K II
มังกรนิทรา- คนเก่งฟ้าประทาน

โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สำคัญ


Bacterial zoonoses

 

โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย 

(Bacterial Zoonoses)

 1.  โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) 

            โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี โดยพบทำให้เกิดโรคในสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ และสุกร เป็นโรตติดต่อร้ายแรงโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 ปัจจุบันก็ยังมีรายงานของโรคนี้ในสัตว์ ในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย จังหวัดที่มักพบโรคมักอยู่ตามชายแดนรอยต่อระหว่างไทย-พม่า ไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา ในกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยไม่มีการกักเพื่อเฝ้าระวังโรค ในคนก็มีรายงานพบโรคอยู่เป็นระยะ ๆ

             โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า Bacillus anthracis เชื้อติดสี gram positive และมีการสร้างสปอร์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกได้ดี

 การติดต่อของโรค

  1. คนติดโรคจากการสัมผัสสัตว์ป่วย หรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์ที่มาจากสัตว์ป่วย อาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Anthrax ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ คนที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ สัตวแพทย์ และพ่อค้าที่ชำแหละและขายเนื้อสัตว์ โดยผู้ที่สัมผัสจะมีวิการหรือรอยโรคที่ผิวหนังเป็นลักษณะของเนื้อตาย
  2. ในสัตว์ที่กินพืช จะได้รับระยะสปอร์ที่ปนเปื้อนอยู่ในดิน อาหาร น้ำ สัตว์ที่กินเนื้อจะได้รับเชื้อจากการกินซากสัตว์ป่วยที่ตายด้วยโรคนี้ สปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์อาจปนเปื้อนอยู่ตามดิน หญ้า น้ำ หรือ บริเวณทุ่งหญ้าในพื้นที่ ๆ มีประวัติการระบาด
  3. การระบาดของโรคอาจเกิดจากการนำเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ตายจากโรคไปขายในพื้นที่อื่น ๆ นอกจากนี้นกหรือสัตว์อื่น ๆ ที่กัดกินสัตว์ หรือซากสัตว์ป่วยที่ตาย อาจเป็นตัวแพร่กระจายโรคไปสู่บริเวณอื่นได้
  4. ในคนอาจติดโรคโดยการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป โดยสปอร์ติดอยู่ตามฝุ่นละออง ขนสัตว์ หนังสัตว์ โดยวิธีนี้มีผู้นำมาใช้เป็นอาวุธทางชีวภาพ โดยมีรายงานของผู้ป่วยและเสียชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกาที่สงสัยว่าเชื้อแอนแทรกซ์มากับจดหมาย และทำให้ผู้รับเชื้อป่วยและตาย
  5. วิธีการติดโรคที่พบเป็นส่วนใหญ่ในคน ได้แก่ การกินอาหารที่ปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อที่ปรุงไม่สุก โดยมากมักจะพบในเขตชนบท ที่เมื่อเวลาสัตว์ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีการชันสูตรซากสัตว์ โดยสัตวแพทย์ มีการชำแหละและจำหน่ายเนื้อให้กับเพื่อนบ้าน ซึ่งนำไปสู่การแพร่กระจายตัวของโรค นอกจากนี้สัตว์ป่าเช่น เก้ง กวาง ที่มีผู้นำซากมาขายเป็นเนื้อกับผู้ชอบบริโภคอาหารป่า ก็เป็นความเสี่ยงของผู้บริโภคเช่นเดียวกัน

 อาการในสัตว์ 

ในพวกสัตว์เคี้ยวเอื้อง อาการจะเกิดแบบเฉียบพลัน โดยสัตว์แสดงอาการบวมตามที่ต่าง ๆ หายใจเร็ว มีไข้ มีอาการชักและเกร็ง มีเลือดออกตามช่องเปิดต่าง ๆ ของร่างกาย เลือดของสัตว์ที่ตายจะไม่แข็งตัว และภายในเลือดจะมีเชื้ออยู่ เมื่อออกมาสู่ภายนอก เชื้อจะสร้างสปอร์ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี และปนเปื้อนอยู่ได้นาน

 อาการในคน

ในคนจะมีอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองบวม ผิวหนังที่สัมผัสเชื้อจะมีลักษณะของเนื้อตาย และเมื่อมีเชื้อในเลือดจำนวนมาก จะมีอาการของ Toxemia

 การรักษา

การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาในกลุ่ม Pennicillin หรือ Erythromycin

 การควบคุมโรค

                การกำจัดหรือทำลายสัตว์ที่เป็นโรคแอนแทรกซ์ เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้โรคในสัตว์ติดต่อมาสู่คนได้ การทำโปรแกรมวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำทุกปี ช่วยลดอัตราการเกิดโรคได้อย่างมาก แต่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและต้องทำในสัตว์ทุกตัวที่อยู่ในเขตการระบาดของโรค นอกจากนี้การเข้มงวดในการเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือการนำเข้าสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านที่อาจนำโรคเข้ามา ต้องดำเนินการกักเพื่อดูอาการอย่างจริงจังทำเป็นประจำ

                สัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรจะมีการตรวจซากโดยสัตว์แพทย์ และไม่ควรนำเนื้อไปบริโภค หรือไปจำหน่ายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค การให้ความรู้ด้านสุขศึกษาและโรคสัตว์สู่คนแก่เกษตรกรเป็นประจำจะช่วยให้เกษตรกรมีความระมัดระวังและรู้จักวิธีป้องกันตนเองจากโรคแอนเทรกซ์ได้

 2.  โรคบรูเซลโลซิสหรือโรคแท้งติดต่อ (Brucellosis)

           โรค Brucellosis หรือโรคแท้งติดต่อสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ โดยเกิดจากเชื้อ Brucella abortus, Br. melitensis, Br. suis และ Br. canis  โรคบูรเซลโลซิส เป็นโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และทางด้านสาธารณสุข

 การติดต่อ

  1. การติดต่อจากสัตว์มาสู่คนเกิดได้หลายทาง เช่น การกิน การสัมผัส การหายใจ การดื่มน้ำนมที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่หรือการสัมผัสกับสัตว์ป่วย เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ การกินนมดิบหรือผลิตภัณฑ์นมดิบที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ (pasteurize) ทำให้ติดโรคได้ เนื่องจากเชื้อ Brucella สามารถผ่านออกมาทางน้ำนมของสัตว์ป่วยได้ เชื้อ Brucella อาจเข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางผิวหนัง โดยการสัมผัสกับสิ่งขับถ่าย มูลสัตว์ รก ปัสสาวะ ซากสัตว์ที่เป็นโรค หรืออาจติดโรคจากการทำคลอดสัตว์ ล้วงรก หรือช่วยสัตว์ขณะแท้ง อาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เจ้าหน้าที่โรงฆ่าสัตว์ สัตว์แพทย์ และคนขายเนื้อสัตว์
  2. การติดต่อในสัตว์ ส่วนใหญ่เกิดจากการผสมพันธุ์ โดยเฉพาะในกรณีที่พ่อพันธุ์มีเชื้อ Brucella เมื่อนำไปผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์จะเป็นการแพร่กระจายโรคไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเชื้อจะอยู่ในต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะที่ supra mammary lymph node ซึ่งเชื้อจะถูกขับออกมากับน้ำนมแม่โค แพะ และแกะ ที่เป็นโรคแท้งติดต่อ อาจจะพบเชื้อ Brucella ออกมากับน้ำนมได้เป็นระยะเวลานาน

 อาการของโรค

  1. คนที่ได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ ปวดหัว ปวดตามข้อ กล้ามเนื้อ และหลัง มีความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ และอาจมีการอักเสบในระบบประสาท อาการจะเป็นแบบเรื้อรัง
  2. ในสัตว์จะมีอาการอักเสบของระบบอวัยวะสืบพันธุ์และเยื่อหุ้มตัวลูกสัตว์ มีอาการแท้งลูก หรือเป็นหมันและทำให้ปริมาณการผลิตน้ำนมลดลง

 การตรวจวินิจฉัย

การตรวจในสัตว์และคน โดยวิธีทางซีรั่มวิทยา เช่น agglutination, ELISA, Fluorescent antibody test, complement fixation test, Haemagglutination, และ Radioimmunoassay

 การควบคุมและป้องกัน

                โรคบูรเซลโลซีส เป็นโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากในการพัฒนาปศุสัตว์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตนม การแท้งลูกซึ่งเป็นอาการที่สำคัญของโรคในสัตว์จะทำให้การเพิ่มผลผลิตในฟาร์มลดลง ทำให้จำนวนสัตว์ในฟาร์มลดลงสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคจะผลิตน้ำนมลดลง

การควบคุมโรคในสัตว์จะต้องดำเนินการ

            1.  ค้นหาสัตว์ที่เป็นโรค โดยเฉพาะพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่อาจจะเป็นตัวเก็บกักโรคและเป็นตัวนำโรคไปยังสัตว์อื่น ๆ ในฟาร์ม

            2. สร้างภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์ เพื่อป้องกันโรคนี้ในสัตว์ ในโค-กระบือ ฉีดวัคตซีนป้องกัน ในลูกโค-กระบือ เพสเมีย อายุ 3-8 เดือน

 สำหรับในคน การป้องกันและควบคุมโรคสามารถทำได้โดย

  1. ให้สุขศึกษาแก่เกษตรกร หรือผู้ที่ต้องประกอบอาชีพเกี่ยวกับสัตว์ เช่น คนงานในโรงฆ่าสัตว์ คนขายเนื้อสัตว์ เพื่อให้ทราบถึงอันตรายและการติดต่อของโรค เพื่อที่จะรู้จักป้องกันตัวเอง เช่น ใส่ถุงมือ รองเท้า หรือเปลี่ยนเสื้อผ้าเมื่อมีการสัมผัสสัตว์
  2. บริโภคนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ผ่านการพาสเจอไรซ์ เพื่อป้องกันการติดต่อของเชื้อ
  3. ให้วัคซีนแก่บุคคลที่มีอาชีพเสี่ยงต่อการติดโรค
  4. ทำการเฝ้าระวังโรคจากสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว จัดการทางด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการกำจัดเชื้อในบริเวณที่สัตว์ป่วยเคยอาศัยอยู่ ป้องกันไม่ให้สัมผัสกับสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ป่วยและกำจัดสัตว์ที่อาจเป็นพาหะ เช่น นก หนู หรือสัตว์อื่น ๆ ที่อาจจะมาสัมผัสกับสัตว์ป่วย

  3.  โรคเลบโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู  (Leptospirosis)

            โรคเลบโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู เป็นโรคที่พบมากในประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีฝนตกและเกิดน้ำท่วมขัง ทำให้คนที่ต้องลุยน้ำ ได้รับเชื้อที่ปล่อยออกมาจากสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ โดยพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นหนู โรคนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อ Leptospira ซึ่งมีอยู่หลายชนิดและทำให้เกิดโรคทั้งในคนและสัตว์

 การติดต่อ

  1. ในคน เชื้อ Leptospira ไชเข้าสู่ผิวหนังที่มีแผลหรือเข้าตามเยื่อชุ่ม หรือติดเชื้อจากการกินโดยตรง สำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์   สัตวแพทย์ คนงานในโรงฆ่าสัตว์ ประชาชนทั่วไป ที่ต้องย่ำน้ำท่วมขังที่อาจอยู่ในเขตรังโรค

  2. ในสัตว์ การติดต่อเกิดขึ้นเช่นเดียวกับในคน สัตว์ที่เป็นตัวกักเก็บโรคที่สำคัญตามธรรมชาติ ได้แก่ สัตว์ป่า โดยเฉพาะพวกสัตว์ฟันแทะ (Rodent) ได้แก่ หนูบ้าน หนูนา รวมทั้งพวกสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เช่น โค กระบือ สุกร และสุนัข

 อาการของโรค

                1. ในคน มักเกิดอาการรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยตายได้ อาการที่มักพบคือมีไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ดีซ่าน โลหิตจาง ไตทำงานผิดปกติ

                2. ในสัตว์ ในพวกโค-กระบือ อาจพบอาการแท้งลูก น้ำหนักลด ปัสสาวะเป็นเลือด ดีซ่าน ถ้าเป็นสัตว์ที่ให้นม อาจพบสีของน้ำนมเปลี่ยนไปอาจมีเลือดปน เต้านมแฟบ ตับและไตอาจพบจุดเนื้อตาย ในสุนัขอาจพบอาการไม่มาก เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร มีแผลตามเยื่อหุ้มของช่องปากและเหงือก ต่อมทอนซิลอักเสบ และอาการดีซ่าน

 การตรวจวินิจฉัย

  1. ตรวจหาเชื้อในเลือด ปัสสาวะ และในเนื้อเยื่อ
  2. เพาะเชื้อจากเลือด ปัสสาวะ น้ำไขสันหลัง และเนื้อเยื่อ
  3. ตรวจหาแอนติบอดีย์ โดยวิธี Agglutination test

 การรักษา

ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Streptomycin และ Pennicillin ให้ผลดีในการรักษา

 การควบคุมและป้องกัน

       การควบคุมโรคทำได้ยากเนื่องจากมีสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงหลายชนิดเป็นตัวเก็บกักโรคที่สำคัญ โดยเฉพาะหนูเป็นตัวนำโรคที่สำคัญ ซึ่งการควบคุมโรคก็โดยการควบคุมจำนวนสัตว์เหล่านี้ให้มีอยู่น้อยที่สุด ส่วนในสัตว์ป่าอาจจะต้องมีการสุ่มตรวจ เพื่อการป้องกันในระยะยาว โรคนี้มีวัคซีนใช้ในสัตว์ แต่ปัจจุบันพบว่า ชนิดที่ทำให้เกิดโรคไม่ตรงกับชนิดที่ใช้ทำวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ การระบาดของเชื้อ Leptospira ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน

 4.  โรคเมลิอยโดซิส (Melioidosis) หรือโรคมงคล่อเทียม

                โรค Melioidosis หรือเรียกว่าโรคมงคล่อเทียม เนื่องจากมีอาการคล้ายโรคมงคล่อพิษ (glanders) ที่เกิดจากเชื้อในกลุ่มเดียวกัน สาเหตุเกิดจากเชื้อ Pseudomonas pseudomallei ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิด Bacillus ติดสีแกรมลบและเชื้อมีการสร้าง endotoxin เชื้อชนิดนี้มักพบในดินและน้ำ โดยเฉพาะดินที่มีลักษณะชื้นแฉะ มีน้ำท่วมขังคล้ายหนองบึง หรือบริเวณแปลงนา เชื้อสามารถอยู่ได้นานในน้ำดินและอุจจาระ ได้อย่างน้อย 1 เดือน

 การติดต่อของโรค

  1. ในคน สามารถติดต่อได้ทางผิวหนังและการหายใจ ปกติโรคนี้พบไม่บ่อยในคนและไม่ค่อยมีอาการรุนแรงถึงตาย

   2.ในสัตว์ เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการกิน ทางบาดแผล และการหายใจทำให้เกิดโรคในสัตว์ได้หลายชนิด เช่น โค สุกร แพะ แกะ ม้า สุนัข แมว สัตว์ฟันแทะและสัตว์ป่าหลายชนิด การเกิดโรคในสัตว์มีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง มักจะทำให้สัตว์ตายและไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา

 อาการของโรค

  1. อาการในคน อาจพบอาการ septicotoxemia โดยเริ่มแรกมีอาการหนาวสั่น มีไข้กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบรุนแรง ผู้ป่วยอาจตายได้ใน 2-4 วัน หรือมีอาการแบบ subacute โดยจะพบอาการทางผิวหนัง โลหิตเป็นพิษและปอดบวม (pneumonia) ส่วนแบบเรื้อรังจะพบเป็นฝี (abscess) ตามต่อมต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจพบแบบไม่แสดงอาการแต่อาจตรวจพบแอนติบอดีย์ในเลือด โรค Melioidosis มีอาการคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่น ๆ ทำให้วินิจฉัยแยกจากอาการได้ยาก ต้องยืนยันด้วยการตรวจหาเชื้อ P. pseudomallei
  2. อาการในสัตว์ จะพบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยแบบเฉียบพลันจะพบอาการไข้ ซึม อาการทางระบบทางเดินหายใจแบบเรื้อรัง จะพบลักษณะของฝี (abscess) ที่ อัณทะ (testes) และในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย รวมทั้งมีอาการทางประสาทร่วม

 การรักษา

       ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Oxytetracycline หรือ Pennicillin และ Streptomycin ให้ผลปานกลางในการลดอาการ แต่ส่วนใหญ่เชื้อจะไม่ค่อยตอบสนองต่อยาและเนื่องจากเป็นโรคสัตว์สู่คน จึงไม่ควรเก็บ สัตว์ที่มีเชื้อและให้ผลบวกต่อเชื้อ P. pseudomallei ควรคัดและทำลายทิ้ง

 การควบคุมและป้องกันโรค

       เชื้อ P. pseudomallei พบได้ทั่วไปตามพื้นดินและน้ำ การควบคุมและป้องกัน โดยการตรวจหาสัตว์ที่อาจเป็นพาหะหรือตัวเก็บกักโรค เช่น หนู กระต่าย แมว สุนัข แพะ แกะ สุกร โค กระบือ ม้า ลิง นกและสัตว์ป่าหลายชนิด สัตว์ป่วยที่มักพบโรคระบาดเป็นครั้งคราว ได้แก่ แพะ แกะ และสุกร โดยจะพบอาการเดินโขยกเขยก หรือมีอาการทรงตัวไม่ดี โดยมักจะพบฝีเกิดขึ้นตามต่อมน้ำเหลือง ม้ามและปอด มีอาการไอ มีน้ำมูกและอาจมีไข้ หรือมีอาการประสาทร่วมด้วย การป้องกันโรคในคน ทำได้โดยใช้สุขศาสตร์ส่วนบุคคล เมื่อเวลามีแผลรักษาความสะอาด ใส่รองเท้าเมื่อต้องเดินสัมผัสดินหรือพื้นทั่วไป

5. สเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis)

เชื้อ Streptococcus suis เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดกรัมบวก ลักษณะเซลล์ของแบคทีเรียจะอยู่เป็นคู่ หรือเป็นสายยาวขนาดต่างๆ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคในลูกสุกร พบในลูกสุกรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงหย่านม มักตรวจพบเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น ในโพรงจมูก และต่อมทอนซิล บางครั้งจะพบเชื้อในช่องคลอดของแม่สุกร สุกรเหล่านี้จะเป็นแหล่งรังโรค ทำให้เชื้อแพร่ไปยังลูกสุกร หรือสุกรในฝูงได้

อาการในสุกร
เชื้อ S. suis เป็นเชื้อที่มีปัญหาอย่างมากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ปัจจุบันพบจำนวน 34 serotype แต่ serotype ที่มักก่อให้เกิดโรคในสุกร ได้แก่ serotype ?, 2, 14 และ 19 โดยเฉพาะเชื้อ S. suis serotype 2 สามารถติดต่อสู่คนได้ และทำให้สมองอักเสบ

สุกรที่ติดเชื้อจะเกิดสภาวะเลือดเป็นพิษ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้สูง และข้ออักเสบ และตายอย่างเฉียบพลัน สุกรบางตัวอาจตายโดยไม่แสดงอาการมาก่อน ในสุกรหย่านม อาการทางระบบประสาทจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสในฝูง โดยพบว่าเวลาขาจะไม่สัมพันธ์กัน นอนขาตะกุย มีอาการชัก เหยียดเกร็ง กรอกตาไปมา เยื่อบุตาบวมแดง นอกจากนี้ยังพบอาการปอดบวม และข้ออักเสบซึ่งเนื่องมาจากโลหิตเป็นพิษ สุกรบางตัวพบลิ้นหัวใจอักเสบมีฝีหนอง ระบบสืบพันธุ์ล้มเหลว อาการของโรคที่เกิดขากเชื้อ S. suis จะคล้ายกับโรคแกลสเซอร์ที่เกิดจากเชื้อ Haemophilus parasuis และโรค edema disease ที่จากเชื้อ E. coli

อาการในคน
การติดเชื้อจากสุกรไปสู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่นติดทางบาดแผลที่ผิวหนัง การกินเนื้อหรือเลือดสุกรที่ไม่สุก การติดเชื้อทางการหายใจมีโอกาสน้อย และไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อโดยการสัมผัสโดยตรง อาการที่พบได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง บางรายติดเชื้อในกระแสเลือดโดยไม่พบภาวะเยื่อหุ้มสมอง บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น หลอดเลือดอักเสบ และอุจจาระร่วง บางรายติดเชื้อในเลือดอย่างรุนแรง บางรายติดเชื้อในเยื่อหุ้มหัวใจแบบกึ่งเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่รอดชีวิตบางรายยังคงมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น หูหนวกทั้ง 2 ข้าง และเป็นอัมพาตครึ่งซีก

การเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติ
เชื้อ S. suis ทำให้เกิดโรคในหลายระบบการเก็บตัวอย่างจะเน้นอวัยวะที่ได้รับผลจากการติดเชื้อ และเกิดความผิดปกติ เช่น หัวใจ ปอด ม้าม ไต สมอง ต่อมน้ำเหลือง หนองในข้อ รก ตัวอ่อนในแม่อุ้มท้อง และนมจากเต้านมอักเสบ ตัวอย่างทั้งหมดควรนำมาเพาะเชื้อโดยเร็ว โดย swab หนองจากข้อ และต้องนำมาเพาะเชื้อโดยทันที หรือไม่ช้ากว่า 3 ชั่วโมง การเก็บในอาหารเลี้ยงเชื้อ transport media จะช่วยรักษาสภาพของตัวอย่าง

การควบคุมและกำจัดโรคจากฟาร์มสุกร
เชื้อ S. suis serotype 2 เป็นเชื้อที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และทางสาธารณสุขมากกว่าเชื้อ S. suis serotype อื่น จึงได้มีการศึกษาวิธีกำจัดเชื้อออกจากฟาร์มมากกว่า serotype อื่น สุกรเป็นแหล่งหลักในการเป็นพาหะของเชื้อโดยที่เชื้อจะอาศัยอยู่ที่ crypt ของทอนซิล และโพรงจมูก เชื้อ S. suis สามารถที่จะวนเวียนอยู่ในประชากรของหนู mice ส่วนหนู rat พบว่าเชื้อจะไม่มีการเพิ่มจำนวนแต่สามารถที่เป็นพาหะแบบ mechanical ได้ พบว่าเชื้อสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ในกระเพาะของแมลงวันได้นานถึง 5 วัน

วิธีกำจัดเชื้อจากฟาร์มที่มีประสิทธิภาพดี ได้แก่
1. การกำจัดเชื้อโดยวิธี depopulation & repopulation โดยทำ total depopulation ร่วมกับการทำความสะอาด และการฆ่าเชื้อในโรงเรือน วิธีนี้จะใช้ได้ผลดีกับฟาร์มในระบบปิด
2. การให้ยาร่วมกับการหย่านม ทำได้โดยการหย่านมลูกสุกรที่อายุ 5 วัน ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม beta-lactam โดยการกินในแม่สุกรใกล้คลอด และลูกสุกรหย่านมจะสามารถกำจัดเชื้อ S. suis serotype 2 ได้ การใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มอื่นจะไม่สามารถกำจัดเชื้อได้

การป้องกันและรักษาในคน
โรคนี้สามารถรักษาให้หายโดยการให้ยาปฏิชีวนะ โดยยาที่รักษาได้ผลได้แก่ แอมพลิซิลิน, เพนนิซิลิน, ซีฟาแลคซิน, คลาวูลานิคแอซิค และซิโปรฟลอกซาซิน โดยธรรมชาติ เชื้อ Streptococcus จะถูกทำลายด้วยความร้อน การกินอาหารแบบปรุงสุกจึงลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคในคน นอกจาก นี้ผู้ปฏิบัติงานในฟาร์มหรือโรงฆ่าสัตว์ ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล สวมรองเท้าบู๊ต หรือ สวมถุงมือระหว่างปฏิบัติงาน จะป้องกันการแพร่เชื้อจากสุกรมาสู่คนได้

6.โรควัณโรค (Tuberculosis)

วัณโรคเป็นโรคที่ติดต่อเรื้อรัง สามารถติดต่อระหว่างคนกับสัตว์ได้ เชื้อโรคนี้มีความทนทานสามารถอยู่ในซากสัตว์ได้หลายสัปดาห์ และสามารถอยู่ในน้ำนมได้ประมาณ 10 วั

วัณโรค คือ โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เล็กมากคือเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ติดต่อโดยการสูดอากาศที่มีตัวเชื้อนี้เข้าไป ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีความคงทนต่ออากาศแห้ง ความเย็น ความร้อน สารเคมี และอยู่ในอากาศได้นาน ยกเว้นไม่ทนทานต่อแสงแดด คนส่วนใหญ่มักคิดว่าวัณโรคเป็นโรคเกี่ยวกับปอด แต่ความจริงแล้ว เป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกายเช่น ที่ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เยื่อหุ้มสมอง ปอด แต่ที่พบและเป็นปัญหามากที่สุดในปัจจุบันคือ "วัณโรคปอด" มักพบในคนแก่คนที่ร่างกายอ่อนแอจากการเป็นโรคอื่น ๆ มาก่อน เช่น หวัด หัด ไอกรน พวกติดยาและโรคเอดส์และในคนที่ตรากตรำทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ ขาดอาหาร ดื่มเหล้าจัด หรือในคนที่มีประวัติใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรค เช่น นอนห้องเดียวกัน หรืออยู่บ้านเดียวกัน และพบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นวัณโรคแทรกซ้อนกันมาก และทำให้วัณโรคที่เคยลดลง มีการแพร่กระจายมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้แพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากติดต่อได้ง่ายโดยระบบทางเดินหายใจและมีอันตรายถึงชีวิตน
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า ไมโคแบคทีเรียม โบวิส (Mycobacterium bovis) ตัวการที่แพร่โรค คือ คนและสัตว์ที่ป่วย การติดต่อเกิดขึ้นได้หลายทาง คือ
การติดต่อ
การหายใจ พบมากที่สุดถึง 70%
การกินน้ำ อาหาร น้ำนม
การสัมผัสทางผิวหนังที่เป็นแผล
ติดต่อจากแม่ที่ป่วยไปยังลูกในท้องโดยผ่านทางสายสะดือ
การผสมพันธุ์

อาการ.ในสัตว์
สัตว์จะเบื่ออาหารซูบผอมลงเรื่อยๆ ในกรณีที่เกิดขึ้นที่ปอดช่องอก สัตว์อาจจะมีไข้ได้เล็กน้อย อาการอื่นๆ นอกจากนี้จะขึ้นกับอวัยวะที่เป็น เช่น เกิดวัณโรคที่ปอด สัตว์จะไอในตอนกลางคืนหรือเมื่อทำงานหนัก วัณโรคที่ลำไส้จะมีอาการท้องเสียร่วมด้วย วัณโรคที่ลูกอัณฑะ ลูกอัณฑะจะบวมโต วัณโรคที่เต้านม เต้านมจะอักเสบ วัณโรคที่สมองจะพบว่าสัตว์มีอาการทางประสาท เมื่อชำแหละซากสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะพบตุ่มเป็นก้อนสีเทามันๆ ตรงกลางจะเป็นหนองสีเหลือง หนองแข็ง หรือแบบมีหินปูนแทรกขึ้นกับระยะเวลาที่เป็นโรคตุ่มนี้มักพบตามอวัยวะหรือต่อมน้ำเหลือง

 อาการในคน

  1. ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ บางรายไอแห้งๆ บางรายอาจมีเสมหะสี เหลือง เขียว หรือไอปนเลือด
  2. เจ็บแน่นหน้าอก
  3. มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือเย็น
  4. เหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย
  5. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

การตรวจวินิจฉัย
1. ตรวจดูลักษณะอาการทั่วไป : น้ำหนักลด ซูบผอม มีอาการเกี่ยวกับระบบหายใจ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
2. การทดสอบทางผิวหนัง เน้นการทดสอบโรคโดยการฉีดสารทูเบอร์คูลินเข้าชั้นผิวหนัง ที่บริเวณใต้โคนหาง หรือแผงคอ อ่านผลโดยการวัดความหนาของชั้นผิวหนังหลังฉีด 72 ชั่วโมง
3. การตรวจในห้องปฏิบัติการ เช่น การแยกหาเชื้อแบคทีเรีย การตรวจทางจุลพยาธิวิทยา การย้อมสี และการตรวจทางซีรั่มวิทยา การตรวจดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอ
การดูแลรักษาเบื้องต้น
ไม่มียารักษา เมื่อพบสัตว์ป่วยให้แยกออกจากฝูง แล้วทำลาย

การควบคุมและป้องกัน
.ในสัตว์
1. ควรติดต่อสัตวแพทย์ในท้องที่ให้ทำการทดสอบโค ด้วยวิธีการทดสอบทางผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1 ครั้ง
2. ถ้าพบว่าสัตว์ในฝูงเป็นโรคหรือสงสัยว่าเป็นโรค ควรแยกสัตว์นั้นออกจากฝูงและทำลายสัตว์
3. ฟาร์มที่เคยมีประวัติการเป็นโรค หรือยังคงมีโรคนี้อยู่ต้องมีการตรวจโรคสม่ำเสมอ และทำการเฝ้าระวังโรค
4. การนำสัตว์เข้า-ออก จากฟาร์ม ต้องทำการตรวจโรค

การป้องกันในคน

  1. ถ้ามีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีไข้ต่ำๆโดบเฉพาะตอนบ่ายๆหรือค่ำๆ เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรรีบไปรับการตรวจรักษาโดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ
  2. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
  3. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่น การส่ำส่อนทางเพศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอดส์ เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลง มีโอกาสที่จะป่วยเป็นวัณโรค จะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น
  4. ประชาชนทั่วไป ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซ์เรย์ปอดหรือตรวจเสมหะ (AFB) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถ้าพบว่าเป็นวัณโรคจะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น
  5. ในเด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจี (Bacilus Calmette Guerin) รวมถึงผู้ที่ทำการทดสอบทูเบอร์คูลินเทสท์ (Tuberculin test) ให้ผลเป็นลบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

การเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ
1. แยกหาเชื้อแบคทีเรีย : เก็บวิการแช่เย็น/แช่แข็ง
2. ตรวจทางจุลพยาธิวิทยา : เก็บวิการแช่ในน้ำยาฟอร์มาลินบัฟเฟอร์ 10%

 

เอกสารอ้างอิง

1.http://www.dld.go.th กรมปศุสัตว์

2.http://vph.vet.ku.ac.th/CAI/Zoonosis/mainZoonosis.htm  

www.vet.ku.ac.th/parasite_department/.../article/article06.doc  คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

3.http://203.155.220.217/vet/Zoo_Epi/Zoo_Epi.htm  กองสัตวแพทย์สาธารณสุข กรุงเพมหานคร

4.http://en.wikipedia.org/wiki/Zoonosis   วิกิพีเดีย

5.

คำสำคัญ (Tags): #bacterial zoonoses
หมายเลขบันทึก: 296554เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2009 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • มาเรียนรู้ครับ
  • อ่านจบ..มึนตึบ
  • หรือว่า..ผมแก่เกินไป  อิอิ..
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท