คุณลักษณะและคุณสมบัติของความรู้โดยนัย


Tacit Knowledge

คุณลักษณะและคุณสมบัติของความรู้โดยนัย

             มีผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่กล่าวถึงคุณลักษณะ หรือคุณสมบัติของความรู้โดยนัย  อาทิ ผลการศึกษาของ Haron (2005) ในการวิเคราะห์งานเขียนทางวิชาการของนักวิชาการด้านการจัดการความรู้ จำนวน 13 ท่าน ได้แก่ Nonaka, Aadne, Van Krogh, Collins, Wenger & Sternberg, Polanyi, Stenmark, Davenport & Prusak, Choo, Suchman และ Koskinen เกี่ยวกับนิยามความหมายและคุณสมบัติ (Attributes) ของความรู้โดยนัย พบว่า คุณสมบัติของความรู้โดยนัยจากการวิเคราะห์มีจำนวนทั้งหมด 8 ข้อ  ได้แก่ 1) เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล (Personal) 2) มีบริบทเป็นสิ่งกำหนดขอบเขต (Context Bounded) 3) เป็นความไม่เป็นทางการ (Informal) 4) เกี่ยวข้องกับการได้รับประสบการณ์ (Experientially Acquired) 5) มุ่งเน้นในการปฏิบัติ (Action-oriented)    6) มีเป้าหมายในการสร้างคุณค่า (Goal Attainment Values) 7) เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล (Individual) และ 8) เกิดจากการสะสมประสบการณ์ (Collective) อย่างไรก็ตาม Haron (2005) ได้สรุปคุณลักษณะของความรู้โดยนัยว่ามี 3 ประการหลักๆ คือ    1) ความรู้โดยนัยเกิดจากการได้รับประสบการณ์ของบุคคล 2) ความรู้โดยนัยเป็นความรู้ที่อธิบายออกมาได้ยาก และ 3) ความรู้โดยนัยมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในเป้าหมายของแต่ละบุคคล

                       Johnson (2007) กล่าวว่าความรู้โดยนัยมีคุณลักษณะสำคัญ คือ 1) ความรู้โดยนัยเป็นความรู้ส่วนบุคคลและเกิดขึ้นกับบุคคล (Personal Knowledge) 2) ความรู้โดยนัยเป็นมีลักษณะเป็นการรับรู้ที่เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึก (Tacit Quality include the Subconscious Nature of  Tacit Knowing) 3) ความรู้โดยนัยไม่ได้เกิดขึ้นตามขั้นตอนของการเกิดหรือการสร้างความรู้เสมอไป (Path Dependency) 4) ความรู้โดยนัยมีบริบทเฉพาะ (Context Dependency) และ 5) ความรู้โดยนัยเป็นความรู้แบบเหนียวแน่นและฝังลึกในตัวคน (Stickiness/Embeddedness) สอดคล้องกับ Boiral (2002) ที่กล่าวถึง คุณลักษณะของความรู้โดยนัย ว่ามีลักษณะคือ 1) เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นกับบุคคล (Namely its Personal Nature) 2) เป็นความรู้เชิงคุณภาพ (Its Implicit Quality) 3) เป็นความรู้ที่ยากในการถ่ายทอดหรือเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร (The Fact that is difficult to Codify) และ 4) เป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติงาน (Its Operational Relevance) ส่วน Hedlund et al. (2003) กล่าวถึงคุณลักษณะของความรู้โดยนัยที่เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิด 3 ประการ คือ

1) ความรู้โดยนัยเกิดขึ้นจากบุคคล (Individual) ในการจัดหาหรือสร้างให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง 2) ความรู้โดยนัยเป็นความรู้ที่เป็นวิธีการ (Procedural Knowledge) ที่บุคคลจะใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างไม่เป็นทางการ และ 3) ความรู้โดยนัยเป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์และผ่านการปฏิบัติจริง โดยเฉพาะจากประสบการณ์ที่ปฏิบัติแล้วประสบความสำเร็จ ขณะที่ McAdam et al. (2007) ได้ศึกษาคุณลักษณะของความรู้โดยนัย ว่ามีคุณลักษณะดังนี้ 1) ความรู้โดยนัยมีลักษณะเป็นสัญชาติญาณของบุคคล (Intuition) 2) ความรู้โดยนัยมีลักษณะเป็นทักษะ (Skills) ที่เกิดจากการฝึกฝนปฏิบัติของบุคคล 3) ความรู้โดยนัยเป็นสิ่งที่มีความลึกซึ้ง (Insight) ไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้โดยง่าย 4) ความรู้โดยนัยมีลักษณะเป็นวิธีการ (Know-how) หรือเป็นขั้นตอนในการปฏิบัติงานของแต่ละบุคคล 5) ความรู้โดยนัยมีลักษณะเป็นความเชื่อ (Beliefs) 6) ความรู้โดยนัยมีลักษณะเป็นรูปแบบความคิด (Mental Model) และ 7) ความรู้โดยนัยมีลักษณะเป็นความสามารถในการปฏิบัติหรือการทำงาน (Practical Intelligence) ของบุคคล

                    ดังนั้น จากการศึกษาคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของความรู้โดยนัยจากนักวิชาการดังกล่าวข้างต้น

สรุปคุณลักษณะและคุณสมบัติของความรู้โดยนัย ดังนี้      

                     1) ความรู้โดยนัยเป็นความรู้ภายในตัวบุคคล การแสดงหรือสื่อสารออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรทำได้ยาก แต่สามารถพัฒนา ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้

      2)   ความรู้โดยนัยเป็นความรู้ส่วนบุคคล (Personal Knowledge) หรือมีเฉพาะแต่ละบุคคล

3)      ความรู้โดยนัยเกิดขึ้นจากการได้ปฏิบัติจริง (Action-oriented) ซึ่งอาจจะเกิดจากจากการ

เรียนรู้ ประสบการณ์ และการพัฒนาฝึกฝนทักษะ เป็นต้น

4)      ความรู้โดยนัยเป็นความรู้ที่เป็นวิธีการในการปฏิบัติงาน (Procedure or Know-how)

อย่างไม่เป็นทางการ

5)      ความรู้โดยนัยเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบริบทเฉพาะ (Context-link)

6)      ความรู้โดยนัยมีเป้าหมายในการสร้างคุณค่าของบุคคล (Goal Attainment Values)

              การศึกษาถึงคุณสมบัติและลักษณะของความรู้โดยนัยในแต่ละลักษณะจะทำให้ทราบถึงธรรมชาติของความรู้ประเภทนี้ รวมถึง องค์ประกอบ ข้อดีและข้อด้อยต่างๆ ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดแนวทางและหาวิธีการในการแปลความหมาย การถ่ายทอด หรือสื่อสารความรู้โดยนัยนี้ ออกมาเป็นความรู้แบบชัดแจ้งให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์การได้มากที่สุดเช่นกัน

คำสำคัญ (Tags): #tacit knowledge
หมายเลขบันทึก: 295228เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2009 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยอดเยี่ยมมากพี่ท่าน..........ว่างๆ เชิญแวะเวียนหัวข้อ "พุทธเศรษฐศาสตร์" ของน้องบ้างนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท