พี่เลี้ยงและที่ปรึกษาคุณกิจควรจัดระยะความสัมพันธ์ระหว่างกันประมาณไหนดี


ผมจำได้ว่าผมและเพื่อนครูอาสาฯพร้อมด้วยทีมคุณอำนวยจากหน่วยงานอื่น  เมื่อตอนไปทำเวทีชาวบ้าน ในโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน ร่วมมือกัน 9 องค์กร ทำใน 3 ตำบล ของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ปลายปีที่แล้ว(2548) มักจะถูกชาวบ้าน ผู้เรียน หรือผู้เข้าร่วมโครงการ ใช้ให้คุณอำนวยคิดแทนให้เสมอหลังจากที่เขาได้รับโจทย์หรือประเด็นไปแล้ว แบ่งกลุ่มให้เวลาคิด ให้เวลาอภิปราย ให้เวลาระดมพลังสมอง ลปรร รวมทั้งให้นำเสนอผล ประโยคที่พูดกันก็คือ “ ครูคิดให้ซิ” “ ครูคิดแทนกัน” คุณอำนวยจะได้ยินบ่อยมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเดินเยี่ยมกลุ่มย่อย จะถูกขอร้องทำนองนี้


ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่าชาวบ้านถอนสอนให้คิดไม่เป็น ไม่ว่าจะจากระบบโรงเรียน หรือระบบสังคมที่เคยชินกับที่จะต้องฟังผู้นำ ชาวบ้านคือผู้ตาม ทั้งๆที่เป็นเรื่องของเขาที่จะต้องตัดสินใจ ไม่ใช่เรื่องของใครเลย คุณอำนวยจะใจดี ใจอ่อน คิดแทนทุกครั้งทุกเวที ก็จบเห่กันพอดี


แล้วจะทำอย่างไร ให้เกิดบรรยากาศ คิดเอง คิดเป็นอภิปรายเป็น ระดมพลังสมอง ลปรร ผมคิดว่าเป็นศิลปะของคุณอำนวยเหมือนกันนะครับ จะไม่แยแสแนะนำเลย หรือคิดให้บ้างเป็นน้ำจิ้มก็คงไม่ได้ เดี๋ยววงแตก เวทีเสวนาคราวหน้าเลยไม่มากันเลย การจัดระยะความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครแต่ละตัวในการจัดการความรู้ชุมชน โดยเฉพาะระหว่างคุณกิจและคุณอำนวยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก  เป็นเรื่องที่ควรจะได้ใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์เลยก็ว่าได้


ผมว่าใหม่ๆคุณอำนวยอาจจะต้องสอนคุณกิจบ้างก็ได้ ไม่เป็นไร(มั่ง) กลัวไปว่าถ้าแบ่งกลุ่มอภิปรายกันทันทีเลยชาวบ้านจะรับไม่ได้ ไม่เคยชิน (เพราะชาวบ้านถูกสอนมานาน เอาใจกันหน่อย) บทบาทที่สำคัญของคุณอำนวยในระยะแรกน่าจะอย่างนี้ แต่ก็ดูความเหมาะสมแต่ละชุมชนนะครับ ไม่จำต้องอย่างนี้เสมอไป แต่ควรทำบทบาทนี้ให้น้อยที่สุด หรือไม่ทำเลยได้ก็จะดี แต่ให้ทำบทบาทเป็นพี่เลี้ยง หรือที่ปรึกษาให้มากๆ ดีกรีของคำว่าพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาก็แตกต่างกันอีก (พี่เลี้ยงให้นึกถึงการชกมวย พฤติกรรมคือตามดูทุกฝีก้าวอย่างใกล้ชิดและให้ข้อมูล ติชม กำลังใจอย่างเข้มข้น ส่วนคำว่าที่ปรึกษาก็น่าจะห่างออกมามากแล้ว ดูแลห่างๆ ให้คำปรึกษาเมื่อคุณกิจมีความต้องการ) บทบาททั้งพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาจะได้แสดงมากขึ้นตามลำดับเมื่อกลุ่มได้เรียนรู้กระบวนการกลุ่มมากขึ้นแล้ว


ผมได้สังเกตความเปลี่ยนแปลงขององค์กรการเงินชุมชนตำบล 3 ตำบล ของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช แล้ว ก็เห็นว่าได้เปลี่ยนแปลงอย่างนี้จริงๆ เห็นว่าคุณกิจสามารถปรับวิธีการเรียนรู้จากที่ถูกสอน เป็นสอนตัวเองได้ นำตัวเองได้ในเวทีหลังๆ ซึ่งผมมีความยินดีมากเมื่อองค์กรการเงินชุมชนตำบลบางจาก อำเภอเมือง ซึ่งอยู่ในองค์กรการเงินชุมชนตำบล 3 ตำบล   เชิญให้เข้าร่วมประชุมเวทีผู้เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบความพร้อมในการก้าวเป็นสถาบันการเงินชุมชนซึ่งกำหนดประชุมกันสัปดาห์หน้า (เป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อครั้งก่อนมาเป็นผลแล้ว) เป็นคำตอบได้อย่างดีว่าองค์กรแห่งนี้เดินได้ด้วยตนเองอย่างมีความมั่นใจ เขา(ผู้นำองค์กร)จึงคือคุณอำนวย(จะเรียกว่าคุณอำนวยชุมชนก็ได้)ที่มีสมรรถภาพ อำนวยการเรียนรู้กิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มได้แล้ว

คุณอำนวยคงจะต้องอย่างอื่นอีกมาก กรุณาแนะนำด้วย

หมายเลขบันทึก: 29933เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2006 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท