บ่นการศึกษาไทยนิดหน่อย


การศึกษาไทยน่าเบื่อ..เหลือเกิน

ขอบ่นเรื่องการศึกษา : ภาคมโนสาเร่


ตอนนี้ผมขอบ่นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาอีกซักตอนแล้วกัน ซึ่งใจจริงคิดอยากจะบ่นเรื่องนี้มานานแล้วล่ะครับ แต่ติดตรงความขี้เกียจอันฝังรากลึกในกมลสันดานทำให้ผัดวันประกันพรุ่งไปเสียเรื่อย ดังนั้นมาคราวนี้เลยขอบ่นแบบเต็มๆ เสียหน่อย เอาให้แฟนหายคิดถึงเลยว่างั้น

สำหรับเรื่องที่จะพูดคุยกันในคราวนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากจะเขียนต่อยอดจากการที่ได้สนทนากับ น้องชลเทพ นักศึกษาด้านมานุษยวิทยา ผ่านเวบบอร์ดพันทิป ซึ่งการสนทนาดังกล่าวนอกจากจะเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดกันแล้ว ยังส่งผลให้กระตุกต่อมการเขียนของผมพอสมควรเลยทีเดียว อย่างที่รู้กันครับ ผมมันเป็นพวกต้องมีอะไรมาทิ่มๆ แหย่ๆ แยงๆ เสียหน่อย ถึงจะกระตุกต่อมเขียนให้มันทำงานได้

ว่าแล้วเรามาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า........

-1-
แอดมิชชั่น

ในข้อเขียนของน้องชลเทพได้เสนอประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้ว่าระบบแอดมิชชั่น (admission) แบบใหม่ที่ได้ถูกใช้ไปนั้นสร้างผลพวงก่อให้เกิดภาวะ ชายขอบ” (margial) ในวงการศึกษาอย่างมาก โดยการคัดเลือกโดยใช้เกณฑ์ที่เข้มข้นทำให้กีดกันเด็กบางส่วน (และจริงๆอาจจะมากส่วนด้วยซ้ำ) ที่ไม่สามารถผ่านการคัดเลือกเข้าไปอยู่ในสถาบันสังคมสถาปนาให้อยู่ชั้นบนหรือให้คุณค่าว่าดีได้ถูกทำให้กลายเป็นพลเมืองชั้นรองลงไป และผลที่ตามมาก็คือพวกเขาเหล่านั้นถูกผลักไสให้ไปอยู่ขอบริมของสังคม และโดนสังคมตราว่าเป็นนิสิตนักศึกษาชั้นล่าง

นอกจากจะกล่าวถึงเรื่องความเป็นชายขอบแล้ว ชลเทพได้นำมโนทัศน์เรื่อง วรรณะ

เข้ามาเพื่อทำให้ประเด็นของเขาชัดขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้วระบบแอดมิชชั่นดังกล่าวก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางวรรณะในวงการการศึกษา นิสิต นักศึกษา ที่อยู่ในสถาบันชั้นบนจะถูกยกให้มีวรรณะ เหนือกว่าสถาบันที่รองลงมา ถูกยกย่องให้มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้อื่น

แน่นอนว่าผู้ที่ไม่สามารถเข้าไปสู่สถาบันชั้นบนย่อมตกอยู่ภาวะชายขอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็เพราะพวกเขาเหล่านั้นนอกจากจะถูกสังคม (บางส่วน) เมินแล้ว สังคมยังจะคอยที่จะตัดสินคุณค่าให้พวกเขาอยู่ในวรรณะที่ต่ำเตี้ย ทั้งด้านปากท้องเรื่องการการสมัครงานที่ย่อมต้องถูกนายจ้างให้คุณค่าในเกณฑ์ที่ต่ำ ทั้งในแง่สถานภาพทางสังคมที่พวกเขาถูกซ้ำเติมว่าเป็นนักศึกษาชั้นสองที่ไม่มีคุณภาพ ยังผลให้ความไม่เท่าเทียมในวงการศึกษาอยู่ไปทั่วทุกแห่ง

ที่หนักเข้าไปอีกก็คือระบบแอดมิชชั่นที่ถูกนำเข้ามาใช้ได้สร้างทุกข์ให้อย่างมากมาย ด้วยการวัดผลที่ไม่มีประสิทธิภาพ การประกาศคะแนนไม่คงเส้นคงวา เดี๋ยวมีขึ้น เดี๋ยวมีลง ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวของระบบการวัดผลดังกล่าวอย่างแท้จริง

การวิเคราะห์ที่ผ่านมาของชลเทพ ทำให้ผมได้ย้อนกลับไปคิดถึงภาวะความเป็น ชายขอบในแวดวงการศึกษาว่าแท้จริงแล้วมันไม่ได้ถูกสถาปนาให้เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้เท่านั้น หากแต่ว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่การศึกษาในบ้านเรามาช้านาน

ความเป็นชายขอบถูกนิยามว่าเป็นการที่คน หรือกลุ่มชน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของสังคม ถูกผลักไสออกจาก ศูนย์กลางให้ไปอยู่ ณ ขอบริมของสังคม ขอบริมในแง่นี้ไม่ได้หมายถึงขอบริมในเชิงภูมิศาสตร์กายภาพแต่เพียงอย่างเดียว ความหมายของมันรวมถึงขอบริมทางด้านสังคมด้วย ทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีสถานภาพที่ต่ำกว่าคนทั่วไป
ภาวะชายขอบสามารถเกิดขึ้นได้หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานะทางเศรษฐกิจ ที่คนจนหรือผู้ที่ประกอบอาชีพที่สังคมให้คุณค่าน้อยถูกทำให้ชีวิตของพากเขาด้อยค่าลงไป หรือจะเป็นในแง่ของเพศสภาพที่เพศที่สาม (กระเทย เกย์ เลสเบี้ยน ฯลฯ) ถูกสังคมประณามและตราหน้าให้เป็นบุคคลที่ผิดปกติ ผิดกลุ่มผิดเหล่า หรือแม้กระทั่งความพิการทุพลภาพก็แสดงถึงความเป็นภาวะชายขอบเช่นกัน โดยคนเหล่านี้จะถูกผลักให้ไปอยู่ขอบริมของสังคมทำให้ขาดโอกาสในสิ่งต่างๆที่คนปกติพึงมี

ซึ่งตรงนี้เหมือนกับเป็นการช่วงชิงและยึดครองวาทกรรม” (discourse) กล่าวคือ ผู้ที่สามารถยึดครองและสร้างวาทกรรมที่บ่งชี้ได้ว่าตนเอง ปกตินั้น ย่อมมีอำนาจที่จะยัดเยียดความ ไม่ปกติให้กับผู้อื่นได้ท้ายที่สุดแล้วผู้คนในศูนย์กลางที่ยึดครองวาทกรรมหลักได้สร้างสิ่งที่เรียกว่าความเป็นอื่น” (the others) ให้กลับกลุ่มชนชายขอบ ผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนอื่นนั้นจะถูกสังคมให้คุณค่าที่ต่ำ และถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปสู่สิ่งต่างๆที่คนในศูนย์กลางได้รับ

นอกจากตัวอย่างที่ยกมาแล้ว ภาวะชายขอบก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับวงการศึกษาเช่นกันดังที่ ชลเทพได้นำเสนอมา โดยมันมีกระบวนการทำให้เป็นชายขอบ (marginalization) ซึ่งก็คือระบบการวัดผลที่เรียกว่าแอดมิชชั่นที่สร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่าวรรณะขึ้นมา และนำพาไปสู่ความเลื่อมล้ำในที่สุด

แต่สำหรับผมมีความคิดที่แตกต่างจากชลเทพเล็กน้อยตรงที่มองว่าภาวะชายขอบในวงการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้เท่านั้น เพราะเชื่อว่ามันน่าจะเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเป็น สมัยใหม่” (modern) ที่เกณฑ์การวัดผลทางการศึกษาถูกจัดให้เป็นระบบระเบียบ และใช้ คะแนนเป็นตัวตัดสินชี้ขาดคุณค่าของคน ดังนั้นแล้ว ถ้าหากมองตาม

ภาพนี้จะเห็นได้ว่า ระบบก่อนหน้าการแอดมิชชั่นนั้นก็น่าจะก่อให้เกิดภาวะชายขอบด้วยเช่นกัน แต่เกณฑ์หรือความรุนแรงที่ใช้วัดค่านั้นอาจจะไม่หนักหน่วงเท่ากับตอนนี้

นอกจากประเด็นที่ผมนำเสนอมาคิดว่ามีอีกทิศทางหนึ่งที่น่าคิดเหมือนกัน (ในความคิดของผมนะ) ว่าโดยเนื้อหาของความเป็นชายขอบบางทีมันไม่มีหัวมีหางไม่มีศูนย์กลางแน่นอน ในบางแง่มุม มหาวิทยาลัยของรัฐเองที่คอยสถาปนาความเหนือกว่า (ในเชิงคุณค่า) ก็ตกอยู่ในสภาวะที่เป็น "ชายขอบ" เช่นกัน เนื่องจากระบบการวัดผล สอบเข้าที่เฮงซวย ทำให้ทิศทางการให้คุณค่าของสังคมหันไปหามหาวิทยาลัยทางเลือกอื่นเพิ่มขึ้น มหาวิทยาลัยของรัฐ (โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียงกลางๆ) เผชิญกับการกลับหลังหันของผู้เรียน ไปหาที่เรียนอื่นที่สามารถประกันความแน่นอนในการศึกษาให้เขามากกว่าที่จะมานั่งรอผลคะแนนที่ไม่แน่นอน และไม่แน่ว่าจะเข้าเรียนได้หรือไม่ถ้าหากว่าส่วนกลางยังคงยึดแบบแผนเดิมอยู่ ผมว่ามันอาจจะเกิดเหตุผลกลับตาลปัตรได้ กระบวนการเป็นชายขอบ อาจจะเข้าไปสู่ศูนย์กลาง กลับไปหามหาวิทยาลัยที่เคยถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพที่สูง (โดยสังคมให้คุณค่า) ทำให้สถาบันเหล่านั้นมีสิทธิ์ที่จะ "โดนเมิน" ได้

แน่นอนว่าสภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อระบบวัดผลที่ศูนย์กลางใช้อยู่มันยังคงรักษาความห่วย" ไว้ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขนี้ผมเชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจจะมีความรุนแรงและชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามความเห็นที่ผมเสนอมานั้นคงไม่ใช่เป็นสิ่งที่อยากจะฟันธงชี้ชัดอะไรลงไป หากแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึง กระแสบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นกับแวดวงการศึกษา ภาวะชายขอบที่เราเคยคิดว่ามั่นคงแน่นอนมีลำดับขั้นชัดเจน ภายใต้ยุคสมัยอันยุ่งเหยิงนี้มันถูกทำให้กลับหัวกลับทางทิศทางไม่แน่นอน เกิดเป็นกระแสอย่างหนึ่งที่เริ่มก่อตัวในหมู่ผู้ที่ไม่พอใจ (รวมถึงไม่สามารถผ่านเกณฑ์) ระบบการวัดผลดังกล่าว

ถ้าจะตั้งคำถามว่าปรากฏการณ์หรือกระแสดังกล่าวรุนแรงขึ้นแล้วมันจะนำพาเราไปที่ไหน สำหรับผมคิดว่ามันจะนำพาเราไปสู่ความคลางแคลงในต่อศูนย์กลางเป็นแน่แท้ แต่ด้วยแรงตึงด้านค่านิยมในที่ในสังคมไทยค่อนข้างมีสูงผมว่าการกลับหลังหันของการให้คุณค่ากับสถาบันต่างๆในเชิงสุดขั้วคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือภาระหนักจะต้องตกอยู่กับน้องๆนักเรียน รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่จะต้องตกเป็นเหยื่อของระบบที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดความเป็นธรรม

-2-
ความไม่เท่าเทียม

อีกกระแสหนึ่งทีน่าสนใจก็คือเรื่องราวของการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ที่ผมได้เคยพูดเอาไว้แล้วบ้างในตอนก่อน โดยได้ให้จุดยืนในแง่ที่ไม่ได้ปฎิเสธแนวคิดเรื่องการจัดอันดับแต่อย่างใด สิ่งที่อยากจะเสริมเข้าไปก็คือการสร้างเครื่องมือการวัดผลที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งควร ลดละเลิกวัฒนธรรมรักษาหน้าแบบเก่าๆไปได้แล้ว ควรช่วยหันกลับมาหาวิธีการพัฒนาวงการศึกษาน่าจะก่อเกิดคุณูปการมากกว่า

แต่อีกเรื่องที่ควรคำนึงถึงก็คือการวัดผลควรจะการคำนึงถึงอัตลักษณ์” (identity) ของแต่ละสถาบัน ไม่ควรที่จะใช้ความเป็นเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเข้าไปสถาปนาคุณค่าให้แต่ละสถาบันอย่างชัดเจน ควรจะเปิดช่องให้แต่ละสถาบันแสดงคุณค่าของตนด้วย ดังนั้นถ้าจะกล่าวอย่างรวมๆ ก็คือเราควรจะมีการวัดผลในเชิงทั่วไป (general) ที่ใช้วัดมาตรฐานทั้งในเรื่องการเรียนการสอน การวิจัยรวมไปถึงประสิทธิภาพทางด้านอื่น เข้าไปช่วยพยุงเพื่อรักษามาตรฐานของแต่สถาบัน ในขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับถึงความเป็นตัวตนของสถาบันนั้นๆด้วย สิ่งเหล่านี้จะนำมาความแตกต่างที่มีการยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่ใช่สักแต่ว่าอันดับแรกเหนือยันป้าย เจ๋งกว่าเค้าเพื่อนไปหมดทุกเรื่องทุกราว

สำหรับผมแล้วเชื่อว่าความเท่าเทียมที่แท้จริงนั้นคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยาก ความแตกต่าง ความลักลั่น นี่สิถึงถือว่าเป็นความปกติของสังคม การที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเมินเฉยกับภาพดังกล่าว เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้ง (และหลายครั้ง) ความไม่เท่าเทียมกันมันก็เป็นเหตุแห่งปัญหาในหลายๆประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงการศึกษา

สถาบันการศึกษาที่สังคมสถาปนาให้มีคุณค่าที่สูงมีมักจะมีแนวโน้มที่จะรักษาระดับคุณค่าของตนเอาไว้ได้ ในขณะที่สถาบันขั้นรองๆ ลงมาก็ยังคงรักษาสถานภาพระดับ ล่างเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และช่วงห่างดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทีวีความห่างไกลยิ่งขึ้น

ชลเทพได้ให้นิยามสถานการณ์ดังกล่าวว่าเป็นการผูกขาดทางการศึกษา เพราะสถาบันชั้นบนที่มีความเหนือกว่าสถาบันชั้นรองลงมาในทุกๆแง่อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีด้านทรัพยากรทุน ก่อให้เกิดการแข่งขัน และพัฒนาการศึกษาเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตามสำหรับผมเชื่อว่านัยยะแห่งการผูกขาดมันไม่สามารถมองได้แต่เพียงด้านเดียว

ถ้าเราจะมองในแง่การกระจุกตัวแล้วผมว่าบางทีมหาลัยเอกชน หรือมหาวิทยาลัยเปิดอื่นๆ น่าจะมีสัดส่วนของนิสิตกระจุกตัวมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

แต่ถ้าเป็นในแง่ประสิทธิภาพในเชิงวิชาการ การเรียนการสอน มหาวิทยารัฐดูจะมีภาษีเหนือกว่า นั่นก็เพราะมีภาพลักษณ์ที่เหนือกว่ามาตั้งแต่ต้น
สู่ ดังนั้นแล้วถ้าจะมองเรื่องการผูกขาดเราจำเป็นที่จะต้องมองให้ชัดเจนว่าจะเอาเรื่องใด จะเล่นเรื่องการกระจุกตัวของเด็ก ผลประกอบการในเชิงพาณิชย์ หรือจะเล่นเรื่องการผูกขาดในการสถาปนาคุณค่าให้กับตัวเอง

ซึ่งกรณีหลังจะชัดเจนมากสำหรับมหาวิทยาของรัฐที่สังคมรองรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ดี (ซึ่งจริงๆมันก็ดีบ้างไม่ดีบ้างแหละวะ) แต่คิดว่าทรัพยากรทุนคงไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้มหาลัยชั้นบนสถาปนาความเหนือกว่าเอาไว้ได้

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษาไทย
หมายเลขบันทึก: 295235เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2009 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อย่าเป็นคนขึ้บ่นนักนะ เดี๋ยวแก่เร็ว

รู้สึกว่าจะจริงจรังกับการศึกษาไทยมากเลยนะ แต่ก็เป็นเรื่องดี ที่รัฐบาลไทยควรรีบปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท