ชุนชนวิทยาศาสตร์ : วิทยาศาสตร์กระแสเศรษฐกิจพอเพียง


ชุนชนวิทยาศาสตร์ : วิทยาศาสตร์กระแสเศรษฐกิจพอเพียง


          วันนี้ (24 ส.ค.48) คุณอ้อม (อุรพิณ  ชูเกาะทวด) กับผมไปร่วมการเสวนาเรื่อง “นานาทัศนะ : ชุมชนวิทยาศาสตร์”   ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์   จัดที่อิมแพ็ค  เมืองทองธานี   การเสวนานี้จัดโดย สวทช.


          ทางผู้จัดมีแนวความคิดที่ยอดเยี่ยมมาก   ผมคัดลอกมาจากเอกสารบางส่วนดังนี้   “ชนบทไทยในขณะนี้กำลังถูกกระแสความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเช้าไปกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดจะช่วยให้ชุมชนรอดพ้นจากกระแสดังกล่าวนี้   และในบางสถานการณ์ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาชุมชนของตนเองได้....   นอกจากนี้หากชุมชนสามารถสร้างการเรียนรู้ในทุกเรื่องของชุมชนด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์   ก็คาดว่าจะยิ่งทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง   พึ่งตนเองได้....”


          ผมมีนิสัยที่ทั้งดีและไม่ดีอยู่ในตัวหลายอย่าง   อย่างหนึ่งคือชอบเถียง   ตอนเด็ก ๆ ก็เถียงออกมาเป็นคำพูด (จึงโดนผู้ใหญ่ตีทุกวัน)   ตอนนี้แก่แล้ว   จึงเถียงในใจกับตัวเอง   ผมเถียงเรื่องนี้ว่า   ชุมชนต้องไปไกลกว่าเลือกใช้เทคโนโลยี   คือต้องเลือกเอามาปรับปรุงให้กลายเป็นเทคโนโลยีของตนเอง   ซึ่งก็คือการเรียนรู้ของชุมชน   แต่ผมคิดว่าการเรียนรู้ของชาวบ้านไม่ได้ใช้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่   แต่ใช้วิธีลองผิดลองถูก   เมื่อลองถูกจึงจดจำไว้ใช้ต่อและบอกต่อ   ผมจึงมองว่านักวิทยาศาสตร์/นักวิชาการต้องเข้าไปเรียนรู้ความรู้/เทคโนโลยีที่ชาวบ้านสร้างขึ้นจากการลองผิดลองถูก   แล้วช่วยสร้างความรู้เพื่อสร้างคำอธิบายว่าทำไมวิธีการที่ชาวบ้านคิด/พัฒนาขึ้นจึงใช้การได้ดี   ซึ่งจะช่วยให้ชาวบ้านสามารถทดลองหาวิธีการที่ยกระดับขึ้นไปอีกได้


          การเสวนาโดยวิทยากร 6 ท่าน (ดังรูป) พุ่งไปที่ความรู้   ความเชื่อ   ภูมิปัญญา   ความสามารถของชุมชนในการเลือกเทคโนโลยีมาใช้   คือค่อนไปทางนามธรรม   โดยที่เราจะได้ฟังข้อคิดเห็นดี ๆ มากมาย


          แต่ผมกลับมองต่าง   มองต่างมุม   เพราะผมอยากได้ฟังการเสวนาว่า   ทำอย่างไรวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จึงจะเป็นประโยชน์ต่อคนในชนบท   หรือในชุมชน


          ผมได้ยกตัวอย่างป้าใจมา   ปราชญ์ชาวบ้าน จ.พิจิตร  ที่ผมเคยเล่าในบล็อกไว้แล้ว (click)  เพื่อชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านที่เป็นปราชญ์เรียนรู้โดยการดูดซับความรู้จากภายนอก   แต่เมื่อรับรู้แล้ว   ไม่เชื่อ  ทำตามแบบเดิม   เอามาคิดและหาทางทดลองหาวิธีการที่เหมาะสมต่อตัวเอง   เป็นตัวอย่างวิธีสร้างความรู้หรือเทคโนโลยีโดยชาวบ้านเอง   โดยการลองผิดลองถูก   ในที่สุดได้ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ที่เป็น know how   แต่ไม่มี know why  คือไม่เป็นความรู้เชิงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่


          ผมได้ยกตัวอย่าง   การที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้าไปต่อยอดความรู้ของชาวบ้าน   อย่างที่ รศ. ดร. ก้าน  จันทร์พรหมา   เข้าไปที่โรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรี   เอาจุลินทรีย์ที่นักเรียนโรงเรียนชาวนาไปเก็บจากป่ามาเลี้ยงและขยายพันธุ์   ดร. ก้านเก็บเอาตัวอย่างจุลินทรีย์ของชาวนาไปเพาะเชื้อแยกชนิด   ตามที่เคยเล่าไว้แล้ว (click)   และส่งผลการต่อยอดความรู้กลับไปให้นักเรียน รร.ชาวนา   ทำให้นักเรียน รร.ชาวนาเกิดความเข้าใจเห็นรูปธรรมของจุลินทรีย์   เท่ากับเป็นการต่อยอดความรู้   หมุนเกลียวความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างการสร้างความรู้โดยชาวบ้าน   ซึ่งสร้างจากการทดลองและการปฏิบัติจริงในชีวิตของตน   กับการสร้างความรู้เชิงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่


          หัวใจคือ   คนในวงการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ต้องเข้าไปในชุมชนชนบท   เข้าไปเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน   และดูดซับความรู้ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้น   เอามาศึกษาต่อด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่   โดยต้องอย่าเข้าไปด้วยความคิดว่าชาวบ้านไม่มีความรู้   ต้องเข้าไปด้วยความคิดว่าชาวบ้านมีความรู้   แต่เป็นความรู้ปฏิบัติ   ต้องไปหาให้พบ   และเข้าไปช่วยต่อยอดด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่


          ที่จริงยังมีประเด็นสำคัญ ๆ ที่เสวนากันมากมาย   แต่ที่ผมติดใจมากมาจากข้อสรุปของคุณเคียงดิน  ชาติบุญนิยม   จากกลุ่มสันติอโศก   ว่าการเรียนรู้ของชาวบ้านต้องทำโดยการรวมกลุ่ม   ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง   เพราะเวลานี้ชาวบ้านมีความมั่นใจตนเองน้อยเต็มทีที่จะเรียนรู้   สร้างความรู้เอง   การรวมกลุ่มจะช่วยแก้ปัญหา


                
                             คณะผู้เสวนา                       บรรยากาศในห้องประชุม


                                                                                                วิจารณ์  พานิช
                                                                                                   24 ส.ค.48

หมายเลขบันทึก: 3012เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2005 07:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท