73. ความสำคัญมือ นิ้ว และเท้าของชาวอินเดีย


อวัยวะนอกจากมีหน้าที่แล้ว ยังมีความหมาย

 

 

 

 

 

 

 

         ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูเชื่อว่ามือขวาคือผู้ชาย มือซ้ายคือผู้หญิง เมื่อมือขวากับมือซ้ายมาประกบกันนั่นคือความสมบูรณ์ของชีวิตคู่ ในการทำพิธีบูชาต่างๆ ผู้ชาย (สามี) นั่งขวา ผู้หญิง (ภรรยา) นั่งด้านซ้ายของสามีเสมอ ในการประกอบพิธีกรรมใดๆ มักใช้มือขวาในการจับสิ่งของ หรือทำพิธี หรือถือของมากกว่ามือซ้าย

 

หลังพิธี ถ้าผู้มาร่วมพิธีจะผูกข้อมือ พราหมณ์ให้พูดตามพราหมณ์เป็นภาษาฮินดี หลายประโยคทีเดียวโดยบอกชื่อของตนเองก่อน จากนั้นท่านก็ให้พูดตาม พราหมณ์จะผูกข้อมือให้ไปด้วยฝ้ายสีแดง  หรือแดงผสมขาว ถ้าเป็นหญิงท่านจะถามว่าแต่งงานหรือยัง ถ้าแต่งแล้วผูกที่ข้อมือซ้าย ถ้ายังผูกที่ข้อมือขวา ผู้ชายไม่ว่าจะเป็นโสดหรือแต่งงานผูกข้อมือขวาเท่านั้น

ดิฉันได้เรียนรู้ว่าชาวอินเดียมีการให้ความสำคัญกับนิ้วมือแตกต่างกัน ดิฉันพบกับอาจารย์ใหญ่วิทยาลัยสตรีกุรุกุล เดฮ์ราดูนซึ่งเป็นชาวเบงกอลแต่มาทำงานที่นี่นานแล้ว ท่านเป็นสตรีที่มีจิตใจดี โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มารยาทงาม มีสุนทรีย์ด้านดนตรี  ท่านพาดิฉันไปชมบ้านท่าน และสวนหลังบ้านโดยมองจากชั้นบนลงมา ท่านไม่ใช้นิ้วชี้ชี้ไปที่สวนนั้นโดยตรง  การชี้นิ้วถือว่าไม่สุภาพ     สำหรับชาวเบงกอล  ท่านใช้นิ้วชี้งอคลุมนิ้วโป้งแล้วก็ยื่นออกไปข้างหน้าแทนการชี้โดยตรง ตอนแรกดิฉันไม่ได้สังเกต แต่เพื่อนชี้ให้ดูว่าเธอมีมารยาทมากเพียงใด จึงเพิ่งถึงบางอ้อ ใครจะนึกว่าเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ชาวอินเดียส่วนหนึ่งยังยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะสตรีชาวเบงกอล

 

        ในพิธีบูชาไฟของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูที่เรียกตนเองว่า “อารยา สมาช” (Arya Smaj) ในระหว่างการสวดจะมีการเทน้ำใส่ฝ่ามือขวาดื่มทีละครั้ง 3  ครั้ง  ความหมายคือเพื่อให้เกิดความสดชื่นในลำคอพร้อมที่จะสวดมนต์ต่อ และกระตุ้นเตือนตนเองให้พร้อมที่จะสวดมนต์ต่อไป เสร็จแล้วล้างมือขวานั้น    แล้วเทน้ำใส่มือซ้ายใช้นิ้วโป้ง นิ้วกลาง และนิ้วนางมือขวาจีบเข้าหากันแตะน้ำแล้วแตะที่ปากล่าง ปากบน แตะน้ำอีกทีแล้วแตะจมูกขวา จมูกซ้าย  แตะน้ำแล้วแตะตาขวา ตาซ้าย  แตะน้ำแล้วแตะหูขวา หูซ้าย แตะน้ำแล้วแตะศีรษะ แตะน้ำแล้วแตะคอ แตะน้ำแล้วแตะท้อง แตะน้ำแล้วแตะขาขวา ขาซ้าย แตะน้ำแล้วแตะท้อง แตะน้ำเพื่อพรมทั่วกาย (จริงๆ แล้วไม่มีน้ำเหลือในอุ้งมือหรอก เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น) โดยที่ผู้อื่นที่อยู่รอบกองไฟแต่ไม่ได้ทำอาการนี้ก็สวดมนต์ไป ทั้งนี้เพื่อให้สรีระทั้งหมดมีสุขภาพดี และแสดงออกในสิ่งที่ดีเช่นคิดดี ทำดี พูดดี

        นอกจากนี้หลังจากที่ใส่ฟืนในกองไฟแล้ว ในเบื้องต้นของการสวดทุกครั้งที่ลงท้ายด้วย “สวาฮา” จะเติมไม้และหยอดเนยเหลวหรือกี (ghee) ลงไปทุกครั้ง ทำให้ไฟลุกง่ายขึ้น ไม่มีควัน หลังจากนั้นมีการโปรย ฮาวัน สมากรี (Havan Samagri) ซึ่งทำจากสมุนไพร ผลไม้แห้ง น้ำตาล กี (เนยเหลว) และการบูร คลุกเคล้ากัน เมื่อการสวดลงท้ายด้วย “สวาฮา”  ผู้ร่วมในพิธีที่นั่งรอบกองไฟแถวหน้า (ต้องนั่งขัดสมาธิ) จีบนิ้วโป้ง นิ้วกลางและนิ้วนางของมือขวาเข้าหากัน มือซ้ายแตะแขนขวาแล้วหยิบฮาวัน สมากรีซึ่งเตรียมไว้ในถาดโปรยลงในกองไฟ  โปรยไปทุกครั้งที่ลงท้ายด้วย “สวาฮา” เหตุผลที่ใช้ของหอมและสมุนไพรเพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้สูดกลิ่นที่หอม เป็นการรักษาความบริสุทธิ์ให้กับสิ่งแวดล้อมและอากาศโดยรอบ ด้วย  เรื่องการจีบนิ้วสามนิ้วคือโป้ง กลาง และนางนั้นเป็นการแสดงความถ่อมตัวต่อพระเจ้าแทนการใช้นิ้วชี้ร่วมด้วย นิ้วชี้เป็นการชี้ไปสู่ผู้อื่นแสดงความเป็นนายหรือผู้ที่เหนือกว่า       ศาสนิกชาวฮินดูไม่ทำเช่นนั้น แต่จะแสดงความถ่อมตัวด้วยกิริยาที่แสดงออกอย่างสุภาพในขณะบูชา

        ผู้เขียนสังเกตว่าการได้ร่วมพิธีบูชาไฟนอกจากได้ความรู้สึกถึงพลัง ความศักสิทธิ์ของไฟที่ลุกโชติช่วงแล้ว ยังเหมือนอยู่ในห้องซาวน่ากลายๆ เหงื่อออกใช้ได้ทีเดียว

        การแสดงความเคารพ ชาวอินเดียโดยทั่วไปพบกันก็ไหว้ ซึ่งชาวอินเดียไม่ได้ไหว้พร้อมกับก้มศีรษะเหมือนไทย  เพียงแต่ยกมือไหว้เท่านั้น  บ้างก็จับมือกัน (เช็คแฮนด์) แต่ชาวอินเดียยังแสดงความเคารพต่อผู้อาวุโสด้วยการใช้มือแตะเท้าผู้อาวุโสและเอามือนั้นมาแตะหน้าอกตน ซึ่งแสดงออกถึงความเคารพต่อผู้อาวุโสด้วยวัยวุฒิ และสถานะทางสังคมก็ได้ เท้าถือว่าเป็นอวัยวะที่ต่ำสุด การน้อมกายลงเอามือแตะเท้าแล้วนำมาแตะหน้าอกถือว่าให้เกียรติและนอบน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่มากกว่าการไหว้ธรรมดา บางครั้งผู้ใหญ่จะแตะที่ศีรษะผู้น้อยเพื่อเป็นการรับไหว้และให้พรด้วย

        การยื่นมือให้ของหรือรับของใช้มือขวาเป็นสำคัญ เหมือนกับหลายๆ สังคมนั่นเอง

 

 

                                           ------------------

 

บอกกล่าว  ข่าวแจ้ง

 ฟรี

 

- ท่านที่สนใจเรื่องอินเดียศึกษา และกำลังแสวงหาทุนเพื่อไปทำวิจัย ขอเชิญท่านมาร่วมฟังแนวทางการสมัครรับทุนสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ระหว่างไทย-อินเดีย ได้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 เวลา 9.00-15.00 น. จัดโดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กรุณาโทร.สำรองที่นั่งด่วน ที่คุณวาสนา ส้วยเกร็ด คุณประภาศรี ดำสอาด โทร. 02-800-2308-14 ต่อ 3214  

 

รับสมัครแล้วค่ะ

- เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2552 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญท่านที่สนใจจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หลักสูตรวัฒนธรรมและการพัฒนา เอกอินเดียศึกษา กรุณาซื้อใบสมัครได้ที่บัณฑิตวิทยาลัย หรือเข้าชม

www.lc.mahidol.ac.th   โทร.

02-800-2308-14 ต่อ 3309,3101    

 

หมายเลขบันทึก: 303064เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2009 05:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณมากค่ะ ที่นำข่าวมาแจ้ง จะนำให้เพื่อนๆๆได้รู้ค่ะ

มาอ่านความรู้ค่ะ มีแผนจะไปอินเดียปีหน้าค่ะท่านอ.

มีความสุขทุกวี่วันนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

เรียนอจ.โสภนา

การเรียนรู้วิถีสังคมอินเดีย ต้องไปสัมผัสกับครอบครัวอินเดียครับ

อจ.นับได้ว่าเป้นผู้แสวงหาความรู้เรื่องอินเดียตัวยงคนหนึ่ง

และต้องยกนิ้วให้กับความลุยของอจ.ครับ

หวังว่าคงหายเหนื่อยกับการสัมมนาที่สิกขิมแล้วนะครับ

เทศกาล Diwali กำลังใกล้เข้ามาครับ อากาศเริ่มจะเย็นขึ้นนิดหน่อย

ในขณะที่ของชาวพุทธไทย เทศกาลกฐินก็กำลังจะเริ่มครับ

อยู่อินเดียได้สัมผัสกับความหลากหลายของชีวิตจริงๆ ครับ

เรียน ครูอ้อย

ขอบพระคุณค่ะ กรุณาช่วยแจ้งข่าวต่อๆ กันด้วยนะคะ

เรียนคุณปู

อินเดียน่าไปเที่ยวค่ะ คนแม้หน้าจะไร้รอยยิ้ม แต่น้ำใจดีมากค่ะ มีอะไรให้ศึกษาเรียนรู้เยอะทีเดียวค่ะ

เรียน ท่านทูตพลเดช ที่เคารพ

ดิฉันยังรู้สึกสนุก และประทับใจกับการไปสิกขิม และฮาริดวาร ครั้งนี้มากค่ะ ผู้คนมีอัธยาศัย ต้อนรับชาวต่างชาติ

มีน้ำจิตน่ำใจ ช่วยเหลือดูแล ดิฉันก็เป็นผู้หญิงในท่ามกลางสังคมผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะไปไหนในอินเดีย หากกินง่าย อยู่ง่าย

ที่ไหนๆ ก็ไปได้นะคะ ขอบพระคุณท่านมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท