ปทุมธานี


ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม
ประวัติศาสตร์ :

จังหวัดปทุมธานีเดิมชื่อ “เมืองสามโคก” เป็นเมืองที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อปี พ.ศ. 2175 มาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญที่ถูกอพยพต้อนมาจากเมืองเมาะตะมะ ไปทำมาหากินที่บ้านสามโคกนี้ใกล้กับวัดสิงห์ เขตอำเภอสามโคกปัจจุบัน ในปัจจุบันยังมีโคกดินโบราณสำหรับเผาโอ่ง อ่างของชาวมอญในสมัยโบราณเหลืออยู่เพียง 2 โคก การอพยพชาวมอญมาอยู่ที่เมืองนี้ยังมีในสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พ.ศ. 2317) และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. 2358) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสามโคก ได้มีพสกนิกรจำนวนมากสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ นำดอกบัวหลวงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอย่างเนืองแน่น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองใหม่เพื่อให้เป็นสิริมงคลว่า “ประทุมธานี” และต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนการสะกดนามจังหวัดเป็น “ปทุมธานี”

ศาลหลักเมือง
เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของจังหวัดปทุมธานี เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดปทุมธานี ศาลหลักเมืองนี้ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าศาลากลางจังหวัด สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2520 เป็นศาลาแบบจตุรมุขยอดกลาง มีลักษณะคล้ายก้านดอกบัวหลวง เหนือขึ้นไปเป็นฐานกลีบบัวรองรับมณฑป ภายในมณฑปประดิษฐานหลักเมือง และมีรูปหล่อพระนารายณ์สี่กรทรงเหนือหลังนกฮูกและพระวิษณุหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ด้านหลังของมณฑปบรรจุพระยอดธงวัดไก่เตี้ย อีกทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายประกอบด้วยเครื่องรางของขลังที่รวบรวมมาจากวัดต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี

วัดโบสถ์
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2164 โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี และเอาชื่อหมู่บ้านที่ตนอพยพมาอาศัยอยู่ ตั้งเป็นชื่อวัด และได้สร้างเสาหงส์ขึ้นไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองหงสาวดี สิ่งสำคัญในวัดโบสถ์คือ พระแสงอาญาสิทธิ์ ของเก่าแก่จากรามัญ ช้างสี่เศียรใช้ติดตั้งประดับหัวเสา อายุเก่าแก่ถึง 150 ปี สร้างด้วยทองคำสัมฤทธิ์ พระทรงเครื่องอยู่ในโบสถ์เก่าของวัด และรูปปั้นสุนัขย่าเหลหล่อด้วยตะกั่วที่เจ้าอาวาสได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 6

วัดชินวราราม
เป็นวัดเก่าแก่และเป็นพระอารามหลวงชั้น โทชั้นวรวิหาร เดิมชื่อ “วัดมะขามใต้” บริเวณรอบพระอารามกว้างขวาง ในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม พร้อมคำบรรยายเป็นโคลงสี่สุภาพเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าสิบชาติ นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น พระวิหาร มณฑป หอระฆัง ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ และตำหนักชินวรสิริวัฒน์ ฯลฯ วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้าอดีตเจ้าอาวาสราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดชินวรารามตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ไปทางเหนือเล็กน้อย ในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี จากทางแยกถนนสายกรุงเทพฯ-ปทุมธานี ก่อนถึงสะพานนนทบุรีประมาณ 500 เมตร ทางฝั่งซ้ายจะมีทางแยกเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกทั้งทางรถยนต์ และทางเรือ

วัดบัวขวัญ
เป็นวัดที่อยู่ในเขตอำเภอลาดหลุมแก้ว ในบริเวณวัดมีพระพุทธรูปปางพระผอม เป็นพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับพระพุทธรูปตามระเบียงวัดเบญจมบพิตร นอกจากนี้ยังมีพลับพลาที่ประทับแรกนาขวัญ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เรียกว่า "ศาลาแดง" เดิมตั้งอยู่ที่วังพญาไท ในกรุงเทพฯ สร้างเป็นพลับพลาไม้สักทั้งหลังแม้แต่หลังคา นับเป็นพลับ พลาที่สวยงามและทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่ง

วัดเจดีย์หอย
ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว ใช้ทางหลวงหมายเลข 346 (ปทุมธานี-บางเลน) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 21-22 แล้วแยกเข้าวัดไปอีก 10 กิโลเมตร วัดนี้เป็นแหล่งเก่าแก่ของหอยนางรมยักษ์ มีอายุกว่า 1,000 ปี มีเจดีย์ที่ก่อสร้างขึ้นจากการนำเอาหอยนางรมมาสร้างเป็นรูปเจดีย์ จึงเรียกว่า “เจดีย์หอย”

วัดลำมหาเมฆ
ตั้งอยู่ที่ บ้านลำมหาเมฆ หมู่ที่ 5 ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว ห่างจากจังหวัดตามเส้นทางถนนปทุมธานี-บางเลน ประมาณ 14 กิโลเมตร สิ่งที่น่าสนใจคือ บริเวณบึงน้ำไหลของวัดมีนกหลากหลายชนิดอาศัยสร้างรัง ฟักไข่ตามธรรมชาติจำนวนมาก ได้แก่ นกกระยางขาว นกกระสา นกกาน้ำ และนกชนิดอื่นๆ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29886เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2006 17:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท