“อย่าเชื่อนะ..ถ้าคุณยังไม่ได้คิด?”


แม้แต่เรื่องของการเมืองยิ่งควรฟังหูไว้หู

จากกรณีข่าวของนกแสก..ที่หลาย ๆ คนเชื่อว่า..เป็นนกแห่งความตาย  คือ เมื่อได้ยินนกแสกร้องขึ้น  ก็พากันเชื่อว่า  จะมีคนใดคนหนึ่งตายแน่นอน  ซึ่งก็เป็นความเชื่อของคนหลาย ๆ คน  แต่วันนี้อาตมภาพอยากจะนำเสนอเรื่องของความเชื่อที่ญาติโยมควรจะเชื่อมากกว่าเชื่อในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ..นะคุณโยม  

“ความเชื่อ”  เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งนัก  เพราะเป็นเบื้องต้นแห่งการคิด พูด ทำ ของคนแต่ละคน  ในทางพระพุทธศาสนานั้น  ความเชื่อท่านเรียกว่า “ศรัทธา”  เป็นความเชื่อในสิ่งที่ดีสิ่งที่ควรเชื่อ  กล่าวคือ เชื่อในคุณของพระรัตนตรัย  เชื่อในเรื่องของบาปบุญ  เชื่อในเรื่องของกรรมเวร  ซึ่งต่างจากความเชื่อเรื่องนกแสกดังกล่าว  เป็นเพียงความเชื่อที่บอกกล่าวกันสืบมา

จริง ๆ แล้วพระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องความเชื่อไว้ในเรื่องกาลามสูตร มี 10 ข้อ ซึ่งอาตมาจะขอยกเอาคำอธิบายที่พระธรรมวิสุทธิกวี วัดโสมนัสวิหารได้กล่าวไว้ย่อๆ ดังนี้ 

1. อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา  บางคนเมื่อฟังตามกันมาก็เกิดความเชื่อ เมื่อคนนั้นว่าอย่างนั้น คนนี้ว่าอย่างนี้ ก็เชื่อตามกันไป โดยบอกว่า "เขาว่า" เช่น ชายคนหนึ่งเห็นกากินเนื้อแล้วเช็ดปากที่กิ่งไม้ ก็มาเล่าให้เพื่อนฟังว่า "ฉันเห็นกาเช็ดปาก" เพื่อนคนนั้นฟังไม่ชัด กลายเป็นว่า"ฉันเห็นกาเจ็ดปาก" ก็ไปเล่าต่อว่า คนโน้นเล่าให้ฟัง  เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งเชื่อตามที่เขาว่า  แต่ให้ฟังไว้ก่อน โดยยังไม่เชื่อทีเดียว

2. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดว่าเป็นของเก่า เล่าสืบ ๆ กันมา บางคนบอกว่า เป็นความเชื่อตั้งแต่สมัยโบราณเราควรจะเชื่อ เพราะเป็นของเก่า ถ้าไม่เชื่อ เขาก็หาว่าจะทำลายของเก่า บางคนเห็นผีพุ่งไต้ก็บอกว่านั่นแหละวิญญาณจะลงมาเกิด อย่าไปทัก หรือเวลามีฟ้าผ่าก็บอกว่ารามสูรขว้างขวาน ฟ้าแลบก็คือนางเมขลา ล่อแก้วเข้าตารามสูร รามสูรโกรธ จึงขว้างขวานลงมาเป็นฟ้าผ่า  ความเชื่อเช่นดังกล่าวมานี้เป็นความเชื่อของคนในสมัยโบราณ  ความเชื่อของคนโบราณนั้นไม่ใช่ว่าจะถูกหรือดีเสมอไป แต่เป็นความเชื่อปรัมปรา เราจึงไม่ควรจะเชื่อ ถ้ายังไม่แน่ใจถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องนำสืบ ๆ กันมา

3. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเป็นข่าวเล่าลือ หรือตื่นข่าว เรื่องข่าวนั้นมีมาก ไม่ว่าจะเป็นข่าวทันโลก ข่าวช่วงเช้า ข่าวช่วงเย็น ข่าวเขาว่า ซึ่งมีอยู่มากมาย ถ้าเราไปเชื่อตามข่าว เราก็อาจจะเป็นคนโง่ได้ เช่น บางคนอ่านข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ก็คิดว่าเป็นเรื่องจริงแน่แล้ว  บางทีลงข่าวตรงกันข้ามจากข่าวจริง ๆ เลยก็มี หรือมีจริงอยู่บ้างเพียงบางส่วนก็มี เราจึงควรพิจารณาให้ดีเสียก่อน เพราะข่าวลือมีมาก เช่น ลือว่าจะมีการปฏิวัติ ลือว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งบางทีก็จริง บางทีก็ไม่จริง  เพราะฉะนั้นก็อย่าเพิ่งเชื่อ

4. อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา ถ้าใครเอาตำรามาอ้างให้เราฟัง เราก็อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะตำราก็อาจจะผิดได้บางคนอาจจะค้านว่า "ที่เราพูดถึงกาลามสูตรนี้ ไม่ใช่ตำราหรอกหรือ" จริงอยู่ เราก็อ้าง กาลามสูตรซึ่งเป็นตำราเหมือนกัน แต่ท่านว่า อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะอาจจะผิดได้ ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเอาตำราอะไรก็ตามมาอ้างเราก็ต้องอย่าเพิ่งเชื่อ พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้พิจารณาดูก่อน บางคนกล่าวยืนยันว่าตนเอง อ้างตามตำรา ซึ่งแท้จริงแล้วเขาไม่ได้อ่านตำรานั้นเลย แต่ว่าเอามาอ้างขึ้นเอง

5. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง ท่านใช้คำว่า  การตรึก หรือการคิด  ตรรกวิทยาเป็นวิชาแสดงเรื่องความคิดเห็น อ้างหาเหตุผล แต่พระพุทธเจ้าทรงกล้าค้านตรรกวิทยาได้ว่า  การอ้างหาเหตุผลหรือคาดคะเนนั้นอาจจะผิดก็ได้  เช่นหลักตรรกวิทยากล่าวว่า "ที่ใดมีควัน ที่นั้นมีไฟ"  ซึ่งก็ไม่แน่เสมอไป เดี๋ยวนี้ที่ใดมีควัน ที่นั้นอาจจะไม่มีไฟก็ได้ เช่น เขาฉีดสารเคมี พ่นยาฆ่าแมลง ก็มองดูว่าเป็นควันออกมา แต่หามีไฟไม่หรือบางคนก็คิดเดาเอาเองว่าคงจะเป็นอย่างนั้น คงจะเป็นอย่างนี้ คำว่า คงจะ นั้น มันไม่แน่ เพราะฉะนั้น เราก็อย่าเพิ่งตัดสินว่าเรื่องนี้ถูกแน่นอนแล้ว คำว่า คงจะ นั้นเป็นการนึกเดาเอา

6. อย่าเพิ่งเชื่อโดยการคิดคาดคะเนหรืออนุมานเอา เช่น เราคิดว่าเราจะแซงรถคันหน้าพัน  ถ้าเราขับรถเร็วกว่านี้  บางทีเราคาดคะเนความเร็วไม่ถูก ก็อาจจะชนรถคันหน้าที่วิ่งสวนมา โครมเข้าไปเลยก็ได้  บางคนคิดว่าฝนคงจะตกแน่เพราะเห็นเมฆดำก่อตัวขึ้นมาก็เป็นการอนุมานเอาว่าฝนคงจะตก  แต่บางทีลมก็จะพัดเอาเมฆนี้ลอยพ้นไปเลยก็ได้ ซึ่งก็ไม่แน่เพราะอนุมานเอา ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า แม้อนุมานเอาก็อย่าเพิ่งเชื่อ

7. อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ คือเห็นอาการที่ปรากฏแล้วก็คิดว่าใช่แน่นอน เช่น เห็นคนท้องโตก็คิดว่าเขาจะมีลูกซึ่งก็ไม่แน่  บางคนแต่งตัวภูมิฐานก็คิดว่าคนนี้เป็นคนใหญ่โต ร่ำรวย ซึ่งก็ไม่แน่อีก  บางทีก็เป็นขโมยแต่งตัวเรียบร้อยมาหาเรา  บางคนทำตัวเหมือนเป็นคนบ้าคนใบ้มานั่งใกล้กุฏิพระ คนก็ไม่สนใจนึกว่าเป็นคนบ้า แต่พอพระเผลอก็ขโมยของของพระไป ดังนั้น เราจะดูอาการที่ปรากฏก็ไม่ได้

8. อย่าเพิ่งเชื่อว่าต้องกับลัทธิของตน คือ เข้ากับความเชื่อของตน เพราะตนเชื่ออย่างนี้อยู่แล้ว เมื่อใครพูดอย่างนี้ให้ฟัง ก็ยอมรับว่าใช่และถูกต้อง ซึ่งก็ไม่แน่เสมอไป เพราะสิ่งที่เราเชื่อมาก่อนนั้นอาจผิดก็มี เช่น เราไม่ชอบใครอยู่สักคนหนึ่ง พอใครมาบอกเราว่าคน ๆ นั้นไม่ดี ก็เชื่อว่าเป็นคนชั่วแน่ เพราะตนเองก็ไม่ชอบหน้าเขาอยู่แล้ว หรือคนที่เชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลก หรือเรื่องเครื่องรางของขลัง พอมีใครมาพูดเรื่องเช่นนี้ก็เชื่อสนิท เพราะไปตรงกับความเชื่อของตน เพราะฉะนั้น จงอย่าเพิ่งเชื่อแม้ในกรณีดังกล่าวมานี้

9. อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้ คือ เห็นว่าคนที่เป็นคนใหญ่คนโตนั้น พูดจาควรเชื่อถือได้ เช่น เป็นถึงชั้นเจ้า หรือตำแหน่งสูง เราก็ควรจะเชื่อคำพูดของเขา แต่มันก็ไม่แน่ แม้แต่พระสงฆ์ก็ไม่แน่ เราจึงต้องฟังดูให้ดีเสียก่อน แม้แต่คณะรัฐมนตรีเองก็ไม่แน่ อย่าเพิ่งไปเชื่อคำพูดของท่านเหล่านั้นทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ว่าผู้พูด มียศมีตำแหน่งอย่างนี้แล้ว จะพูดเรื่องน่าเชื่อถือได้เสมอไป เราควรจะฟังหูไว้หู ฟังให้ดีเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วจะ ถูกหลอกได้ง่าย

10. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าผู้พูดเป็นครูของเรา  ข้อนี้แรงมาก คือ แม้แต่ครูของตนก็ไม่ให้เชื่อ ทั้งนี้ เพราะครูของเราก็อาจจะพูดผิดหรือทำผิดได้ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องฟังให้ดี  ไม่มีศาสนาใดสอนเราไม่ให้เชื่อครูของตน  แท้จริงแล้วพระพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนว่าไม่ให้เชื่อ แต่ทรงสอนว่าอย่าเพิ่งเชื่อต้องพิจารณาดูเสียก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อ

สรุปได้ว่า  เรื่องของความเชื่อนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน  ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้ยินได้ฟังได้รับรู้  ถ้าเรายังไม่ได้พิจารณาด้วยเหตุผลหรือด้วยการกระทำไว้ในใจอย่างแยบคายแล้วก็อย่าพึ่งปลงใจเชื่อทันทีทันใดนะโยม  เพราะอาจจะทำให้คุณโยมหลงผิดทำสิ่งที่ไม่ดีเพราะเชื่อในสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นได้  ดังนั้น  เรื่องของนกแสกที่เชื่อตามกันฟังสืบ ๆ กันมาว่า..เป็นนกแห่งความตายนั้นก็ควรจะคิดด้วยอรรถด้วยธรรมก่อนนะจึงเชื่อ..หรือแม้แต่เรื่องของการเมืองยิ่งควรฟังหูไว้หู  ฟังแล้วคิดด้วยเหตุผลอย่างแยบคายก่อนจึงเชื่อ..นะโยม..ขอเจริญพร

อ้างอิง

http://www.dopa.go.th/religion/tammar.html


MusicPlaylist
MySpace Music Playlist at MixPod.com

หมายเลขบันทึก: 298551เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2009 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท