Life long Learning


การศึกษาตลอดชีวิต

การศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) คำนี้ หากฟังเพียงผิวเผินก็จะรู้สึกว่าเป็นเพียงวลีสั้น ๆ ที่ใช้แทนหรือแสดงความหมายแทนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งสั้น ๆ ซึ่งลักษณะคำที่แสดงก็ค่อนข้างจะชัดเจนว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา ในช่วงชีวิตของเรา ซึ่งก็คงหมายถึงตั้งแต่ที่เราเกิดจนถึงแก่เฒ่าและตาย ซึ่งเชื่อว่าหลายคนเมื่ออ่านคำ ๆ นี้แล้วก็คงเข้าใจแบบนี้เช่นกัน อาจจะแตกต่างจากนี้บ้างแต่ก็คงจะอยู่ในแนวนี้ และถ้าหากจะมาดูความหมายของการศึกษาตลอดชีวิตที่นักการศึกษาได้นิยามความหมายหรือมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง ก็คงจะไม่ต่างจากที่เราเข้าใจมากนัก เพียงแต่อาจจะสะท้อนมุมมองให้เห็นหลาย ๆ ด้านทั้งทางกว้างและทางลึก เช่น จอห์นดุย John Dewey เป็นนักการศึกษาที่มุมมองว่า "การศึกษาที่แท้จริง เกิดขึ้น หลังจากเรียนจบโรงเรียนไปแล้ว คงจะบอกได้ว่า ชีวิตหลังจากการจบโรงเรียนยาวไกลไปจนกว่าที่เราจะจบชีวิตลง นั่นก็หมายความว่า การศึกษาในช่วงนี้มีระยะเวลายาวนาน เรียกได้ว่า “ตลอดชีวิตของเรา” จนเกิดปรัชญาที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า "การศึกษาคือชีวิต” เอดการ์ ฟอร์ (Edgar Faure) มองว่าการศึกษาตลอดชีวิตเป็นแม่บทของการศึกษาโดยรวมของระบบการศึกษา ซึ่งจากมุมมองนี้ จะเห็นว่า เอดดาร์ ฟอร์ มองว่าการเรียนรู้ของการศึกษาทุก ๆ อย่างเกิดขึ้นเป็นการศึกษาตลอดชีวิต จอห์น คอมมิเนียส (John Cominius) นักการศึกษาชาวเช็ค มีแนวคิดว่าน่าจะมีโรงเรียนสำหรับคนทุกวัย ตั้งแต่โรงเรียนสำหรับเด็กทารกไปจนถึงโรงเรียนสู่ความตาย นั้นคงเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ช่วงชีวิตของคนเราจำเป็นต้องได้รับการศึกษาการเรียนรู้ ตลอดชีวิต การศึกษาตลอดชีวิตไม่เพียงแต่เป็นที่รู้กันในสังคมต่างประเทศเท่านั้น ในการศึกษาของไทยก็ได้มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิตมาเป็นแนวในการจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาตลอดชีวิต โดยแนวคิดเรื่องนี้ได้ถูกนำมากำหนดใน แผนการศึกษาแห่งชาติ 2520 เป็นครั้งแรก ซึ้งได้รับแนวคิดจากองค์การยูเนสโก

ซึ่งนักการศึกษาของไทย สุนทร สุนันทชัย (2543) ให้ความหมายของการศึกษาตลอดชีวิตใน แง่ของการวางแผนให้เอื้อต่อบุคคลให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ในคำว่าต่อเนื่องคือตลอดช่วงชีวิตนั้นเอง ไม่ว่าจะก่อนการเรียนในโรงเรียน หรือหลังจากที่เรียนจบออกจากโรงเรียนแล้ว การศึกษาก็ไม่ควรจบลงเพียงเท่านั้น ควรจะสานต่อและจัดอย่างต่อเนื่อง ส่วน ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ค่อนข้างจะมองเรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์ที่เหมือนกับคัมภีร์อัลกุรอาลของศาสนาอิสลามที่ว่า "มนุษย์ต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จากเปลจนถึงหลุมฝังศพ โดย ดร.ป๋วยกล่าวไว้ว่า "การเรียนรู้เกิดขึ้นตั้งแต่ในครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน

จากความหมายที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมุมมองของการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งก็พอจะทำให้เข้าใจเกี่ยวกับคำว่า "การศึกษาตลอดชีวิตได้พอสมควร และสิ่งที่สำคัญก็คือ ทำให้มองเห็นว่า การศึกษาตลอดชีวิตไม่ได้เป็นเพียงวลีที่แทนความหมายสั้น ๆ เท่านั้น แต่การศึกษาตลอดชีวิตยังมีความหมายที่ลึกซึ้งและยังมีกระบวนการที่สลับซับซ้อน หากพิจารณาให้ดีแล้ว มีหลักการต่าง ๆ มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในตัวมันเอง

หากจะถามว่า ทำไมต้องมีการศึกษาตลอดชีวิต? และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร โดยความเป็นจริงแล้ว การศึกษาตลอดชีวิตไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ หรือปรากฎการณ์ใหม่ ที่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นเพราะแนวคิดของนักการศึกษาคนใดคนหนึ่ง ในความเป็นจริงแล้ว "การศึกษาตลอดชีวิต เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และหากถามต่อว่า นานแค่ไหน? ก็คงจะตอบไม่ได้ แต่จะตอบคำถามนี้ได้ก็ต่อเมื่อตอบได้ว่ามนุษย์เราเกิดขึ้นมาในโลกเมื่อใด ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า "การศึกษาตลอดชีวิต เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ในยุคใดสมัยใด,สังคมใด,ท้องถิ่นใด ซึ่งเราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เรามีความแตกต่างจากสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นมาบนโลก คือมนุษย์เรามีความคิด,มีปัญญาและความคิดหรือปัญญานี้เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มี "การเรียนรู้ ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีสมองที่มีโครงสร้างซับซ้อน และมีความสามารถเหนือสัตว์อื่น ๆ สามารถที่จะรับรู้สิ่งต่าง ๆ และบันทึกเป็นความจำได้มากมายมหาศาล สามารถจดจำได้เป็นเวลานาน ๆ และเมื่อถึงเวลาที่จะเรียกใช้ความจำก็สามารถดึงสิ่งที่จำออกมาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ สมองยังมีความสามารถอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การประมวลผล จากความรู้ความจำที่มีอยู่ให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ การคิดโดยการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ความสามารถของสมองเหล่านี้ทำให้มนุษย์มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า "การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดขึ้นและอยู่คู่มนุษย์

เมื่อมนุษย์มีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ตั้งแต่เกิด ดังนั้นสิ่งที่อยู่รอบตัว สภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่จึงเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นให้กลไกการเรียนรู้ของมนุษย์ขับเคลื่อนไปได้ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ หรือสมองยังสามารถคิดได้นั้นก็คือตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง สภาพแวดล้อมที่กล่าวถึงนี้ หมายถึงสถานการณ์ทุกอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งทางด้านสังคม,วัฒนธรรม,วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,การเมือง,เศรษฐกิจ,อาชีพ,สภาพภูมิประเทศ,สภาพความเป็นอยู่และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ มนุษย์รับรู้เอาความเปลี่ยนแปลงหรือข้อมูลเหล่านี้ไปผ่านกระบวนการทางสมองเพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ เป็นการเรียนรู้ในความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ และนอกจากนี้ยังนำความรู้ที่เกิดขึ้นมาใช้ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เพื่อให้สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ได้อย่างมีความสุข หากมองในภาพรวมทั้งหมดของชีวิตมนุษย์แล้ว มนุษย์มีสัญชาตญาณทีสำคัญนั้นก็คือ "สัญชาตญาณแห่งการป้องกันตัวเอง ซึ่งสัญชาตญาณนี้เป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้มนุษย์ต้องเรียนรู้ในการที่จะปรับตัวเองให้เช้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

จากเหตุผลต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้มีการศึกษาตลอดชีวิตเกิดขึ้นกับมนุษย์ ซึ่งสามารถจัดแยกปัจจัยที่กล่าวมานี้ให้เห็นอย่างชัดเจนเป็น ปัจจัย คือ ปัจจัยทางชีวะวิทยา และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม กล่าวง่าย ๆ คือ มนุษย์มีความสามารถที่จะเรียนรู้ได้และต้องเรียนรู้ให้ทันการเปลี่ยนแปลง

เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว เราคงจะรู้ถึงความจำเป็นหรือการเกิดการเรียนรู้ "การศึกษาตลอดชีวิต" ว่ามีความเป็นมาอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ปัจจัยของการเกิด "การศึกษาตลอดชีวิต ทั้ง ปัจจัย ที่กล่าวมาเป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งยังมีปัจจัยประกอบอีกมากมาย เป็นส่วนประกอบของการศึกษาตลอดชีวิตเช่น มนุษย์มีความต้องการที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความสมบูรณ์,มนุษย์อยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้,มนุษย์มีความต้องการความเท่าเทียมกันในด้านโอกาสทางการศึกษา หรือกล่าวได้ว่า ต้องการมีความเป็นประชาธิปไตย,มนุษย์มีธรรมชาติของการเรียนอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว

จากแนวคิดของการศึกษาตลอดชีวิตที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ในมุมมองของผู้เขียนเอง ก็มีมุมมองส่วนตัวว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาต้องมีการเรียนรู้ติดตามมาด้วย นั่นก็คือ ต้องมีการศึกษาควบคู่ไปด้วยกับชีวิต โดยที่จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม บางครั้งก็เรียนรู้หรือศึกษาในระบบโรงเรียน บางช่วงเวลาอาจจะต้องมาศึกษานอกระบบโรงเรียน หรือบางอย่างเรียนรู้ตามความต้องการหรือเกิดการเรียนรู้โดยที่ไม่รู้ตัวตามหรือทำกิจกรรมบางอย่างและทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งเราเรียกว่าการศึกษาตามอัธยาศัยซึ่งการเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบคือ การศึกษาในระบบ (Formal Education) การศึกษานอกระบบ (Nonfomal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของมนุษย์ทุกคน ซึ่งอย่างน้อยไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง หรืออาจจะเป็นทั้ง  3  รูปแบบที่กล่าวมา

การศึกษาตลอดชีวิต หากจะมองให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ก็คือ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าหากว่ามีการจัดระบบวิธีการเพื่อเตรียมความพร้อมและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีระบบแล้ว ก็จะทำให้การพัฒนาความรู้จากการจัดการศึกษาตลอดชีวิตเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราจึงมองว่าการศึกษา ตลอดชีวิตเป็นสิ่งเร้า (Stimurus) ที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนหรือ มนุษย์ ตอบสนอง (Response) ต่อสิ่งเร้า ออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมที่ต้องการนั่นคือ”การเรียนรู้” นั่นเอง และการเรียนรู้ก็จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าหรือการพัฒนา "คุณภาพชีวิตซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาตลอดชีวิต

หากจะสรุปโดยรวมของการศึกษาตลอดชีวิตแล้ว เราจะต้องเข้าใจหลักการของการศึกษาตลอดชีวิตที่สำคัญนั่นก็คือ การศึกษาไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อจบจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพราะโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เป็นสถาบันที่ให้การศึกษาเพียงส่วนเดียว เพราะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่เหลือของชีวิต ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงเป็นการจัดให้การเรียนรู้เกิดขึ้นกับมนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยอาจจะเป็นการศึกษานอกระบบหรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาตามอัธยาศัย ที่สามารถนำมาใช้รองรับการเรียนรู้ในช่วงระยะเวลาที่ยาวนานต่อจากการศึกษาในระบบ หากเข้าใจในหลักการนี้ดีแล้ว เราก็จะเห็นประโยชน์และความสำคัญของ "การศึกษาตลอดชีวิตและยังเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่จะทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา

 

การศึกษาตลอดชีวิตในงานฝึกอบรม

การฝึกอบรมเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างหนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับการศึกษาคือมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนหรือผู้เข้ารับการอบรมทั้ง 3 ด้าน คือ พุทธพิสัย,เจตพิสัย,ทักษะ แต่การฝึกอบรมนี้ยังไม่มีการสรุปแน่ชัดว่า เป็นการศึกษานอกระบบหรือไม่ แต่ที่แน่นอน การฝึกอบรมไม่ใช่การศึกษาในระบบ ดังนั้นการฝึกอบรมยังเป็นการศึกษาต่อเนื่องจากการจัดการศึกษาในระบบที่จัดขึ้นแล้วปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งการฝึกอบรมในอดีตเราจะรู้จักกันดี ภายใต้ชื่อว่า การฝึกอบรมสอนงาน (Job Instruction Traning) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่ด้านการฝึกอบรมจนกลายเป็นกิจกรรมหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ซึ่งการฝึกอบรมน่าจะอยู่ระหว่างการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย แต่ไม่ว่าการฝึกอบรมจะจัดอยู่ในรูปแบบของการศึกษารูปแบบใดก็ตาม การฝึกอบรมก็คือการศึกษาที่รวมอยู่ในหารศึกษาตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน ดังนั้นการจัดการฝึกอบรมหรือจัดกิจกรรมฝึกอบรมใด ๆ ขึ้นมาก็ถือได้ว่าเป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิตนั่นเอง

งานการฝึกอบรมใดก็ตาม หากมองตามหลักการศึกษาตลอดชีวิตแล้วก็จะเห็นได้ว่า การฝึกอบรมเป็นการดำเนินการตามหลักการสำคัญ ๆ ของการศึกษาตลอดชีวิตทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่จัดขึ้นในกับบุคคลที่ส่วนใหญ่จะจบการศึกษาจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยแล้ว แสดงให้เห็นว่า การฝึกอบรมมองว่า การศึกษาไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อบุคคลจบจากโรงเรียน แต่การพัฒนาบุคคลยังต้องมีการทำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา หลักการที่สำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาตลอดชีวิตที่งานฝึกอบรมยึดเป็นแนวทางสำหรับจัดกิจกรรมฝึกอบรมนั่นก็คือ การจัดการเรียนการสอนให้มีลักษณะที่ยืดหยุ่นเช่นเดียวกันกับการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งในเรื่องของความยืดหยุ่นในการเรียนการสอนนี้ การฝึกอบรมถือเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะใช้เป็นแนวทางหรือเกณฑ์ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงลักษณะของกิจกรรมที่มีความยืดหยึ่นเหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความสามารถแตกต่างกัน เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้เนื้อหาวิชาไปพร้อม ๆ กันนอกจากนี้ การฝึกอบรมยังได้นำเทคนิควิธีการต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอนมาใช้เช่นเดียวกับหลักการจัดการศึกษาตลอดชีวิตไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้บุคคลมีความสนใจที่จะศึกษาเพื่อผลอันใดอันหนึ่ง เช่น การนำไปใช้ในการแก้ปัญหาของการทำงาน การพัฒนาทักษะความสามารถของตนเอง,การนำความรู้ไปประกอบอาชีพ หรือเพื่อเลื่อนตำแหน่งงานอีกทั้งยังเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ที่ขาดการศึกษาในหลักสูตรนั้น ๆ ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ได้ไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ซึ่งโอกาสอันนี้บุคคลอาจได้รับการฝึกอบรมในขณะที่ปฏิบัติงานไปด้วย (On The Job Training) โดยไม่จำเป็น ที่บุคคลจะต้องหยุดงานเพื่อมาเรียนรู้ แต่ก็สามารถเรียนรู้เพิ่มพูนประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริงได้เช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า การฝึกอบรมได้นำหลักการในการจัดการศึกษาตลอดชีวิตมาใช้เป็นแนวทาง ปฏิบัติในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งหากจะพูดให้ชัดเจนแล้ว นั่นก็คือการฝึกอบรมประกอบขึ้นจากแนวทิศทางการศึกษาตลอดชีวิตหลาย ๆ อย่าง และการฝึกอบรมก็เป็นกระบวนการเติมเต็มให้แก่ระบบการศึกษาตลอดชีวิต เช่นเดียวกัน จึงกล่าวได้ว่า ทั้งกระบวนการฝึกอบรมและการศึกษาตลอดชีวิตก็เสมือนสิ่งเดียวกันที่ไม่สามารถแยกออกจากกันอย่างชัดเจน

ในฐานะที่ผู้เขียนเองทำงานในสายงานฝึกอบรม รับผิดชอบการจัดการฝึกอบรมให้กับพนักงานในบริษัท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีกระบวนการฝึกอบรมที่ครบวงจร เริ่มจากการหาความจำเป็นในการฝึกอบรม การออกแบบหลักสูตร,การวิจัยและพัฒนาหลักสูตร,การดำเนินการฝึกอบรม,การติดตามผลและประเมินผลการฝึกอบรม จากภาระหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งหมดนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นกระบวนการที่จัดทำขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่พนักงานบริษัทซึ่งอยู่ในสภาพของคนทำงาน,ประกอบอาชีพ ซึ่งพนักงานเหล่านี้ ได้ออกจากการศึกษาในระบบและนอกระบบแล้วและอยู่ในโลกอาชีพ ดังนั้นการได้การเรียนรู้ในรูปแบบการฝึกอบรมอยู่นี้ จึงจัดได้ว่าเป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ให้กับพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา บวกกับประสบการณ์ที่ทำงานของพนักงานเอง ที่มีการสั่งสมเพิ่มขึ้นทุกวัน จนกล่าวได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาตลอดชีวิต ทีว่า "ในชีวิตคนเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องผูกพันกับกิจกรรมการศึกษาหรือการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา การศึกษาทำให้เรารู้จักปรับตัว,รู้จักพัฒนาและทำให้มีชีวิตรอดอยู่ได้

หากจะเปรียบเทียบงานฝึกอบรมและการศึกษาตลอดชีวิตด้านอื่น ๆ แล้ว การฝึกอบรมในปัจจุบันก็มีการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสังคม เพื่อให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในเรื่องของกิจกรรมการฝึกอบรมที่มีความหลากหลายและนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม เช่น มีการฝึกอบรมในรูปแบบการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ การอบรม แบบสถานการณ์จำลอง (Simulation) การแสดงบทบาท (Role play) การอบรมแบบ TQM การนำสิ่งและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ร่วมกับการจัดการฝึกอบรมซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนวัตกรรมใหม่ของการศึกษา ดังนั้นจะเห็นได้ว่า งานการฝึกอบรมซึ่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตลอดชีวิตนั้น ก็มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีการดำเนินชีวิตของสังคมและชุมชน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการหรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้อย่างเหมาะสม ตามปรัชญาการศึกษาตลอดชีวิต

กล่าวโดยสรุปแล้ว "การศึกษาตลอดชีวิต ก็คือแนวคิดในการที่จะพัฒนาบุคคลให้ได้รับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เป็นการวางนโยบายการศึกษาในอนาคต ซึ่งอาจทำโดยวิธีการศึกษาในระบบ,นอกระบบและการศึกษาที่ไม่เป็นทางการหรือการศึกษาตามอัธยาศัย

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คงพอจะทำให้เห็นถึงความเป็นมาและวิธีการของการศึกษาตลอดชีวิต,การดำเนินการและความสัมพันธ์ของการศึกษาตลอดชีวิตกับงานฝึกอบรมได้ในอีกแง่มุมหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 296546เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2009 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท