ปัญหาความยากจนของประชากรกับนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาล


ปัญหาความยากจนของประชากรกับนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาล

ปัญหาความยากจนของประชากรกับนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาล

 ความหมายของความยากจน

         ความยากจนหมายถึง การขาดแคลนทางทรัพยากรหรือเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีขึ้นแก่ผู้ใดผู้หนึ่งแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อนและพึ่งตนเองไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้นั้นไม่สามารถที่จะใช้ประสิทธิภาพทั้งทางร่างกาย และทางสมองให้ประโยชน์อย่างเต็มที่ได้ (สุวิทย์ รุ่งวิสัย 2526: 193)

ความยากจนและการมีรายได้ไม่เพียงพอเป็นเหตุให้เกิดปัญหาทางด้านการครองชีพ ก่อให้เกิดการกระทำผิดในทางอาชญากรรมได้ง่าย ถ้าบุคคลใดมีรายได้ไม่พอแก่การใช้จ่ายในการครองชีพที่จำเป็นเช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย บุคคลนั้นมักจะคิดประกอบการการกระทำความผิดขึ้นได้ อาจลักทรัพย์ ฉ้อโกง หรือประทุษร้ายผู้อื่น เพื่อแย่งชิงของมีค่า ทรัพย์สิน

          มีการถกเถียงกันอย่างมากว่าความยากจนจริง ๆ คืออะไร และใครอยู่กลุ่มผู้ยากจนซึ่งความหมายหรือคำจำกัดความของความยากจนอาจมองได้หลายแง่หลายมุม หากกล่าวให้ง่ายขึ้นความยากจนก็คือ ความขาดแคลนไม่เพียงพอทั้งปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและขาดแคลนโอกาส เช่นโอกาสการเข้าถึงระบบการศึกษา โอกาสการใช้บริการสาธารณสุขที่ดี ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะนำไปสู่โอกาสการมีงานทำที่ดีและสร้างรายได้ในอนาคต ได้มีนักวิจัยแบ่งกลุ่มคนจนไว้ 3 กลุ่ม คือ

          1. คนจนดักดาน คือมีน้อยกว่าคนอื่น ๆ เป็นอันมาก คนจนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องไปดูแลมากที่สุด ความยากจนเมื่อพิจารณาจากปัญหาสุขภาพ การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน ได้แก่ หมู่บ้านติดชายแดนภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ อย่างเช่น ในกลุ่มเกษตรกร เกษตรกรที่ยากจนมักจะมีที่ดินทำกินเล็กมาก อาชีพหลักคือ การทำนา ไม่มีแหล่งน้ำ จำนวนสมาชิกในครอบครัวมาก รายได้จากการทำนาไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

          2. คนจนที่จนโอกาส เป็นคนจนที่ดีกว่ากลุ่มแรกแต่ยังมีความขาดแคลนแต่ไม่มากนัก เป็นความยากจนโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต อาทิ ที่ดิน ทุนหรือการประกอบอาชีพ การจนโอกาสดังกล่าวทำให้คนจนกลุ่มนี้ไม่อาจออกจากบ่วงแห่งความยากจนได้

          3. คนเกือบจนหรือใกล้จน คนกลุ่มนี้ไม่ได้ขาดแคลนสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ได้มีปัจจัยน้อยกว่าใครอื่นมากนัก แต่มีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นคนจนได้อย่างง่ายดาย เพราะสาเหตุหรือปัจจัยภายนอกไม่ว่าจะเป็นดินฟ้าอากาศ แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต

          การวัดความจนนั้น เราสามารถจำแนกได้ 2 ประเภทคือ ความยากจนสมบูรณ์ และความยากจนเปรียบเทียบหรือความยากจนโดยสัมพันธ์ ซึ่งการวัดความยากจนสมบูรณ์นั้นคือ การวัดรายได้ของคนว่ามีมากเพียงพอต่อการดำรงชีพหรือไม่ ในขณะที่ความยากจนโดยสัมพันธ์เป็นการวัดความยากจนเชิงเปรียบเทียบ เช่นการวัดมาตรฐานชีวิตเทียบกับความคาดหวัง การได้รับการยอมรับ ซึ่งอาจบอกได้ว่าคนจนขาดแคลนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขาต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบกับคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยมิได้หมายความว่าพวกเขาจำเป็นมีฐานะทางเศรษฐกิจหรือมาตรฐานชีวิตต่ำกว่า

          สำหรับประเทศไทยนั้น ความยากจนคำนวณจากค่าใช้จ่ายของบุคคลหนึ่ง ๆ สำหรับการได้มาซึ่งอาหารและสินค้าจำเป็นโดยคำนวณจากปริมาณอาหาร สินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นขั้นต่ำ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค

 

ผลกระทบต่อสังคม

 

          ความยากจนมีผลกระทบต่อสังคมดังต่อไปนี้

          1. เป็นภาวะต่อสังคม คนยากจนมากมักตกเป็นหน้าที่ของสังคม ทำให้ลดระดับความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาด้านการเมือง ถ้าตราบใดความจนยังมีมากในหมู่ประชาชน ความคิดความอ่านเกี่ยวกับการเมืองการปกครองก็จะมีน้อยตามไปด้วย และในที่สุดก็จะส่งผลต่อการได้มาและการใช้อำนาจรัฐในทางที่ไม่สุจริต

          2. ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ประเทศใดมีความยากจนมาก ๆ ประเทศนั้นจะต้องประสบกับปัญหาเกี่ยวกับการขจัดความยากจนซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศในแทบทุกด้าน

          3. ก่อให้เกิดปัญหาสังคม เช่นปัญหาบ้านแตก เด็กเกเร อาชญากรรม ทุกปัญหาก็จะถูกโยงเข้ากับการเมืองได้หมด คนยากจนมักจะถูกเพ่งเล็งในด้านกระทำผิดเสมอ และความยากจนมากอาจจะถูกชักนำให้ประกอบอาชญากรรมได้

 

สถานการณ์ความยากจน

ปัญหาความยากจน ได้กลายเป็นปัญหาในเชิงระบบ และ โครงสร้างระดับชาติ ที่สั่งสมมานานในสังคมไทย จนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศ แม้ว่าภาครัฐจะให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนมาโดยตลอด โดยเฉพาะตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่  5 (พ.ศ. 2525- 2529) เป็นต้นมา แต่ยังไม่สามารถแก้ไขให้บรรลุผลที่จริงจัง ขณะที่สภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ได้ส่งผลให้ปัญหาความยากจนมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ปัญหาความยากจนจึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นองค์รวม ที่เชื่อมโยงมิติต่างๆเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ
        

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545 -2549) ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศเป็นปัญหาเร่งด่วนของชาติ ที่จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปีของแผน โดยได้กำหนดเป้าหมายการลดสัดส่วนคนจนจากร้อยละ 15.9 ในปี 2542 ให้เหลือร้อยละ 12 ในปี 2549 พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ ด้วยการกระจายโอกาสให้คนจนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐ มีการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพคนจนให้สามารถก่อสร้างตัวและพึ่งตนเองได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบบริหารจัดการภาครัฐ ปรับกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อคนจนให้ได้รับโอกาส สิทธิ และความเป็นธรรมอย่างทัดเทียมกับกลุ่มอื่นในสังคม
          ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาความยากจนได้รับการผลักดันให้เป็น “วาระแห่งชาติ ที่ต้องอาศัยการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนในสังคม ในการดำเนินงานพร้อมกันทุกระดับ ทั้งในระดับชาติ ท้องถิ่น และชุมชน โดย สศช.ได้จัดทำ "กรอบยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบยั่งยืน รวมถึงผู้ด้อยโอกาส" ขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2545 ได้มีมติเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว ต่อมา สศช.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำรายละเอียดแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่างๆ ของ  ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน และได้เสนอในการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2545 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว และมอบหมายให้ สศช.เป็นหน่วยงานหลักประสานการจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีการพัฒนาต่างๆ
           สภาวะความยากจนทางด้านรายได้ ในช่วงก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 เป็นช่วงที่ประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง ทำให้คนมีงานทำในระดับเต็มที่ และมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปัญหาความยากจนบรรเทาลงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนคนจนทางด้านรายได้หรือผู้ที่มีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจน มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากที่เคยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 32.6 ของประชากรทั้งประเทศ หรือจำนวน 17.9 ล้านคน ในปี 2531 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 11.4 ของประชากร หรือประมาณ 6.8 ล้านคน ในปี 2539 แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหดตัว จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น ระดับรายได้เริ่มลดลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 8.1 ทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบให้สัดส่วนคนจนเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 13.0 หรือเป็นจำนวนคนจน 7.9 ล้านคน ในปี 2541 สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจมีผลกระทบโดยตรงต่อปัญหาความยากจน เมื่อระบบเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาฟื้นตัวขึ้น สัดส่วนคนจนจึงเริ่มลดลง สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ เหลือร้อยละ          14.2     ในปี 2543 คิดเป็นจำนวนคนจน 8.9  ล้านคน
           

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2543-2545 ส่งผลต่อการขยายตัวระดับรายได้ของคนไทยดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจมีเสถียรภาพดี อัตราเงินเฟ้อไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก มีผลให้ปัญหาความยากจนลดลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2544 สัดส่วนความยากจนเป็นร้อยละ 13.0 คิดเป็นจำนวนคนยากจน 8.2 ล้านคน ขณะที่ในปี 2545 สัดส่วนความยากจนดังกล่าวลดลงเหลือร้อยละ 9.8 คิดเป็นจำนวน 6.2 ล้านคน หรือลดลง 2 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2544 นับเป็นความสำเร็จที่เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฉบับที่ 9 ที่จะลดสัดส่วนคนยากจนเหลือร้อยละ 12 ภายในสิ้นปี 2549 รวมทั้งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติที่สนับสนุนให้ประเทศไทยลดปัญหาความยากจนที่เป็นอยู่ในปี 2533 (เท่ากับร้อยละ 27.2) ลงครึ่งหนึ่งให้ได้ภายในปี        2558
          ภาวะความยากลำบากของคนยากจน เมื่อพิจารณาปัญหาความรุนแรงของความยากจน ซึ่งแสดงด้วยดัชนีช่องว่างความยากจนและดัชนีความรุนแรงของปัญหาความยากจน พบว่าภาวะความยากลำบากของคนยากจนในปี 2545 มีแนวโน้มที่ลดลงจากช่วงก่อนหน้า โดยดัชนีช่องว่างความยากจนและดัชนีความรุนแรงของปัญหาความยากจนลดลงจากระดับ 4.1 และ 1.6 ในปี 2543 เหลือ 2.4 และ 0.9 ในปี 2545 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความรุนแรงของปัญหาความยากจนลดลงเพียงเล็กน้อย บ่งบอกถึงการที่ยังมีคนยากจนที่รายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมากๆ นั้น อีกจำนวนหนึ่ง ทั้งๆ ที่คนยากจนส่วนใหญ่ลดลงจาก ปี 2544  ถึง  2  ล้านคนแล้ว
            ความแตกต่างในกลุ่มคนยากจน การประเมินเพื่อค้นหาความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนยากจนเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยจำแนกกลุ่มคนยากจนตามระดับรายได้ออกเป็นกลุ่มคือ คนจนมาก (มีรายได้ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของเส้นความยากจน) คนจนน้อย(มีรายได้ร้อยละ 80-100 ของเส้นความยากจน) และคนเกือบจนที่มีรายได้ใกล้เส้นความยากจนมาก เป็นผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะกลับกลายเป็นคนยากจนได้ในอนาคต(มีรายได้อยู่ระหว่างร้อยละ 100 ถึง 120 เหนือเส้นความยากจน) พบว่าในปี 2545 สัดส่วนกลุ่มคนที่ยากจนมาก มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 8.4 ถึง 120 เหนือเส้นความยากจน) พบว่าในปี 2545 สัดส่วนกลุ่มคนที่ยากจนมาก มีแนวโน้มลดลงร้อยละ 8.4 ในปี 2543 เป็น 5.1 ของประชากรทั้งหมด สัดส่วนกลุ่มคนยากจนน้อย มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 5.4 ในปี 2543 เป็น 4.7 ของประชากรทั้งหมดสัดส่วนคนกลุ่มเสี่ยงที่จะจน มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 6.3 ในปี 2543 เป็น 5.2 ของประชากรทั้งหมด ตัวเลขนี้แสดงว่าในปี 2545 ประเทศไทยสามารถลดปัญหากลุ่มคนจนมากได้อย่างรวดเร็ว แสดงว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจมีการกระจายไปถึงกลุ่มคนจนมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้มีรายได้ที่ไม่พอต่อความจำเป็นพื้นฐานมาก
           ลักษณะบางประการของความยากจนที่สำคัญ คนยากจนส่วนใหญ่อยู่ในชนบทโดยมีสัดส่วนคนจนร้อยละ 86.2 ของคนยากจนทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า คนในชนบทร้อยละ 13(หนึ่งในเจ็ดของคนชนบท) เป็นคนยากจน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคนยากจนถึง 2 ใน 3 ของคนยากจนทั้งประเทศกระจุกตัวอยู่ในภาคนี้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2545 สัดส่วนคนจนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการลดลงเร็วกว่าภาคอื่น โดยลดลงจากร้อยละ 24.5 ใน 2544 เป็นร้อยละ 17.7 ของประชากรทั้งภาค หรือเป็นจำนวนคนจน 3.7 ล้านคน ทั้งนี้ หากพิจารณาจากแนวโน้มในอดีตที่ผ่านมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีปัญหาความยากจนมากที่สุดมาโดยตลอด และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบมากกว่าภาคอื่น ในขณะที่ภาคเหนือและภาคใต้มีปัญหาความยากจนในระดับที่รองลงมา โดยในปี    2545    มีสัดส่วนคนจนร้อยละ 9.8 และ 8.7 ตามลำดับ                                   คนยากจนส่วนใหญ่กระจุกตัวในภาคเกษตร โดยเฉพาะในครัวเรือนเกษตรกรแรงงานรับจ้างภาคเกษตร และแรงงานทั่วไป ในปี 2545 คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 19.9,26.7 และ 9.5 ของครัวเรือนทั้งหมด จะเห็นว่าคนจนในครัวเรือนเกษตรกรและแรงงานรับจ้างทั่วไปมีสัดส่วนลดลงเมื่อเทียบกับปี 2544 ซึ่งมีคนจนร้อยละ 28.1 และ 20.8 ตามลำดับ ส่วนแรงงานรับจ้างในภาคเกษตรมีคนจนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.5 ในช่วงเดียวกัน ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรที่ยากจนจะขาดปัจจัยในการทำมาหากิน โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ครัวเรือนเกษตรกรมักมีรายได้ต่ำและไม่แน่นอน ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าสัดส่วนความยากจน ในแต่ละปีจะแปรผันกับรายได้ในภาคเกษตรและระดับราคาสินค้าที่เกษตรกรขายได้เป็นหลัก
           คนยากจนส่วนใหญ่มีภาระเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวสูง อัตราการพึ่งพิงของครัวเรือนยากจน(สัดส่วนสมาชิกครัวเรือนวัยเด็กและผู้สูงอายุต่อสมาชิกครัวเรือนทั้งหมด) เป็นร้อยละ 45.4 สูงกว่าครัวเรือนไม่ยากจนประมาณร้อยละ 20 และเมื่อพิจารณาหัวหน้าครัวเรือนที่เป็นหญิงมีสัดส่วนร้อยละ 8.0 หรือประมาณหนึ่งในห้าของครัวเรือนยากจน ในขณะที่หัวหน้าครัวเรือนที่ยากจนส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือไม่มีการศึกษา ซึ่งอาจสะท้อนถึงทางเลือกในการตัดสินใจและโอกาสการเข้าถึงแหล่งงานและความช่วยเหลือน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น แม้รัฐจะมีนโยบายเพื่อแก้ไขความยากจนในหลายด้าน (วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน 2548: 2)

ความยากจนเป็นหนึ่งในปัญหาของสังคมที่หมักหมมมานาน นับแต่เราเริ่มมีแนวคิดแบบทุนนิยม ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกส่วนภาคของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง คุณภาพชีวิต และวัฒนธรรม ซึ่งลัทธิทุนนิยมยังทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างไกลกันมากขึ้น คนรวยก็รวยจนล้นฟ้า คนจนก็จนหนักหนาสาหัสยิ่ง แต่ที่เป็นปัญหาก็คือคนรวยนั้นมีเพียงหยิบมือเดียวในขณะที่คนจนแออัดกันเต็มบ้านเต็มเมือง ส่งผลให้เกิดการดิ้นรนอพยพเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ เกิดชุมชนแออัดในเมือง ปัญหาที่อยู่อาศัย แหล่งเสื่อมโทรม และปัญหาคุณภาพชีวิต

เมื่อจำนวนคนจนเพิ่มขึ้น การอพยพย้ายถิ่นมีมากขึ้น เกิดการละทิ้งภูมิหลังของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม แบบแผนวิถีชีวิต จารีต ภูมิปัญญา ฯลฯ ภาพที่เห็นชัดเจนในปัจจุบันคือ ลูกหลานของคนในชนบทนิยมอพยพเข้าสู่เมือง ทำให้ขาดการสานต่อภูมิปัญญาที่ได้สืบทอดกันมาเช่น ภูมิปัญญาในการประกอบอาชีพ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการขายที่ดินทำกินที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษเพราะว่าวิถีชีวิตแบบใหม่ไม่ได้สนองตอบต่อการกลับคืนสู่ถิ่นเกิด ค่านิยมและทัศนคติแบบเมืองได้เข้ามากำหนดคุณค่าของชีวิตในเชิงเศรษฐกิจ โดยมีผลตอบแทนในรูปของตัวเงินเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ ทำให้ชีวิตขาดฐานรากทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ นอกจากปัญหาของชีวิตไม่ได้รับการแก้ไขแล้วยังมีแต่จะเพิ่มและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะความยากจนยิ่งทวีความรุนแรง มิหนำซ้ำยังบังคับให้ชีวิตต้องดิ้นรนและไหลวนอยู่กับภาพลวงตาอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งแม้จะดิ้นรนอย่างเอาชีวิตเข้าแลกก็ยังไม่ดีขึ้น มีแต่ถูกพันธนาการมากขึ้น ในขณะที่คุณค่าและความสุนทรียภาพของชีวิตขาดหายไป ด้วยความหวังที่จะหลุดพ้นจากภาวะความยากจนนี้ จึงเป็นเสมือน จุดคานงัด ให้กับนักการเมืองในการสร้างนโยบายเอาใจเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังที่กำลังฮิตติดอันดับในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเอาสิ่งของมาให้ สร้างให้ การให้ฟรีให้เปล่า และนโยบายแจกเงินไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ซึ่งถือเป็นความพยายามในการสร้างนโยบายที่เป็นรูปธรรมให้ โดนใจ คนส่วนใหญ่ที่ยังยากจนอยู่ โดยอ้างเพื่อให้คนเหล่านั้นหลุดพ้นจากวังวนของความทุกข์ยากทั้งปวง

คงไม่ต้องกล่าวถึงวิธีการแก้ไขปัญหาแบบมักง่ายในรูปแบบอื่นๆ แค่เพียงปัญหาความยากจนที่เน้นนโยบายลดแลกแจกแถม ภายใต้ความเชื่อแบบผิดๆ ที่ว่า ปัญหาความยากจนแก้ไขได้ด้วยการทำให้คนร่ำรวยนั้น แม้เพียงแค่คิดก็ผิดอย่างรุนแรงอยู่แล้ว

ความยากจนความร่ำรวย มันเป็นเพียงภาพลวงตาและวาทกรรมจากลัทธิทุนนิยม ที่ตีค่าของสิ่งต่างๆ ออกมาเป็นตัวเลขเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่สังคมไทยประกอบขึ้นด้วยหลายๆ สิ่งที่ไม่สามารถวัดหรือประเมินค่าออกมาเป็นตัวเลขได้เช่น วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา และความดีงามของจิตใจ ดังนั้นหากเราพยายามขยายภาพลักษณ์ของความร่ำรวยตามแนวคิดแบบทุนนิยมแล้วนำมาครอบวิถีชีวิตแบบไทยนี้ ก็ยิ่งจะทำให้คุณค่าความดีงามของชีวิต วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของคนไทยถูกกดทับให้ไร้ค่า และถูกทอดทิ้งมากยิ่งขึ้น

สังคมไทย เป็นสังคมแห่งเกษตรกรรม ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศใช้ในการดำรงชีพมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งทางออกจากความยากจนตามกระแสทุนนิยมก็มีอยู่หลายช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรทฤษฎีใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงให้เห็นพระปรีชาญาณที่ลุ่มลึกในการผสมผสานวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และชีวิตไว้อย่างลงตัว ซึ่งได้รับการยอมรับไปทั่วโลกว่า สามารถนำพาชีวิตให้รอดพ้นจากความล่มสลายในกระแสทุนนิยมได้

นอกจากนี้ก็ยังสามารถประยุกต์ทางเลือกเพื่อความเหมาะสมได้เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรเชิงพุทธ ฯลฯ ที่มีผลต่อการน้อมนำชีวิตไปสู่ความสุนทรียภาพอย่างพอดีพองาม มุ่งการพึ่งพาเกื้อกูลกัน การเคารพต่อธรรมชาติ และความสุขความเจริญทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นภาพแท้ความร่ำรวยของความสุขที่ยั่งยืน

          ด้วยอิทธิพลทางเศรษฐกิจปัจจุบัน ประกอบกับกลุ่มทุนที่ได้เข้าไปมีบทบาท อำนาจหน้าที่ในรัฐบาล  โดยรัฐบาลทักษิณได้กระตุ้นการบริโภคของประชาชนโดยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชน โดยหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ใช้วิธีการต่าง ๆ อาทิ การพักชำระหนี้ กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน SML สารพัดสินค้าเอื้ออาทร และหวยบนดินเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ซึ่งล้วนเป็นจุดอ่อนของคนไทย ยิ่งเมื่อพิจารณามาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยรักไทยนำมาใช้ เกือบทั้งหมดเป็นมาตรการสั่งจากบนลงสู่ล่าง โดยไม่สนใจว่าชาวบ้านจะมีความพร้อมหรือไม่ เมื่อแจกเงินไปแล้ว ก็มีการชี้นำชาวบ้านให้บริโภคเกินตัว ได้เงินมาง่ายก็จ่ายออกไปง่าย โดยเฉพาะการซื้อสินค้าที่เกินความจำเป็น เช่น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า คนในรัฐบาลไม่สนใจ ว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยให้ประชาชนรากหญ้ายืนอยู่บนขาของตนเองได้หรือไม่ และไม่สนใจว่ามาตรการเหล่านี้จะไปทำลายล้างหลักการพัฒนาชนบทที่พวก NGO ได้เพียรปลูกฝังไว้ นั่นคือ ช่วยคนให้ช่วยตัวเองได้

          การที่รัฐบาลทำตัวเป็นเศรษฐีโปรยทานหากโปรยทานด้วยเงินของตนเองก็ไม่มีใครว่าได้ แต่ที่โปรยทานด้วยเงินภาษี ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ผู้เสียภาษีทั้งหลายจะพึงวิพากษ์วิจารณ์ เป็นที่ปรากฏชัดว่ามาตรการทั้งหลายของรัฐบาลไทยรักไทยล้วนทำให้หนี้สินของประชาชนพอกพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ กุนซือของรัฐบาลก็รู้ดีว่านโยบายประชานิยมของรัฐบาลนี้หากการหมุนหนี้หยุดลงเมื่อใดอำนาจซื้อก็จะสะดุด เศรษฐกิจก็จะชะงัก รัฐบาลจึงมีมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นประชานิยมออกมาตลอดเวลา

 

แนวทางแก้ไขปัญหา

 

  แนวคิดเกี่ยวกับปัญหาความยากจน ที่มีการนำเสนอกันมากขึ้นในปัจจุบัน มีกรอบคิดเกี่ยวกับที่มาและความหมายของคนจนไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่) เช่น กรอบคิดแบบเจ้าขุนมูลนายมองว่า คนจนคือคนขี้เกียจเรียน ขี้เกียจทำงาน หรือทำบาปกรรมไว้แต่ชาติก่อน กรอบคิดแบบนายทุนมองว่า คนจนคือคนที่มีรายได้ต่ำกว่าที่จะใช้ยังชีพให้มีมาตรฐานได้ และการที่คนจนเนื่องจากพวกเขายังไม่ได้รับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่มากพอ

  การที่เราจะสามารถทำความเข้าใจและวิเคราะห์ปัญหาความยากจนได้อย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงความจริงเราจะต้องวิเคราะห์ตั้งแต่กรอบคิดเรื่องความยากจนก่อน
            ที่มาของคนจนยุคใหม่ไม่เหมือนและไม่ได้สืบทอดความเป็นคนจนมาจากอดีตเสมอไปคนจนหรือคนที่ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำกว่าคนอื่น ๆ ในสังคมเดียวกันมีมาตั้งแต่อดีต แต่ในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมที่คนส่วนใหญ่ผลิตเพื่อกินเพื่อใช้เป็นสัดส่วนสูงนั้น คนในหมู่บ้านไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกันมากนัก คนส่วนใหญ่มีมาตรฐานการดำรงชีพที่พออยู่พอกินใกล้เคียงกัน โดยที่พวกเขาไม่ค่อยจำเป็นต้องซื้อขายหรือใช้เงิน
             คนที่ถูกจัดว่ายากจนในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่จะมาจากความด้อยโอกาสทางสังคม และวัฒนธรรม เช่น มาจากชาติพันธุ์หรือภูมิหลังทางสังคมที่คนมองว่าเป็นพวกด้อย, ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับ หรือกลายเป็นคนยากจนขัดสนในสถานการณ์บางอย่าง เช่น เกิดมาพิการ หรือได้รับภัยพิบัติต่าง ๆ เป็นหม้าย แก่ชราโดยไม่มีลูกเต้าเลี้ยงดู ฯลฯ มากกว่าเป็นเพราะว่าเขาเกิดมาและอยู่ในชนชั้นที่ยากจน
            ความยากจนในลักษณะเปรียบเทียบในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมนี้มักไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ในบางชุมชนที่ค่อนข้างมีความเสมอภาคกันมาก ไม่ได้มีปัญหาคนยากจน หรือไม่มีแนวคิดเรื่องความยากจนนี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำ
           แต่ถ้าเราไม่ใช้กรอบคิดที่มองความยากจนในเรื่องรายได้ต่ำหรือความไม่ทันสมัย หากใช้กรอบคิดที่มองในแง่ว่าคนมีปัจจัยพื้นฐานที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิตที่มีความสุขหรือไม่ เราอาจจะกล่าวในทางตรงกันข้ามได้ว่า การพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตกดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการทำให้คนส่วนหนึ่งยากจนลง หรือเป็นผู้สร้างความยากจนยุคใหม่ขึ้น เพราะการพัฒนาทุนนิยมในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย เป็นการพัฒนาทุนนิยมแบบบริวาร ที่มีการผูกขาด, การแข่งขันไม่เป็นธรรม พึ่งการลงทุน การสั่งเข้าเทคโนโลยีจากประเทศร่ำรวย ไม่ได้พัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง การเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประโยชน์กับทุนต่างชาติ และนายทุนใหญ่ในประเทศ มากกว่าที่จะกระจายสู่คนส่วนใหญ่ ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเกิดคนจนมากขึ้น
            ดังนั้นเราจึงควรจำกัดความคนจน ให้ครอบคลุมคนยากจนขัดสนในด้านสังคม การเมือง และวัฒนธรรมด้วย และหาตัวชี้วัดทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ด้วย และหาตัวชี้วัดทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งต่างจากตัวชี้วัดทางรายได้หรือทางเศรษฐกิจ มาพิจารณาประกอบกับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ เราจึงจะเห็นภาพความยากจนซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมอย่างเป็นองค์รวม และสามารถวิเคราะห์สาเหตุของความยากจน ทั้งจากปัจจัยภายนอก(ทุนนิยมโลก) และปัจจัยภายใน(โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมในประเทศที่เป็นเผด็จการล้าหลัง) ปัญหาผลกระทบปัญหาความยากจนต่อสังคม และแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงความเป็นจริงได้มากขึ้น
            เนื่องจากปัญหาความยากจนเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมผูกขาดที่ด้อยพัฒนา ไม่ใช่แค่เรื่องการที่ประชาชนยังมีการศึกษาต่ำหรือรายได้ต่ำ ฯลฯ เท่านั้น การจะแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ผล ต้องแก้ไขตาม เงื่อนไขของความยากจน  ให้ได้อย่างเชื่อมโยงกันทั้งระบบโครงสร้าง ไม่ใช่แค่ทำโครงการเป็นส่วน ๆ เช่น พักหนี้เกษตรกร, กองทุนหมู่บ้าน, ธนาคารคนจน ฯลฯ ซึ่งจะแก้ปัญหาได้เพียงเฉพาะหน้าสั้น ๆ อาจช่วยได้เฉพาะบางคนแต่ไม่อาจแก้ปัญหาคนจนได้ทั้งหมด สิ่งที่จะต้องทำคือ

          1. ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม เช่น การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปการเกษตร การปฏิรูประบบการคลัง การเงิน การภาษีอากร เพื่อเก็บภาษีคนรวย ไปช่วยพัฒนาคนจน การปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุข สื่อสารมวลชน ปฏิรูปทางการเมือง และปฏิรูปทางสังคมด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดโครงสร้างการเป็นเจ้าของและการควบคุมปัจจัยการผลิตใหม่ ที่มีความเป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย และมีประสิทธิภาพ เน้นการพัฒนาระบบสหกรณ์, องค์กรของชุมชน, บริษัทมหาชน การแข่งขันเสรีแทนระบบทุนนิยมผูกขาด
           2. เปลี่ยนนโยบายการพัฒนาประเทศ จากที่เน้นการพึ่งพาการลงทุนและการค้ากับ ต่างประเทศเป็นสัดส่วนสูงเกินไป มาเน้นการพัฒนาคน การจ้างงาน การพัฒนาทรัพยากร และตลาดภายในประเทศ และเลือกลงทุนและการค้ากับต่างประเทศ เฉพาะที่จำเป็นและคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ เปลี่ยนนโยบายจากที่เคยเน้นความเติบโตของสินค้าบริการของประเทศโดยรวม มาเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนส่วนใหญ่
           3. การเพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนจน ขยายฐานภาษีโดยให้มีภาระภาษีน้อยที่สุด รวมทั้งเพิ่มรายจ่ายบริการพื้นฐานด้านสาธารณสุข การศึกษา สำหรับคนจนในประเทศ สนับสนุนโครงการแก้ไขความยากจนและสถานะทุนทางสังคมโดยร่วมมือกับท้องถิ่น ภาคประชาชนให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง  สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชนโดยการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญา เทคโนโลยีท้องถิ่น การวิจัย และพัฒนาจากปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์ปัญหาจากบุคคลหลากหลายในท้องถิ่น สร้างโอกาสการเรียนรู้ ร่วมคิดร่วมทำในกิจกรรมต่างๆ และระเบียบวินัยการดำเนินชีวิตแบบพอมีพอกินของคนจน รวมทั้งกระบวนการพัฒนาร่วมกับภาคราชการ

4. การพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมและผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมและริเริ่มการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการโดยชุมชน กองทุนประกันการว่างงานได้และขยายขอบเขตการประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ส่งเสริมและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจชุมชนซึ่งมีผลกระทบในเชิงบวกเกี่ยวกับการระดมเงินออมภายในชุมชน เนื่องจากคนจนมีอาชีพการงานที่มั่นคง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดพลังรากฐานของสังคมที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมถึงคนทุกส่วนในสังคม

5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  ส่งเสริมบทบาทชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ   เร่งรัดแก้ไขกฎหมายที่มีผลต่อการจัดการทรัพยากร

6. การปรับปรุงระบบบริหารจัดการ  กระจายอำนาจและมอบงบประมาณให้แก่ท้องถิ่นได้เข้าถึงในการจัดสรรเงินทุนเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการสิทธิชุมชน  ออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรที่ยากจนและใช้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ ควรมีการจัดทำแนวทางการใช้ทรัพยากรดินเพื่อเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ป่าชุมชน รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำ   ภายใต้การจัดสรรอย่างเป็นธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีการทบทวน ปรับปรุง และยกร่างกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความยากจนอาจมองได้หลายแง่หลายมุม แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่ยังมีความรู้สึกว่าไม่มีกินหรือไม่พอกิน รายได้น้อย ไม่มีที่ทำกิน รัฐในฐานะของผู้ดูแลสวัสดิภาพของคนในสังคม ซึ่งมีเป้าหมายหลักอยากให้คนในสังคมอยู่ดีกินดี ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอาจจะไม่สามารถรับรองได้ว่าประชาชนทุกคนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้น การเข้ามาดูในรายละเอียดและพิจารณาคนในสังคมยังมีปัญหาและอะไรคือสาเหตุของปัญหาเป็นสิ่งที่ผู้เข้าไปแก้ปัญหาจะต้องดำเนิน การประเทศไทยโดยรวมสถานการณ์ความยากจนลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

บรรณานุกรม

 

วันรักษ์  มิ่งมณีนาคิน  (2548) “นโยบายประชาสินบนกับการแก้ปัญหาความยากจนไม่ใช่เรื่องเดียวกัน”  

        วารสารเศรษ

หมายเลขบันทึก: 300878เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2009 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครูอ้อย มาลงชื่ออ่านรับความรู้แล้วนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท