การถ่ายทอดทางสังคมในการทำงาน (Work Socialization)


เหตุใดจึงถูกหล่อหลอม

                        การถ่ายทอดทางสังคมในการทำงาน

 

ความหมายของการถ่ายทอดทางสังคมในการทำงาน

       การถ่ายทอดทางสังคมในการทำงาน  (Work  Socialization) เป็นกระบวนการของการถ่ายทอดความรู้ในวัยผู้ใหญ่   เพื่อให้สมาชิกเกิดความรู้และทักษะในการอาชีพนั้น ๆ  รวมทั้งมีบุคลิกภาพตามบทบาทในการทำงาน  มีเอกลักษณ์และความยึดมั่นผูกพันในอาชีพ  กระบวนการนี้รวมถึงการที่บุคคลซึมซับวัฒนธรรมของอาชีพ   ค่านิยม   บรรทัดฐาน   และจริยธรรมของอาชีพของตน  รวมทั้งยกเลิกลักษณะบางอย่างทางสังคมที่เขามีอยู่  และเกิดลักษณะบางอย่างทางสังคมที่ถูกยึดถือโดยสมาชิกในอาชีพนั้น ๆ  (อ้อมเดือน  สดมณี.2542 ; อ้างอิงจาก Stryker.1978)

พื้นฐานของทฤษฎีกระบวนการถ่ายทอดทางสังคมในการทำงาน

                แนวคิดในทางสังคมวิทยา  ได้มีการกล่าวถึงตน  (Self)  ในทางสังคมมนุษย์ไว้ว่า  มีการเริ่มพัฒนาจากคนอื่นที่บุคคลนั้นได้ไปสัมผัสและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน  โดยเริ่มจากครอบครัวเป็นแหล่งแรก  ต่อมาคือ  สังคมที่ตนเองเป็นสมาชิก   สถาบันและวัฒนธรรมแวดล้อมที่เติบโตขึ้นมา  ได้แก่  โรงเรียน   สื่อมวลชน  และสิ่งอื่น ๆ มากมายที่รายล้อมรอบตัวเราอยู่  ล้วนมีส่วนส่งเสริมให้เป็นพัฒนาการไปสู่ความเป็นเอกบุคคล 

                นักจิตวิทยาสังคมได้ตั้งทฤษฎีการปฏิสังสรรค์ (interaction)  ระหว่าง  ตน  กับ  บุคคลนัยสำคัญ (Significant  Others)  โดยกล่าวถึงพัฒนาการของตนที่มีผลกระทบมาจากบุคคลนัยสำคัญและคนอื่น ๆ  (Generalized  Others)  ที่ช่วยก่อรูปร่างของบุคคล  (Self)  นับตั้งแต่พ่อแม่  เพื่อน  หรือบุคคลอื่น ๆ  ซึ่งมีส่วนสำคัญในระยะแรกของชีวิต  และสังคมแวดล้อมที่ขัดเกลาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตตลอดไป  (อ้อมเดือน  สดมณี.2542 ; อ้างอิงจาก Mead.1934)  ต่อมา  ไฮแมน  (อ้อมเดือน  สอมณี.2542 ; อ้าอิงจาก Hyman)  ได้สร้างมโนทัศน์ของกลุ่มอ้างอิง (Referance  Group)  ขึ้นและใช้มโนทัศน์นี้แยกจากกลุ่มที่เป็นสมาชิก    (Membership Group)  ในความหมายที่ว่า  กลุ่มอ้างอิงเป็นกลุ่มที่บุคคลใช้เป็นฐานเปรียบเทียบสำหรับการประเมินค่าตนเอง   ซึ่งตนเองอาจไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มอ้างอิงนั้นก็เป็นได้  เพราะทฤษฎีเกี่ยวกับการถ่ายทอดทางสังคมแต่เดิมนั้นมุ่งเน้นที่อิทธิพลของกลุ่มที่เป็นสมาชิก  แต่แท้จริงแล้วบุคคลอาจมีทัศนะอย่างอื่นที่ได้มาจากกลุ่มอื่นซึ่งตนมิได้เป็นสมาชิก  แต่อาจมีอิทธิพลต่อความคิดและการประเมินค่าของตนเอง   นอกจากนี้ยังมีนักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ  ซึ่งนิวคัมได้ให้ความสนใจกับกลุ่มอ้างอิง  โดยได้ตั้งแนวคิดไปถึงกลุ่มอ้างอิงเชิงบวก  (Positive Reference Group)  และกลุ่มอ้างอิงเชิงลบ  (Negative Reference Group)   ตัวอย่างเช่น  คนที่มาจากครอบครัวที่ยากจนจะใช้ชนชั้นกรรมาชีพเป็นกลุ่มอ้างอิงเชิงลบ  เนื่องจากเขาไม่ชอบกลุ่มที่เขาเป็นสมาชิกอยู่และปรารถนาจะไปอยู่ชั้นที่สูงกว่า  ซึ่งเป็นกลุ่มอ้างอิงเชิงบวก  ต่อมานักจิตวิทยาสังคมหลายท่านได้ใช้แนวคิดนี้ไปตั้งทฤษฎีกลุ่มอ้างอิง  (Reference Group)  ซึ่ง Robert  Merton (งามพิศ  สัตย์สงวน.2546) ได้พูดถึงกลุ่มอ้างอิงว่าบุคคลทำตามบรรทัดฐานของกลุ่มที่เขาหวังจะเป็นสมาชิก  และต้องการแสดงว่าเป็นพวกพ้องเดียวกัน  ส่วนเฟสติงเจอร์  ซึ่งสนใจในแนวคิดนี้ได้สร้างทฤษฎี  การเปรียบเทียบทางสังคม  (Social  Comparison)  และเสนอว่า บุคคลมีความโน้มเอียงไปในทางที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้กันทั้งในด้านสถานภาพ  หรือด้านความรู้ความสามารถ  ซึ่งกระบวนการเปรียบเทียบทางสังคมได้รับความสนใจในรูปของกลุ่มอ้างอิงเป็นอย่างมาก  ซึ่งกลุ่มอ้างอิงนี้ได้สนองตอบการศึกษา  2  ประการคือ  1 ) เป็นกลุ่มบรรทัดฐาน  (Normative  Group)  และ2)  เป็นกลุ่มเปรียบเทียบ  (Comparison  Group)  เพื่อปรับเป็นหลักมาตรฐานสำหรับการประเมินตนเอง   ซึ่งฮิวและแคนโด  กล่าวว่า  คนอื่นที่อ้างอิงถึงนั้นมีความหมายต่างๆ กันไป  และในแง่ของ The  profession-others  มักเป็นบุคคลนัยสำคัญซึ่งชี้นำพฤติกรรมการปฏิบัติทางด้านอาชีพ     

                สำหรับแคทซ์และคาห์น (อ้อมเดือน สดมณี.2542 ;  อ้างอิงจาก Katz  &  Kahn. 1978 : 377-378)  ศึกษาการถ่ายทอดทางสังคมด้านอาชีพ  ได้แบ่งการถ่ายทอดทางสังคมอาชีพ  (Occupation  Socialization)  และการเป็นสมาชิกขององค์การในสังคมออกเป็น  3  องค์ประกอบ  คือ

                1.    การถ่ายทอดทางสังคมในระยะแรก (Early  Socialization)  เป็นการถ่ายทอดในวัยเด็ก  เป็นกระบวนการภายในครอบครัว  เป็นการสร้างภาพตัวเองและการเป็นบุคลที่เป็นสมาชิกที่ดีของบุคคล

                2.    การถ่ายทอดล่วงหน้า  (Anticipation  Socialization)  เป็นการถ่ายทอดและฝึกให้รู้จักบทบาทในวัยผู้ใหญ่ในด้านต่างๆ  ก่อนที่จะเข้าสู่บทบาทนั้นอย่างเต็มตัวตามกระบวนการที่กำหนดไว้  โดยการถ่ายทอดความรู้  บรรทัดฐานและคุณค่า  ภายในระบบการศึกษาและเป็นการเตรียมสมาชิกให้เข้าสู่สมาชิกขององค์การต่างๆ

                3.    การถ่ายทอดเพื่อสู่สมาชิกขององค์การในสังคม  (Socialization Practice of Organizations)  กระบวนการนี้เกิดภายหลังจากบุคคลเข้าสู่ภาวะสมาชิกขององค์การแล้ว  องค์การจะเตรียมการฝึกและอบรมให้ยอมรับกฎ  ระเบียบ  วินัย  ตลอดจนเป้าหมายขององค์การจนทำให้สมาชิกองค์การผู้นั้นยอมรับองค์การ  และแสดงตนเป็นฝ่ายขององค์การ (Identification with the organization) 

                โดยสรุป  เนื้อหากระบวนการถ่ายทอดทางสังคมโดยทั่วไป  คือการหาความรู้และประสบการณ์ที่เป็นความชำนาญเกี่ยวกับบุคลิกภาพเด่นที่เปลี่ยนไปภายในขอบเขตของหัวข้อใหญ่  5  ประการ  คือ

                1.    ชนิดของสถานภาพ  บทบาท  และบุคลิกภาพทางสังคมที่ผู้อยู่ในสถานะนั้น  หรือกำลังจะเข้าสู่สถานะนั้นเรียนรู้ภายในบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้อง

                2.    พฤติกรรม  การแสดงออก  ลักษณะนิสัย  และความเชื่อของแต่ละกลุ่มคน  มีลักษณะเฉพาะและถ่ายทอดกันอยู่ในสังคมแต่ละสังคมนั้น ๆ

                3.    พฤติกรรม  การแสดงออก  ลักษณะนิสัย  และความเชื่อมีรากฐานที่ก่อให้เกิดลักษณะเฉพาะทางสังคมตามแบบของแต่ละสังคมนั้น ๆ

                4.    การกระทบโต้ตอบกันในทางสังคม  หรือการกระทำตอบกลับตามความคาดหวัง  (Expected  Reaction)  ที่ผู้อื่นจะกระทำต่อกันนั้นเป็นไปตามแบบแผนที่กำหนด

                5.    ระเบียบแบบแผนทางสังคม  เช่น  บรรทัดฐาน  ความยึดมั่นผูกพัน  ความซื่อสัตย์  ระบบต่างๆ  ที่เกี่ยวโยงกัน

                จากทั้งหมดเห็นได้ว่าองค์การ หรือองค์กรที่เราเข้าไปอยู่นั้น  เราท้กคนจะถูกขัดเกลา ทั้งนี้เราควรเลือกแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาสู่ตัวเรา  พฤติกรรมบางอย่างที่มีอยู่ในองค์การนั้น ถ้าเป็นพฤติกรรมที่ไม่สร้างสรรค์เราก็ไม่ควรเลียนแบบ เช่น  การนินทา   การใส่ร้ายป้ายสี นอกจากจะทำให้บุคลิกภาพของเราไม่ดีแล้ว  ยังทำให้ผิดศีลข้อ ๔ ซึ่งศีลข้อนี้ เป็นข้อที่มนุษย์ทำผิดบ่อยที่สุด

                                                                     ด้วยความรักและเมตตา

หมายเหตุ  เนื้อหาในบันทึกนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับการถ่ายทอดทางสังคมในการทำงาน  ลงครุจันทรสาร คณะศึกษาศาสตร์ ม.ราชภัฏจันทรเกษม  และ

              เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเล็ก ๆ เรื่องหนึ่ง คือ เส้นทางนักมวยไทยอาชีพ 

หมายเลขบันทึก: 304656เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 00:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท