หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

หนานเกียรติเล่าเรื่อง GotoKnow สัญจร ครั้งที่ ๑ (ตอนที่ ๔)


“ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” คือแนวทางการดำเนินชีวิตที่ยึดถือมาแต่ไหนแต่ไรของผู้ใหญ่พิกุล

     รถปิคอัพใหม่เอ่ยมรุ่นล่าสุดยี่ห้อหนึ่ง ค่อยคืบคลานเข้าสู่ชุมชน เสียรแตรจากรถยนต์ดังเป็นระยะตั้งแต่เริ่มเข้าที่ตั้งบ้านเรือน

     รถยนต์ใหม่เอี่ยมใส่หลังคาสูง สิ่งของบริโภคทั้งสดแห้ง หวานคาว วางอยู่ตามชั้นต่าง ๆ ภายในกระบะหลังรถ บ้างก็ห้อยระโยงระยางอยู่กับโครงเหล็กที่ต่อจากกระบะรถขึ้นไปเป็นหลังคา มีพื้นที่เพียงพอขยับตัวได้ให้แม่ค้านั่งหยิบข้าวของส่งให้ผู้จับจ่าย

     ชาวบ้านผู้คุ้นเคยขนานนามยานยนต์นี้ว่า “รถพุ่มพวง” ถ้าจะนิยามให้ง่ายสำหรับผุ้ไม่คุ้นเคยคือ ร้านค้าเคลื่อนที่นั่นเอง เคลื่อนไปตามวงล้อที่พาหนะนี้จะพาไป

     สินค้าจำหน่ายมีตั้งแต่อาหารสด (ที่มักไม่สด) เช่น เนื้อ หมู ไก่ ปลา ผักสดนานาชนิด (มักไม่สดเช่นกัน) ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงอาหารแห้ง ทั้ง พริกแห้ง หอม กระเทีม กระปิ น้ำมัน น้ำปลา ปลากระป๋อง ปลาเค็ม ฯลฯ กระทั่งบางคันมีถึงอาหารสำเร็จรูปใส่ถุงพร้อมรับประทาน

     สองสามีภรรยา ดูท่าทางภูมิฐาน ประกอบอาชีพเร่ขายของตามหมู่บ้านมากว่าสิบปี ซึ่งเริ่มต้นจากการตะเวนขายของโดยผู้เป็นสามีที่ใช้เพียงรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะนำสินค้าไปจำหน่านผู้บริโภคในชุมชนต่าง ๆ

     เวลาผ่านไป รายได้จากการค้าขายทำให้สามารถสะสมเงินเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่เอี่ยม แทนรถยนต์บุโรทั่งคันเก่า เนื่องจากความคับแคบของตัวรถไม่บรรจุสินค้าได้เพียงพอต่อความต้องการของบรรดาลูกค้าในหลายชุมชน และนับวันความต้องการนั้นก็ยิ่งขยายปริมาณขึ้นไปเรื่อย ๆ

     ทันทีที่รถจอด หญิงชาวบ้านคนหนึ่งเดินตรงมาที่รถยนต์ที่ไม่คุ้นเคย และเมื่อมั่นใจว่าคู่สามีภรรยานี้เขาเป็นลูกค้าเจ้าประจำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

     “...เมื่อวานทำไมไม่มา เกือบไม่ได้กินข้าวเลย...”

     เป็นคำทักทายจากลูกค้าประจำ ของแม่ค้าคนเดิม

     หญิงชาวบ้านคนนี้ และอีกเกือบทั้งหมู่บ้านพึ่งแม่ค้ารายนี้มานานนับปี ในการจับจ่ายซื้อหากับข้าวกับปลาเพื่อมาประกอบหุงหาอาหารเลี้ยงครอบครัว

     วันที่แม่ค้าเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ มีเรื่องราวให้ต้องจัดการ ข้อขัดข้องทำให้เขามิได้เข้ามาขายของ โดยมิได้บอกให้ชาวบ้านทราบล่วงหน้า จึงทำให้ปั่นป่วนไปทั้งหมู่บ้าน

...

 

     ผมจินตนาการเรื่องราวนี้ตามคำบอกเล่าของพ่อผู้ใหญ่พิกุล ขันทัพไทย ผู้ใหญ่บ้านนาฝาย ต.หัวเรือ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ผู้ได้รับการยกย่องจากสังคมว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านตัวจริงเสียงจริง วิทยากรในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ GotoKnow Forum ครั้งที่ ๑ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

     พ่อผู้ใหญ่พิกุล บอกเล่าเรื่องราวนี้ต่อที่ประชุม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึง ความอ่อนแอของชาวบ้าน/ชุมชน ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้แม้เรื่องอาหาร ทั้งที่ปู่ย่าตาทวดหลายชั่วคนที่ผ่านมา ไม่เคยพึ่งพาใครในเรื่องนี้ พึ่งตนเองได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

     ในวันที่พิกุล ขันทัพไทย เข้ามารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เขาเห็นว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ของชาวบ้านที่ฝังรากลึก ซึ่งต้องรีบจัดการโดยด่วน

     ชาวบ้านมีค่าใช้จ่ายที่หมดไปกับค่าอาหารจากคนภายนอกชุมชนเป็นเงินไม่น้อย แม้ดูเหมือนว่าในแต่ละวันจะเป็นเงินไม่มาก แต่เมื่อคูณด้วยจำนวน ๓๐ และจำนวน ๑๒ จะพบว่าในแต่ละเดือนแต่ละปี เป็นเงินก้อนโต ทั้งที่สิ่งที่จับจ่ายซื้อหา เกือบทั้งหมดสามารถพึ่งพาตนเองได้ หากแต่ละครอบครัวลงแรง

     เป็นเพราะตนเองเป็นแบบอย่างของชาวบ้านในด้านการพึ่งพาตนเองในเรื่องนี้ได้

     “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” คือแนวทางการดำเนินชีวิตที่ยึดถือมาแต่ไหนแต่ไรของผู้ใหญ่พิกุล

     ผู้ใหญ่พิกุลเริ่มตั้งคำถามกับชาวบ้านให้ฉุกคิดเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องจับจ่ายเป็นค่าอาหาร ทั้งที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยที่มาพร้อมกับรถพุ่มพวงต่าง ๆ นา ๆ ไม่ว่าจะเป็นของสินค้าอายุ อาหารปนเปื้อน สินค้าไร้คุณภาพ ฯลฯ

     เมื่อชาวบ้านเริ่มได้คิด จึงชักชวนชาวบ้านปลูกพืชผักกินกันเองในครอบครัว ด้วยการบากหน้าเข้าหาหน่วยงานราชการเพื่อขอเม็ดพันธุ์มาแจกจ่ายให้ชาวบ้าน เป็นการเริ่มต้น ทั้งนี้ในชุมชนมีแบบอย่างที่ดีอย่างผู้ใหญ่พิกุลที่ได้ถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

     จากการปลูกพืชผัก ก็ขยับไปเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ฯลฯ หลังจากนั้นไม่กีปี จากการเดินตามรอยผู้นำอย่างผู้ใหญ่พิกุล ก็ทำให้ชาวบ้านเริ่มพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ลดการพึ่งพาภายนอกลง โดยเฉพาะจากรถพุ่มพวง จนกระทั่งรถพุ่มพวงคันนั้นต้องเปลี่ยนเป้าหมายไปเจาะตลาดหมู่บ้านอื่น

     นี้เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ปัญหาของบ้านนาฝาย เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง น้ำ-ดินเค็ม ขาดแคลนน้ำดื่ม โรคภัยไข้เจ็บ อบายมุข หนี้สิน ฯลฯ ทั้งหมดถูก ที่ได้รับการจัดการแก้ไขโดยชุมชน ภายใต้การนำของผู้ใหญ่พิกุล ขันทัพไทย

     ดร.แสวง รวยสูงเนิน ผู้นับถือผู้ใหญ่พิกุล ว่าเป็นปราชญ์และประกาศตัวเป็นสหาย ประทับอกประทับใจผู้ใหญ่พิกุลมากมาย ผมจับอารมณ์ความรู้สึกนี้ได้หลายช่วงหลายตอนในห้องประชุม

     ดร.แสวง เล่าเรื่องน่าสนใจเรื่องนึง คือ ที่บ้านนาฝาย ไม่มียุงแม้แต่ตัวเดียว ครั้งนึงที่เข้าไปนอนในหมู่บ้าน ถึงกับประหลาดใจเมื่อไม่พบแม้เงายุง

     ผู้ใหญ่พิกุลเล่าให้ฟังว่า กิจกรรมหนึ่งที่ชุมชนร่วมดำเนินการคือการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ดำเนินการกระทั่งตัดวงจรชีวิตยุงลายและยุงอื่น ๆ ที่ใช้น้ำในการเพาะพันธุ์ซะศูญพันธ์ไปจากหมู่บ้าน

     กรมอะไรที่รับผิดชอบเรื่องนี้ในกระทรวงสาธารณสุข ได้โปรดไปดูกระบวนการทำงานด่วน...

...

 

     เพื่อนของเราคนหนึ่งไถ่ถามว่าผู้ใหญ่พิกุล จบการศึกษาระดับใด

     ดร.แสวง ชิงตอบแทนผู้ใหญ่ ว่า จบปริญญาจัตวา

     ทุกคนในห้องงง รู้จักแต่ ปริญญาตรี โท และเอก แต่ไม่เคยรู้จักและได้ยินปริญาจัตวา

     เมื่อเฉลยว่าท่านจบ ป.๔ ทุกคนถึงกับอึ้งและทึ่ง

     ผู้ใหญ่พิกุล มาจากครอบครัวที่ค่อนยากจน เรียนจบ ป.๔ ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อแม่ทำงาน ครั้นมีโอกาสได้บวชเรียนก็มีบุญอยู่ในผ้าเหลือเพียง ๒ ปี ก็ต้องลาสิกขาออกมาทำงานช่วยครอบครัว

     แม้ว่าจะมีข้อจำกัดด้านเศรษฐานะ แต่ก็มิปิดกั้นจิตอาสาในใจมิให้เบ่งบาน พิกุลตั้งแต่วัยหนุ่มเอาตัวเองเข้าไปช่วยเหลือกิจการงานของชุมชนเสมอมา บรรดาอาสาสมัครในหมู่บ้านต่าง ๆ ล้วนมีชื่อ พิกุล ขันทัพไชย เป็นสมาชิกอยู่ในนั้นด้วยเสมอ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับจากชาวบ้าน กระทั่งได้รับการเลือกจากชาวบ้านให้เป็นผู้ใหญ่บ้านนาฝาย โดยไม่เสียเงินซื้อเสียงแม้แต่แดงเดียว

     ในวาระที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่พิกุลได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แก้ไขบรรดาปัญหาต่าง ๆ ได้ลุล่วง ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิต ดำเนินรอยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเข้มข้น กระทั่ง ดร.แสวง บอกว่าหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงร้อยเปอร์เซ็นต์ ซี่งเป็นที่มาของรางวัลผู้ใหญ่บ้าน “แหนบทองคำ”

     เมื่อคราวการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านครั้งต่อมา ผู้มีเงินท่านหนึ่งได้ลงสมัครแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ว่ากันว่ามีการใช้เงินซื้อเสียงจำนวนมาก มีเสียงขู่จากฝ่ายตรงข้ามว่า “จะทำให้แหนบทองคำร่วง” และจะเหลือคะแนนให้ผู้ใหญ่พิกุลสัก ๘๐ คะแนน จากสามร้อยกว่าคะแนน

     ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครแข่งขัน ผู้ใหญ่พิกุลมิได้หาเสียงกับลูกบ้าน ยังเดินทางไปไหนมาไหนบรรยายให้ความรู้ตามหน่วยงานต่าง ๆ อย่างไม่รู้ร้อนหนาว สองวันก่อนการเลือกตั้งจึงได้เดินพบปะชาวบ้าน บอกกับชาวบ้านว่า ตนเองไม่มีเงินซื้อเสียง แต่ที่สมัครเข้าชิงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเพราะต้องการสานงานเก่าที่ค้างคาไว้ให้ลุล่วง ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นแล้วว่าตนเองพูดจริง ทำจริง

     ที่สุด คะแนน ๘๐ คะแนนนั้นกลับไปเป็นของคู่แข่ง ส่วน ๒๒๕ คะแนน เป็นคะแนนที่ชาวบ้านเทให้ผู้ใหญ่พิกุลดำรงตำแหน่งต่อ

...

 

     ท่านได้พูดคุยให้ความรู้หลายเรื่อง ทั้งเรื่องหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ และร่วมรับผลประโยชน์

     ผมได้ยินหลักการทำงานนี้มานาน แต่มักได้ยินจากปากนักวิชาการเป็นส่วนใหญ่ วันนี้ได้ฟังจากปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีความรู้ปริญญาจัตวา ทำให้เป็นความรู้ที่น่าสนใจมากครับ

หมายเลขบันทึก: 299615เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2009 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (48)

ดีใจจังค่ะ ... ทีได้เข้ามาอ่าน

การถอดเรื่องราวที่ได้เรื่องราว...^__^ ด้วยความที่ว่า อ.หมอ JJ ชวน ก็นึกว่าชวนแล้วก็ชวนเลย แต่มาทราบเมื่อมีการลงทะเบียนครบจำนวนคน ก็เลยไม่ไปร่วม อีกทั้งมีการงานที่มองว่าเรายังพอมีประโยชน์ ... อืม ก็เลยพลาดไม่ได้เจอคุณหนานเกียรตินะคะ

ที่แวะไปถามเรื่องพระคุณเจ้าที่บันทึกน่ะคะ ท่านคือ พระอาจารย์พิทยา ทินนาโภ วัดป่าหรองไคร้ จังหวัดยโสธร เป็นลูกศิษย์ของท่านหลวงปู่ประสาร สุมโนค่ะ...

ความรู้...ที่คุณหนานเกียรติรู้สึกทึ่งนี่

กะปุ๋ม..ก็เคยทึ่งมาแล้ว ..และได้ตื่นแล้วว่า ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ได้เท่าเทียมแห่งปัญญาที่มาจากรากเหง้าแห่งศีลแห่งความดีเป็นบาทฐานรองรับ

มันคือปัญญาอันงดงามที่มาจากความเป็นมนุษย์นะคะ ...

เยี่ยมเลยคะ คุณหนานเกียรติ ถอดบทเรียนได้ดีมาก

พี่ยังไม่ได้ทำเลย  มัวผลัดวันประกันพรุ่ง

เอาเป็นว่า ขออ่านของ คุณ และสมาชิกคนอื่นๆ ไปก่อน

 

ขอบคุณค่ะ ที่มาร่วมแบ่งปัน

พี่หนานคะ ...พอลล่า มาตามอ่าน แล้วค่ะ แต่ว่า บันทึกแรกๆ ก็ยังไม่ได้อ่าน อิอิ เดี๋ยวมาอีกนะคะ จะมาบอกว่า อบ่าลืมอ่านเรื่องถอดบทเรียน ของพอลล่านะคะ อิอิ

ในฐานะที่ทำงานด้านพัฒนาชุมชนเหมือนน้องหนาน ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ชื่นชมท่านมาก ที่สร้างสรรสังคมด้วยความเป็นเนื้อแท้ของความจริงใจและทำจริงมิเพียงร่ายคำสวยงามให้คนรอบข้างได้ระรื่นหู ท่านผู้ใหญ่สมแล้วที่ได้รับการยกย่อง พี่เองก็รู้สึกยกย่องท่านมากๆ

ประเด็นของพี่ที่คุยกับน้องเอ๋คือ ทำอย่างไรจึงจะสร้างคนอย่างท่านให้มีจำนวนมากๆขึ้นไปอีก  ทำอย่างไรที่จะขยายชุมชนแบที่ท่านสร้างให้กระจายไปอยู่ทั่วๆไป

คนทำงานพัฒนาตอบว่ายาก.. แต่เราก็ทำ เพราะไม่มีอะไรง่าย

ชื่นชมน้องหนานที่ ได้เปิดหน้า g2k นี้ให้เป็นเวทีของชาวบ้านบ้าง และควรจะมากขึ้นๆนะครับ ช่วยกันครับ

 

สวัสดีค่ะ

  • ความกล้าหาญชาญชัยในการเปลี่ยนแปลงตนเอง
  • การมีความมั่นใจในความเป็นผู้นำ..อยากให้ทุกชุมชนมีคนแบบนี้ค่ะ
  • วันนี้มีรถพี่สาวพุ่มพวงมาอวดค่ะ  เพราะมันเป็น ๖ ล้อ

 

สวัสดีค่ะ

  • แวะมาอ่านบันทึกเรื่องราว ในแนวเรื่องสั้น
  • เพราะเป็นลักษณะการดำเนินเรื่องไม่ต่างกับนักเขียนเรื่องสั้นมืออาชีพ
  • ครูอิงเองชอบฟังอะไร ๆ จากปราชญ์ชาวบ้านมากกว่าค่ะ
  • ไม่ได้ดูถูกนักวิชาการทั้งหลาย
  • แต่ได้สัมผัสแล้วรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง
  • เพราะปราชญ์ชาวบ้าน ก็คือชาวบ้าน ย่อมเข้าใจในวิถีชีวิต ปัญหาต่าง ๆ ได้มากกว่า...
  • จึงสามารถแก้ไขปัญหา  ส่งเสริม  พัฒนา ได้ตรงประเด็น  โดนใจ มากกว่านักวิชาการ
  • บ่อยครั้งที่นักวิชาการเองทำให้ปัญหาเล็กน้อยกลายเป็นปัญหาใหญ่
  • และทำให้ปัญหาใหญ่กลายเป็นปัญหาโลกแตก
  • นี่คือมุมมองของอิงจันทร์  เราอาจจะมองต่างมุมกันก็ได้ 
  • ขอบพระคุณค่ะ  และขอบพระคุณที่แวะไปฟังเพลงพระราชนิพนธ์ยามเย็น

            ที่ "ลานดอกไม้แต้มยิ้ม ณ ริมฟ้า"

สวัสดีค่ะ

การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมนี้ เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้วพี่มีส่วนไปช่วยบางหน่วยงานเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ แต่บางหน่วยงานนั้น แม้กระทั่งข้าราชการระดับหัวหน้าหน่วยงานบางส่วนก็ยังไม่สามารถทำและเข้าใจได้...เมื่อมาได้ยินผู้ใหญ่พิกุล พูดถึงหลักการมีส่วนร่วม และสามารถดำเนินการได้จริง ทำให้พี่ชื่นชมมากค่ะ...ในส่วนตัวพี่มีความเชื่อในเรื่อง การมีส่วนร่วมค่ะ....

  • เยี่ยมครับ! อ่านเพลินเลย ภาษาดีมาก..
  • บ้านเรา คนเก่งๆ รู้จริงๆ มักเป็นคนในท้องถิ่นนั้นๆ
  • คงเป็นเพราะนักวิชาการเรียนรู้จากตำรา แต่ผู้รู้เหล่านี้ รู้จากของจริง หรือการปฏิบัติ
  • ทึ่งคำพูดของปริญญาจัตวา พอสะท้อนการศึกษาบ้านเราได้มั้ยครับ?
  • ขอบคุณความรู้ดีๆครับ

ขอเสริมอาจารย์ธนิตย์ค่ะ..ปริญญาจัตวาต้องรู้มาก..รู้ลึก..ฝังแน่นในตัวมานานนม..ยิ่งกว่าปริญญาเอกเพิ่งเริ่มต้น จริงม๊า..คริ..คริ..(สระในภาษาไทย)พี่หนานเขียนบันทึกแล้วรวบรวมเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา..สำหรับเด็ก..เกี่ยวกับปราช์ญชาวบ้านจะดีมากๆนะค่ะ..อุดหนุน..ๆ..ๆ

สวัสดีครับ คุณ Ka-Poom

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและให้กำลังใจกันครับ

งานนี้ผมก็เกือบไม่ได้ไป เพราะกว่าจะเคลียงานลงตัวก็วันพฤหัส อ้อนวอนจนทีมงานเห็นใจให้เข้าร่วม (สงสัยป๋าดัน - อ.ขจิต ช่วยดันด้วย)

ทันที่ที่รู้ว่าให้เข้าร่วมได้ก็ขับรถยาวไปถึงขอนแก่นเลยครับ

เห็นด้วยครับ "ปัญญาอันงดงามที่มาจากความเป็นมนุษย์"

สวัสดีครับ พี่กระติก~natachoei ที่ ~natadee

ขอบคุณที่แวะมาอ่านและคำชมครับ

ความประทับใจทำให้มีแรงบันดาลใจอยากเขียนอยากเล่าครับ

จริง ๆ มีอีกหลายเรื่องที่อยากเล่า

แต่เก็บแรงไว้ทำอย่างอื่นบ้างครับ

น้อง ♥paula ♥ที่ปรึกษาตัวน้อย✿

ไปอ่านมาแล้วบันทึกของน้องหนะ

แหม.. จบซะห้วน ๆ ดื้อ ๆ รีบเขียนต่อโดยด่วน...

พี่ บางทราย ครับ

ผมเพิ่งพัฒนาตนเองเรื่องงานเขียน เพราะเห็นว่ามันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการบอกเล่าเรื่องเล่าที่อยู่นอกกระแสความสนใจของสังคม

ผมมาจากคนยากคนจน ผ่านความทุกข์ยากและพบเห็นความทุกข์ยากและความอยุติธรรมมามาก จึงอยากจะเล่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านการเขียน

มีแรงเมื่อใดก็ลุกมาเขียน เขียนเก็บไว้มีช่องทางได้นำเสนอก็เสนอ

ผมเขียนมาลงไว้ที่นี่หลายชิ้นเหมือนกันครับ

จิตอาสา (6 บันทึก)

เรื่องเล่าจากหมู่บ้าน (18 บันทึก)

บทเรียนจากชุมชน (3 บันทึก)

บ้านป่าคา : เรื่องเล่าของคนกับป่า (7 บันทึก) 

ขอบคุณพี่ที่แวะมาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจครับ 

พี่ ครูคิม

แถวบ้านพี่มีรถพุ่มพวงด้วยเหรอ

สวัสดีครับ คุณครูอิงจันทร์

ขอบคุณที่แวะมาอ่านครับ

ขอบคุณมาก ๆ ด้วยครับสำหรับคำชม มีกำลังเขียนขึ้นอีกแยะเลยครับ

อ. paew ครับ

ระยะหลังราชการขับเคลื่อนเรื่องนี้กันมากครับ ส่วนใหญ่ที่ผมเห็นยังไม่เข้าไปสู่ระดับที่เรียกว่า "วิธีคิด" โดยมากยังติดอยู่ในระดับ "เทคนิควิธี"

จริง ๆ เรื่องการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องของการเชื่อมมั่นในความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกัน

เสียดายเวลาที่ประชุมมีน้อย ผมยังอยากฟังเรื่องเล่าจากแกอีกเยอะเลยครับ

ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนครับ

สวัสดีครับ อ.ธนิตย์ สุวรรณเจริญ ครับ

ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน และขอบคุณมาก ๆ สำหรับคำชมครับ

จะเก็บแรงไว้เขียนมาให้อ่านเรื่อย ๆ ครับ

คุณครู rinda ครับ

ถูกต้องนะคร้าบ...

"..ปริญญาจัตวาต้องรู้มาก..รู้ลึก..ฝังแน่นในตัวมานานนม..ยิ่งกว่าปริญญาเอกเพิ่งเริ่มต้น..."

แหะ แหะ เรื่องรวบรวมนี่มิบังอาจครับ

แค่ตามมาอ่านในนี้ก็ดีใจโขแล้วครับ

สวัสดีค่ะ คุณหนานเกียรติ

ตามติด มาอ่านต่อค่ะ เขียนได้สุดยอดค่ะ อ่านไม่เบื่อเลยไม่ได้ไป มาเรียนรู้จากการเล่านะค่ะ 

ขอบคุณที่มาแบ่งปันค่ะ

 

คุณหนานเกียรติ สรุปได้ละเอียดดีมาก ได้ใจความสำคัญทุกประเด็น

พี่พบคนเก่ง อีกคนในg2k ขอบคุณที่เขียนไว้ให้อ่านนะคะ

เขียนได้เก่ง เล่าละเอียดดี อย่างงี้ครูภาษาไทย ให้คะแนนเต็ม 10

พี่ไม่บ่นนายเรื่องตัวหนังสือแล้ว เพราะพี่ครูคิม สอนให้คลิ๊ก ก ตัวใหญ่ มันขยายให้เอง  เชอะ ! ไม่ง้อ!!

 

  • สวัสดีค่ะ คุณหนานเกียรติ
  • เล่่าได้ละเอียดเหมือนจำได้หมดทุกคำพูดเลย
  • ป้าแดงเองก็ทึ่งผู้ใหญ่พิกุลไม่น้อย อยากนำมาใช้มาบ้าง แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร
  • เขียนได้น่าอ่านอีกตามเคย
  • ขอบคุณค่ะ

โห เหมือนได้ไปนั่งฟังผู้ใหญ่พูดรอบสองเลยค่ะ

  • มาบอกว่า
  • ไม่ได้ดัน
  • งานนี้ผมก็เกือบไม่ได้ไป เพราะกว่าจะเคลียงานลงตัวก็วันพฤหัส อ้อนวอนจนทีมงานเห็นใจให้เข้าร่วม (สงสัยป๋าดัน - อ.ขจิต ช่วยดันด้วย)
  • แค่โทรและบอกน้องมะปรางแค่นั้น ฮ่าๆๆ

* เพิ่งตามมาอ่านนะคะเนี่ย...เยี่ยมจัง!
* ได้ข้อคิดและมุมมองมากมาย.... ขอบคุณค่ะ!
                                    

สวัสดีครับ พี่หนานเกียรติ

มาอ่านต่อครับ ปริญญาจัตวา เห็นด้วยครับ

ขอบคุณครับ

น้องหนานเกียรติเขียนได้ดีมากเลย เหมือนนักเขียน เรียงลำดับความไม่สับสน  ตามจริงเรื่องผู้ใหญ่บ้านดีเด่นทั้งหลายนี้  มีเกือบทั่วไป แต่ไม่มีใครเด่นเท่า และยั่งยืนเหมือนพ่อพิกุล และการที่พี่สุ จะนำเรื่องมาบรรยาย เขียนก็คงจะสู้ น้องหนานเกียรติไม่ได้

แล้วทำไมพี่สุถึงไม่เขียนบ้าง แบบนี้  พี่สุจะสารภาพเลยนะ  ในสมัยเป็นนักศึกษา โดนให้รายงานเรื่องเหล่านี้ หลายหมู่บ้าน ค้นคว้าหาทรัพยากร หาจุดเด่นจุดด้อยของหมู่บ้านนั้น หมู่บ้านนี้ แล้วนำมารายงานส่งอาจารย์  พี่สุละเบื่อที่สุดเลย เรื่องแบบนี้ จนไม่อยากแตะ วิเคราะห์ วิจัยจริงๆ กว่าจะสำเร็จ แล้วทำเป็นรายงานส่ง

ถ้าใครมาพูดเรื่องแบบนี้อีก พี่สุจะไม่ยินดียินร้าย เพราะที่บ้านพี่สุ หลายๆหมู่บ้านเขาก็พัฒนาตามเหตุและปัญหาของหมู่บ้านแต่ละคน ด้วยปัญญา ภูมิปัญญาชาวบ้าน  มีสำเร็จมากมายเยอะแยะ

แม้แต่กิจกรรมวิสาหกิจชุมชนของแต่ละหมู่บ้านเกิดขึ้นได้อย่างไร พี่สุไปสำรวจและก็ทำรายงานมาหมดแล้ว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างนี้ ของแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านนี้พอเพียงแบบไหน ไม่พอเพียงแบบไหน ไม่ยั่งยืนบบไหน แก้ปัยหาได้อย่างใดบ้าง มีภาพประกอบด้วย

ถ้าพี่สุดึงเรื่องเหล่านี้มาลง ใน GTK มันเหมือนวิชาการชาวบ้าน กลัวคนขี้เกียจอ่าน พี่สุถึงหาเรื่องที่สบายๆ ไม่คิดมาก แต่มีสาระบ้าง พี่สุตามไปดูคนที่เขาทำเกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้านถ้าเขา ลงเรื่องมา เขาก็ลงได้ดีในกิจกรรม  แต่ทำไม ทำไม พี่สุไม่ชอบ เรื่องพี่สุมีมากเลย แต่มันเป็นอดีตไปแล้ว จึงไม่อยากลงอดีต มีแต่คิดถึงอนาคต จะพัฒนาต่อยอดอย่างไร ถึงจะยั่งยืน

พี่สุยังคิดเลยว่า เราเอาเรื่องในอดีต ไปต่อยอดติดตาม เขาพัฒนาขึ้นหรือเลวลงมาว่ากันใหม่ท้าวความเดิม  อันนี้น่าสนใจเขียน แต่พี่สุก็ยั้ง เพราะตอนเป็นนักศึกษาเจอมามากแล้ว  อย่าให้มาเจออีกเลย ไปดูแล้วทำรายงานมา เพราะทำไปก็ไม่ได้คะแนน อิอิ ตลก

แต่น้องหนานเกียรติ เขียนได้ดีมาก ชวนอ่านชวนติดตาม  น้องเขียนไปเถอะคะ พี่สุจะมาอ่านให้นะคะ คนอื่นเขาก็ชอบน้องเขียนเหมือนกัน ไปหละ (จากคนทำเพื่อคะแนน)

สวัสดีค่ะพี่หนานเกียรติ

พี่เล่าได้ละเอียดมากๆ ค่ะ นี่ถ้ามาสารคามนะคะ เดี๋ยวเอ๋จะพาไปเยี่ยมท่านผู้ใหญ่ถึงหมู่บ้านเลยค่ะ

มาสารคามโทรหาเอ๋นะคะ ขอแว๊ป...ไปชมรูปน้องเฌวา ก่อนนะคะ

ขอบคุณค่ะพี่

สวัสดีครับ คุณNuiErnik

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและคำชมครับ

แหะ แหะ เขินจัง

มีคนอ่านผมก็มีกำลังใจจะเขียน

ขอบคุณอีกคร้ังครับ

สวัสดีครับ พี่ แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

เป็นเพราะเรื่องน่าสนใจครับ จึงทำให้จดจำได้ทั้งคำพูดและอามณ์

ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน มีคนอ่าน มีคนชอบ ผมไม่หยุดเขียนแน่ ๆ ครับ

 


แหะ แหะ ขออภัยพี่ ส.ว. 
พี่ให้ผมแค่ ๑๐ เองเหรอ ขอ ๑๑ ได้ไหมอ่ะ
ฮิ ฮิ
ขอบคุณหลาย ๆ ครับ 
สวัสดีครับ pa_daeng
ขอบคุณมาก ๆ เลยครับที่ตามมาอ่าน
ขอบคุณสำหรับคำชม เป็นกำลังใจมากเลยครับ
เรื่องราวดี แม้เขียนไม่ดีก็ดูดีครับ
สวัสดีครับ น้องพิชชา คนเจียงใหม่
ขนาดนั้นเลยเหรอครับ
ขอบคุณที่ตามมาอ่านครับ
ผมคิดไม่ออกว่าลืมอะไรสักอย่างเกี่ยวกับอาจารย์
แหะ แหะ เพิ่งนึกออก
ลืมขอบคุณอาจารย์ครับ ที่ช่วยดันให้ผมไปร่วมงานที่ขอนแก่นได้
ขอบคุณครับ
สวัสดีครับ คุณครู K.Pually
ขอบคุณที่ตามมาจนเจอครับ
ขอบคุณที่ชอบ ตามให้กำลังใจต่อไปนะครับ
ต้นเดือนตุลาคมจะไป จ.ตาก ครับ
เผื่อว่าจะได้แวะกำแพงของคุณครูเลี้ยงข้าวสักมื้อ
ฮิ ฮิ...
did ครับ
ขอบคุณที่ติดตามมาอ่าน มาให้กำลังใจกันครับ
ขอบคุณมาครับสำหรับคำชม ทำให้ผมมีกำลังใจขึ้นเยอะเลยครับ
จริง ๆ แล้วเรื่องราวดีครับ การเขียนจึงออกมาดีได้
พี่อยากเขียนก็เขียนเถอะครับ เขียนเล่าเรื่องราวดี ๆ ผมเชื่อว่าคนอยากอ่านเรื่องราวมากกว่าความสละสลวยของภาษา
ผมเองก็เพิ่งหัดเขียน ไม่เคยเขียนมากก่อน
แต่ผมเชื่อพลังของการเล่าเรื่อง
โดยเฉพาะการเล่าด้วยงานเขียน
อยากให้พี่เขียนครับ เขียนไปเถอะ
ไม่มีใครอ่าน แต่มีผมอ่านครับ

น้องเอ๋ - เสี่ยวอวิ๋น ครับ
ไปสารคามโทรหาแน่ ๆ นอกจากพาไปแล้วต้องเลี้ยงข้าวด้วยนะ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและคำชมครับ
แท้ที่จริงแล้วเรื่องราวมันดีต่างหาก
ผมเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดครับ

สวัสดีคะ

เล่าเรื่องราวได้ครบถ้วนไม่ตกหล่น พี่นั่งฟังจำได้หมดแต่เขียนไม่ออก

ขอบคุณนะคะที่ช่วยบอกเล่าต่อ เหมือนฟังรอบสองนะคะ

 

สวัสดีครับ

  • ดีใจที่ได้พบกันครับ

Gotoknow1 

สวัสดีค่ะพี่หนานเกียรติ

ได้เลยค่ะถ้ามาเอ๋เลี้ยงข้าวตลอดงานค่ะ พาน้องเฌวามาด้วยนะคะ

ส้มตำสารคาม ปลาร้าแรงมากเลยนะคะ ไม่ทราบว่าจะทานได้รึเปล่า

ยินดีค่ะ ยินดี อย่าลืมโทรมานะคะ

 เก็บเกี่ยวความรู้และบรรยากาศได้ชัดเจนมาก...ขอบคุณค่ะ

เป้นเพราะเรื่องราวน่าสนใจมาก ๆ ครับ จิตจึงจดจ่อและมีแรงบันดาลใจที่จะเล่า
ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน ดีใจมากครับที่ชอบ

 

 
สวัสดีครับ พี่ภูฟ้า
ดีใจที่ได้พบกันเช่นกันครับ
ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

   

 
น้องเอ๋ - เสี่ยวอวิ๋น
ผมกินปลาร้าเป็นต่อน ๆ เลยนะจะบอกให้
ผมไปมหาสารคามบ่อย เคยมีงานที่ ร.ร.พระกุมารมหาสารคาม
มีอาจารย์ที่คุ้นเคยท่านนึงอยู่ที่ มมส.
เปิดช่องให้อย่างนี้ ไปแถวนั้นโทรหาแน่ ๆ

 

 

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและคำชมครับ

ดีใจมาก ๆ ที่ชอบ  

สวัสดีค่ะ  น้องหนานเกียรติ

  • เพิ่งจะเข้ามาอ่าน การถ่ายทอดองค์ความรู้
  • ต้องบอกว่ายอดเยี่ยมจริงๆ พี่ขอนำไปเป็นบทเรียนให้แก่นักเรียนด้วยนะคะ
  • ดีใจที่ได้มีโอกาสรู้จักน้องหนานเกียรติ "เพชรเม็ดงาม" คนนี้

พี่ ครูอรวรรณ ครับ

ขอบคุณที่แวะมาอ่าน และคำชมครับ

ดีใจครับ ดีใจมาก ๆ ที่ชอบ

บันทึกทั้งหมดหากจะเป็นประโยชน์เอาไปใช้ได้ทั้งหมดเลยครับ

แหะ แหะ พี่ผมขอเป็นแค่เม็ดกรวดก็พอมั้งครับ มิบังอาจเป็นเพชร

 

สวัสดีค่ะ

อ่านแบบมีความสุขค่ะ

จินตนาการภาพตามบันทึก

ต้องขอชมว่า ทุกระเบียบนิ้วเลยค่ะ

พี่มาติดตามข่าวนี้

เห็นท่านJJ ควงไมค์  ท่านดร.แสวง น้องภูฟ้า

ดร.ธวัชชัย

แล้วน้องหนานเกียรติหละอยู่ตรงไหนคะ

ขอบคุณค่ะ

มีในภาพไหมคะ

วันนี้นักข่าวมาสัมภาษณ์ที่โรงเรียน

แต่...พักเดียว

พี่กลับสัมภาษณ์นักข่าวเอง อิอิ

มันเป็นไปแล้วค่ะ

คุณครู krutoi ครับ

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและคำชมครับ

ดีใจมาก ๆ ที่ชอบ

ภาพผมมีคนเอามาลงในบันทึกหลายบันทึกครับ

http://gotoknow.org/blog/kgeneral/298831#1560025

http://gotoknow.org/blog/kgeneral/298831#1560269

http://gotoknow.org/blog/kgeneral/298831#1561004

http://gotoknow.org/blog/kgeneral/298831#1561174

http://gotoknow.org/blog/kgeneral/299162#1564873

คุณครู krutoi ครับ

ลองคลิ๊กลิ้งค์แล้วไม่ขึ้น

จะหาวิะีส่งไปให้ดูนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท