ปัญหากลุ่มผลประโยชน์กับการพัฒนาทางการเมืองไทย


ปัญหากลุ่มผลประโยชน์กับการพัฒนาทางการเมืองไทย

ปัญหากลุ่มผลประโยชน์กับการพัฒนาทางการเมืองไทย

 

สภาพปัญหา

                    กลุ่มผลประโยชน์เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเสถียรภาพและพัฒนาการทางการเมืองของไทย ในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นองค์กรที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย (Policy Making) ด้วยวิธีการเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์  Gabriel Almond and  Bingham Powell นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา ได้แบ่งประเภทของกลุ่มผลประโยชน์ ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ (สมชาย ติลังการณ์ http://phrae.ect.go.th: 2 ก.ย.48)

                                                (1. กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นสถาบัน เช่น บริษัท กลุ่มธุรกิจ กองทัพ ข้าราชการ

                             (2. กลุ่มผลประโยชน์ที่มีการจัดตั้ง เช่นสหภาพแรงงาน สมาคมพ่อค้า หอการค้า

                             (3. กลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีการรวมตัวกันในรูปแบบที่เป็นทางการ เช่น กลุ่มชนชั้น กลุ่มเครือญาติ

                             (4. กลุ่มผลประโยชน์ที่ไร้บรรทัดฐาน รวมตัวกันเมื่อเกิดวิกฤตร้ายแรง เช่นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ กลุ่มผู้ประท้วง

                    กลุ่มผลประโยชน์ของไทยส่วนใหญ่มักจะเป็นรูปแบบของกลุ่ม สมาคม โดยไม่ยุ่งเกี่ยวหรือแสดงบทบาททางการเมืองเนื่องจากสาเหตุทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม ที่ไม่ส่งเสริมให้คนไทยรวมกลุ่มกัน ประกอบกับกฎหมายมักมีข้อห้ามการรวมกลุ่ม สมาคม ที่มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทางการเมือง จึงทำให้กลุ่มผลประโยชน์ไม่มีโอกาสพัฒนาไปสู่สถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง  กลุ่มผลประโยชน์ของไทยจึงเป็นกลุ่มที่มีลักษณะยกย่องผู้มีอำนาจ บารมี ผู้มีชื่อเสียงเข้ามาเป็นผู้นำกลุ่ม อันเป็นผลมาจากระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย พัฒนาการของกลุ่มจึงสะดุดลงทุกครั้งที่ขาดผู้มีอำนาจ กลุ่มผลประโยชน์ไทยยังขาดเอกภาพ เนื่องจากความขัดแย้งภายในกลุ่ม ทำให้กลุ่มไม่มีศักยภาพเพียงพอในการแสดงอิทธิพลเพื่อจุดประสงค์ของกลุ่ม อำนาจเด็ดขาดในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจตกอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจ เพียงกลุ่มเดียว โดยที่สมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่มไม่มีบทบาทอย่างใด กลุ่มผลประโยชน์จึงเป็นกลุ่มของคนจำนวนไม่กี่คนที่เป็นผู้นำของกลุ่มเท่านั้น

          กลุ่มผลประโยชน์ของไทยมักเป็นกลุ่มที่ถูกจัดสร้างขึ้นโดยคนกลุ่มเล็ก ๆ แล้วแสวงหาสมาชิกเพื่อรองรับความชอบธรรม ให้ดูเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีสมาชิกมาก ทั้งที่ความจริงสมาชิกสมาชิกส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจหรือสำนึกในความเป็นกลุ่มแต่อย่างใด สมาชิกส่วนใหญ่ไม่สามารถแสดงบทบาทได้ ผลประโยชน์ของกลุ่มจึงมิใช่ผลประโยชน์ที่แท้จริงของสมาชิกส่วนใหญ่ กลุ่มผลประโยชน์ของไทยจึงเป็นสถาบันที่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพปัญหาของกลุ่มผลประโยชน์กับการพัฒนาทางการเมืองไทยยิ่งขึ้น จึงขอนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับกลุ่มผลประโยชน์  ความหมายของกลุ่มผลประโยชน์และความสำคัญของกลุ่มผลประโยชน์ต่อการเมืองเพื่อความเข้าใจ ดังนี้

1. แนวคิดเกี่ยวกับกลุ่มผลประโยชน์

                    แนวความคิดเกี่ยวกับความจำเป็นและความสำคัญของกลุ่มชน ต่อระบอบประชาธิปไตยเป็นแนวความคิดหลักของทฤษฎีประชาธิปไตยพหุนิยม (Pluralist Democratic Theory) ซึ่งเชื่อว่าในสังคมสมัยใหม่ที่มีการแบ่งแยกแจกแจงโครงสร้างทางสังคมอันหลากหลายนั้น มีกลุ่มพลังกดดันและกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมากทำหน้าที่เป็นตัวแทนพิทักษ์ผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม และพร้อมเสมอที่จะใช้อำนาจและอิทธิพลเพื่อต่อต้านการพยายามแทรกแซงของรัฐ กลุ่มพลังกดดันและกลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้จะสร้างองค์กรขึ้นเป็นของตนเอง เพื่อประโยชน์ในการเรียกร้องความต้องการของกลุ่มต่อรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจึงมิใช่แหล่งอำนาจเพียงแหล่งเดียวหรือเป็นสถาบันเพียงสถาบันเดียวที่มีอำนาจควบคุมชีวิตคนในสังคม รัฐบาลมีบทบาทเป็นกรรมการที่คอยทำหน้าที่กำหนดกติกาการแข่งขันระหว่างกลุ่มอย่างเสมอหน้ากัน

                    รัฐบาลซึ่งเป็นแหล่งอำนาจรัฐ เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐและกลุ่มพลังต่าง ๆ ซึ่งต้องการสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ จะต้องมีวิธีการที่ผ่อนคลายความขัดแย้งที่เกิดจากการแข่งขันเพื่อประโยชน์ (ทั้งของฝ่ายรัฐและของกลุ่มต่างๆ) เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดระดับความขัดแย้งที่รุนแรงด้วยการรวมระบบการต่อรองร่วมกัน (bargaining) และการปรับตัวให้เข้ากันโดยสันติวิธี (peaceful adjustment) บทบาทและนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยพหุนิยม จึงขั้นอยู่กับการประสานประโยชน์ระหว่างกลุ่มพลังต่าง ๆ ที่มีความขัดแย้งกัน

                    แนวคิดดังกล่าวจึงมีสมมติฐานที่สำคัญ 3 ประการคือ (ชัยอนันต์ สมุทวนิช 2536: 135)

                             (1. ผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่มารวมตัวกันนั้น มีลักษณะที่สอดคล้องต้องกันอย่างเห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม

                             (2.  กลุ่มพลังกดดัน และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนส่วนต่าง ๆ ของสังคม ต่างกลุ่มต่างคอยถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เป็นพลังที่คอยตรวจสอบทัดทานซึ่งกันและกัน เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจและอิทธิพลมากเกินไป

                             (3.  บทบาทของรัฐบาล ได้แก่ การเปิดโอกาสให้พัฒนาการของการรวมตัวเพื่อความต้องการหรือผลประโยชน์ของชนในสังคมเกิดขึ้นได้ มิใช่ทำการปิดกั้น (ทั้งนี้หมายถึง การรวมตัวต่อสู้ภายในกติกาของการแข่งขันต่อรองอย่างสันติ และจะต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มพลังกดดันและกลุ่มผลประโยชน์สามารถเข้าถึงรัฐบาลได้)

                    อย่างไรก็ดี กำเนิดของกลุ่มพลังงานและกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายย่อมเป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งจัดว่าเป็นความจริงที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ ส่วนความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มกับกลุ่ม และกลุ่มกับรัฐบาล จะเป็นอย่างไรนั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

                    ดังนั้น การรวมกลุ่มกับการยอมรับความสำคัญและบทบาทของกลุ่มโดยรัฐบาล หรือการยอมรับความสำคัญของกลุ่มหนึ่ง โดยอีกกลุ่มหนึ่งว่าจะต้องร่วมกันอยู่ในสังคม จึงเป็นคนละประเด็น ปัญหาทางการเมืองที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่าง รัฐ-กลุ่ม หรือระหว่าง กลุ่ม-กลุ่ม มีที่มาจากการปิดกั้นการก่อตัว บทบาทและการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังโดยรัฐ ; โดยกลุ่มพลังและ/หรือกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอยู่ก่อนมีอำนาจและอิทธิพลเหนือกว่า ; โดยการที่รัฐบาลละเลยบทบาทในการรักษากติกาการแข่งขัน ตกลงต่อรอง ปรับตัวเข้าหากันอย่างสันติ

                    การยอมรับความจำเป็นและความสำคัญของกลุ่มในระบอบประชาธิปไตยเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของผู้นำ และกลุ่มพลังอำนาจเดิมที่มีอยู่ก่อนการเกิดขึ้นและการกระจายตัวของกลุ่มพลังที่ด้อยอำนาจและอิทธิพล

                    ในด้านความคิด การเปลี่ยนแปลงในทัศนคติที่สำคัญต่อบทบาทและความสำคัญของกลุ่มหลากหลาย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงจากการขาดความอดทนไปสู่การมีขันติธรรม จากการมีขันติธรรมไปสู่การยอมรับความคิดเห็นและผลประโยชน์ที่แตกต่างออกไป และจากการตีความแตกต่างดังกล่าวไปสู่ความเชื่อและการยอมรับว่า สังคมมิใช่เป็นสิ่งทุกส่วนจะต้องมีลักษณะเป็นเอกภาพ (unity) แต่เป็นหลายส่วนที่แตกต่างกัน (diversity) ในแง่นี้ทัศนคติที่ว่า ความแตกต่างกันและความไม่เห็นพ้องต้องกัน เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบอบการเมืองจะต้องลดระดับลงด้วย

 

          2. ความหมายของกลุ่มผลประโยชน์

                    กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Group) คือกลุ่มทุติยภูมิที่ถือกำเนิดจากการรวมตัวของบุคคลหรือปัจเจกบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกันบางประการ และมีพฤติกรรมที่มุ่งใช้อำนาจและอิทธิพลในการดำเนินกิจกรรมในการบริหารสาธารณะที่มีต่อภาครัฐหรือนโยบายสาธารณะโดยผ่านกระบวนการทางการเมือง (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2547: 51)                                    

                          David B.Truman นักวิชาการชาวอเมริกัน ได้ให้ความหมายกลุ่มผลประโยชน์ไว้ว่า กลุ่มผลประโยชน์จะมีลักษณะแตกต่างไปจากกลุ่มโดยทั่วไปตรงที่การเข้ารวมกันของสมาชิกภายในกลุ่มไม่ได้เป็นเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จำเป็น จุดหมายหรือผลประโยชน์ของกลุ่มเท่านั้น แต่ต้องมีทัศนคติร่วมกันด้วย ซึ่งจะประกอบด้วย (สมชาย ติลังการณ์ http://phrae.ect.go.th: 2 ก.ย.48)

                                                (1. ต้องมีทัศนคติร่วมกันเห็นพ้องต้องกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน จากการประนีประนอมต่อรองภายใต้กติกาที่ยอมรับของกลุ่ม

                             (2.  ต้องมีการจัดตั้งองค์กรอย่างถาวร เช่นมีกรรมการบริหาร ระเบียบ กฎเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้นำ สมาชิกเป็นต้น

                             (3.    ต้องมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสมาชิกในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม

                             (4.   ต้องมีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกลุ่ม

                    Murice Duverger นักวิชาการอังกฤษ เห็นว่ากลุ่มผลประโยชน์เป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองโดยมีอิทธิพลเหนืออำนาจรัฐเป็นเป้าหมายหลักเป็นการใช้อิทธิพลในการบีบบังคับผู้มีอำนาจบริหารประเทศ ที่จะกำหนดนโยบายสาธารณะหรือจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าของสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่กลุ่มตนต้องการ

                    ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่ากลุ่มผลประโยชน์บางทีอาจเรียกว่ากลุ่มอิทธิพล กลุ่มพลังซึ่งจะมีลักษณะดังนี้

                             (1. รวมผลประโยชน์ของบุคคลในสังคมหนึ่งเข้าด้วยกัน

                             (2. บุคคลเข้ามารวมกันต้องมีทัศนะร่วมกัน โดยไม่มีทรัพย์สินรายได้ หรือวัตถุอื่น ๆ ร่วมกัน

                             (3. การรวมกันเพื่อจะมีอิทธิพลผลักดันให้สังคมยอมรับหรือยอมตามความคิดหรือความต้องการของกลุ่มจนกระทั่งรัฐยอมออกกฎหมาย

                             (4. ไม่มุ่งหวังจะได้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ แต่มุ่งหวังที่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของทางราชการและไม่รับผิดชอบต่อการวางนโยบายทางกฎหมายโดยตรง

                             (5. การรวมกันมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในอันที่จะให้ความต้องการของตนเป็นความต้องการของสังคม

 

          3. ความสำคัญของกลุ่มผลประโยชน์ต่อการเมือง

                  

                     จุมพล หนิมพานิช ได้อธิบายความสำคัญของกลุ่มผลประโยชน์ต่อการเมืองไว้ว่า (จุมพล หนิมพานิช 2545:42) กลุ่มผลประโยชน์เป็นกลุ่มการเมืองที่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลที่มีวัตถุประสงค์ ทัศนคติ และผลประโยชน์ร่วมกัน มารวมตัวกันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยผ่านกระบวนการทางการเมือง ซึ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการระดมทรัพยากรเพื่อสร้างกำลัง และเพื่อใช้กำลังเพื่อมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐบาล

                   การมารวมตัวของกลุ่มผลประโยชน์ตามความเป็นจริงแล้ว เพื่อต้องการมีอิทธิพลเหนือการวางหรือการกำหนดนโยบายของรัฐบาล  กลุ่มผลประโยชน์จะกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองก็ต่อเมื่อมีการเรียกร้องหรือมีการแสดงออกซึ่งผลประโยชน์ ซึ่งการเรียกร้องหรือการแสดงออกซึ่งผลประโยชน์มักเป็น การเรียกร้องหรือการแสดงออกซึ่งผลประโยชน์ต่อรัฐบาล ต่อกลไกของรัฐ ซึ่งในสังคมพหุนิยมการได้มาซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าวมักจะเป็นผลมาจากการต่อสู้แข่งขันกับกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งผลประโยชน์ที่จะได้มา จะได้มามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหรือองค์ประกอบดังต่อไปนี้ คือ ขนาดของกลุ่ม สถานภาพทางสังคม ความสามัคคีของกลุ่ม และภาวะผู้นำหรือความเป็นผู้นำ        

         

          4. ลักษณะของกลุ่มผลประโยชน์ในระบบการเมืองไทย

                   ลักษณะกลุ่มผลประโยชน์ของประเทศไทยในอดีตเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีลักษณะสำคัญคือ การถือกำเนิดจากความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากสังคมของประเทศในทวีปยุโรปที่ให้คุณค่ากับอุดมการณ์ร่วมกัน พัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้วิวัฒนาการการรวมกลุ่มของคนไทยในลักษณะแนวราบที่เป็นความสัมพันธ์ทุติยภูมิมีแนวโน้ม  ที่เพิ่มมากขึ้น กลุ่มผลประโยชน์จึงเป็นกลุ่มทุติยภูมิที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของกลุ่มมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวหรือเฉพาะบุคคล มีการประนีประนอมและมีความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น

                   ลักษณะของกลุ่มผลประโยชน์ของไทยปัจจุบันมีสองลักษณะ คือกลุ่มผลประโยชน์ที่รัฐจัดตั้งหรือสนับสนุนหรือกลุ่มผลประโยชน์โดยรัฐ กับกลุ่มผลประโยชน์ที่รัฐไม่ได้จัดตั้งหรือกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นอิสระ (วิวัฒน์ เอี่ยมไพรวัน 2547: 82) กลุ่มผลประโยชน์ที่รัฐจัดตั้งหรือสนับสนุนหรือกลุ่มผลประโยชน์โดยรัฐเป็นไปเพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการดำเนินกิจกรรมทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อเป็นตัวแทนของรัฐในการดำเนินกิจกรรมทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่เป็นการอำนวยความสะดวกทางการเมือง เพื่อป้องกัน/ป้องปราม/ต่อสู้/แข่งขันกลุ่มผลประโยชน์อื่นใดที่ต่อสู้/แข่งขันกับรัฐ บทบาทของกลุ่มผลประโยชน์โดยรัฐที่สำคัญ คือ การค้ำจุนเสถียรภาพทางการเมืองแทนการกดดันรัฐในการวางหรือกำหนดนโยบายสาธารณะ  ส่วนกลุ่มผลประโยชน์ที่จัดตั้งด้วยตนเองหรือกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นอิสระ เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่จัดตั้งจากจิตสำนึกของประชาชนที่มีผลประโยชน์ร่วมกันและเป็นพื้นฐานของความร่วมมือในการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดด้านใดด้านหนึ่งหรือเฉพาะด้านหรือหลายด้าน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้จัดตั้งด้วยตนเองโดยไม่ต้องอิงกับอำนาจรัฐ เพราะความต้องการของประชาชนหรือกลุ่มไม่สอดคล้องกับความต้องการของรัฐเพราะอาจขัดกับนโยบายของรัฐบาลหรือเป็นภัยต่อประโยชน์ของรัฐเช่น ความมั่นคง หรือรัฐไม่สามารถสนองตอบได้      

                    กลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาการเมืองไทยในปัจจุบันถ้าพิจารณาตามกรอบแนวคิดของการจำแนกประเภทกลุ่มผลประโยชน์ของ  Gabriel Almond และ  Bingham Powell จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่รวมตัวกันชั่วคราวหรือไร้บรรทัดฐาน เช่น กลุ่มประท้วงรัฐบาล กลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่ได้จัดตั้งในรูปสมาคม เช่น เชื้อชาติ กลุ่มชาวไทยมุสลิม กลุ่มชาวจีน  กลุ่มผลประโยชน์ที่รวมตัวกันในรูปของสถาบัน ได้แก่กลุ่มข้าราชการ กลุ่มทหาร นักการเมือง  และกลุ่มผลประโยชน์ที่จัดตั้งในรูปสมาคม เช่นสมาคมวิชาชีพ สมาคมการค้า ต่างก็มีอิทธิพลต่อการพัฒนาทางการเมืองไทยทั้งสิ้น                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                        

                   กลุ่มการเมืองแต่ละกลุ่มต่างก็พยายามที่จะให้กลุ่มของตนเองได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ถ้ากลุ่มของตนเองเสียเปรียบหรือไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตัวแทนกลุ่มซึ่งเป็นผู้นำก็จะชักชวนหรือชี้นำสมาชิกภายในกลุ่มให้มีการเรียกร้องผลประโยชน์ให้กับกลุ่มของตน ซึ่งการเรียกร้องผลประโยชน์เป็นกระบวนการที่ปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มบุคคลแสดงออกซึ่งข้อเรียกร้อง (Demands) ต่อผู้ตัดสินใจทางการเมือง ระบบการเมืองทุกระบบจะต้องมีวิธีการในการจัดการกับข้อเรียกร้องหรือความต้องการของประชาชน การตัดสินในทางการเมืองทุกอย่างย่อมมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ ของกลุ่มชนไม่ในทางบวกก็ในทางลบ ดังนั้นหากชนกลุ่มใดในสังคมไม่มีช่องทางที่จะเรียกร้องผลประโยชน์หรือความต้องการแล้ว ก็เป็นที่แน่นอนว่าความต้องการเหล่านั้นจะไม่ได้รับการตอบสนอง ความอัดอั้นตันใจที่เกิดขึ้น จึงอาจปะทุขึ้นมาเป็นความรุนแรง และหากก่อให้เกิดความระส่ำระสายต่อระบบการเมือง จะเป็นผลให้เกิดความจำเป็นที่ผู้มีอำนาจทางการเมือง จะโต้ตอบด้วยการปราบปราม เพื่อรักษาความเป็นระเบียบในสังคม จะเห็นได้ว่ากระบวนการเรียกร้องผลประโยชน์เป็นกระบวนการที่จำเป็นในการที่ระบบการเมืองจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น เพราะเป็นวิธีการตีแผ่ให้เห็นถึงความต้องการของกลุ่มชนต่าง ๆ ที่อาจมีความขัดแย้งกันให้ผู้ตัดสินใจทางการเมืองได้รับรู้และหาทางตอบสนองให้เหมาะสม ซึ่งหากทำได้ดีก็จะป้องกันมิให้ความขัดแย้งปรากฏชัดขึ้นโดยการช่วงชิงที่จะทำการประนีประนอมผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มชนเสียก่อน  (ธีรพล อินทรลิบ 2541 : 11)

                   กลุ่มผลประโยชน์เป็นอิทธิพลนอกระบบรัฐสภา ที่เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายของรัฐ บทบาทนี้มีความจำเป็นอยู่แม้ในระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุที่ว่าการเลือกตั้งซึ่งเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ จึงต้องมีการจัดระเบียบการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนต่าง ๆ ในระบบการเมือง มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นว่าประชาชนพลเมืองสามารถแสดงอำนาจประชาธิปไตยได้ทุก ๆ 4 ปีเท่านั้น (คือทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งเท่านั้น)

                   กลุ่มผลประโยชน์มีบทบาทเป็นกุญแจสำคัญ ในกระบวนการทางการเมืองที่สลับซับซ้อน แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นกุญแจดอกเดียวที่เปิดประตูไปสู่การทำความเข้าใจกับการตัดสินใจของรัฐในการกำหนดและดำเนินนโยบาย ผู้ที่เป็นรัฐบาลมักจะตอบสนองความต้องการของกลุ่มที่ให้การสนับสนุนแก่ตนไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทองหรือปัจจัยอื่น ๆ รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องหาทางประนีประนอมหรือทำการประสานประโยชน์หรืออย่างน้อยที่สุด พิจารณาความต้องการต่าง ๆ ที่แข่งขันกันอยู่อย่างจริงจัง มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการเสี่ยงต่อการขาดการยอมรับโดยกลุ่มชนสำคัญ ๆ ของประทศ

                   ทั้งในอดีตและในปัจจุบันมีกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่มที่เข้ามามีบทบาทในการแทรกแซงทางการเมือง เช่นคณะทหาร นักการเมือง กลุ่มข้าราชการประจำ  กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มนักธุรกิจ แต่ละกลุ่มก็พยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง โดยสร้างพลังกดดันรัฐบาลในการที่จะให้รัฐบาลสนองต่อข้อเรียกร้องให้แก่กลุ่มของตน

                   กลุ่มผลประโยชน์ในประเทศไทยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ พ.ศ.2475 การเมืองยังเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อย ผลประโยชน์เป็นเรื่องของกลุ่มผู้คุมอำนาจทางการเมือง แทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ประชาชนยังคุ้นเคยกับโครงสร้างสังคม แบบอุปถัมภ์ดั้งเดิม จึงขาดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายตามความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่ยังคงเป็นกลุ่มดั้งเดิมตามเหตุผลทางวัฒนธรรม สังคมเป็นหลัก ภาวการณ์เช่นนี้จึงเอื้ออำนวยให้สถาบันราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทหาร เข้ามามีบทบาทในระบบการเมืองแทน ผลประโยชน์ต่าง ๆ อันเป็นผลิตผลจากระบบการเมือง จึงมิได้เอื้อต่อคนส่วนใหญ่ของสังคมอย่างแท้จริง หากเป็นไปเพื่อกลุ่มคนส่วนน้อยในสังคมเท่านั้น

                    ปัจจุบันกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามามีบทบาทอย่างสูงต่อการเมืองไทยคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ากลุ่มนั้นก็คือกลุ่มทุน (นักธุรกิจ) แต่เดิมกลุ่มทุนนี้จะทำหน้าที่สนับสนุนด้านการเงินแก่นักการเมืองในการเลือกตั้งพร้อมกับการได้รับประโยชน์ตอบแทนจากนักการเมืองที่ได้สนับสนุน ก่อนที่จะกล่าวถึงสถานการณ์ของกลุ่มทุนในรัฐบาลชุดปัจจุบัน คงต้องกล่าวถึงบทบาทของนักธุรกิจต่อการเมืองตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันโดยจะย้อนไปตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ดังนี้

                   หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บรรดาพ่อค้านักธุรกิจไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากนัก นอกจากเป็นเพราะพวกเขามีพื้นเพเป็นชาวต่างชาติ ยังเป็นเพราะรัฐบาลไทยมีจุดยืนพื้นฐานต่อระบบทุนนิยมแตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในระบอบรัฐสภา หรือรัฐบาลในระบอบปฏิวัติรัฐประหาร ที่จริงแล้วภายใต้ระบอบปฏิวัติที่ยาวนาน 16 ปีของจอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ที่ทุนนิยมไทยรุดหน้ารวดเร็วเป็นประวัติการณ์

                   ก่อนจะถึงยุค 14 ตุลาคม 2516 นั้น นักธุรกิจเกือบทั้งหมดวางเฉยทางการเมือง ส่วนพวกที่พอจะมีบทบาทและความคิดเห็นทางการเมืองอยู่บ้างก็สนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการที่มุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยมากกว่าที่จะชื่นชอบกับระบอบรัฐสภาและรัฐบาลประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับธุรกิจในช่วงนี้จะเป็น “อำมาตยาธิปไตย” ในแง่ที่ว่าอำนาจทางการเมืองและการกำหนดนโยบายนั้นอยู่ในมือทหาร และข้าราชการชั้นสูงเกือบหมด ในขณะที่พลังนอกระบบราชการแม้กระทั่งธุรกิจมิได้มีความหมายทางการเมืองมากนัก แต่การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่ารัฐบาลจะทำอะไรตามอำเภอใจได้ ตราบเท่าที่รัฐบาลยังใช้ระบบทุนนิยมอยู่ต้องสนองความต้องการและแก้ปัญหาให้ธุรกิจไม่มากก็น้อย เพราะความสมบูรณ์พูนสุขของประชาชนและรายได้ของรัฐบาลขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตของธุรกิจดังนั้นแม้ธุรกิจจะสงบเสงี่ยมเจียมตัวปานไหนในทางการเมือง รัฐบาลต้องเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ให้พวกเขาอยู่ดี

                   นอกจากนั้นนักธุรกิจใหญ่อีกส่วนหนึ่งในยุคนั้นสามารถสร้างเครือข่ายเส้นสายกับทหารและข้าราชการที่มีอิทธิพล และอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวไปเรียกร้องขอความช่วยเหลือพิเศษจากผู้มีอำนาจทางการเมืองแม้กระทั่งขอผ่อนผันหลีกเลี่ยงกฎระเบียบและคำสั่งราชการที่เป็นอุปสรรคกับการดำเนินงานของพวกเขา

                   แต่กล่าวโดยรวมแล้วอำนาจและบทบาททางการเมืองของนักธุรกิจในยุค 2475-2516 นั้นจัดว่าน้อย  นักธุรกิจเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างแจ่มชัดเป็นครั้งแรกเมื่อมีการรื้อฟื้นระบอบรัฐสภาขึ้นมาใหม่

หมายเลขบันทึก: 300877เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2009 23:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท