เทียนขาว
นาง เพ็ญทิวา เพ็ญทิวา สารบุตร

ผลการดำเนินงานองค์กรใจสู้รู้รักสุขภาพ


องค์กรสาธารณะประโยชน์

          การทำงานองค์กรสาธารณะประโยชน์  เป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อนมากต่อความรู้สึกของทุกฝ่าย   ไม่มีใครที่มีความทุกข์แล้วจะมีความสุข  แต่การช่วยเหลือขององค์กรของเราจะเติมเต็มส่วนที่ขาดของเขาให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น  หวังเพียงจะเพิ่มความสุขในชีวิตของคนที่ขาดหายไปนานแล้ว  ดังนี้

1. ความสุขขาดหายไปนับตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าตนเองติดเชื้อเอดส์  ไม่รู้ว่าชีวิตข้างหน้าจะเหลืออีกกี่วัน  ไม่รู้ว่าถ้าจากไปครอบครัวจะอยู่อย่างไร  ความหวัง ความฝันขาดหายไปนับจากวันนั้น

2. ความสุขขาดหายไปนับตั้งแต่ เงินที่จะใช้ในครอบครัวไม่มีแม้จะซื้อข้าวกิน ต้องกู้หนี้ยืมสินชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือน  เพื่อให้คนในครอบครัวอยู่รอด ปัญหาอาจจะถูกมองคนละมุม  เช่น มีมือมีเท้าเหมือนกันทำไมไม่ช่วยตนเอง  คนบางคนเส้นผมบังภูเขา เรื่องง่ายๆแต่ไม่สามารถมองเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาได้ตลอดชีวิตก็มี  ประสบการณ์บางครั้งก็เป็นอุปสรรคที่จะทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ที่เรียกว่า นวัตกรรมในการใช้ชีวิตก็เป็นได้

3. ความสุขขาดหายไปนับจากวันที่กลายเป็นที่ถูกตราหน้าว่า  เป็นคนคุก เป็นนักโทษ ชีวิตหายไปเกินครึ่ง  ความมั่นใจลดน้อยลงไป  ขาดการยอมรับจากคนในสังคม  ไม่มีเกียรติแม้จะร่วมนั่งสนทนา ซักถามพูดคุย

          ในโลกของความเป็นจริง  ผู้คนเหล่านี้ในสังคมมีมากมาย  บางคนต้องการเงินแค่เพียง พอเลี้ยงตนเองและคนในครอบครัวไปวันๆ  ไม่ต้องคิดฝันถึงเงินออมเงินเก็บ  เพราะแค่จะซื้อข้าวกินยังไม่มี  บางคนแค่หวังให้ตนเองมีสุขภาพแข็งแรง  มีอายุยืนมากกว่านี้สักหน่อย  จะได้อยู่กับลูกและครอบครัวนานๆ  แล้วอนาคตของพวกเขาและคนในครอบครัวอยู่ที่ไหนค่ะ  เราหวังให้การศึกษาแก่คนกลุ่มนี้ให้มากๆ เพราะเป็นการสร้างโอกาสให้กับพวกเขา  ถ้าเขาคิดเป็น  กินเป็นอยู่เป็นอย่างพอเพียงบนความไม่มี  ใช้ชีวิตจากการได้รับการสนับสนุนทุกอย่างจากภาครัฐและองค์กรแล้ว (อย่างยุติธรรม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ)เชื่อว่า  ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ชีวิตของพวกเขาน่าจะถูกเปลี่ยนไปจากเดิม

             คนที่มีเงินทองมากมายกลับหาความสุขในชีวิตไม่ได้  คนทุกคนรู้แค่วันเกิดของตัวเองแต่ไม่มีใครรู้วันตาย  อยู่กับปัจจุบันและวางแผนอนาคตบนพื้นฐานของความเป็นจริงให้มากที่สุด  ไม่เพ้อฝัน

             เรียนรู้เรื่องของการวางแผนและสร้างเป้าหมายในชีวิต เช่น เมื่อเป็นเด็กมีการวางแผนว่าเมื่อเข้าโรงเรียนจะทำตัวอย่างไร  เมื่อเป็นวัยรุ่นจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ดีไม่สร้างปัญหาแก่ครอบครัวและสังคม และเมื่อเป็นวัยรุ่นวางแผนการใช้ชีวิตในวันที่เป็นผู้ใหญ่  และเมื่อเป็นผู้ใหญ่มีการวางแผนในการทำงานในการใช้ชีวิตครอบครัว  แม้กระทั่งวางแผนชีวิตจนถึงวัยชรา..................ทุกช่วงชีวิตควรมีการวางแผน ถ้าทำได้อย่าง PDCA ตลอดน่าจะเป็นการดีไม่น้อย  หลายคนอาจจะมองว่าเครียด  ดิฉันว่า ความจริงไม่เครียดหรอกค่ะ  คนที่ใช้ชีวิตแบบมีแบบแผน  มักจะมีความผ่อนคลายในตัวเอง  ถึงแม้ว่าผิดพลาด เขาจะมีช่องทางในการเชื่อมต่อระหว่างแผนกับเป้าหมายเสมอ  ไม่เชื่อ  ลองสังเกต  ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตสักท่านดูก็ได้  หากเขาล้มเหลวเขาจะสร้างเป้าหมายและวางแผนใหม่ได้ตลอดเวลา ...................

              คนชราของญี่ปุ่นหลายร้อยคนที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่ภาคเหนือของประเทศ  เพี่อมามีความสุขในบั้นปลายของชีวิต  เขาย่อมมีการวางแผนมาก่อนล่วงหน้า แล้วเหตุไฉนคนไทยอย่างไร  จะไม่ลองวางแผนดีดี  เพื่อชีวิตของตนเองดูบ้าง  สำหรับดิฉันแล้ว  การวางแผนชีวิตนั่นหมายถึงการสร้างเป้าหมายในชีวิตให้กับตนเองและครอบครัว  แม้จะมีผิดพลาดบ้างเราจะสามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้นะคะ  แต่หากไม่วางแผนอะไรไว้เลย  เมื่อมีปัญหาเราอาจจะหาทางออกไม่เจอก็เป็นได้

                มาดูความสำเร็จขององค์กรใจสู้รู้รักสุขภาพต่อนะคะ  ณ  ปัจจุบันเราเป็น 1 ใน 4 องค์กรสาธารณะประโยชน์ของจังหวัดศรีสะเกษ  ที่ได้รับการรับรองจากจังหวัด(พมจ.ศก.)และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  คนทำงานทุกคนเขาไม่ท้อนะคะ  มีความเป็นจิตอาสาสูงมาก ผู้ประสานออย่างดิฉันเลยทำงานไม่ค่อยเหนื่อยมาก  แม้จะมีงานมากมาย  เพราะถือว่าให้เครือข่ายได้แสดงบทบาทของพวกเขาเอง  เวลามีงานด่วนมากถึงด่วนที่สุด  พวกเราจะโทรแจ้งและชักชวนกันลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพียงแต่ปัญหาที่พวกเราพบเจอ เป็นปัญหาเรื้อรังค่ะ  บางครั้งก็เป็นยปัญหาโลกแตก  แต่แก้ยากมาก   สมาชิกองค์กรที่ติดเหล้าขาดสติสามวันดีสี่วันเมา  สังคมรังเกียจ  แต่เราต้องดูแลและค่อยๆแก้ค่อยๆบำบัด  การเป็นที่พึ่งของผู้อื่นต้องไม่เครียด   เพราะถ้าเครียดเมื่อไหร่ทุกคนจะห่างหายกันไปหมด 

1.            ปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรม

                ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมตามโครงการครอบครัวสัมพันธ์สานฝันผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์  และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน  ตำบลโคกเพชร  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ  ปีงบประมาณ 2552 

                ในฐานะของผู้ประสานงานขององค์กรใจสู้รู้รักสุขภาพตำบลโคกเพชร มองประเด็นที่ทำให้องค์กรได้รับความสำเร็จ  ประกอบด้วย  ปัจจัยต่างๆดังนี้

1.       ความร่วมมือร่วมใจของแกนนำจิตอาสาทุกคน  ที่มีน้ำใจ  มีความปรารถนาดีที่จะช่วยเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน  โดยให้ความช่วยเหลืออย่างมีความสุข   สนุกสนานเพราะได้เพื่อนร่วมกันสานฝันอนาคตไปด้วยกัน  ทั้งสมาชิกองค์กรและมีแกนนำจิตอาสาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง

2.       ความเข้าใจระหว่างกันขององค์กรในชุมชน  โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีความสำคัญในตำบล  ได้แก่ 

2.1    องค์การบริหารส่วนตำบลโคกเพชร  มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบที่เล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินกิจกรรมขององค์กรสาธารณะประโยชน์

2.2    สถานีอนามัยบ้านโคกเพชร  มีเจ้าหน้าที่และบุคลากรสาธารณสุขที่มีความเข้าใจในการดูแลและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมอย่างจริงจังและจริงใจ

2.3    โรงเรียนทุกแห่งที่มีสมาชิกของครอบครัวของสมาชิกองค์กรเข้ามาเรียนด้วยต่างเข้าใจและดูแลสมาชิกองค์กรเป็นอย่างดี  และมีข่าวคราวความคืบหน้าของสมาชิกองค์กรมาแจ้งให้ทราบอยู่ตลอดเวลา

3.       การทำงานอย่างมีเครือข่าย  องค์กรใจสู้รู้รักสุขภาพมีการทำงานเชื่อมต่ออย่างเป็นเครือข่ายในหลายลักษณะ  ดังนี้

3.1    ลักษณะของการพึ่งพา   ได้แก่  โรงพยาบาลขุขันธ์  โรงพยาบาลศรีสะเกษ  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอขุขันธ์  และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ  เป็นการทำงานอย่างเป็นเครือข่ายในการขอความช่วยเหลือด้านข้อมูลข่าวสาร  ด้านความรู้  ด้านการสนับสนุนดูแลแก่สมาชิกองค์กรให้ได้รับความสะดวกสบายในการดูแลอย่างเต็มที่

3.2    ลักษณะของการเอื้ออารีย์  ได้แก่  สถานีอนามัยบ้านโคกเพชร  องค์การบริหารส่วนตำบลโคกเพชร  พมจ.ศรีสะเกษ   กลุ่มต้นกล้าอาชีพขุขันธ์  

2.            จุดแข็ง/จุดอ่อน ของการดำเนินกิจกรรม

 

            จุดแข็งของการดำเนินกิจกรรม

1.       เป็นที่กิจกรรมที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้  ไม่ยากและเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน มีความสนุกสนาน  และได้ทำบุญกับเพื่อนมนุษย์

2.       มีทรัพยากรที่หาได้ในชุมชน  ราคาไม่แพง  ได้ผลตอบแทนที่คุ้มเหนื่อย  ทั้งกลุ่มแกนนำจิตอาสามและกลุ่มสมาชิกองค์กร

3.       สร้างความรู้สึก และความต้องการไปสู่เป้าหมายเดียวกัน  การเป็นคนที่พึ่งตนเองได้บนความพอเพียงของครอบครัว 

 

 

จุดอ่อนของการดำเนินกิจกรรม

1.       กิจกรรมค่อนข้างละเอียดอ่อน และต้องทำงานให้ได้มาตรฐาน  สมาชิกและแกนนำหลายคนยังไม่มีความชำนาญ

2.       กิจกรรมมีหลากหลายแต่กลุ่มจิต       อาสามีเวลาว่างในการมาเข้าร่วมกลุ่มทำกิจกรรมน้อยส่งผลต่อรายได้ขององค์กรด้วย

 

 

3.            วิธีแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ของการดำเนินกิจกรรม

 วิธีแก้ไขปัญหาการดำเนินกิจกรรมจากจุดอ่อนของกิจกรรม  องค์กรใจสู้รู้รักสุขภาพตำบลโคกเพชร  ให้เวลาในการเรียนรู้ของแกนนำจิตอาสา  โดยให้แกนนำผู้ที่มีความชำนาญสอนให้เพื่อนสมาชิกแกนนำที่ไม่มีความชำนาญและให้มีการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเพื่อนสอนเพื่อน  พี่สอนน้อง  เชื่อว่าจะใช้เวลาในการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ  องค์กรของเราไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความชำนาญมาก  แต่ต้องการอาศัยผู้ที่มีน้ำใจ  จิตใจดีเสียสละ  กล้าหาญ  กล้าที่จะทำความดีและมีความอดทน  

4.                  เครือข่ายของการดำเนินกิจกรรม

                 ได้ชี้แจงไว้แล้วในปัจจัยของการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ  ที่สำคัญ  องค์กรใจสู้รู้รักสุขภาพตำบลโคกเพชร  ให้ความสำคัญมากในการทำงานอย่างมีเครือข่าย  เพราะเราต้องกำลังใจจากเพื่อนและทีมงาน  ต้องการกำลังสนับสนุน  ทั้งด้านงบประมาณ  ความรู้  การเยี่ยมเยียน  เพื่อแลกเปลี่ยนจะสามารถสานต่อความตั้งใจดีของแกนนำจิตอาสาและสมาชิกองค์กรให้ดำเนินการต่อไปอย่างยั่งยืน   

5.                  งานที่สามารถนำไปต่อยอด

                 การเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยเอดส์  ผู้ติดเชื้อ  ผู้ด้อยโอกาสและสมาชิกในครอบครัว  เราสามารถนำกิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์ไปใช้ในกลุ่มของเยาวชนที่มีปัญหาครอบครัว  หรือปัญหาต่างๆ  ในสังคม  สำหรับความช่วยเหลือที่ได้ดำเนินการในปัจจุบันองค์กรสามารถช่วยครอบครัวที่มีปัญหาที่เป็นสมาชิกองค์กร  จำนวน 12 ครอบครัว  บรรเทาทุกข์เบื้องต้น  ครัวเรือนละ 1,000 3,500 บาท

                ในระยะยาว  เมื่อครอบครัวของสมาชิกสามารถยืนอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง  เงินที่องค์กรหาได้  ช่วยเหลือครัวเรือนละ 200 -300 บาทต่อเดือน  (อาจจำเป็นต้องใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น  มีอาการป่วยหนักต้องส่งตัวด่วน  ต้องส่งผู้ป่วยอนาถาเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ  หรือความช่วยเหลือเร่งด่วนอื่นๆ) องค์กรจำเป็น จะต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตให้มีความเป็นมาตรฐานมากขึ้น  มีอุปกรณ์ในการผลิตดำเนินการอย่างเพียงพอและสวยงาม  ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้  และมีกลุ่มอาสาที่มาทำงานให้กับองค์กรมากขึ้น  มีเงินค่าตอบแทนที่ไม่มากมายแต่สามารถเลี้ยงแกนนำจิตอาสาได้  ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือนต่อคน  เพราะจากแกนนำที่เข้มแข็งจะส่งผลต่อการดูแลสมาชิกองค์กรที่เป็นระบบต่อไป

                ปัจจุบันมีสมาชิกที่มาขอเป็นสมาชิกองค์กรมากขึ้น  ปัญหาที่พบมีมากมาย บางคนอาจไม่ได้จำเป็นในเรื่องของเงิน  แต่อยากมีเพื่อน  มีกลุ่ม  มีความหวัง  การทำอย่างไรให้องค์กรมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องย่อมเป็นผลดีต่อหลายๆภาคส่วน  และองค์กรของเราอาจจะเป็นที่พึ่งของคนที่สังคมมองว่าไร้ค่า  มองว่าเป็นตัวปัญหา.................................................                  

6.                  ข้อเสนอแนะต่อไป

                 การดำเนินงานขององค์กรสาธารณะประโยชน์  ที่ตั้งมาจากพื้นฐานของความเสียสละของคนที่มีจิตอาสา  เมื่อก่อนไม่มีงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ  ทุกคนก็ต้องทำงาน  มาระยะหลังมีค่าตอบแทนบ้างเป็นบางครั้ง  ไม่ได้มากมาย แต่มีความ เพียงพอและพอเพียง  เพราะเป็นรายได้ที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของจิตอาสาเอง   แบ่งออกเป็น 2 ส่วน  คือ  

1.       ส่วนแรก                ให้องค์กรบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือสมาชิก

2.       ส่วนที่สอง            แบ่งเป็นรายได้ของแกนนำจิตอาสา

3.       ส่วนที่สาม             เก็บไว้ยามจำเป็นและฉุกเฉิน

องค์กรใจสู้รู้รักสุขภาพตำบลโคกเพชร  เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ก่อตั้งใหม่  แกนนำจิตอาสาและสมาชิกองค์กรทุกคน  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรของเราจะสามารถดำเนินกิจกรรม   เพื่อช่วยเหลือสมาชิกอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง  เพราะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกๆด้าน

มีองค์กรบางองค์กรที่ได้รับการก่อตั้ง   แต่ไม่มีการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง  คนทำงานขาดขวัญกำลังใจ  แนวคิดและสิ่งที่จะพัฒนาต่อไปให้เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่เข้มแข็ง  สามารถพึ่งได้ใกล้ชิดประชาชน   เพราะมีคนมากมายที่ต้องการความช่วยเหลือ  แต่ขาดโอกาส 

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า  องค์กรใจสู้รู้รักสุขภาพตำบลโคกเพชร จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการอย่างต่อเนื่อง  เพื่อการพัฒนากิจกรรมต่างๆให้เป็นระบบ  มีคุณภาพ  ประสิทธิภาพ  สามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงและเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ทุกคนในตำบลหรือตำบลใกล้เคียงสามารถพึ่งได้อย่างแท้จริงต่อไป 

7.                  ผู้รายงานผลการดำเนินงาน

 นางเพ็ญทิวา  สารบุตร   นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ    สถานีอนามัยบ้านโคกเพชร  ตำบลโคกเพชร  อำเภอขุขันธ์

  อีเมลล์    [email protected] สาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต   มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช   ปี 2540        ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต      มหาวิทยาลัยรังสิต   ปี 2551 

 

หมายเลขบันทึก: 295233เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2009 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท