79.ความคิดของนิธิ ว่าด้วย เกษตรกรรายย่อยกับเศรษฐกิจพอเพียง


 

เกษตรกรรายย่อยและเศรษฐกิจพอเพียง

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ (โดย มติชน วัน จันทร์ ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551 หน้า 6) 

......................

สัญญาณว่าโลกอาจขาดแคลนอาหารเกิดขึ้นจากสามปัจจัย

หนึ่งพื้นที่ซึ่งเคยใช้ปลูกพืชอาหารถูกเปลี่ยนไปปลูกพืชพลังงาน

และสองภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้ผลผลิตในบางเขตลดลง

และในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นผลให้พื้นที่เพาะปลูก

ต้องย้ายจากที่เดิมไปสู่ที่ใหม่ ซึ่งต้องลงทุน (ในทุกความหมาย) เพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร

และสามประชากรโลกเพิ่มขึ้น

 

ราคาข้าวอาจไม่แพงเท่ากับที่ผ่านมา

เพราะความขาดแคลนข้าวเกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเฉพาะถิ่นเท่านั้น

แต่ราคาข้าวก็จะไม่ถูกเหมือนเก่าอีกแล้ว

เพราะวัสดุอาหารนั้นดึงและกดราคากันอยู่ตลอดเวลา

หากข้าวสาลีและข้าวโพดขาดแคลน ก็จะดึงราคาข้าวให้สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 และอย่างน้อยข้าวโพดน่าจะผลิตได้ไม่พอสำหรับอาหารคนและสัตว์ต่อไปอีกนานพอสมควร

 

สัญญาณอาหารขาดแคลน เป็นความวิตกห่วงใยขององค์กรระหว่างประเทศ

และเป็นพลังใจให้แก่คำขวัญ ยุ้งฉางของโลก ในเมืองไทย

(ผมไม่ชอบคำว่า ครัวของโลก เพราะครัวไม่จำเป็นต้องมีวัสดุอาหารเอง

หากหาซื้อจากแหล่งอื่นๆ ได้เสมอ ตราบเท่าที่พ่อครัวมีฝีมือ)

นักธุรกิจอาหารข้ามชาติออกมาเสนอวิสัยทัศน์ที่เรืองรองด้านเศรษฐกิจแก่ผู้คน

ในภาวะน้ำมันแพงและเงินเฟ้อ... เราจะไปรอดอย่างดี

ถ้าธุรกิจอาหารข้ามชาติทำกำไรได้มากกว่านี้

 

อย่างไรก็ตาม... ในความเป็นจริง

สัญญาณขาดแคลนอาหารได้เกิดขึ้นในโลกมานานแล้ว

มีผู้คนนับเป็นร้อยล้านทั่วโลกที่ไม่เคยเข้านอนด้วยท้องที่อิ่มเลย

(เพิ่มเป็นกว่าพันล้านคน เพราะเงินเฟ้อและราคาพลังงานกับอาหารที่สูงขึ้น)

แม้แต่ในเมืองไทยซึ่งเป็น ยุ้งฉางของโลก ก็มีเด็กขาดสารอาหารเกือบล้านคน

แต่สัญญาณนี้ไม่กระเทือนผู้คนและองค์กรระหว่างประเทศพอที่จะออกมาโวยวาย

ไม่ใช่เพราะตัวเลขนั้นเล็กเกินกว่าที่จะไปวิตกห่วงใย

แต่เพราะตัวเลขนั้นประกอบด้วยคนที่ถูกกีดกันไปอยู่ชายขอบ

ทั้งในโลกและในสังคมของเขาเองต่างหาก

 

การที่คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงอาหาร ก็เพราะเกษตรกรรมในหลายประเทศ

ถูกกำกับควบคุมโดยอุตสาหกรรมอาหารข้ามชาติขนาดใหญ่

การผลิตกระทำในเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น

บริษัทข้ามชาติทำกำไรจากการขายอาหารไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อ

ไม่ใช่ตลาดที่ขาดแคลนอาหาร (ซึ่งให้กำไรน้อยกว่ามาก)

ซ้ำร้ายการอุดหนุนพืชผลการเกษตรของประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า

ตัดโอกาสเกษตรกรรายย่อยในประเทศที่ขาดแคลนอาหารในการผลิตเพื่อบริโภคภายใน

ยิ่งพืชอาหารถูกจัดการโดยบริษัทข้ามชาติ

เพื่อทำกำไรกันอย่างมโหฬารมากขึ้นเท่าไร อาหารก็จะยิ่งขาดแคลนมากเท่านั้น

 

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น

ส่วนใหญ่ของอาหารที่เลี้ยงพลโลกอยู่ในวันนี้ ก็มาจากการผลิตของเกษตรกรรายย่อย

มากกว่าการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้นภายใต้กำกับของบริษัทข้ามชาติ

แม้เกษตรกรรายย่อยต่างถือครองที่ดินขนาดเล็กก็ตาม

 

องค์การอาหารและเกษตรของสหประชาชาติประเมินว่า 

ในซีเรีย เกษตรกรถือครองและใช้ที่ดินเฉลี่ยครอบครัวละ 0.5 เฮคแตร์ (3 ไร่) เท่านั้น

ในเมกซิโก 18 ไร่ ในเปรู 36 ไร่ ในอินเดียน้อยกว่า 6 ไร่

และในเนปาล น้อยกว่า 12 ไร่ 

ส่วนใหญ่ของอาหารในประเทศเหล่านั้น มาจากไร่นาขนาดเล็กเหล่านี้

 

และดังที่กล่าวแล้วว่า

บริษัทเกษตรข้ามชาติไม่ได้มุ่งผลิตอาหารเท่ากับมุ่งกำไร

ฉะนั้นอาหารจึงถูกส่งเลยปากของท้องที่หิวโหย ไปสู่ปากที่มีเงินในกระเป๋า แต่ท้องอิ่ม

 

ประเทศที่มีเงินในกระเป๋าซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายของบริษัทยักษ์ใหญ่เกษตรข้ามชาติ

มีอาหารเหลือเฟือจนต้องทิ้งและทำลายไปวันละมากๆ

ไม่นานมานี้มีข่าวในทีวีว่า ที่เมืองอังกฤษ มีชายสองคนทดลองหากินกับอาหารในถังขยะ

 และพบว่าเขาสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้อย่างสบาย

โดยเลือกเก็บเฉพาะอาหารที่ยังไม่เสีย และไม่เปรอะเปื้อนสกปรกมาบริโภค

(เช่น น้ำผลไม้ในกล่องที่ยังไม่ได้เปิด)

ปรากฏว่าอาหารในลักษณะดังกล่าวมีในถังขยะของอังกฤษเป็นปริมาณมาก

สามารถเลี้ยงผู้คนได้จำนวนไพศาลทีเดียว

 

พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ หากอาหารถูกผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย

หากการจัดการผลิตและกระจายอาหารในโลกของเราเอื้อต่อการผลิตของเขา

โลกจะไม่ขาดแคลนอาหาร ...โลกจะไม่ขาดแคลนอาหารอย่างน้อยก็ในปัจจุบัน 

แม้ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ตาม การเปลี่ยนแหล่งพลังงานก็ตาม

หรือแม้แต่การเพิ่มประชากรก็ตาม หากการผลิตยังอยู่ในมือเกษตรกรรายย่อย

ก็เป็นไปได้ว่าเขาสามารถปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างมีผลิตภาพสูงสุดอยู่นั่นเอง

 

เพราะในบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย เช่น ราคาพืชผลที่ยุติธรรม

คงไม่มีใครสามารถทะนุถนอมทั้งผลผลิตและทรัพยากรธรรมชาติในไร่นา

ได้ดีไปกว่าเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นเจ้าของไร่นาของตนเอง

 

ในประเทศไทย เกษตรกรรายย่อยกำลังอันตรธานไป

แม้ว่ารัฐธรรมนูญของเราบังคับให้รัฐดำเนินการทางเศรษฐกิจในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียงก็ตาม

ทั้งนี้ เพราะไม่มีเงื่อนไขด้านอื่น นอกจากด้านอุดมการณ์

ที่จะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถผลิตในเศรษฐกิจพอเพียงได้

 

นอกเหนือจากด้านอุดมการณ์ซึ่งเป็นเรื่องอัตวิสัยแล้ว

เศรษฐกิจพอเพียงยังต้องการปัจจัยที่เป็นภววิสัยภายนอกอีกหลายอย่าง

และสามอย่างต่อไปนี้ขาดไม่ได้เลย

 

ประการแรก เศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปได้ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ระดับหนึ่ง

การปล่อยให้นิคมอุตสาหกรรม, โรงงาน, แหล่งท่องเที่ยว, เมือง และเขื่อน

ทำลายสิ่งแวดล้อมที่เอื้อในการผลิตของเศรษฐกิจพอเพียงโดยไม่บันยะบันยังเช่นนี้

เศรษฐกิจพอเพียงก็จะเป็นเพียงอุดมการณ์ตลอดไป

 

ประการที่สอง เศรษฐกิจพอเพียงต้องการตลาดทางเลือกที่เป็นธรรม

แม้ว่าเกษตรกรผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่า

เขาอาจอยู่ได้โดยไม่ต้องการตลาดเลย

แต่ตลาดที่มุ่งจะกดราคาพืชผลเพื่อป้อนให้แก่ผู้บริโภค

ที่ไม่ห่วงใยทั้งสุขภาพของตนเอง และสุขภาพของสิ่งแวดล้อมเช่นนี้

เศรษฐกิจพอเพียงก็อาจเป็นไปได้แก่คนจำนวนน้อยนิดเดียวเท่านั้น

เกษตรกรส่วนใหญ่ซึ่งควรได้เป็นเจ้าของไร่นาของตนเอง

ไม่สามารถปฏิบัติการด้วยเศรษฐกิจพอเพียงได้

 

ประการที่สาม เศรษฐกิจพอเพียงต้องการความรู้ในการผลิตเช่นเดียวกับเศรษฐกิจทุนนิยม

ความรู้ดังกล่าวกำลังหายไปหรือไม่ถูกสร้างเสริมขึ้นใหม่

อีกทั้งไม่เป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาทั้งแบบที่เป็นและไม่เป็นทางการ

หนทางไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงของเกษตรกรรายย่อยจึงวกวน กว่าจะบรรลุได้

เกินกว่าที่ส่วนใหญ่ของเกษตรกรพร้อมจะเข้าไปเสี่ยง

 

คำถามก็คือ รัฐที่อ้างว่าส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ได้ทำอะไรเพื่อสร้างเงื่อนไขเหล่านี้

ให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปได้บ้าง?

 

เมื่อเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยล้มหายตายจากไปจนเกือบหมด

แม้ประเทศไทยอาจส่งออกข้าวได้มากที่สุดในโลก

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีภาวะขาดแคลนอาหารในเมืองไทย

ยิ่งการผลิตตกอยู่ภายใต้การกำกับของบริษัทเกษตรข้ามชาติมากเท่าไร

อาหารจะถูกส่งเลยปากของท้องคนไทยที่หิวโหยออกไป

ดังภาวะข้าวยากหมากแพงที่เราเผชิญในต้นปีนี้ชี้ให้เห็นว่า

มีคนไทยจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่เข้าไม่ถึงอาหารในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน

 

หลักประกันมิให้ภาวะขาดแคลนอาหารเกิดในเมืองไทย

คือหันมาทำนุบำรุงและปลูกสร้างเกษตรกรรายย่อยให้มาก

ไม่ใช่โดยการโฆษณาเศรษฐกิจพอเพียง

แต่โดยการทำให้เงื่อนไขทางภววิสัยที่เป็นจริงเกิดขึ้นและดำรงอยู่

เพื่อให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปได้นอกลมปาก

 

.................

อ่านเพื่อการใคร่ครวญ และตั้งคำถามกับสิ่งที่เคยรู้ และเคยพบเห็น

เพื่อให้เกิดความหลากหลายของความคิด.

 

หมายเลขบันทึก: 298517เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2009 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

เห็นด้วยกับอาจารย์นิธิ  ท่านกล่าวไว้ไม่เกินความจริงเลยสักนิด (ปกติของเข้าไปอ่านบทความของท่านในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)  ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นแค่เรื่องการทำนาก็แล้วกันนะคะ

  • ปัจจุบันที่นาแปลงน้อยของคนไทยถูกชาวต่างชาติเข้ามาถือครอง จนไม่มีที่จะทำกิน ต้องรับจ้างทำนาบนที่นาของตัวเอง
  • รัฐบาลก็ได้แต่บอกว่าจะไม่ใหชาวต่างชาติมาซื้อที่ดินทำนาในเมืองไทย ยกเว้นที่เป็นการร่วมทำทำวิจัย...แต่ก็ยังเห็นอยู่ทั่วไป แถวๆ จังหวัดอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี ฯลฯ 
  • ที่อุตรดิตถ์ก็มีบ้างเหมือนกันค่ะ เป็นชาวญี่ปุ่น เขามาจ้างให้ชาวบ้านปลูกข้าวญี่ปุ่น โดยสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์อย่างงดงาม ก็เฮโลทำกันใหญ่เลย...ไม่รู้ว่าคิดอะไรกันอยู่

อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ใคร่ครวญ ข้อคำถามนี้จังเลยค่ะ

  • หลักประกันมิให้ภาวะขาดแคลนอาหารเกิดในเมืองไทย
  • คือหันมาทำนุบำรุงและปลูกสร้างเกษตรกรรายย่อยให้มาก
  • ไม่ใช่โดยการโฆษณาเศรษฐกิจพอเพียง
  • แต่โดยการทำให้เงื่อนไขทางภววิสัยที่เป็นจริงเกิดขึ้นและดำรงอยู่
  • เพื่อให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปได้นอกลมปาก

เฮ่อ.. ติดนิสัยชอบเหน็บแนบรัฐบาลค่ะ.... ไม่ดีเลยนะคะ ทำตัวให้เขาเกลียดขี้หน้าอีกแล้ว..

ขอให้สุขภาพแข็งแรงนะคะ  ระลึกถึงค่ะ

  • สวัสดี ครูใจดีค่ะ
  • ดีใจค่ะที่เข้าแลกเปลี่ยน
  • การเข้ามายึดครองที่ดินของต่างชาติเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากค่ะ
  • หากเราจะหวังแค่ให้ชาวนารักษาที่ดินไว้...แต่ไม่ช่วยเหลือให้ชาวนาไทยอยู่รอดได้อย่างมีศักดิ์ศรี
  • ก็ยากที่จะทำให้ชาวนาจะสามารถรักษานาไว้ได้
  • ขอบคุณภาพที่นำมาฝากค่ะน่ารักจัง.

แวะมาเยี่ยมค่ะ สบายดีไหมคะ...คำนี้น่าคิด...

  • หากหวังแค่ให้ชาวนารักษาที่ดินไว้...แต่ไม่ช่วยเหลือให้ชาวนาไทยอยู่รอดได้อย่างมีศักดิ์ศรี ก็ยากที่จะทำให้ชาวนาจะสามารถรักษานาไว้ได้
  • เอาไปโพต์ไว้ที่เว็บของท่านนากยก คงจะดีนะคะ..

    ขอให้สุขภาพแข็งแรงนะคะ

    • สวัสดีค่ะ ครูใจดี
    • ขอบคุณที่แวะมา แล้วเจอกันที่block ครูใจดีนะคะ

    สวัสดีค่ะ

    • เดิมหมู่บ้านที่โรงเรียนพี่คิมตั้งอยู่มีอาชีพทำไร่บนที่ดินทำกินของอุทธยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงและภูหินร่องกล้า
    • เมื่อ พศ.๒๕๔๖ ได้แบ่งออกเป็น ๒ หมู่บ้านเพราะกองทุนเงินล้าน
    • ประมาณ ๒ ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันนี้  ที่ดินส่วนใหญ่ถูกขายเปลี่ยนผู้ครอบครอง  กลายไปเป็นสวนยางพาราหมดแล้วค่ะ
    • และเจ้าของเดิม..ไปทำหน้าที่เป็นลูกจ้างรายวันในสวนยาง
    • คนหนุ่มคนสาว...หนีไปทำงานในเมืองกรุง ทิ้งลูกหลานไว้กับปู่ย่าจายาย  นำปัญหาไปให้โรงเรียนแก้ไข  นับวันจะเพิ่มขึ้นค่ะ
    • ขอขอบพระคุณค่ะที่ได้แลกเปลี่ยน
    • เศร้าค่ะ...ไว้อาลัยกับสังคมเกษตรของไทย ที่กำลังจะหมดไป
    • เพราะเราจะกลายเป็นเพียงแรงงานรับจ้างในไร่นา
    • และซื้อข้าวกิน เพราะ "ไม่ใช่ข้าวของฉัน"

    ขอบคุณครูคิมที่เข้ามาแลกเปลี่ยนค่ะ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท