อสม.แล้วยังอาสา


เป้าหมายสำคัญคือ การเสริมพลังและสร้างความยอมรับของประชาชนต่ออสม.ให้สามารถปฏิบัติงานในชุมชนได้อย่างมั่นใจ สานสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่และอสม. และระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชนในที่สุด

อสม.ถือว่าเป็นกลไกสำคัญของระบบสาธารณสุขในบ้านเรา เรื่องนี้ต้องขอบคุณผู้นำรุ่นก่อน ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ท่านได้สร้างรากฐานระบบสาธารณสุขมูลฐานรวมทั้งองค์กรอสม.เอาไว้  แม้ว่าขณะนี้ระบบงบประมาณสำหรับสนับสนุนอสม.จะถูกถ่ายโอนไปผ่านองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น แต่อสม.ก็ยังคงมีความผูกพันอยู่กับชาวสาธารณสุข มีจิตใจมั่นคงในการทำงานสาธารณสุขมูลฐานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา และเป็นเฟืองตัวสำคัญที่ทำให้งานสาธารณสุขในชุมชนดำเนินไปได้ อสม.เป็นบุคคลที่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อชุมชนโดยไม่หวังผลค่าตอบแทน  ดังนั้นหลายคน(หรือส่วนใหญ่) มักสวมหมวกในฐานะอาสาสมัครอีกหลายด้าน ทำให้แต่ละคนมีงานมากมายที่ต้องทำ  แต่ก็มีส่วนดีที่อาจจะเป็นจุดบูรณาการงานหลายด้านในพื้นที่เข้าด้วยกัน 

เมื่อต้นปี ๒๕๔๘ ทีงานศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมืองเห็นปัญหาจากการทำงานของอสม.ในพื้นที่บางประการ เช่น 

๑. ประชาชนในเขตเมืองมีวิถีชีวิตแตกต่างจากในชนบท ทำให้ขาดความรู้จักคุ้นเคยกับอสม. ไม่รู้ความสำคัญของอสม.และไม่ค่อยให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ๆ ของอสม.

๒. อสม.บางท่านไม่เข้าใจระบบบริการของศูนย์สุขภาพชุมชน ทำให้การประสานงานไม่ราบรื่น

๓. ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับอสม.เริ่มห่างเหินตามภารกิจที่มากขึ้นของทั้งสองฝ่าย

ทีมงานได้ปรึกษาหารือกับอสม. และจัดทำโครงการอสม.อาสาร่วมปฏิบัติงานในศูนย์สุขภาพชุมชนขึ้น เพื่อแก้ปัญหาทั้ง ๓ ประการดังกล่าว

ก่อนเริ่มโครงการ ทีมงานได้พูดคุยหารือกันถึงภารกิจที่จะให้อสม.ร่วมปฏิบัติภายในหน่วยบริการ ซึ่งแนวคิดประกอบด้วยการอำนวยความสะดวกในเรื่องบัตรคิว การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง การประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการรับบริการ การประสานงานอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ให้กับผู้รับบริการเมื่อเกิดปัญหา รวมถึงการบริการตรวจวัดความดันโลหิตและเจาะเลือดปลายนิ้วเพื่อตรวจน้ำตาล  แต่เนื่องจากยังมีความกังวลต่อความเชื่อมั่นของผู้รับบริการ ทั้งนี้เพราะผู้รับบริการของเราส่วนใหญ่ยังมีความคุ้นเคย เชื่อมั่นและค่านิยมในการรับบริการจากหน่วยบริการระดับตติยภูมิ และเราเองอยู่ระหว่างการสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับบริการในหน่วยงาน  เราจึงตกลงว่าจะขอลดกิจกรรมการวัดความดันโลหิตและการเจาะเลือดโดยอสม.ไว้ก่อน 

ทั้งนี้เราได้ย้ำเตือนทีมงานอยู่เสมอว่า โครงการอสม.อาสาฯ ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดหรือแบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่แม้แต่น้อย

โดยอาศัยลักษณะงานของศูนย์ฯ ที่จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๕ เขต เจ้าหน้าที่ประจำเขตออกให้บริการสุขภาพในหน่วยบริการสัปดาห์ละ ๑ วัน มีการนัดผู้ป่วยเรื้อรังตามวันที่เจ้าหน้าที่ประจำเขตออกให้บริการเพื่อให้มีความใกล้ชิดและต่อเนื่อง ดังนั้นในแต่ละวันผู้รับบริการส่วนใหญ่ในศูนย์ฯ มักจะมาจากเขตพื้นที่เดียวกัน  อสม.ที่จัดมาร่วมปฏิบัติงานในศูนย์จึงจัดให้มาจากเขตพื้นที่เดียวกันด้วย เพื่อให้ได้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชนในเขตที่มารับบริการและได้ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ประจำเขต

การปฏิบัติงานของอสม.อาสาจะหมุนเวียนมาตามเขต วันละ ๒ - ๓ คน ในช่วงเปิดคลินิคบริการเช้า ๗.๓๐ น. - ๑๒.๐๐ น. ตามตารางที่จัดไว้ ไม่มีค่าตอบแทนนอกจากเสื้อสัญญลักษณ์ และค่าอาหารกลางวัน มีอสม.เข้าร่วมโครงการประมาณ ๓๒ คน  นับแต่วันปฐมนิเทศจนถึงวันนี้ ยังคงมาปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องไม่เคยมีการขาดงาน

หลังจากปฏิบัติงานไปแล้ว ๗ เดือน ได้มีการประเมินผลโดยการใช้แบบสอบถาม ในกลุ่มอสม.อาสาฯ  กลุ่มเจ้าหน้าที่ และกลุ่มผู้รับบริการของศูนย์ฯ

ผลการประเมิน  พบว่า อสม.อาสาฯ มีความพึงพอใจมากถึงมากที่สุด ในเกือบทุกประเด็น ได้แก่ การดูแลเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ ความชัดเจนและความเหมาะสมของภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ความช่วยเหลือแก้ปัญหาจากเจ้าหน้าที่ ความรู้ ทักษะและสิ่งสนับสนุนที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่  ระดับความพึงพอใจของ อสม.อาสาฯประเด็นที่ต่ำที่สุดคือ การได้รับความร่วมมือจากผู้รับบริการ(ตอบระดับปานกลางถึง ๓๕%)  ในส่วนความคิดเห็นพบว่า อสม.อาสาฯ ส่วนใหญ่คิดว่าโครงการนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และอสม.ดีขึ้น ทำให้เข้าใจงานบริการของศูนย์ดีขึ้น ทำให้การประสานงานกับเจ้าหน้าที่ดีขึ้น รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์สุขภาพชุมชน ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ และช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของศูนย์ฯ ดีขึ้น มีความภูมิใจในการปฏิบัติงาน รู้สึกว่าศูนย์และโรงพยาบาลใกล้ชิดชุมชนมากขึ้น(ตอบระดับมาก ถึงมากที่สุด)  ส่วนประเด็นที่คำตอบระดับปานกลาง(๑๐-๑๕ %) ได้แก่ คิดว่าทำให้ภาระงานของอสม.มาก  ความรู้สึกได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น ๆ ของโรงพยาบาล ความมั่นใจในการนำประสบการณ์ไปใช้ในชุมชน  โดยรวมแล้วต้องการให้มีอสม.อาสาฯ มาปฏิบัติงานต่อไป

ในส่วนเจ้าหน้าที่ของศูนย์สุขภาพชุมชนพบว่ามีความพึงพอใจมากถึงมากที่สุดในประเด็น การช่วยเหลือต้อนรับผู้รับบริการของอสม. การปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอตามตาราง ความสามารถในการปฏิบัติงานตามภารกิจของอสม.    เจ้าหน้าที่มีความพึงพอใจระดับปานกลางถึงมากในประเด็น ความสามารถในการให้คำแนะนำแก้ปัญหาของอสม.ต่อผู้รับบริการ ความสามารถในการประสานงานของอสม.กับหน่วยงานอื่น ๆ  มนุษยสัมพันธ์กับผู้รับบริการ การเชื่อมต่อบริการสู่ชุมชน  ส่วนความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ต่อโครงการอสม.อาสาฯ พบว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เห็นว่า(ตอบระดับปานกลางถึงมาก) ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอสม.และเจ้าหน้าที่ดีขึ้น ความสัมพันธ์กับชุมชนดีขึ้น  ช่วยให้ง่ายต่อการสานต่อกิจกรรมสู่ชุมชน เกิดความสะดวกในการให้บริการ คิดว่าทำให้ความสัมพันธ์ของอสมกับชุมชนดีขึ้น  และต้องการให้มีโครงการนี้ต่อไป

แต่ในส่วนของผู้รับบริการพบว่าความพึงพอใจแทบทุกประเด็นอยู่ในระดับปานกลาง  และความคิดเห็นต่อผลการดำเนินการก็อยู่ในระดับปานกลางเช่นกัน

โดยรวมแล้วผมคิดว่าแม้โครงการนี้จะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์เลิศในทุกประเด็น แต่ส่วนใหญ่เห็นผลในด้านดี และหากนำมาทบทวนปรับปรุงรายละเอียดอีกเล็กน้อยในปีนี้จะช่วยให้การดำเนินงานบรรลุผลสมบูรณ์ได้ไม่ยาก

ผมเชื่อว่ากิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้มีผู้นำไปใช้ในศูนย์สุขภาพชุมชนอีกหลายแห่งมาก่อน เคยเห็นอสม.มาช่วยให้บริการค้นประวัติ ทำแผล หรือให้บริการจ่ายยา ในศูนย์สุขภาพชุมชนบางแห่ง และเห็นว่าเขาทำได้ดีโดยการควบคุมชี้แนะของเจ้าหน้าที่

ขอให้กำลังใจกับอสม.อาสาฯ และทีมงานของศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง และหวังว่าทีมงานจะช่วยกันปรับปรุงและสานต่อโครงการนี้ในปีต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญคือ การเสริมพลังและสร้างความยอมรับของประชาชนต่ออสม.ในการปฏิบัติงานในชุมชน  สานสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่และอสม. และระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชนในที่สุด โดยประเด็นการแบ่งเบาภาระงานเป็นเพียงผลพลอยได้เล็กน้อยเท่านั้น....

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3036เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2005 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ศิริพร สิทธิโชคธรรม

1.พิจารณาจากเป้าหมายนะคะ ถ้าเพื่อสัมพันธภาพระหว่างจนท.และอสม. ตรงนี้คิดว่าประสบความสำเร็จมากค่ะ

2. น่าคิดมากค่ะว่า "ทำไมผู้รับบริการจึงพอใจในระดับปานกลาง"

3. ถ้าอสม. ไปช่วยงานแบบนี้ที่สอ. ทำไมผู้ป่วย/ญาติ พึงพอใจมากกว่านี้? (แค่ฝากให้คิดค่ะ)

4. จะพัฒนาให้อสม.ร่วมปฏิบัติงานกับจนท. แล้วผู้ป่วย/ญาติ พึงพอใจมากกว่านี้ได้อย่างไร (แค่ฝากให้คิดค่ะ)

5. ยืนยันว่าเห็นด้วยกับการเริ่มต้นสิ่งดีดี และงดงามเช่นนี้  ขอให้กำลังใจว่า " การเริ่มต้น และเดินทางเส้นทางที่มีขวากหนาม" เป็นสิ่งที่มีค่ากว่าเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท