ศ.นพ.ประเวศ วะสี ครูแห่งการทำงาน (1-15)


“...หากทำอะไรแล้วเหนื่อยมาก ๆ ลองอดทนทำต่ออีกนิดเดียว เราจะหายเหนื่อย จะทำได้ต่อไปอีก...ลองดูนะ...”

 

     หากพูดถึงคำว่า “ครู” คนไม่มีรากก็คิดถึงหลาย ๆ ท่าน ท่านหนึ่งซึ่งถือเป็น “ครูในชีวิตการทำงาน” คือ ศ.นพ.ประเวศ วะสี หรือที่เรียกติดปากว่า อาจารย์หมอประเวศ วะสี

       คนไม่มีรากมีโอกาสเป็นคณะทำงานจัดทำร่างนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งในปีนั้นอาจารย์หมอประเวศ วะสี เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน ฯ

       ความรู้สึกที่ได้เห็นตัวจริงของท่านเป็นครั้งแรก หลังจากได้อ่านหนังสือและบทความของท่านมาแล้ว ... รู้สึกว่าท่านใจดี มีเมตตา อยู่ใกล้ ๆ แล้ว ราวกับอยู่ใกล้ญาติผู้ใหญ่ เย็นกาย เย็นใจ

              ในฐานะที่โชคดีได้มีโอกาสร่วมงานกับท่าน จึงอยากบันทึกแง่มุมดี ๆ ที่ได้เรียนรู้จากท่าน....ปูชนียบุคคลท่านหนึ่งในสังคมไทย

 

        ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่มาตรงเวลาอย่างยิ่งในการประชุม ต่างจากผู้ใหญ่บางท่าน (ที่มักจะมาหลังเริ่มประชุมแล้ว แต่กลับก่อน ด้วยเหตุผลว่า มีงานเยอะยุ่ง) และหากรับปากว่าจะมาร่วมประชุมแล้ว ท่านจะมาแน่นอน ไม่ต้องโทร Confirm ท่านพูดน้อย พูดช้าชัด ใบหน้ายิ้มละไม รับฟังและไม่เคยตำหนิความคิดเห็นของใครในที่ประชุม ท่านไม่ดื่มชา กาแฟ ไม่เคยร้องขอเครื่องดื่มหรืออาหารชนิดใดเป็นพิเศษ และทานอาหารน้อยมาก ในช่วงพักทานข้าวกลางวัน มักจะมีนักข่าวมารอสัมภาษณ์ท่านด้วยประเด็นต่าง ๆ จนบางครั้งเราทานข้าวกลางวันเสร็จแล้ว ท่านก็ยังคงให้สัมภาษณ์อยู่ จนหลายครั้งต้องเข้าไปขอร้องนักข่าว และเชิญให้ท่านมารับประทานอาหารกลางวันก่อนจะเริ่มประชุมต่อในช่วงบ่าย 

       หากให้สรุปรวมแล้ว คนไม่มีรากรู้สึกว่าท่านคล้ายพระผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เต็มไปด้วยสติ ปัญญา และเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณากับทุกคนโดยไม่เลือกหน้า ....

       พยักหน้ากับตัวเอง...อ้อ นี่เอง “คนดีแท้” ที่ไม่เลือกเขาเลือกใคร เมตตากรุณาให้โดยเท่าเทียมกันทุกคน...

       ช่วงที่ต้องประสานงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการทำ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ข้าราชการทุกคนจะต้องทำงานชนิดที่เรียกว่า หามรุ่งหามค่ำ เนื่องจากเป็นงานเร่งด่วน ทุกเย็นราว 5 โมงเย็น (ช่วงเย็นคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิจึงจะมีเวลาว่าง) จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ข้าราชการของสำนักงาน ฯ จะต้องเป็นฝ่ายเลขานุการคณะทำงาน ฯ กว่าจะประชุม เก็บประเด็นเสร็จก็เกือบ 2 ทุ่มบ้าง บางครั้งประเด็นไม่ลงตัวอาจประชุมถึง 4 ทุ่ม แยกย้ายกันกลับบ้าน ถึงบ้าน 4-5 ทุ่มทุกวัน ต้องรีบสรุปประเด็น พิมพ์ จัดทำเอกสารเพื่อเสนอท่านเลขาธิการ ฯ ก่อน 10 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น รอท่านอ่านพิจารณาให้ความเห็น ปรับแก้ เพิ่มเติม จัดทำเอกสาร เข้าเล่ม เพื่อนำเข้าที่ประชุมต่อตอน 5 โมงเย็น เป็นวัฏจักร...ไม่เว้นแม้แต่เสาร์-อาทิตย์...

       วันหนึ่งขณะกำลังทำหน้าที่จัดเอกสารเตรียมประชุมตอนเย็นเช่นเคย...คนไม่มีรากกับพี่ที่ช่วยกันจัดเอกสารคุยกันว่า...เหนื่อยจังนะ มาทำงานตั้งแต่เช้ามืด กลับบ้านก็ไม่เห็นแสงอาทิตย์ หากวันไหนกลับบ้านเร็ว คนที่บ้านจะตกใจและร้องทักว่า...เกิดอะไรขึ้น กลับบ้านถูกหรือ ...ฯลฯ 

 

      ...แล้วพลันก็ได้ยินเสียงนุ่ม ๆ ว่า...อดทนหน่อย เราทำงานเพื่อการศึกษาชาตินี่นะ... เราสองคนหันไปมอง อ้าว...อาจารย์หมอประเวศนี่นา รีบยกมือสวัสดีอย่างรวดเร็ว...

       และประโยคที่ท่านพูดต่อมา ซึ่งคนไม่มีรากจดจำได้ขึ้นใจและยึดถือไว้เป็นคาถาในการทำงานตลอดมาก็คือ

 

“...หากทำอะไรแล้วเหนื่อยมาก ๆ ลองอดทนทำต่ออีกนิด จะหายเหนื่อย จะทำได้ต่อไปอีก...เหมือนวิ่งจนเหนื่อยมากใกล้จะขาดใจ หากกลั้นใจ อึด อดทนวิ่งไปอีกหน่อย เราจะแปลกใจที่เราวิ่งไปได้ หายเหนื่อยไปเลย เพราะเลยจุดที่ "เหนื่อย"แล้ว ลองดูนะ...”

 

       น้อมกราบระลึกถึงอาจารย์หมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ผู้ใหญ่ที่เป็น “เสาหลัก” ท่านหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งคนไม่มีรากยกท่านไว้ในฐานะ “ครู” ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

                                                                         (^___^)

 

หมายเลขบันทึก: 297088เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2009 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (31)

เห็นด้วยกับคนไม่มีราก ท่านใจดีและส่งเสริมการศึกษามาก ผมได้รับกำลังใจจากท่านหลายครั้งทีเดียว มาช่วยพิสูจน์อักษร  หากพู  ฮ่าๆๆๆๆ สบายดีไหมครับ

สวัสดีค่ะอ.ขจิต ฝอยทอง

จำได้ว่า อ.ขจิตเองก็เคยได้รับโน้ตให้กำลังใจจากท่าน...

ขอบคุณที่ช่วยตรวจทานค่ะ แก้ไขแล้วค่ะ

(^___^)

อาจารย์เป็นกันเองกับทุกคนด้วยค่ะ

ให้กำลังใจคนทำงานได้ดีมากๆด้วย (จำชื่อคนเก่งด้วย)

สวัสดีค่ะ คุณคนไม่มีราก

เราเองก็อ่านข่าวของท่าน (ศ.นพ.ประเวศ วะสี) เช่นกันเมื่อเช้านี้

เนื้อข่าวมีอยู่ว่า ""ทางรอดประเทศไทย : การปฏิรูปประเทศ"

การปฏิรูปแบบยกเครื่องทั้ง 10 เรื่อง ได้แก่

1. สร้างจิตสำนึกใหม่

2.ระบบเศรษฐกิจใหม่สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่

3.ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

4.สร้างระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ

5.ธรรมมาภิบาลการเมืองการปกครอง ระบบความยุติธรรมสันติภาพ

6.ระบบสวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้าต้องเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นคนทุกคน

7.ระบบพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่มีดุลยภาพ

8.กระปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อสุขภาวะของคนทั้งมวล

9.การวิจัยยุทธศาสตร์ชาติ

10.สร้างระบบการสื่อสารที่ผสานการพัฒนาทุกเรื่อง

อ่านแล้วจึงเก็บมาฝากค่ะ อ่านจากเวป www.sanook.com

สวัสดีค่ะพี่pa_daeng

คนไม่มีรากเคยทำงานที่รพ.ศิริราช เคยเข้าประชุมคณะทำงานวิชาการ เป็นเด็กตัวน้อยด้อยปัญญา เพียง 2 ครั้ง ท่านก็ยังจำได้ค่ะ

ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่เมตตาและไม่เลือกปฏิบัติเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะคุณครูจิ๋ว

ดีจ้งค่ะ ขอบคุณมาก ๆ นะคะ

มีประโยชน์มากค่ะ

(^___^)

ขออนุญาตครับอาจารย์ ผมรู้จักท่านแต่ในหนังสือ บทความ และข่าวสารที่สื่อนำเสนอ เมื่อต้องมาทำงานพัฒนาในพื้นที่เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วก็ยิ่งต้องติดตามข้อคิดต่างๆของท่านนำมาเป็นแนวทางในการทำงาน มีคุณค่ามากสำหรับชีวิตการทำงานของผม ขอบพระคุณคุณมาก ครับ

สวัสดีค่ะ

        ได้อ่านหนังสือของท่านหลายเรื่องเกี่ยวกับการทำงาน ก็สามารถนำมาใช้ได้ทันทีทุกเรื่องค่ะ

ด้วยความระลึกถึงเสมอค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหนุ่ม กร~natadee

คนไม่มีรากโชคดีมาก ๆ ค่ะ เป็นเด็กที่อ่อนด้อยด้วยปัญญา แต่มีโอกาสได้ร่วมงานกับปูชนียบุคคลหลายท่าน ...

ข้อคิดที่ได้คือ การอยู่ใกล้บัณฑิต เป็นมงคลของชีวิตค่ะ

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะพี่ สุนันทา

หนังสือของอ.หมอประเวศ เป็นหนังสือที่คนทำงานด้านการศึกษา การพัฒนาชุมชน สังคม การเพทย์ต้องอ่านค่ะ

ขอบคุณพี่ค่ะ

(^___^)

หวัดดีจ้ะปิง

ปิงโชคดีนะได้มีโอกาสทำงานกับผู้ใหญ่ คนดี คนควรเคารพเช่นอ.ประเวศ วะสี

คนดีมักจะได้พบกับคนดีนะปิง....พี่คิดว่างั้นนะ

มีความสุขมาก ๆ กับการทำงานกับคนดีนะน้อง

พี่กฤษณ์คะ

ปิงก็ว่าตัวเองโชคดีค่ะ

ท่านอ.หมอประเวศ เป็นคนดีที่น่าเคารพอย่างแท้จริงค่ะ

บางคน ภาพลักษณ์ดี แต่เมื่อทำงานด้วยแล้ว ... จึงทราบความจริงค่ะ...หลายคนก็ไม่ดได้ดีดังที่แสดงภาพไว้ว่า...ดี

คิดถึงพี่จัง พี่ไม่เข้าคณะเลยหรือคะ

(^___^)

  • ขอน้อมนำแนวคิดของท่านไปเป็นยาหอมเวลาเหนื่อยกายเหนื่อยใจค่ะ
  • ขอบพระคุณมากค่ะสำหรับข้อคิดดี ๆ ที่นำมาแบ่งปันทำให้สดชื่นเบิกบานใจค่ะ

ท่านเคยพูดในที่ประชุมซึ่งมีผมร่วมอยู่ด้วยในตอนนั้นว่า

"เรื่องที่เราทำเป็นเรื่องยาก เรื่องง่าย ๆ คนอื่นทำไปหมดแล้ว ไม่เหลือมาให้ถึงมือหรอก..."

ยังจำได้ติดหูเลยครับ...

สวัสดีค่ะคุณSila Phu-Chaya

เป็นเรื่องจริงดังที่ท่านว่าเลยค่ะ....หากเราอดทน อดทนอีกนิด ค่อยบอกตัวเองไปเรื่อย ๆ ก็ทำได้จริง ๆ ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

หวัดดีปิง

วันศุกร์นี้จะเข้าไปห้องสมุด

ของปิงถึงไหนแล้ว....เปิดเครื่องไว้บ้างนะ โทรไม่ได้เลย....

เฮ้อ...ถ้าไม่ใช่น้องรัก สงสัยตัดหางปล่อยวัดไปแล้ว...ปิงเอ้ย...

มาเจอคุณกฤษณ์ด้วย

ถือโอกาสสวัสดีครับ สบายดีนะครับ

อาปิงน้องรักของคุณกฤษณ์กำลังเก็บตัว ซุ่มอ่านหนังสือ ... ให้คนอื่นมั้งครับ

ส่วนโทรศัพท์ ทำใจได้ครับ หากวันไหนปิงรับโทรศัพท์ ผมต้องหาทางไปซื้อล็อตเตอรี่ครับ...

......................

ยินดีด้วยที่โหลได้มีโอกาสทำงานกับท่านอ.หมอประเวศ วะสี ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่ควรแก่การเคารพนับถือจริง ๆ ครับ

พี่ไม่เคยได้ทำงานกับท่านนอกจากได้ร่วมประชุมในบางงานประชุมวิชาการ

ตรงนี้น่าสนใจมากครับ ว่าง ๆ จะได้แลกเปลี่ยนกับโหล...

“...หากทำอะไรแล้วเหนื่อยมาก ๆ ลองอดทนทำต่ออีกนิด จะหายเหนื่อย จะทำได้ต่อไปอีก...เหมือนวิ่งจนเหนื่อยมากใกล้จะขาดใจ หากกลั้นใจ อึด อดทนวิ่งไปอีกหน่อย เราจะแปลกใจที่เราวิ่งไปได้ หายเหนื่อยไปเลย เพราะเลยจุดที่ "เหนื่อย"แล้ว ลองดูนะ...”

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณหนานเกียรติ

ท่านอ.หมอประเวศ เป็นคนที่ทำให้คนไม่มีรากตัดสินใจและเห็นคุณค่าของคำว่า "ภูมิปัญญาไทย" ค่ะ...

ในสกศ.มักจะต้องประสานงานติดต่อกับอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับดร. ศาสตราจารย์ ล้วนแต่มีความรู้สูง (ทางการศึกษา) พอมาเจอกลุ่มครูภูมิปัญญาไทย ตัวอย่างเช่น พะตีจอนิ โอ่โดเชา ซึ่งสวมหมวกผ้า ไม่ใส่รองเท้า เสื้อผ้าฝ้าย เข้ามาประชุม คนทั้งสกศ.ก็พากันตื่นตาตื่นใจ...แรก ๆ ด้วยความเบาปัญญาของตัวเอง ก็รู้สึกอาย ๆ ครูที่เราเชิญมาประชุมไม่เหมือนครูของสำนักอื่น ๆ ที่สวมใส่เสื้อผ้าตามสากล บ้างใส่สูท สวมผ้าไหม แต่ครูของเรา มาด้วยชุดปอน ๆ ไม่สวมรองเท้า แถมบางคนมีข้าวของพะรุงพะรัง ... ผลหมากรากไม้...เป็นน้ำใจมาฝากจากบ้านป่า...

อาจารย์หมอประเวศ เปิดประชุมและกล่าวสรุปประชุมในวันนั้นว่า....ครูภูมิปัญญาไทย เป็น "พลัง" ของแผ่นดิน มีจิตใจสูงส่ง ฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิตอย่างโชกโชน จนประสบความสำเร็จ แล้วยังมี "ใจสูง" นำสิ่งที่ตัวเองเคยผ่านพ้นด้วยเลือดเนื้อมาบอกกล่าว สอนต่อให้เกิดประโยชน์แก่คนทั่วไป โดยไม่เคยคิดถึงคำว่า "ลิขสิทธิ์" ด้วยซ้ำไป.....

คำพูดของท่านในการประชุมครั้งแรกของคนไม่มีรากในฐานะนักวิชาการที่ทำหน้าที่ประสานงานโครงการคืนภูมิปัญญาไทยสู่ระบบการศึกษา...เปลี่ยนความคิดและการทำงานของคนไม่มีรากนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาค่ะ

ขอบคุณคุณหนานเกียรติที่ทำให้คนไม่มีรากได้ระลึกถึง....ว้นนั้นค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะพี่กฤษณ์

อาปิงของพี่กำลังหัวหมุนกับ Text Neo-humanist ค่ะ อ่านจบแล้ว กำลังสรุปค่ะ

กำลังปรับแก้บทที่ 3 หลังส่งให้อ.ตั๋งอ่านแล้วหนึ่งรอบค่ะ

ช่วงนี้มักจะไม่ได้เปิดโทรศัพท์ค่ะ

เฮ้อ...ดีนะที่ปิงไม่มีหาง ไม่งั้นคงโดนตัดหางปล่อยวัด.....555555...

แล้วพบกันวันศุกร์นี้ค่ะ

(^___^)

สาธุครับ

ผมยังไม่มีบุญได้เจอท่าน

แต่ก็ติดตามงานเขียนของท่านทุกคราวที่มีโอกาสครับ

ท่านเป็นผูใหญ่ ที่ไม่ได้ใหญ่แต่หน้าที่ครับ ใจท่านกว้างใหญ่ด้วยครับ

พี่คนตัดไม้คะ

ดีใจจังค่ะ โหลเป็น Indicator ในการจะซื้อล็อตเตอรี่ของพี่ได้ด้วย...

งั้นต้องอย่ารับโทรศัพท์ของพี่บ่อยเกินไป...เดี๋ยวไม่แม่น...นะคะ

ตอนแรกที่โหลฟังท่านพูดว่าเหนื่อยแล้ว ก็ขอให้ต่อไปอีกนิด แล้วจะหายเหนื่อยนั้น โหลก็คิดค้านในใจค่ะ...

แต่ลองทำดู...จริงค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะ คุณคนไม่มีราก

คิดถึงมากๆค่ะ และ

“...หากทำอะไรแล้วเหนื่อยมาก ๆ ลองอดทนทำต่ออีกนิดเดียว เราจะหายเหนื่อย จะทำได้ต่อไปอีก...ลองดูนะ...”

ขอบคุณสำหรับสาระที่มีประโยชน์ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณPhornphon

คนดีย่อมถูกดึงดูดด้วยคนดีค่ะ

สักวันคุณPhornphon ต้องได้พบท่านแน่ ๆ ค่ะ

รักษาสุขภาพนะคะ

(^___^)

อาจารย์หมอประเวศเป็นสติและปัญญาให้สังคมไทยเสมอ การมีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับท่านเหมือนได้เรียนรู้จากปราชญ์และผู้ทรงคุณธรรมนะคะ ท่านมีความเมตตาและสุภาพอ่อนน้อมเสมอเข้าใกล้แล้วรู้สึกเย็น

อย่างที่คุณแดงว่าท่านเป็นคนจำชื่อคนแม่น และมีความจำเป็นเลิศแม้อายุขนาดนี้ เนื่องจากท่านเป็นคนเมืองกาญจน์ หลายปีมาแล้วพี่มีโอกาสพบท่านใกล้ก็แนะนำว่าเป็นลูกหลานใครที่เมืองกาญจน์ ท่านพูดออกมาเลยว่าเมื่อก่อนท่านไปที่บ้านคุณตาคุณยายพี่บ่อย และจำชื่อคุณแม่พี่ได้ แถมเล่าว่าคุณแม่เป็นเด็กๆอยู่ใส่เกี๊ยะไม้เล่น เดินดังก๊อกๆ เมื่อเร็วๆนี้ในงานสานจิตรเสวนาฯ พี่เข้าไปสวัสดีท่าน ท่านก็ถามถึงคุณแม่พี่ทันทีและเล่าเรื่องบ้านเมืองกาญจน์ให้คนที่ยืนใกล้ๆฟังด้วย พี่รู้สึกปลาบปลื้มที่ท่านจำเรื่องราวของคนเล็กๆได้และให้ความเป็นกันเองอย่างยิ่ง

ขอบคุณนะคะที่นำเรื่องราวนี้มาบอกเล่าให้เห็นความน่าเคารพรักของท่านในอีกมุมหนึ่ง

สวัสดีครับ

ท่านนพ.ประเวศ วะสี ถือว่าเป็นครูแห่งแผ่นดินตัวจริงเสียงจริง

เคยอ่านข้อเขียนของท่านในฐานะราษฎรอาวุโส ถือเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่รักและห่วงใยประเทศชาติมากคนหนึ่ง

ขอบคุณคนไม่มีรากที่นำมาเผยแพร่ครับ

ขอมาเติมเต็มให้คนไม่มีรากนะคะ

หมอติดตามอ่านหนังสืออาจารย์หลายเล่มรวมทั้งเรื่องAIC หมอชาวบ้าน และแนวคิดในการดำรงค์ชีวิต

อาจารย์มาประชุมที่บำราศ หมอไปต้อนรับ อาจารย์คุยว่าเดี๋ยวนี้ไม่รู้เป็นอย่างไร ไม่ค่อยโกรธและเกลียดใคร

อาจารย์ติดตามภรรยา ( พญ. จันทพงษ์ วสี ) ไปงานประชุมนำเสนอการจิจัยของสถาบันบำราศ อาจารย์น่ารัก ชมและให้กำลังใจพวกเรา ทางสถาบันเชิญอาจารย์ ปีละครั้ง 2ปี ( เชิญภรรยา อาจารย์ต้องติดตามภรรยามา )

หมอทำงานให้ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว จัดให้ไปเที่ยวโครงการลำตะคลองที่โคราช อาจารย์2ท่านอุตสาห์ซื้อตั๋วไปเที่ยวกับพวกเรา

ความเห็นส่วนตัวต่ออาจารย์เหมือนพระที่บรรลุธรรมแล้วค่ะ

เคารพอาจารย์หมอประเวศและนำแนวคิดของอาจารย์มาใช้บ่อยๆเช่น สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาค่ะ INN ( Individual Node Network )

สวัสดีค่ะคุณครูจิ๋ว

ใช่แล้วค่ะ ท่านสอนให้ อดทน นี่เอง...

ลองทำดูก็ได้ค่ะ คนไม่มีรากลองแล้ว เหนื่อยจนคิดว่าจะทนไม่ได้แล้ว พอทนอีกนิด มันหายเหนื่อยไปเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

(^___^) 

สวัสดีค่ะพี่นุชคุณนายดอกเตอร์

น้องก็ทราบมาว่าท่านเป็นชาวกาญจนบุรีค่ะ  เนื่องจากมีพี่ที่ทำงานท่านหนึ่งเป็นญาติห่าง ๆ ของท่าน

ขอบคุณที่พี่นุชกรุณามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาจารย์อีกนะคะ

ท่านน่ารักและน่าเคารพจริง ๆ ค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะอ.บินหลาดง

เห็นด้วยกับที่อ.กล่าวว่า...ท่านนพ.ประเวศ วะสี ถือว่าเป็นครูแห่งแผ่นดินตัวจริงเสียงจริง เคยอ่านข้อเขียนของท่านในฐานะราษฎรอาวุโส ถือเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่รักและห่วงใยประเทศชาติมากคนหนึ่ง

ท่านเป็นนักคิด นักเขียน และนักปฏิวัติสังคมท่านหนึ่งค่ะ

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

โหลโชคดีที่ได้ทำงานกับท่านนะครับ

ท่านเป็นเสาหลักในเกือบจะทุกด้านของประเทศชาติเลย

ชอบเรื่องราวดี ๆ ครับ

สวัสดีค่ะอ.พ.ญ. อัจฉรา เชาวะวณิช

ขอบพระคุณที่กรุณานำเรื่องราวของท่านอ.ประเวศมาแบ่งปันไว้ในบันทึกนี้ค่ะ

สำหรับแนวคิด สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา INN ( Individual Node Network )  เป็นแนวคิดที่ใช้จัดการและขับเคลื่อนสังคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวคิดนี้ในงานพัฒนาองค์ความรู้ในชนบทใช้กันมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท