกหลังก็จะต้องมีโทรทัศน์ไว้สำหรับรับข่าวสารข้อมูล กล่าวได้ว่า โทรทัศน์มีความจำเป็นสำหรับชุมชนเมือง โทรทัศน์ถือเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อทุกคนเป็นอย่างมาก ถือเป็นสื่อระดับต้นๆที่คนบริโภคในแต่ละวัน เพราะมีทั้งภาพและเสียง สามารถดึงดูดความสนใจของคนได้ โดยเฉพาะในวัยเด็ก ที่สามารถรับรู้โดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการตีความ ในแต่ละช่วงวัยของเด็กจะต้องมีการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องกัน    ดังนี้

           ลักษณะของวัยเด็กตอนต้น ( อายุ 3-6 ปี ) : วัยแห่งการสำรวจ เด็กจะมีสมรรถภาพในด้านการคิด สติปัญญา รวมถึงภาษา วัยเด็กตอนต้นอยู่ในขั้นที่ 2 ของพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียร์เจต์ ซึ่งจะเรียกว่าขั้นก่อนปฏิบัติการ(Preoperational stage) เด็กมีการพัฒนาจากการกระทำที่ใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวจากวัยทารกมาเป็นการใช้สัญลักษณ์ เด็กจะเข้าใจและเรียนรู้การใช้สัญลักษณ์แทนสิ่งต่าง ๆ ได้ จึงเรียนรู้ภาษาได้อย่างรวดเร็ว สามารถสร้างภาพแทนสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาในใจได้ นั่นคือ เด็กเริ่มมีการคิดจินตนาการได้ แต่อย่างไรก็ตาม การคิดการเข้าใจของเด็กวัยนี้ก็ยังมีลักษณะที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง และไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ในหลากหลายมิติไปพร้อม ๆ กัน ทำให้การคิดมีลักษณะที่ยังไม่สมบูรณ์ตามความเป็นเหตุและผลที่ถูกต้องได้ เด็กจะสามารถเล่นแบบสมมุติ ( make believe play) แสดงให้เห็นถึงว่าเด็กสามารถเลือกวัตถุและจินตนาการถึงตัวแทนที่ตนเองต้องการได้ การคิดของเด็กวัยนี้ขึ้นอยู่กับการรับรู้ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน  เริ่มเรียนรู้การพูดและพัฒนาภาษา รวมถึงการเรียนรู้ที่จะสร้างการแสดงออกทางด้านอารมณ์ของตนเองกับพ่อแม่หรือคนอื่นๆ

           ลักษณะของวัยเด็กตอนปลาย ( อายุ 6-12 ปี ) : วัยเข้ากลุ่มเพื่อน เด็กจะมีการพัฒนาด้านสติปัญญาอยู่ในขั้นปฏิบัติการคิดรูปธรรม (Concrete operational stage) ของพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียร์เจต์ ซึ่งเด็กสามารถใช้เหตุผลคิดวิเคราะห์ได้ เรียนรู้ทักษะการเข้าสังคมเพราะต้องการเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเพื่อน  และการพัฒนาความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จริยธรรมและค่านิยม

           สถานการณ์ผลกระทบในเด็กไทย จากงานวิจัยของเอแบคโพลล์ในปี 2546 เรื่อง ผลกระทบสื่อโทรทัศน์ต่อเด็ก พบว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง สังเกตว่ารายการโทรทัศน์มีผลต่อพฤติกรรมของเด็กในระดับปานกลางค่อนไปทางมาก ตั้งแต่การซื้อสินค้าตามโฆษณา การเลียนแบบท่าทางในการ์ตูน การเลียนแบบทั้งการแต่งตัว คำพูดก้าวร้าว ใช้คำด่า ด้านความรุนแรง ชกต่อย ตบตี  นอกจากนี้ พ่อแม่ยังกังวลเรื่อง เซ็กส์ล้นจอ ซึ่งมาจากหนังต่างประเทศ ละครก่อนข่าว/หลังข่าว การ์ตูนญี่ปุ่น/ฝรั่ง มิวสิควีดีโอ และการแต่งตัวของพิธีกรตามลำดับ ซึ่งพฤติกรรมทางเพศที่มักพบในโทรทัศน์ที่จะส่งผลต่อเด็ก ได้แก่ การแต่งตัววาบหวิว ค่านิยมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การแสดงออกทางเพศในที่สาธารณะ

            การที่เด็กซึ่งอยู่ในช่วงวัยที่สมองกำลังมีพัฒนาการทางด้านภาษาสูงสุด  คือในช่วงวัยตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป   เป็นช่วงที่เด็กจะเริ่มหัดฟังและเรียนรู้ที่จะพูด   เริ่มส่งเสียงอ้อแอ้  และต้องการการตอบรับจากคนรอบข้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านภาษา  แต่การที่ให้เด็กนั่งดูโทรทัศน์ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว (One-way Communication) อาจยิ่งส่งผลให้เด็กที่พัฒนาการทางด้านภาษาช้าเนื่องจากไม่ได้มีความจำเป็นที่จะโต้ตอบทางภาษา เด็กวัยนี้ยังต้องเรียนรู้ผ่านการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) ขณะดูโทรทัศน์ผู้ปกครองควรพยายามชี้ชวนพูดจาซักถามเด็ก เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางภาษา  นอกจากนั้นโทรทัศน์ นำเสนอเพลงที่มีการใช้ภาษารุนแรง และภาษาวัยรุ่น ทำให้เกิดค่านิยมการใช้ภาษาผิดๆได้

            การโฆษณาขนมขบเคี้ยวที่ล่อตาล่อใจเด็ก ทำให้เด็กติดขนมถุง และอาจส่งผลต่อภาวะโภชนาการทั้งโรคอ้วนเพราะได้รับปริมาณไขมันเกิน หรือเด็กอาจเกิดภาวะขาดสารอาหาร เพราะทานขนมจนอิ่ม และทานอาหารหลักได้น้อย ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบหมู่

            ในด้านพัฒนาการทางด้านการรับรู้และการรู้คิดของเด็ก เด็กที่ดูโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ เด็กจะเกิดเรียนรู้ ซึมซับ เลียนแบบตามพฤติกรรมที่ไม่ดีและสร้างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ละครไทย เด็กดูละครที่ตัวร้ายมีพฤติกรรมที่ส่อถึงความรุนแรง ผิดศีลธรรมและได้รับผลดีในตอนแรกๆ เด็กจะเข้าใจว่าสิ่งที่ผิดๆนั้น ทำแล้วได้ผลดี เด็กก็อาจเกิดพฤติกรรมเลียบแบบได้เลย โดยที่เด็กอาจไม่ได้สนใจว่าในตอนจบพฤติกรรมที่ผิดๆจะส่งผลเสียอย่างไร เพราะเด็กจะรับรู้แค่สิ่งที่ตนเองเห็นเท่านั้น

             การนำเสนอข่าวทางลบซ้ำๆมากจนเกินไป ทำให้เด็กเรียนรู้และเลียนแบบสิ่งไม่ดี กรณีที่เด็กมีครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ถูกเพิกเฉยละเลยจากผู้ปกครอง เด็กจะรู้สึกอยากเรียกร้องความสนใจ อยากได้รับการยอมรับจากเพื่อนหรือคนอื่นๆ จึงหันมาทำพฤติกรรมที่ไม่ดี เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคมและถ้าได้รับการตอบสนอง เช่น มีการนำเสนอข่าวที่เป็นกระแส การได้รับการยอมรับ การยกย่องจากกลุ่มเพื่อน  เด็กจะรู้สึกเหมือนการได้รับรางวัล ได้ถูกตอบสนองความต้องการของตน สามารถทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำๆ ขึ้นอีกได้ เด็กในช่วงวัย10ปีขึ้นไปการตัดสินถูกผิดของการกระทำจะอยู่ที่ผลประโยชน์ที่บุคคลนั้นจะได้รับ หากกระทำสิ่งใดแล้วได้รับรางวัลหรือได้รับสิ่งที่น่าพึงพอใจ เด็กก็จะตัดสินว่าเป็นการกระทำที่ถูกหรือควรทำ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องของสังคม (พัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก; Instrumental Relativist Orientation)

             ตามทฤษฎีของแบนดูรากล่าวว่าการเรียนรู้ของคนไม่จำเป็นต้องดูในแง่ของการแสดงออกเท่านั้น เพียงแค่ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้แล้ว และเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสมการแสดงออกจึงอาจมีขึ้นได้ เช่น เด็กที่ได้เห็นตัวอย่างการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวจากละครอยู่บ่อย ๆ เด็กอาจไม่ได้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกให้เห็นทันที แต่เมื่ออยู่ในสภาพการณ์ที่เล่นกับเพื่อน ๆ แล้วไม่พอใจ เด็กก็อาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวที่ตนเคยได้เห็นอยู่บ่อย ๆ นั้นออกมาต่อเพื่อนได้ การเรียนรู้นั้นเกิดได้จากการสังเกตตัวแบบ ซึ่งสื่อโทรทัศน์จัดเป็นตัวแบบสัญลักษณ์ที่ส่งผลต่อการสร้างพฤติกรรมของเด็กได้ (Socail Cognitive Theory; Albert Bandura )

                การเสนอมิวสิกวีดีโอของเพลงที่มีเนื้อหารุนแรง ส่งผลต่อเด็กที่มีพัฒนาการทางอารมณ์ไม่สมบูรณ์ ทำอะไรโดยขาดความยั้งคิด เช่น เด็กวัยรุ่นที่อกหัก ดูมิวสิกวีดีโอเพลงที่ตัวละคนอกหักแล้วพยายามฆ่าตัวตาย เด็กอาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตายตาม   

                นอกจากนั้นพ่อแม่ที่ใช้โทรทัศน์เลี้ยงลูก อาจส่งผลให้เด็กมีสมาธิสั้น เนื่องจากภาพในโทรทัศน์เป็นภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจเด็กได้ดี ก่อให้เกิดลักษณะนิสัยที่ไม่อยู่นิ่ง ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆได้ ส่งผลให้เด็กสมาธิหลุดเวลาเรียนหนังสือ มีความลำบากในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิเป็นเวลานาน ขาดความอดทน

                จากการศึกษาวิจัยพบว่า เด็ก 60% ดูทีวีโดยไม่มีผู้ใหญ่แนะนำ เด็กจะเปิดรับสื่อได้เต็มที่โดยไม่มีการแยกแยะไตร่ตรอง  เด็กจะไม่สามารถแยกแยะถูกผิดว่าสิ่งใดควรทำไม่ควรทำ

                ดังนั้นเมื่อเราไม่สามารถที่จะควบคุมการผลิตสื่อได้ ก็จะเป็นบทบาทของผู้ปกครองที่จะเลือกสื่อที่สร้างสรรค์และเหมาะสมกับวัยของเด็ก และควรพูดคุย แนะนำบุตรหลานของตนเพื่อแยกแยะความเป็นจริงกับจินตนาการของภาพในโทรทัศน์ เพราะเด็กจะมีความสามารถในการรับรู้ เรียนรู้ และเลียนแบบสิ่งรอบตัวได้อย่างรวดเร็ว เด็กมักจดจำและทำตามทันที โดยแสดงออกมาในคำพูดและการกระทำอย่างชัดเจน เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีการแสดงออกอย่างเปิดเผย เพราะฉะนั้นความเหมาะสมของการได้รับเนื้อหาสาระจากสื่อโทรทัศน์สามารถช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆได้เป็นอย่างดี

 

โดย              

น.ส.อุสา               บุญเพ็ญ

น.ส.ชุตินาถ         ทัศนานุพันธ์

น.ส.บุษกร            โยธานัก

หมายเลขบันทึก: 304665เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 02:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครับสถานการน่าเป็นห่วง ตอนนี้วัย30-50 ก้อน่าห่วง ติดละคร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท