คนเรามีสิทธิที่จะตายไหมหนอ


มนุษย์ทุกคนเมื่อมีการเกิดย่อมมีการตายเป็นสิ่งที่คู่กันเสมอตามกฎแห่งธรรมชาติซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ และเมื่อถึงคราวที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับความตายโดยทนทุกข์ทรมานจากโรคร้ายหรืออาการบาดเจ็บที่ไม่อาจรักษาให้หายเป็นปกติได้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์สมัยใหม่ และผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะ “ฟื้นก็ไม่ได้ ตายก็ไม่ลง” แต่เป็นเพียงการยืดความตายหรือยืดชีวิตของบุคคลให้ขยายออกไปเท่านั้น บุคคลเช่นว่านั้นมีสิทธิที่จะตายอย่างสงบหรือไม่ และสิทธิที่จะตายเป็นสิทธิมนุษยชนหรือไม่ รวมถึงสิทธิดังกล่าวได้รับการรับรองมากน้อยเพียงใดแล้วตามกฎหมายภายในของไทย

              มนุษย์ทุกคนย่อมเกิดมาพร้อมกับสิทธิธรรมชาติ (natural rights) ประการหนึ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดซึ่งไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้นั่นคือ “สิทธิที่จะมีชีวิต (right to life)”  จึงอาจกล่าวได้ว่าสิทธิที่จะมีชีวิตจึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญลำดับแรกของการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เนื่องจากผู้ทรงสิทธิเช่นว่านั้น ก็คือ มนุษย์ทุกรูปทุกนามที่ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมนั่นเอง  ดังนั้น มนุษย์จึงมีสิทธิที่จะได้รับความเคารพในชีวิตจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่จะไม่ถูกพรากชีวิตของตน ถูกทำร้าย ตลอดจนการนำชีวิตของบุคคลไปจำหน่ายจ่ายโอนให้บุคคลใด ดังนั้น รัฐย่อมต้องมีบทบาทสำคัญในการให้ความคุ้มครองสิทธิที่จะมีชีวิตผ่านกลไกทางด้านนโยบายและกฎหมายทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับภายในประเทศมิให้มีการฝ่าฝืนสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุขของบุคคลเพื่อความสงบเรียบร้อยภายในรัฐและเป็นการส่งเสริมสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์หรือสิทธิมนุษยชนให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและได้รับความเคารพในฐานะที่เป็นมนุษย์

               อย่างไรก็ดี มนุษย์ทุกคนเมื่อมีการเกิดย่อมมีการตายเป็นสิ่งที่คู่กันเสมอตามกฎแห่งธรรมชาติซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ และเมื่อถึงคราวที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับความตายโดยทนทุกข์ทรมานจากโรคร้ายหรืออาการบาดเจ็บที่ไม่อาจรักษาให้หายเป็นปกติได้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์สมัยใหม่ และผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะ “ฟื้นก็ไม่ได้ ตายก็ไม่ลง”[1] แต่เป็นเพียงการยืดความตายหรือยืดชีวิตของบุคคลให้ขยายออกไปเท่านั้น ผู้ป่วยดังกล่าวจึงอยู่ในสภาพเหมือนเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทราที่นอนรอความตายด้วยความทุกข์ทรมาน จึงมีปัญหาเกิดขึ้นว่ามนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ใกล้จะตายและหมดโอกาสในการรักษาให้ฟื้นขึ้นมามีสิทธิที่จะตายอย่างสงบและตายอย่างมีศักดิ์ศรีหรือไม่ สิทธิที่จะตายนั้นถือเป็นสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่งหรือไม่ บุคคลผู้มีสิทธิที่จะตายอย่างสงบมีใครบ้าง บุคคลที่ทำให้ผู้อื่นตายอย่างสงบนั้นมีใครบ้างซึ่งเมื่อได้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการแล้วจะไม่ก่อให้เกิดความรับผิดตามกฎหมายอาญาและไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของผู้ป่วยที่ใกล้จะตายที่ได้แสดงเจตนาล่วงหน้าไว้

               เหตุที่มีคำถามมากมายเนื่องจากในแต่ละสังคมที่มนุษย์จะใช้สิทธิที่จะตายอย่างสงบได้โดยชอบหรือไม่นั้นย่อมมีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอยู่กับพื้นฐานทางสังคม ความเชื่อ ศาสนาและวัฒนธรรมที่เป็นเบ้าหลอมและสร้างความเข้าใจที่สำคัญเกี่ยวกับการทำให้ตายอย่างสงบ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากแพทย์เป็นผู้ช่วยให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังตายอย่างสงบหรือปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบแพทย์จะมีความผิดตามกฎหมายไม่ว่าตามกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องสิทธิที่จะมีชีวิตหรือกฎหมายภายในของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งโทษตามกฎหมายอาญาหรือไม่  หากผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่มีอำนาจแสดงเจตนาแทนได้แสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าจะใช้สิทธิปฏิเสธที่จะรับการรักษา (right to refuse medical treatment) เพื่อให้ได้ตายอย่างมีศักดิ์ศรี (dying with dignity) แต่แพทย์ได้ทำการรักษาคนไข้ต่อไปจะเป็นการขัดเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ป่วยหรือไม่

                     การทำให้ตายอย่างสงบ (euthanasia) มาจากภาษากรีกคำว่า “eu” ซึ่งแปลว่า ดี (good or noble) กับคำว่า “thanatos” ซึ่งแปลว่าตาย (death) เมื่อรวมคำทั้งสองคำเข้าด้วยกันแล้วย่อมหมายความถึง “การตายดี” หรือ “การตายโดยสงบ”   แต่ทว่ารากศัพท์ภาษากรีกดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า “euthanasia” ได้กระจ่างแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น ในประเทศเนเธอร์แลนด์  การทำให้ผู้ป่วยตายโดยสงบมีความหมายที่แคบมากเนื่องจากหมายถึงการที่แพทย์ทำให้ชีวิตของผู้ป่วยสิ้นสุดลงตามความประสงค์ของผู้ป่วยเท่านั้น  กล่าวคือ แพทย์เท่านั้นที่มีสิทธิกระทำ  และได้มีการใช้ภาษาอังกฤษคำว่า “mercy killing” แทนคำว่า “euthanasia” จึงมีผู้แปลคำนี้ว่า “การุณยฆาต” ซึ่งหมายความถึง การฆ่าด้วยความประสงค์ที่จะให้ผู้นั้นพ้นจากความทุกข์ทรมาน[2]

                     ดังนั้น การทำให้ตายอย่างสงบ (euthanasia) จึงหมายถึงการทำให้บุคคลยุติการมีชีวิตของเขาโดยไม่ทุกข์ทรมาน ทุรนทุราย โดยไม่เดือดร้อน ทั้งตนเองและผู้อื่น การจะตายได้อย่างสงบจึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจของผู้ที่ตายนั่นเอง[3] หรือนักกฎหมายบางท่านเรียกว่า การฆ่าด้วยความเมตตา (mercy killing)[4]           

                สำหรับสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิที่จะตายอย่างสงบประกอบด้วย

                       1) สิทธิส่วนบุคคล (right to privacy or right of privacy) หมายถึง ความชอบธรรมประจำตัวของแต่ละบุคคลที่จะเป็นอิสระจากการล่วงละเมิดโดยไม่มีเหตุจากบุคคลอื่น หรือรัฐอันได้มีการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนั้น สิทธินี้เป็นสิทธิขั้นมูลฐานที่สำคัญยิ่งของมนุษย์[5]

                       2) สิทธิที่จะมีชีวิต (right to life) หมายถึง ความชอบธรรมของมนุษย์ทุกรูปทุกนามในความสามารถที่จะดำรงชีวิตของตนได้อย่างมีศักดิ์ศรี รวมทั้งมิให้ผู้ใดเข้ามาพรากหรือจำหน่ายจ่ายโอนความมีชีวิตไปจากตนได้

            ส่วนกฎหมายภายในของประเทศไทยนั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550[6] ได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยไว้ เช่น

 

มาตรา 4[7] “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง”

 

มาตรา 26[8] “การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

 

มาตรา 28[9] “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

          บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้  สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

             บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติอย่างละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

           เมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏว่ามีการรับรองสิทธิที่จะตายไว้ในฐานะสิทธิขึ้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยแต่อย่างใด

                  อย่างไรก็ดี การตายตามวิธีตามธรรมชาติเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550[10] ซึ่งบัญญัติว่า 

               “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

               การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

               เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งให้ความคุ้มครองการกระทำของแพทย์กรณีผู้ป่วยได้ทำหนังสือแสดงเจตนาว่าไม่ประสงค์จะพึงพาเครื่องมือของแพทย์ในการยืดชีวิต  ว่าไม่เป็นความผิดและให้แพทย์พ้นจากความรับผิดทั้งปวง   แต่ก็คุ้มครองเพียงเฉพาะกรณีผู้ป่วยไม่ขอรับบริการจากรักษาจากแพทย์ (ให้แพทย์ยุติการรักษา) และกรณีที่แพทย์ได้รับหนังสือจากผู้ป่วยเท่านั้น โดยไม่ได้กล่าวคุ้มครองถึงกรณีที่แพทย์ทำให้ผู้ป่วยตายจากการกระทำโดยตรง เช่นการฉีดยา และกรณีที่ผู้ป่วยแสดงเจตนาแต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ หรือ ให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายแสดงเจตนาแทนผู้ป่วยแต่อย่างใด   ดังนั้นกรณีที่กฎหมายไม่ได้คุ้มครองนี้  หากแพทย์ยังคงฝ่าฝืนทำ แม้จะมีเจตนาดีเพื่อให้ผู้ป่วยพ้นทุกข์ทรมานก็ตาม  แพทย์ก็อาจมีความผิดและต้องรับผิดกรณีฆ่าคนอยู่เช่นเดิมนั่นเอง

             นอกจากนี้ ให้ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะแสดงเจตนาเพื่อปฏิเสธการรักษาได้เป็นการยืนยันว่าประเทศไทยมิได้ต่อต้านการพัฒนาของสิทธิที่จะตายในฐานะกฎหมายสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าสิทธิที่จะตายมิใช่สิทธิเด็ดขาดที่ทุกคนสามารถยกขึ้นอ้างได้ทุกเมื่อ แต่จะมีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติให้ผู้ป่วยหรือญาติต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทางกฎหมายให้ครบถ้วนเสียก่อน ดังนั้นการนำสิทธิมนุษยชนมาทำให้เป็นสิทธิตามกฎหมายย่อมก่อให้เกิดความชัดเจนกว่าและสะดวกต่อการบังคับใช้ให้เป็นไปตามสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิที่ตายโดยการปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยที่รัฐต้องอนุญาตตามเงื่อนไขของกฎหมาย

                 การที่จะพิจารณาว่าสิทธิที่จะตายเป็นสิทธิมนุษยชนหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาเบื้องต้นเสียก่อนว่า สิทธิดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ทรงสิทธิมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับประโยชน์สาธารณะนั้นคือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย  เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นประโยชน์หรือความชอบธรรมที่มนุษย์พึงได้รับเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพของความเป็นมนุษย์ และต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ทรงสิทธิคือมนุษย์มากที่สุด มิใช่ลดทอนความเป็นคนลงไป  ดังนั้น สิทธิที่จะตายของผู้เขียนนั้นเห็นว่าความตีความอย่างแคบเฉพาะสิทธิที่ผู้ป่วยจะปฏิเสธการรักษาหรือที่เรียกว่าการทำให้ตายอย่างสงบต่อผู้ป่วยโดยอ้อม (passive voluntary euthanasia) คือ การที่ผู้ป่วยสมัครใจให้แพทย์งดหรือการหยุดการรักษาที่จะช่วยยืดอายุขัยของผู้ป่วยออกไป เช่น การให้แพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น ไม่รวมถึงการที่แพทย์ทำให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบโดยตรง (active voluntary euthanasia) ซึ่งแม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเกิดจากความสมัครใจของผู้ป่วยเองก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งจากนักกฎหมายหลายท่านและความเห็นของคนในสังคมว่าเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือไม่อยู่  จึงกล่าวได้อีกหนึ่งว่ามนุษย์มีสิทธิธรรมชาติที่ จะตายตามธรรมชาติโดยปราศจากพันธนาการทางเทคโนโลยีเพื่อช่วยยืดชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้ายออกไป และผู้ป่วยนั้นย่อมได้ตายอย่างมีศักดิ์ศรี  สิทธิที่ป่วยปฏิเสธการบำบัดรักษาจากแพทย์จึงเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน

         นอกจากนี้ การที่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไม่ได้บัญญัติสิทธิที่จะตายไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น มิได้หมายความว่ามนุษย์ไม่มีสิทธิที่จะตาย แต่ผู้ร่างน่าจะมีเจตนารมณ์ที่จะไม่ให้สิทธิที่จะตายเป็นสิทธิเด็ดขาดของมนุษย์มิเช่นนั้นย่อมก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคมได้ เพื่อป้องกันการใช้สิทธิที่จะตายเป็นสิทธิที่อ้างกันทั่วไป ดังนั้น จึงไม่ปรากฏสิทธิที่จะตายในอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับใด

 

บรรณานุกรม 

 

หนังสือภาษาอังกฤษ

Smith, K.M. Rhona. Textbook on International Human Rights. Oxford University Press, 2003.

Steiner, J. Henry and Philip Alston. International Human Rights in Context Law Politics Morals. Reprinted twice : Oxford University Press, 1996.

Talib, Norchaya .Euthanasia- A Malaysian Perspective. SWEET & MAXWELL ASIA, 2002.

 

หนังสือภาษาไทย

กองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับแพทยสภา.การให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังตายอย่างสงบ: ร่วมสานความคิดสู่วิธีปฏิบัติ.กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์เดือนตุลา, 2544.

 

พระอาจารย์โพธิ์ จันทสโร และคณะ.การให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังตายอย่างสงบ(Euthanasia).พิมพ์ครั้งที่ 2: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2543.

 

แสวง บุญเฉลิวิภาส.กฎหมายและข้อควรระวังของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และพยาบาล. พิมพ์ครั้งที่ 3: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2546.

แสวง บุญเฉลิมวิภาส และเอนก ยมจินดา. กฎหมายการแพทย์(Medical Laws) วิเคราะห์ปัญหากฎหมายจากการเริ่มต้นของชีวิตในครรภ์มารดาถึงภาวะแกนสมองตาย.พิมพ์ครั้งที่ 2: สำนักวิญญูชน, 2546.

 

หมายเหตุ ผู้อ่านสามารถ download บทความเต็มของผู้เขียน เรื่อง "สิทธิของผู้ป่วยที่สิ้นหวังในการตายอย่างสงบ" ได้ที่ http://www4.msu.ac.th/politics/Book6y/4/4/2.pdf


[1] วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์, ทิษณุ เพ็งไพบูลย์ และอนันต์ บุญเกิด, “การปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบกับความรับผิดทางอาญา,”  บทบัณฑิตย์ เล่มที่ 42 ตอนที่ 3 กันยายน 2529, น. 116.               

[2] นันทน  อินทนนท์, “ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการตายโดยสงบ,” บทบัณฑิตย์  เล่ม 57 ตอน 4, (2544) น. 130.

[3] ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, “กฎหมายกับการปล่อยให้ตายอย่าสงบ,” บทบัณฑิตย์ เล่มที่ 49 ตอน 4 ธันวาคม 2536, น.42.

[4] ประทีป อ่าววิจิตรกุล, “EUTHANASIA,” ดุลยพาห เล่มที่ 4 ปีที่ 43 ตุลาคม- ธันวาคม 2539 น. 192.

[5] อัจฉรา วีระชาลี, “สิทธิผู้ป่วย,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2537) น. 25.

[6] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 47 ก ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2550

[7] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 47 ก ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2550 หน้า 3

[8] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 47 ก ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2550 หน้า 7

[9] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 47 ก ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2550 หน้า 7

[10] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 16 ก ลงวันที่ 19 มีนาคม 2550 หน้า 4

หมายเลขบันทึก: 297095เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2009 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาอ่าน อยากให้อ่านเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของคุณหมอสกล หรือคุณหมอเต็มศักดิ์ หรือพระไพศาล วิสาโล จังเลยครับอาจารย์ หายไปนาน สบายดีไหมครับ

ขอบคุณมากค่ะ คุณขจิต สำหรับการติดตามและคำแนะนำดีๆ ค่ะ

ไว้ดิฉันจะไปหาอ่านนะคะ

ตอนนี้ดิฉันสบายดีค่ะ และก็เพิ่งจะพอมีเวลาว่างจากงานสอนเด็กๆ ค่ะ

ว่างๆ คงต้องขอคำแนะนำเกี่ยวกับสอนภาษาอังกฤษอาจารย์บ้างแล้วล่ะค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท