หนี้ชีวิต


เก็บท่อนไม้ที่ลอยน้ำมา ดีกว่า...เก็บคนพาลบางคนขึ้นจากน้ำ

            เมื่อวิญญาณหยั่งลงสู่การปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา  ชีวิตของคนเราต้องอาศัยอะไรอีกหลายอย่างเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง  พิทักษ์รักษา  จึงดำเนินมาด้วย  ความสวัสดีได้  ผู้ที่เป็นภาระต่อการเกิดของเราเป็นคนแรกก็คือ มารดา  เพราะทุกคนต้องอาศัยครรภ์มารดาเป็นแดนเกิด  ถ้าไม่มีมารดาแล้วเราก็เกิดไม่ได้  เมื่อเราหยั่งปฏิสนธิลงในครรภ์แล้ว  ผู้ที่เป็นมารดาคือเจ้าของครรภ์นั้น  ก็หาได้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์แต่อย่างใดไม่  เต็มใจให้เราอยู่อย่างผาสุก  ทั้งยังให้ความปลอดภัย     ด้วยการระมัดระวังการเป็นอยู่อย่างวิเศษสุดอีกด้วย 

          ท่านทั้งหลายพึงใช้วิจารณญาณดูเถิดว่า  เราจะไปอาศัยบ้านใครอยู่  อู่ใครนอน  ได้อย่างสะดวกสบายในโลกนี้กว่าครรภ์มารดาของเรานี้มีบ้างไหม  ไม่ต้องอื่นไกลดอกเพียงแต่จะไปขอพักแรมในโรงแรมสักคืน  เรายังต้องแสดงบัตรประจำตัว  จะต้องขออนุญาตก่อนเราจึงจะเข้าไปได้  และเมื่อเข้าไปแล้วก็ยังจะต้องเสียค่าบำรุงที่อยู่อีกหลายสิ่งหลายอย่าง  แต่...เวลาเรามาปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา  เราได้เคยขออนุญาตต่อมารดาของเราหรือเปล่าว่า  ขออาศัยเกิดหน่อยเถอะ  จะพักแรมอยู่ในครรภ์เพียงสิบเดือนเท่านั้น  แล้วก็จะออกไปตามเงื่อนไข  เราทุกคนที่เกิดมา ไม่เคยขออนุญาตก่อนเลย  เรามาอย่างไม่มีเงื่อนไข  ทั้งผู้ให้อาศัยก็ไม่รู้จักหน้าตาเลยว่าเป็นอย่างไร  มาจากภพภูมิไหนๆ ก็ไม่ทราบแต่ผู้ที่เป็นมารดาก็เต็มใจรับอย่างเมตตากรุณา  ทั้งๆ ที่ท่านต้องลำบากร่างกายเป็นอย่างมาก  ในระหว่างที่เราอยู่ในครรภ์ของท่าน  ต้องอดเปรี้ยว  อดหวาน  อดมัน  อดเค็ม  ต้องประคับประคองอยู่สิบเดือน  ครั้นเมื่อคลอดออกมาจากครรภ์แล้ว  ยังต้องเป็นภาระของคนอีกมากมายหลายชีวิตด้วยกัน  เริ่มต้นแต่ผดุงครรภ์ผู้ทำคลอด บิดา ญาติ พี่น้อง ต่างต้องโกลาหลต่อการเกิดของเรา  เมื่อคลอดออกจากครรภ์ของมารดาแล้ว ท่านยังเลี้ยงเราจนกว่าเราจะเจริญเติบโต  พึ่งตัวเองได้  และสามารถยืนด้วยฝ่าเท้าของตนเองได้  อย่างนี้ถ้าเราทุกคนนึกย้อนหลังไปอย่างนี้  ข้าพเจ้าคิดว่า  ทุกคนจะไม่กล้าเนรคุณต่อมารดาบิดา และผู้มีคุณทุกคน ทั้งจะทราบถึงภาระหน้าที่ที่เราทุกคนจะต้องปฏิบัติแก่โลกนี้   มีมากมายจนกระทั้งตลอดชีวิตเราก็ใช้ไม่หมด  ดังที่โบราณาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า 

          ถึงจะเอาแผ่นดินทั้งมวลมาม้วนเป็นปากกา    เอาแผ่นฟ้ามาเป็นกระดาษ  เอาน้ำในมหาสมุทรมาเป็นน้ำหมึก  จดจารึกพระคุณของแม่...ก็ไม่หมด...ไม่พอ…”

        เราทุกคนที่เกิดมาต้องเป็นหนี้บุญคุณต่อคนอีกมากมายหลายคนนัก       เริ่มตั้งแต่มารดา  บิดา  ครูอาจารย์ไปตามลำดับ  ชีวิตแห่งการเป็นอยู่  จึงเป็นอยู่ ในลักษณะที่เป็นลูกหนี้  และต้องเปลื้องหนี้พระคุณเหล่านี้ตลอดชีวิต  หลักธรรม  ในพระพุทธศาสนา  จึงได้สอนถึงเรื่องคุณธรรมอันสัตว์จะพึงปฏิบัติต่อกัน         เพื่อความผาสุกของหมู่สัตว์เองอยู่  ๒  ข้อ คือ  กตัญญู และ  กตเวที  พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราทุกคน  เป็นผู้รู้คนแห่งผู้มีคุณที่เรียกว่า  กตัญญู  ซึ่ง แปลว่า  รู้คุณ  และสอนให้เราตอบแทนแก่ผู้มีคุณ  ที่เรียกว่า  กตเวที  ซึ่งแปลว่า  การตอบแทนคุณแก่ผู้มีพระคุณ  

          ความคิดของคนที่จัดว่า  คิดดีนั้น  จะต้องคิดอย่างนี้เสียก่อน  ถ้าคนใดมิได้คิดถึงคุณที่ผู้อื่นได้กระทำแก่ตน  และมิได้คิดตอบแทนคุณแก่ผู้ที่มีคุณแก่ตนแล้ว  คนๆ นั้น ก็ไม่จัดว่าเป็น คนดี  มีระดับจิตใจต่ำกว่าเดรัจฉานบางจำพวกเสียอีก  คุณธรรมทั้งสองประการนี้  ท่านทั้งหลายบางท่านอาจจะคิดว่า  เป็นเรื่องเล็กน้อย  ก็ว่าได้  ความจริงแล้วถ้าเราไม่คิดให้ซึ้งเราก็อาจจะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยเพราะเป็นปกติคนเราส่วนมากมักจะมองเรื่องการบำเพ็ญคุณธรรมว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยอยู่แล้ว  เช่นการบริจาคทาน  ตลอดจนการไปวัดวาอารามว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยของชีวิต  ส่วนเรื่องสำคัญของชีวิตนั้นคือกระเสือกกระสนแสวงหาอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง  การแสวงหาเกียรติยศ  ชื่อเสียง  การแสวงหาอำนาจ  เมื่อคนเราส่วนมากมีความรู้สึกอย่างนี้  คุณธรรม  ๒  ประการนี้จึงหมดความหมายไป  พระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสในทุกนิบาต  อังคุตรนิกาย  พระสุตตันตปิฎก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  หน้าที่  ๑๐๙  ไว้ว่า 

          บุคคลที่หาได้ยาก  ๒  อย่าง คือ 

๑.    บุพพการี  บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน 

๒.   กตัญญูกตเวที  บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน

 

          เพราะบางคนมีแต่เพียงกตัญญูอย่างเดียว  หมายความว่า  รู้ว่ามารดาบิดา  ครู อาจารย์เป็นผู้มีพระคุณ  แต่การที่จะตอบแทนคุณนั้นมีน้อยเต็มที  เพราะมีปัญหาชีวิตที่พวกเขาเหล่านั้นจะต้องรับผิดชอบมากมาย  เป็นต้นว่า  ลูกบางคนรู้คุณของมารดาบิดาเหมือนกัน  แต่ไม่มีโอกาสที่จะตอบแทนได้  เช่นบางคนก็อ้างความจำเป็นในชีวิต  โดยอ้างว่าเงินทองที่จะส่งเสียเลี้ยงดูมารดาบิดาไม่มี  ลำพังตัวเองก็เกือบจะเลี้ยงไม่รอดอยู่แล้ว  หรือมิฉะนั้นบางคนก็อ้างความจำเป็นทางครอบครัวว่า  จะต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียกันต่อไป  เลยหมดโอกาสที่จะได้เลี้ยงดูมารดาบิดาอย่างนี้ก็มี  เพราะคนเรา  ส่วนมากมีความเข้าใจในเรื่องกตัญญูกตเวทีอย่างนี้เอง  จึงทำให้บางคนหมดโอกาสที่จะตอบแทนคุณมารดาบิดา  ครูอาจารย์

 

เครื่องหมายของคนดี

          ยิ่งในยุคที่โลกกำลังเจริญก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งนี้  ก็ย่อมจะมีทั้งคุณและมีทั้งโทษ  โดยเฉพาะในด้านจิตใจของมนุษย์ในยุคนี้  ก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยก็ได้  เพราะสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลหรือหลายอย่างในมนุษย์ถูกอิทธิพลภายนอกครอบงำเท่าไร  อิทธิพลภายในก็ยิ่งหมดไปเท่านั้น  ความเจริญภายนอกมีมากขึ้นเท่าไร  ความเจริญภายในก็มีน้อยลงมากเท่านั้น

          ที่ว่าอิทธิพลภายนอกมีมากนั้น  คือ ยุคนี้วัตถุเจริญมาก  มนุษย์เราสามารถเดินทางไปสู่โลกอื่นได้แล้ว  เมื่อวัตถุเจริญมากขึ้นเท่าไร  คนก็นิยมวัตถุมากขึ้นเท่านั้น  เมื่อนิยมวัตถุมาก  จิตใจที่เป็นนามธรรมก็หมดความสำคัญไปมาก  เหตุที่เราจะพิสูจน์นี้ไม่มากเท่าไรคือให้สังเกตดูว่า  ยุคนี้คนทำความชั่วเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุภายนอกกันมาก  คนที่ตกเป็นทาสของรูป  เสียง  กลิ่น  รส  และสัมผัส  จึงประกอบความชั่วได้ง่ายโดยไม่มีความละอาย  ขอแต่เพียงอย่างเดียวว่า  ให้ฉันมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบายก็แล้วกัน  ความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาป  จึงไม่เกิดขึ้น  นี่แหละที่เรียกว่า  ทำชั่วลงไปเพราะถูกอิทธิพลภายนอกมาครอบงำ  อิทธิพลภายในคือ ธรรมะ  ที่หักห้ามใจมิให้คิดชั่วก็เลยหมดอำนาจลง  เมื่อธรรมะหมดอำนาจไปจากใจของคนเท่านั้น  คนเราทุกคนก็ประกอบกรรมชั่วได้อย่างสบาย  หมดความละอาย  หมดความเกรงกลัวต่อผลของการกระทำนั้น  นักปราชญ์ทั้งหลาย  ท่านจึงประชุมวิจารณ์กันบ่อยครั้งว่า   เพราะเหตุใดศีลธรรมจึงเสื่อมไปจากใจคนมาก  และนักปราชญ์ทั้งหมดก็ให้เหตุผลว่า  เพราะยุคนี้วัตถุเจริญมาก  จิตใจของคนจึงเสื่อมไป  พิจารณาดูแล้ว  คล้ายๆ  วัตถุมีอิทธิพลมากกว่าจิต  หรือมิฉะนั้นเจ้าวัตถุนี้ก็คงชั่วช้าเลวทรามมาก  เมื่อผู้ใดไปอาเสวนาแล้วก็กลายเป็นคนชั่วช้าเลวทรามหมด  ซึ่งอันที่จริงวัตถุนั้นหาได้ดีและชั่วไม่  ความดีความชั่วไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ  เพราะความดีความชั่วอยู่ที่วัตถุแล้วคนที่แต่งตัวส่วยๆ โก้ๆ ก็เป็นคนดีทั้งนั้น  คนที่ไม่แต่งตัว  คนที่ไม่สวยไม่โก้  ก็เป็นคนชั่วทั้งนั้น  ผลสุดท้ายคนเรา  ทุกคน  ก็ไม่จำเป็นต้องมีศาสนาไว้อบรมจิตใจ  เพียงแต่สร้างร้านเสริมสวยมากๆ  สร้างบ้านหลังโตๆ ขี่รถคันโก้ๆ ก็พอ เป็นคนดีได้แล้ว ถึงคราวที่จะชำระล้างความชั่ว  ก็ไม่อยากเย็นอะไรเอาน้ำมาล้างเสียก็หาย  หรือไปเข้าสถานที่อาบน้ำ  ให้อีหนูน้อยๆ  นวดให้  ถูหลังให้  ถูตัวให้  ความชั่วก็คงจะหมดไป  แล้วก็ประพรมน้ำหอมอย่างดี  แค่นี้ความดีก็ฟุ้งกระจายไปหมดแล้ว  ไม่ช้านี้ก็จะเกิดโฆษณาว่า  ผงซักฟอกยี่ห้อนั้น  สามารถขจัดความชั่วช้าสามานย์ของคนได้มาก  แล้วก็โฆษณากันว่า  “น้ำหอมยี่ห้อนี้เพิ่มความดีได้มาก  แผ่ขยายไปได้ไกล”  อย่างนี้เป็นต้น  วิทยุ  หนังสือพิมพ์  และโทรทัศน์ ก็คงจะได้ค่าโฆษณากันมากขึ้นไปอีก  รายการทุกๆ รายกายก็มีแต่เสียงโฆษณาสินค้าเหล่านี้  ห้างร้านเสริมสวยทั้งหลายก็คงจะโฆษณากันเกร่อไปว่า  ขอเชิญไปเสริมสร้างความดีและความงามกันที่ร้านนั้น ร้านนี้กันเถิด  แล้วท่านจะสวยงาม  จะเพียบพร้อมด้วยความดี  พร้อมกันนั้น  เสียงโฆษณาธรรมะว่า  ขอเชิญฟังเทศน์  ฟังปาฐกถา  หรือเจริญภาวนาเพื่อชำระจิตใจให้ผ่องใส  ก็คงจะเงียบหายไปโดยไม่ช้า  วัดวาอารามก็คงจะเงียบเหงาปราศจากผู้คน  จะมีคนมาวัดก็เห็นจะเป็นเมื่อตอนฌาปนกิจศพเท่านั้น 

          ซึ่งความเป็นจริงแล้ว  วัตถุย่อมจะไม่ดีไม่ชั่ว  ความดีความชั่วอยู่ที่ตัวคนต่างหาก  ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ  วัตถุนั้นถ้าเรารู้จักใช้ก็จักเป็นประโยชน์  ถ้าไม่รู้จักใช้ก็ให้โทษ  ยกตัวอย่างเช่น  มีด  เรารู้จักใช้ก็เป็นประโยชน์  เพราะสามารถใช้ผ่าใช้ตัดอะไรต่างๆ ก็ได้  แต่ถ้าไม่รู้จักใช้เราก็อาจจะเอามีดไปเป็นอุปกรณ์ในการกระทำปาณาติบาตก็ได้  พลังงานปรมาณู  ถ้าเรารู้จักใช้ก็เป็นประโยชน์ต่อการทุ่นแรงงานมนุษย์มากเป็นทูตเพื่อสันติ  ถ้าไม่รู้จักใช้  ก็เป็นโทษต่อมนุษยชาติอย่างมหันต์     ที่เดียว 

          ฉะนั้น  การที่จิตใจของคนเราไม่มีศีลธรรมนั้น ไม่เป็นเพราะความเจริญของวัตถุ  ไม่ใช่เพราะอิทธิพลของวัตถุอย่างเดียว  แต่เป็นเพราะมนุษย์เราไม่อบรมจิตใจให้มีคุณธรรมสูง  ให้แข็งแกร่งในการต่อต้านกับความชั่วต่างหาก  จิตใจของมนุษย์จึงต้องตกเป็นทาสของความชั่วร้ายอย่างถอนตัวกันเกือบไม่ขึ้น  ครั้งหนึ่งได้เคยปรากฏเป็นข่าวอันเกรียวกราวว่า  มีนักศึกษาผู้หนึ่ง  ศึกษาอยู่ในชั้นอุดมศึกษา  ได้แสดงความเห็นออกมาว่า  บุญคุณของมารดาบิดาไม่มี  เพราะมารดาบิดานั้น  มิได้ตั้งใจให้เราเกิดมา  ท่านหาความสุขสนุกสนานเพลิดเพลินกันสองคน  ส่วนเราเป็นผลพลอยได้อย่างไม่เต็มใจต่างหาก  ตลอดจนบุญคุณของครูอาจารย์ก็ไม่มี  ท่านสอนเราก็เพราะเห็นแก่เงินเดือนต่างหาก  หรือเพราะเราจ้างท่านมาสอนต่างหาก  ถ้าเราไม่จ้างท่านก็คงจะไม่มาสอน  เพราะฉะนั้นถ้าครูทำอะไรให้เราไม่พอใจแล้ว  ก็แสดงความไม่พอใจลบหลู่ดูหมิ่นไม่เชื่อฟัง  บางคนก็คิดว่าที่ทุกคนเจริญเติบโตมาได้นี้ก็มิใช่ว่ามารดาบิดาเป็นผู้เลี้ยงเราด้วยความเต็มใจ  แต่เป็นเพราะกฎหมายของบ้านเมืองที่มีคุ้มครองต่างหาก  ถ้าท่านปล่อยให้เราตาย  หรือฆ่าเราตายท่านก็มีความผิดทางคดีอาญา  ฉะนั้นประเพณีของโบราณที่สอนให้เรามีความกตัญญูกตเวทีนั้นเป็นเรื่องของความโง่เขลางมงาย  ตลอดจนการทำบุญไหว้พระสวดมนต์ก็เป็นเรื่องของคนงมงายทั้งนั้น  ไม่มีประโยชน์อะไร  การบูชาเซ่นสรวงก็ไม่มีประโยชน์  ทุกคนดังกล่าวนี้ปฏิเสธผลแห่งการกระทำทั้งหมด  ทำดีก็ไม่มีผล  ทำชั่วก็ไม่มีผล  ท่านเรียกบุคคลเหล่านี้ว่าเป็น  มิจฉาทิฏฐิ  ความเห็นชนิดนี้ปฏิเสธผลของการกระทำ  มีมานานแล้วทุกยุคทุกสมัยความเห็นผิดอย่างนี้  ท่านกล่าวว่ามีโทษหนักกว่าการกระทำอนันตริยกรรมเสียอีก  คนประเภทนี้เราเรียกว่า  คนอกตัญญู  อกตเวที  ในทางศาสนากล่าวว่าเป็น  คนชั่ว  เป็นภัยแก่โลก  ไว้วางใจไม่ได้  ถ้ามนุษย์เรามีความเห็นอย่างนี้หมด  สังคมมนุษย์ก็ไม่ต่างจากสังคมปศุสัตว์บางจำพวก  เรื่องของคนอกตัญญู  มีอยู่ในพระสุตตันตปิฎก         เอกนิบาต  ท่านได้เปรียบเทียบคนประเภทนี้ว่า  เลวเสียยิ่งกว่าไม้ที่ทิ้งลอยอยู่ในน้ำเสียอีก  ดังบาลีแสดงไว้ว่า

                   สจฺจํ   กิเรวมาหํสุ         นราเอกจฺจิยา   อิธกฏฺฐํ 

                   นิปฺผวิตํ   เสยฺโย           นเตวฺเวกจฺจิโย  นโร.

          บัณฑิตกล่าวว่า  เก็บไม้ที่ลอยน้ำขึ้นไว้บนบก  ดีกว่าเก็บคนพาลตกน้ำให้พ้นจากความตาย 

          คำนี้เป็นคำจริง  ที่ท่านกล่าวไว้เช่นนี้  ก็เพราะการเก็บไม้ที่ลอยน้ำขึ้นมาไว้นั้นย่อมมีประโยชน์หลายอย่าง  อย่างน้อยที่สุดยังใช้ให้เป็นประโยชน์ในการหุงต้มข้าวแกงได้  สำหรับติดไฟผิงในเวลาหนาวก็ได้  ตลอดจนยังใช้ประโยชน์อย่างอื่นๆ อีกหลายอย่าง  แต่ว่าคนอกตัญญูไม่รู้บุญคุณของใครถึงแม้นจะตกน้ำและมีผู้ช่วยให้ขึ้นมาจากน้ำได้  ก็ไม่มีประโยชน์แก่ผู้ช่วย  ทั้งยังให้โทษแก่ผู้ช่วยเสียอีก  ในชาดกนี้ได้ยกตัวอย่างแสดงไว้เรื่องหนึ่ง ดังนี้  เรื่องมีอยู่ว่า……

          สมัยหนึ่งที่  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์  ออกบวชเป็นฤาษีปลูกอาศรมอยู่ริมแม่น้ำสายหนึ่ง  คืนวันหนึ่งในมัชฌิมยาม  ได้ยินเสียงคนร้องมาจากกลางน้ำ  ฤาษีโพธิสัตว์ได้ยินเช่นนั้นก็แน่ใจว่า  จะต้องมีคนตกน้ำและต้องการความช่วยเหลือ  ท่านจึงรีบลงจากบรรณศาลาถือคบไฟส่องดูก็เห็นว่าพระราชกุมารเกาะขอนไม้ลอยน้ำมา  ท่านก็รีบเปลื้องผ้าว่ายไปกลางน้ำดึงขอนไม้เข้าฝั่งจนสำเร็จ  ที่ขอนไม้นั้นนอกจากจะมีพระราชกุมารเกาะมาหนึ่งชีวิต  ยังมีสัตว์อีกสามตัว คือ  งู  หนู  และนกแขกเต้า  เมื่อถึงฝั่งเรียบร้อยแล้ว  ฤาษีก็จัดการก่อไฟให้สัตว์ทั้ง  ๓  นั้นผิง  เพื่อบรรเทาความหนาวก่อนแล้วจึงก่อให้พระราชกุมารทีหลัง  ทั้งนี้ปรากฏว่าสัตว์ทั้ง  ๓ ชีวิตนั้นได้ถูกพายุฝนพัดตกลงมาในน้ำและได้อาศัยขอนไม้มาตลอด  ส่วนพระราชกุมารนั้นมาเล่นน้ำกับบริวารแล้วถูกน้ำพัดล่อยมากับกระแสน้ำ  เมื่อฤาษีก่อไฟให้สัตว์ทั้ง  ๔  ผิงอบอุ่นแล้วก็จัดอาหาร   มาให้  แต่ได้จัดให้สัตว์ทั้ง  ๓ กินเสียก่อน  แล้วจึงจัดให้พระราชกุมารภายหลัง  พระราชกุมารก็น้อยพระทัยว่าฤาษีนี้ดูถูกตนมาก  เห็นสัตว์เดรัจฉานดีกว่าคนจึงผูกอาฆาตฤาษีไว้  ครั้นอยู่มาถึงประมาณ  ๓  วันน้ำก็แห้งลง  งูก็บอกฤาษีว่า พระผู้เป็นเจ้ามีพระคุณต่อข้าพเจ้าเหลือเกินที่ได้ช่วยชีวิตและให้ความสบาย  เมื่อชาติก่อนข้าพเจ้าเกิดเป็นเศรษฐีและได้ฝังทรัพย์เอาไว้  ๔๐ โกฏิ ในที่แห่งหนึ่ง  ครั้นเวลาใกล้จะตาย  ข้าพเจ้ามีจิตผูกพันเป็นห่วงในทรัพย์เหล่านี้เมื่อตายจึงได้มาเกิดเป็นงู  ฉะนั้นถ้าพระผู้เป็นเจ้าต้องการจะใช้ทรัพย์เมื่อใดจงบอก  ข้าพเจ้าขอยกให้ทั้งหมด  บอกดังนี้แล้วก็ลาไป  หนูก็กล่าวขึ้นว่า  พระผู้เป็นเจ้ามีพระคุณต่อข้าพเจ้ามาก  เมื่อชาติก่อนข้าพเจ้าเกิดเป็นเศรษฐีเหมือนกัน  ข้าพเจ้าได้ฝังทรัพย์ไว้ยังที่แห่งหนึ่ง  ๓๐ โกฏิ  เมื่อเวลาใกล้จะตายข้าพเจ้ามีจิตผูกพัน  เป็นห่วงในทรัพย์นี้มาก  จึงได้ไปเกิดเป็นหนูอยู่ในที่ฝังทรัพย์นั้น  เมื่อน้ำท่วมที่อยู่ของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจึงถูกกระแสน้ำพัดมา  ฉะนั้นถ้าท่านต้องการทรัพย์เมื่อใดจงบอกข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะยกทรัพย์ทั้งหมดให้  แล้วก็ลาฤาษีไป  นกแขกเต้าก็กล่าวขึ้นว่า  ข้าพเจ้าได้อาศัยอยู่ที่ต้นไม้แห่งหนึ่ง  ทางต้นน้ำโน้น  เมื่อมีพายุฝนขึ้น  ข้าพเจ้าก็ตกน้ำจนขนเปียก    ทั้งตัวไม่อาจบินได้  จึงเกาะขอนไม้ลอยมาจนพบพระผู้เป็นเจ้าเห็นและช่วยเหลือไว้  ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหนี้พระคุณของท่านมาก  ฉะนั้นถ้าพระผู้เป็นเจ้าต้องการข้าวสาลี  มีสีแดงอันโอชารสเมื่อใด  จงไปบอกข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะบอกกล่าวแก่หมู่ญาติของข้าพเจ้าซึ่งนับจำนวนมากหลายตัวให้ช่วยกันคาบเอารวงข้าวสาลีมาถวายพระผู้เป็นเจ้า  กล่าวดังนั้นแล้วก็ลาไป  ฝ่ายพระราชกุมารก็คิดว่า  เราจักลวงฤาษีนี้ไปสู่บ้านเมืองของเราแล้วก็จะฆ่าเสีย  เพราะแค้นที่ดูหมิ่นตน  เมื่อคิดดังนี้แล้วจึงกล่าวขึ้นว่า    ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าเมื่อข้าพเจ้าได้เสวยราชย์สมบัติแล้ว  จะอุปถัมภ์พระผู้เป็นเจ้าด้วยปัจจัย  ๔  ทุกประการ  บอกดังนี้แล้วก็ลากลับเมือง  ต่อมาฤาษีจึงคิดทดสอบจิตใจของสัตว์ทั้ง  ๓  และพระราชกุมาร  วันหนึ่งจึงไปที่อยู่ของงู  งูทราบก็รีบออกมาต้อนรับด้วยความดีใจ  แล้วกล่าวมอบทรัพย์  ๔๐ โกฏิให้ แต่ฤาษีปฏิเสธว่า  ตอนนี้เรายังไม่ต้องการ  ต้องการเมื่อใดจะมารับ  แล้วก็เดินไปยังที่อยู่ของหนู ของนกแขกเต้าตามลำดับ ก็ได้รับการปฏิสันถารด้วยความดีใจ  และได้รับคำยืนยันเหมือนเดิมเช่นเดียวกัน  แต่ฤาษีขอผลัดไปก่อน  ต้องการเมื่อใดจะมารับ  จากนั้นฤาษี         ก็เดินทางไปยังกรุงพาราณสี  เพื่อทดสอบพระราชกุมารว่าจะมีความกตัญญูกตเวทีหรือไม่  และได้แวะพักที่พระราชอุทยาน  พอรุ่งเช้าก็เข้าไปบิณฑบาตรในพระนคร  พระราชกุมารเมื่อเดินทางกลับพระนครแล้ว  ก็ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ  วันนั้นเสด็จออกเทียบพระนครตอนเช้า  ก็ทอดพระเนตรเห็นฤาษีแต่ไกล  จึงดำริแค้นฤาษี  พระราชกุมารจึงสั่งราชบุรุษให้จับดาบสฆ่าเสีย  เพราะเป็นคนโกง  ถ้าจะเข้ามาขอสิ่งใด   กะเราเป็นแน่  พวกเจ้าจงอย่าให้พวกกาลกินีนี้มาพบเรา  จงมัดมือไพร่หลังเฆี่ยนให้เต็มที่  แล้วนำไปตัดศีรษะที่นอกพระนคร  เอาหลาวเสียบประจานตนไว้  พวกราชบุรุษได้ฟังพระราชโองการเช่นนี้  ก็รีบลงมือทันทีตรูกันเข้าจับฤาษีมัดแล้วเฆี่ยนตี  ขณะที่กำลังเฆี่ยนอยู่นั้นฤาษีได้กล่าวขึ้นว่า 

          เขากล่าวกันว่า….“เก็บท่อนไม้ที่ลอยน้ำมา    ดีกว่า...เก็บคนพาลบางคนขึ้นจากน้ำ”   นี่เป็นความจริง 

          ทุกครั้งที่ฤาษีถูกเฆี่ยนฤาษีจะต้องพูดอย่างนี้ทุกครั้งไป  จนราชบุรุษสงสัย จึงถามว่า  เหตุใดท่านจึงพูดเช่นนั้น   ฤาษีจึงเล่าความจริงให้ทราบตั้งแต่ต้นจนจบ  ประชาชนชาวเมืองได้ทราบดังนั้น  จึงพากันติเตียนพระราชกุมารอย่างมาก  พร้อมกันจับพระราชกุมารฆ่า  แล้วให้ฤาษีสึกออกมาเสวยราชย์ต่อไป  เมื่อได้เสวยราชย์แล้วเดินทางไปหางู  หนู  และนกแขกเต้า  สัตว์ทั้ง  ๓  นั้น  ถวายทรัพย์ให้ทั้งหมด  ท้าวเธอก็นำสัตว์ทั้ง  ๓ ไปเลี้ยงไว้ในพระราชวังโปรดให้ทำทะนานทองให้งูอยู่     ทำโพรงแก้วให้หนูอยู่  และทำกรงทองให้นกแขกเต้าอยู่ 

          ในชาดกเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า  ผู้ที่ไม่รู้บุญคุณของคนต้องประสบผลร้าย   ดังพระราชกุมารนั้น  ผู้รู้คุณคนย่อมได้ประสบความสุขความเจริญ  ดังสัตว์ทั้ง  ๓ นั้น  ส่วนผู้มีเมตตากรุณาย่อมได้รับผลดี  เช่น  ฤาษี  ดังกล่าว.

          เพราะฉะนั้น  ทุกคนควรเป็นผู้มีเมตตากรุณา  รู้จักบุญคุณของผู้อื่นที่กระทำไว้แก่ตน  แล้วคิดตอบแทนคุณของผู้นั้นต่อไป...ฯ

หมายเลขบันทึก: 304546เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท