ศาลรัฐธรรมนูญ


รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นย่อมขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ หากปล่อยให้มีกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้อยู่ ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญก็เป็นอันไร้ผล

แล้วก็มาต่อในเอกสารแผ่นที่ 4 ที่มีอยู่ตอนนี้  ซึ่งในวันนี้จะนำข้อมูลขององค์กรที่เกี่ยวกับกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นองค์กรที่ดูแลกฎหมายสำคัญที่สุดด้วยนั่นคือ ศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน่วยงานในระบบยุติธรรมที่ต้องคอยตรวจสอบการบังคับใช้ไม่ให้บุคคล หรือนิติบุคคลใด กระทำหรือใช้กฎหมายใดที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ เป็นองค์กรทางด้านกระบวนการยุติธรรมที่เพิ่งเกิดได้ไม่นาน แต่สำคัญมากองค์กรหนึ่ง

ศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า  รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการปกครองประเทศ  ขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรการเมืองต่างๆ ตลอดจนสิทธิ เสรีภาพของประชาชน  และยังเป็นที่มาของกฎหมายที่มีสถานะที่สูงกว่ากฎหมายอื่นๆ กฎหมายอื่นย่อมขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้  และเพื่อเป็นการป้องกันมิได้มีการล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญได้ เพราะหากปล่อยให้มีกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับได้อยู่ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญก็เป็นอันไร้ผล  เนื่องจากการวินิจฉัยว่า กฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนและมีผลกระทบในหลายด้านทั้งในด้านสังคม  เศรษฐกิจและทางการเมืองอย่างสูง  จึงควรต้องพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ ในหลายประเทศจึงได้มีการจัดตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะเรียกว่า  ศาลรัฐธรรมนูญ

องค์กรของศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระและการเป็นกลางทางการเมือง

ทั้งยังต้องทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จาก

1. ที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญ

จะประกอบด้วยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่ง เช่น 9 คน หรือ 15 คน เป็นต้น ซึ่งต้องมีที่มาที่เป็นหลักประกันมิให้ตุลาการรัฐธรรมนูญตกอยู่ภายใต้ความครอบงำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารโดยให้หลายฝ่ายมีสิทธิเลือกตุลาการรัฐธรรมนูญ หรืออาจแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายฝ่ายให้เป็นองค์กรที่พิจารณาหรือคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญแล้วเสนอรายชื่อให้ประมุขของประเทศเป็นผู้แต่งตั้ง

นอกจากนั้นวาระในการดำรงตำแหน่งจะต้องกำหนดแน่นอนและมีระยะเวลาที่ยาวพอสมควร เช่น 9 ปี หรือ 12 ปี รวมทั้งการให้ตุลาการรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว อันจะเป็นหลักประกันที่จะทำให้ตุลาการรัฐธรรมนูญไม่อาจกระทำการใดอันจะทำให้ได้รับตำแหน่งใหม่อีก  รวมทั้งในหลักการประกันความอิสระโดยมิให้ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ หรือให้คุณให้โทษใดๆ แก่ตุลาการรัฐธรรมนูญได้

คุณสมบัติของตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ทางนิติศาสตร์เท่านั้น อาจจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านอื่นๆ เช่น ด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น  เนื่องจากปัญหาในการวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนั้นส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างจึงต้องการผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายรวมทั้งมีสายตาที่กว้างไกลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการวินิจฉัยนั้นด้วย  นอกจากนั้นตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นนักการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น  ไม่สังกัดพรรคการเมือง  ไม่เป็นข้าราชการประจำหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ  ยกเว้นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาและเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถรวมทั้งประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเคยมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ  เป็นต้น

2.  อำนาจหน้าที่

นอกจากศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติฉบับใดมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแล้ว  ศาลรัฐธรรมนูญยังอาจมีอำนาจอื่นๆ เช่น อำนาจในการวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่  อำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ  วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา  หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ  ชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างองค์กรของรัฐหรือข้อพิพาทระหว่างรัฐกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  ควบคุมการเลือกตั้ง  นอกจากนั้นอาจทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ประมุขของประเทศตามกิจการที่รัฐธรรมนูญของประเทศนั้นๆ กำหนด  ศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเทศอาจมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกันได้ขึ้นอยู่กับระบบการปกครอง  ระบบกฎหมาย   ประวัติความเป็นมารวมทั้งจารีตประเพณีของแต่ละประเทศด้วย

3. วิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ

ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาคดีได้อย่างอิสระและเป็นธรรมแก่คู่กรณีที่เกี่ยวข้อง  ดังนั้น  ควรบัญญัติวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้ควรแบ่งบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาทั่วไปและวิธีพิจารณาเฉพาะให้สอดคล้องกับแต่ละประเภทแห่งคดีด้วยรวมทั้งเปิดโอกาสให้คู่กรณีโดยเฉพาะจำเลยได้มีโอกาสชี้แจง แสดงหลักฐานให้ตุลาการ รัฐธรรมนูญพิจารณาด้วย ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันองค์กรทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลทั้งหลาย  และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

จะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่สำคัญองค์กรหนึ่งในระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากองค์กรนิติบัญญัติ  องค์กรบริหารและองค์กรตุลาการ  ซึ่งจะทำหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญมิให้ถูกละเมิดโดยองค์กรอื่นๆ อันจะทำให้รัฐธรรมนูญคงไว้ซึ่งความเป็นกฎหมายสูงสุด

อ้างจากการเรียบเรียงโดย อาจารย์สุรีรัตน์   ประจนปัจจนึก

จัดทำขึ้นโดย  อนุกรรมการวิชาการและวางแผนการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการเมือง

หมายเลขบันทึก: 302648เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2009 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท