เทคนิคการออมเงิน...ลองอ่านดูเหมาะสำหรับอาชีพครูอย่างเราจริง ๆ


การเงิน....เรื่องใหญ่สำหรับครูไทย

7 วิธีใช้จ่ายให้เงินเหลือออม(1-7 จบ)

คอลัมน์ Look Around ประชาชาติธุรกิจ

7 วิธีใช้จ่ายให้เงินเหลือออม(1)

คอลัมน์ Look Around ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2545

โดย ธนนันท์

องค์ประกอบของรายจ่ายสำหรับคนทั่วไป ได้แก่ 
(1) รายจ่ายในชีวิตประ จำวันเพื่อการดำรงชีพ อาทิ อาหาร ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ซึ่งหากรายได้มีไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายก็จำเป็นต้องกู้ยืมมาใช้จ่าย จึงเกิดหนี้สินที่จะต้องชำระคืนพร้อมดอกเบี้ย การก่อหนี้ของคนส่วนใหญ่มักเกิดจาก 
(2) ซื้อที่อยู่อาศัย 
(3) เช่าซื้อรถยนต์ 
(4) อุปโภคและบริโภค ที่สำคัญคือการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งหลังจากหักรายจ่ายข้างต้นแล้ว รายได้ส่วนที่เหลือจึงเป็นเงินที่ออมไว้ใช้จ่ายในอนาคต และเพื่อให้เงินออมนี้มีผลตอบแทนจึงควรใช้จ่ายโดย 
(5) ซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่จะมีราคาสูงขึ้นในระยะต่อไปแทนการถือเงินสด 
(6) ใช้จ่ายลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงและหรือ 
(7) ใช้จ่ายลงทุนในตราสารทุน

ในวิชาเศรษฐศาสตร์การใช้จ่ายเงินสร้างความพึงพอใจให้กับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายเพื่อสิ่งที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น แต่ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันบังคับให้เราต้องใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นเท่านั้นจึงจะมีเงินเหลือออม ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุ ประสงค์ทั้งสองประการจึงควรมีการบริหารจัดการรายจ่ายทั้ง 7 วิธีข้างต้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักประหยัดและประโยชน์ในการใช้จ่ายประจำวันที่ยังคงสร้างความพึงพอใจเท่าเดิม

ส่วนการก่อหนี้ก็จะต้องเป็นการก่อหนี้ที่ดี โดยนำไปใช้จ่ายให้ได้สิ่งที่ต้องการ และสามารถชำระคืนหนี้ตามภาระผูกพันทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยได้

สำหรับการใช้จ่ายลงทุนด้วยเงินออมก็จะต้องบริหารให้ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการเสื่อมค่าของเงินจากภาวะเงินเฟ้อ และให้มีจำนวนมากเพียงพอกับความต้องการใช้ตามวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง ซึ่งคนทั่วไปมักต้องการใช้จ่ายซื้อที่อยู่อาศัย การศึกษาของบุตร และการใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ โดยใช้กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งก็คือการลงทุนรูปพีระมิด

สาระสำคัญที่นำเสนอเกี่ยวกับแนวทางบริหารการใช้จ่ายทั้งสามส่วนข้างต้น ได้แก่ การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ภาระหนี้และการลงทุน เป็นแนวคิดเพื่อจะนำไปปฏิบัติให้เงินออมเพิ่มขึ้นสองประการ คือ ประการแรก ลดรายจ่ายให้มีเงินเหลือออม และประการที่สอง เพิ่มเงินที่ออมไว้ด้วยกลยุทธ์การลงทุนรูปพีระมิด ให้ได้จำนวนตามเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับจริง อาจจะหรืออาจจะไม่เป็นไปตามแผนก็ได้ กลยุทธ์การลงทุนรูปพีระมิด เป็นเพียงแนวคิดที่ผู้ปฎิบัติ จะต้องมีทักษะเกี่ยวกับเทคนิคการลงทุนมาแล้วพอควร หากเป็นผู้ลงทุนทั่วไปก็ขอให้ศึกษาเกี่ยวกับการลงทุน ในเครื่องมือการเงินต่าง ๆ เพิ่มเติมก่อนการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้สามารถตั้งเป้าหมายผลตอบแทนที่ดำเนินการได้

ปัญหาเศรษฐกิจในทศวรรษ 2000

จุดพลิกผันของระบบเศรษฐกิจไทยเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ส่งผลให้มีปัญหาเศรษฐกิจตามมามากมาย อาทิ การไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบการเงินขาดสภาพคล่องเป็นเวลานาน ราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯลดลงอย่างไร้ขีดจำกัด ธุรกิจเอกชนและสถาบันการเงินมีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นสะสมมาก จนทำให้เกิดวิกฤตสถาบันการเงินจากการมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นภาระอันหนักอึ้งของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ยังคงต้องแก้ไขปัญหาอยู่

ประเทศเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการขาดแคลนอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการเพราะประชาชนไม่มีรายได้เพียงพอใช้จ่าย ซึ่งเป็นผลจากการไม่มีงานทำ เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากต้องเลิกกิจการ และธุรกิที่ยังดำเนินการอยู่ก็มีการปลดคนงาน เพื่อลดต้นทุนให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ แม้ว่าภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐ กิจหลายอย่าง อาทิ การให้กู้ยืมเพื่อประกอบธุรกิจแก่ธุรกิจขนาดเล็กและผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น การพักชำระหนี้เกษตรกร ฯลฯ เพราะการแก้ไขปัญหาต่างๆ ต้องใช้เวลา และแม้ว่าในขณะนี้เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังคงมีปัญหาสะสมอยู่มาก โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของประชาชน

ภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด

เมื่อกล่าวถึงราคาสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรก็ตามคนทั่วไปมักเคยชินกับการที่ราคาสินค้าในปีหน้าจะสูงกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากผลของเงินเฟ้อ คนส่วนใหญ่จึงวิตกกังลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและหาทางที่จะป้องกันรวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเงินเฟ้อ เช่น เรียนรู้ที่จะซื้อที่ดิน หุ้น หรือซื้อธุรกิจ เพราะสินทรัพย์เหล่านี้จะมีมูลค่าสูงขึ้นทุกปี จากการที่อุปสงค์เพิ่มและค่าเงินที่ลดลง เงินเฟ้อจึงส่งผลให้มีการสะสมสินทรัพย์ที่มิใช่เงินสด

เงินฝืดมีลักษณะตรงข้ามกับเงินเฟ้อ ที่ราคาสินค้าและบริการโน้มลดลง เนื่องจากกขาดแคลนอุปสงค์ ธุรกิจมีสินค้าเหลือค้างสต็อกจำนวนมาก เป็นสัญญาณให้ผู้ประกอบการลดปริมาณการผลิตลง การชะลอตัวของตลาดสินค้า มีผลกระทบต่อเนื่องถึงธุรกรรมในตลาดเงิน และตลาดทุนให้ซบเซาลงด้วย ระบบเศรษฐกิจจึงหดตัวจากการที่ผลผลิตโดยรวม ณ ราคาปัจจุบันลดลง ซึ่งหากขนาดของการหดตัวอยู่ในระดับปานกลางเป็นระยะเวลาติดต่อกันตั้งแต่ 2 เดือนถึง 2 ปี จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ถ้าปริมาณผลผลิตลดลงมากและมีระยะเวลาที่ยาวนานกว่าก็ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ภาวะเงินฝืดส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าภาวะเงินเฟ้อ เงินสดกลายเป็นสิ่งที่หายากจากการที่สินทรัพย์ทางการเงิน มีราคาตกต่ำลงมากจนกลายเป็นสิ่งที่คนนำไปประดับฝาผนังแทนการถือเป็นสินทรัพย์ อุปทาน อสังหาริมทรัพย์ขายไม่ออก ระบบสถาบันการเงินมีหนี้เสียเกิดขึ้นมากมาย ผู้ที่มีเงินสดซื้อสินค้าที่ราคาลดลงทุกวัน ขณะที่ผู้ลงทุนเฝ้าดูตลาดแต่ไม่ยอมลงทุน ได้แต่รอคอยเพราะรู้ว่าเมื่อวัฏจักรการตกต่ำของราคาสิ้นสุดลงแล้ว ก็จะกลับสูงขึ้นใหม่อีกครั้ง

แต่อย่างไรก็ตาม ในภาวการณ์ที่เป็นจริงอาจเกิดทั้งเงินเฟ้อ และเงินฝืดพร้อมกัน ได้ทำให้ราคาสินค้าบางอย่างสูงขึ้น แต่สินค้าบางอย่างกลับมีราคาลดลง

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุปสงค์สินค้าและบริการอย่างมีนัยสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ อารมณ์ของผู้บริโภค ในภาวะที่เศรษฐกิจดีประชา ชนจะมองโลกในแง่ดี มีการจับจ่ายใช้สอยอย่างไม่ระมัดระวังจนอาจเกิดการใช้จ่ายเกินตัวหากไม่มีเงินก็จะกู้ยืมมาใช้ แต่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือตกต่ำผู้บริโภคจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและไม่กู้ยืม ส่งผลให้สถานการณ์ยิ่งยากลำบากมากขึ้น ผู้คนประหยัดขณะที่ธุรกิจปลดคนงาน และนักลงทุนถอนตัวจากตลาดหุ้นเคลื่อนย้ายเงินไปลงทุนในแหล่งที่คิดว่าปลอดภัยกว่า เช่น ฝากเงินกับธนาคารซึ่งจะได้รับความคุ้มครองจากทางการ 100 %

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้เห็นว่า ในภาวะเงินเฟ้อผู้คนจะใช้เงินมากขึ้นขณะที่ค่าของเงินลดลง ตลาดสินค้าซื้อง่ายขายคล่อง แต่เงินฝืดทำให้คนถือเงินไว้ยังไม่ลงทุนซื้อบ้านหรือหุ้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจ และส่งผลให้แรงกดดันต่อการเกิดเงินฝืดเพิ่มต่อไป ราคาหุ้นอาจร่วงลงอย่างไร้ขีดจำกัด อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมลดลง และมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ก็ลดต่ำลงเช่นเดียวกัน

 

7 วิธีใช้จ่ายให้เงินเหลือออม(2)

คอลัมน์ Look Around  ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2545

ความมั่นคงของงานประจำ

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ธุรกิจต้องปรับขนาดให้เล็กลงเพื่อความอยู่รอด มีการปลดคนงาน และจ้างคนงานอายุน้อยแทนที่คนงานมีอายุ เพื่อลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน และสวัสดิการอื่นๆ สิ่งที่น่าเศร้าใจก็คือ คนงานที่มีอายุ แม้จะมีคุณภาพหล่านี้ไม่สามารถหางานใหม่ ตามที่ตนมีความชำนาญทำโดยได้รับเงินเดือนในระดับเดิมได้ วิสัยทัศน์ในการทำงานและการมีงานทำในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตที่คิดกันว่า การทำงานให้เจริญก้าวหน้า ต้องอาศัยความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน ฝึกฝนตนเองให้มีความสามารถพิเศษ และการมีงานประจำทำ เป็นการสร้างความมั่นคง ให้กับชีวิตเพราะเป็นหลักประกันว่า จะมีรายได้ตลอดระยะเวลาที่ทำงานอยู่ จึงไม่ขวนขวายที่จะเตรียมการสำหรับอนาคตโดยการออม

เนื่องจากความคิดที่ว่าในอนาคตจะไม่ขาด แคลนเงินสำหรับใช้จ่ายนั้น ไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้ว ผู้ที่มีงานทำต้องปรับตัว และปรับความคิดเกี่ยวกับการทำงาน ให้สอดคล้องกับหลักการทำงานสมัยใหม่ จึงจะทำงานอย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพ และจะต้องออมเงินไว้เพื่อการใช้จ่าย หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น เช่น ถูกออกจากงาน ถูกลดเงินเดือน และที่สำคัญคือ การออมเงินเพื่อใช้จ่ายเมื่อเกษียณอายุ

แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ย

นับแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอัตราดอกเบี้ยโน้มต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราผลตอบแทนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุ 4-5 ปีที่เคยสูงสุดถึงร้อยละ 12-13 ต่อปี ปัจจุบันพันธบัตรอายุการไถ่ถอนที่ยาวกว่า คือระหว่าง 7-10 ปี อัตราดอกเบี้ยลดลง เหลือเพียงร้อยละ 4-6 ต่อปี ขณะเดียว กันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารลดลงเหลือร้อยละ 1.5 (เดือนตุลาคม 2545 ) ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 30 ปีทีเดียว ทำให้มีการคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะและแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยว่ายังอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกรรมทางเศรษฐกิจและการเงินในหลายๆ ด้าน อาทิ

1 การที่อัตราดอกเบี้ยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย จึงรวมการคาดการเกี่ยวกับเงินเฟ้อไว้ด้วยเสมอ ดังจะเห็นได้จากปีที่อัตราเงินเฟ้อสูง และคาดว่าในปีต่อไปจะสูงขึ้นอีก อัตราดอกเบี้ยก็จะเพิ่มตาม ในทางตรงกันข้ามอัตราดอกเบี้ยกลับลดลงหากเงินเฟ้อต่ำ

นักวิเคราะห์อาจการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยได้ แต่การคาดการณ์เกี่ยวกับระดับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้องเป็นไปได้ยาก ทำให้ธุรกรรมทางการเงินมักจะได้รับผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยเสมอ ตัวอย่างเช่น บริษัท นำชัยกู้ยืมเงินในเดือนกันยายน 2545 เพราะคาดว่าดอกเบี้ยจะโน้มสูงขึ้น แต่ในเดือนตุลาคม 2545 ดอกเบี้ยกลับลดลงส่งผลให้ฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่กู้เงินในเวลาที่เหมาะสมจึงมีต้นทุนเงินที่ต่ำกว่า

นอกจากนี้เทคโนโลยีข่าวสารที่ทันสมัยทำให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาดการเงินรู้ความเป็นไปของตลาดเป็นอย่างดี ถ้าคาดว่าดอกเบี้ยจะลดลงผู้กู้ยืมประสงค์จะทำสัญญาเกี่ยวกับการกู้ระยะยาว ขณะที่ผู้ให้กู้ยืมต้องการจะทำสัญญาระยะสั้น

2. ความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อราคาของพันธบัตร กล่าวคือ เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นราคาของพันธบัตรจะลดลง โดยพันธบัตรที่มีอายุการไถ่ถอนยาวจะมีราคาลดลงมากกว่า ทำให้ผู้ที่ถือพันธบัตรระยะยาวในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะสูญเสียมาก แต่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลงจะมีลักษณะที่ตรงกันข้าม

3. พัฒนาการของระบบการเงินจากการที่ทางการลดการควบคุมสถาบันการเงิน ที่สำคัญคือ ยกเลิกการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ยืมและเงินฝากของธนาคารและบริษัทเงินทุน ทำให้ปริ มาณการค้าและเงินทุนนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ขนาดของตลาดสินเชื่อขยายตัวอย่างรวดเร็ว และอัตราดอกเบี้ยมีการเคลื่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจการเงินใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนี้ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่หลายประการ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินเชื่อก็คือ เงินกู้ยืมที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวหรือกึ่งลอยตัวที่คิดดอกเบี้ยคงที่ใน 1-2 ปีแรก หลังจากนั้นเป็นแบบลอยตัว โดยกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมอิงกับ MLR (Minimum lending Rate) แตกต่างจากเงินกู้ยืมในอดีต ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุของเงินกู้ ทั้งนี้ เนื่องจากทางธนาคารพาณิชย์ต้อง การลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยที่มีผลกระทบต่อต้นทุนเงินของธนาคาร

ตัวอย่างเช่น ถ้าธนาคารให้กู้ยืมเงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 7.0 อายุ 1 ปี ธนาคารจะนำเงินกู้ไปรีไฟแนนซ์ โดยการรับฝากเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน ตามอัตราตลาด ถ้าดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่อัตราร้อยละ 5.5 ก็จะได้กำไรร้อยละ 1.5 ต่อมาดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.0 ทำให้ขาดทุน นอกจากนี้ ถ้าอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลง บ่อยๆ ธนาคารจะมีต้นทุนจากการบริหารเงินกู้เพิ่มอีกด้วย

ดังนั้น เงินกู้ยืมที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ผู้ให้กู้รับความเสี่ยง แต่ในทางตรงกันข้าม เงินกู้ยืมอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ผู้กู้ยืมเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการเปลี่ยน แปลงของดอกเบี้ยที่ธนาคารผลักภาระมาให้

การบริหารรายจ่าย

ปัจจุบันคนไทยยังคงนิยมใช้จ่ายด้วยเงินสด หลายคนมิได้บันทึกค่าใช้จ่ายไว้เป็นกิจจะลักษณะ ทำให้ผู้ที่มีรายได้ประจำเมื่อได้รับเงินเดือนมา มักจะจำได้เพียงว่ามีรายได้เป็นจำนวนเท่าใด แต่ตอบไม่ได้ว่าเงินเดือนหมดไปกับการใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งลักษณะการใช้จ่าย ตามความเคยชินดังกล่าว อาจทำให้เกิดหนี้สินพอกพูนได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มักประสบกับปัญหารายได้ ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต้องพึ่งพาเงินกู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภค ดังจะเห็นได้จากธุรกิจโรงรับจำนำ ซึ่งเป็นแหล่งสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค สำหรับเงินกู้จำนวนไม่มากนักมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จำนวนโรงรับจำนำเอกชน สถานธนานุเคราะห์ และสถานธนานุบาลของรัฐบาล ในเขตกรุงเทพมหานคร มีอยู่เกือบทุกถนนและประปรายในต่างจังหวัด

นอกจากนี้ ในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำสถาบันการเงินและบริษัทเอกชนต่างก็หันมาส่งเสริมธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยมีให้เลือกใช้มากมาย และที่นิยมกันอย่างแพร่หลายก็คือ บัตรเครดิต ที่มีแนวโน้มจะทำให้ลักษณะการใช้จ่ายของประชาชน เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการใช้เงินสดเป็นการใช้เงินพลาสติกแทน เนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตทำกำไรดีกว่าสินเชื่อประเภทอื่น เพราะบริษัทบัตรเครดิตที่มิใช่ธนาคารไม่ถูกควบ คุมเรื่องดอกเบี้ย ทำให้บริษัทบัตรเครดิต หันมาส่งเสริมการประกอบธุรกิจนี้กันอย่างกว้างขวาง

สภาพแวดล้อมทางการเงินที่เอื้ออำนวยให้ประ ชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายนี้ นอกจากทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มแล้ว การที่ไม่ต้องจ่ายเงินสดจากกระเป๋าเมื่อตกลงใจซื้อสินค้ายังอาจทำให้มีการใช้จ่ายโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ จนเกิดลักษณะการใช้จ่ายเงินเกินตัวกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสถิติการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค และบริโภคของประชาชนขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของท่านในระยะต่อไปหลายประการ

ที่สำคัญคือรายได้ส่วนใหญ่นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและอาจมีหนี้สินเพิ่มจากการใช้จ่ายเกินตัวจนกระทั่งไม่มีเงินเหลือ สำหรับสะสมไว้เพื่อการใช้จ่ายในอนาคต กอปรกับภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้กำลังซื้อในอนาคตจากเงินได้ส่วนที่เหลือน้อยเสื่อมค่าลง ยิ่งกว่านั้นหากไม่มีเงินเหลือออม ในระยะต่อไปจะต้องหาเงินให้ได้มากขึ้นจึงจะใช้จ่ายได้เหมือนเดิม

ดังนั้น ไม่ว่าในขณะนี้ท่านจะอยู่ในวัยใด หากไม่เตรียมการเพื่อการใช้ชีวิตในอีก 20-30 ปีข้างหน้าด้วยการสะสมเงินไว้ใช้จ่ายอย่างเพียงพอ อาจประสบปัญหาได้ตัวอย่างเช่น ในขณะนี้มีเงินสะสมอยู่ 100,000 บาท ถ้าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับเฉลี่ยร้อยละ 6-7.5 ต่อปี ในเวลาอีก 10-12 ปีข้างหน้าเงินออมจะเหลือค่าเพียง 50,000 บาทและอีก 20 ปีข้างหน้าเหลือค่าเพียง 25,000 บาทเท่านั้น เนื่องจากเงินจะมีค่าลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลา 10-12 ปี (คำนวณจากกฎเลข 72 โดยใช้อัตราเงินเฟ้อหารด้วยจำนวน 72 จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวนปีที่ค่าเงินจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง เช่น ถ้าระดับเงินเฟ้อร้อยละ 6 เงินลดลงเหลือครึ่งหนึ่งภายในเวลา 12 ปี)

7 วิธีใช้จ่าย ให้เงินเหลือออม(3)

แผนการปรับปรุงการใช้จ่ายประจำวัน

คอลัมน์ Look Around   ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2545

ธนนันท์

2 ขั้นตอนในการบริหารรายจ่าย โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตจากที่เป็นอยู่ ไม่ว่าในขณะนี้จะมีลักษณะการใช้จ่ายอย่างไร ประกอบด้วยตั้งเป้าหมายที่จะลดรายจ่ายตามที่เป็นอยู่ลงให้ได้อย่างน้อย 5-20% โดยใช้หลักประโยชน์และประหยัด เริ่มจากการทบทวนราย การใช้จ่ายต่างๆ อย่างละเอียดจนสามารถจะปรับลดหรือยกเลิกการใช้จ่ายบางอย่างลงได้ หลังจากนั้นจึงตั้งงบฯ รายจ่ายรายเดือน หรือรายสัปดาห์สำหรับสิ่งจำเป็นต่างๆ ไว้ และใช้จ่ายจริงให้ได้ตามแผนเท่านั้น วิธีการจัดทำงบฯรายจ่ายดังกล่าว เป็นการสร้างวินัยการใช้จ่ายของท่าน ซึ่งจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 

1) มั่นใจได้ว่าจะมีเงินเพียงพอใช้จ่ายเพื่อสิ่งจำเป็น และชำระหนี้ตามกำหนดเวลาได้ 

2) ช่วยในการตรวจสอบรายจ่ายว่าใช้เพื่อสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ เช่น ถ้าตั้งงบฯรายจ่ายไว้ที่สัปดาห์ละ 1,000 บาท ซึ่งจะทำให้ลดรายจ่ายลงจากเดิม และเป็นเงินเหลือออมจำนวน 200 บาท

เมื่อทำได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามหากไม่มีความถนัดและหรือไม่มีเวลาจะจัดทำงบฯรายจ่าย ก็อาจใช้วิธีง่ายๆ ดังนี้คือ นำเงินที่ได้รับมา แยกเก็บใส่ซองไว้เป็นซองๆ แต่ละซองจะเป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะอย่าง อาทิ อาหาร สาธารณูปโภค ได้แก่ น้ำ โทรศัพท์ น้ำมันรถ ค่าขนมลูก ทำบุญ ชำระหนี้ ฯลฯ และใช้จ่ายจากเงินในแต่ละซองเมื่อถึงกำหนด

การปรับเปลี่ยนแหล่งและวิธีซื้อสินค้า เช่น

1) ซื้อสินค้าจากแหล่งที่เปรียบเทียบแล้วว่ามีราคาถูกกว่าเป็นการประจำ แม้ว่าจะมีร้านค้าใกล้บ้านที่ให้ความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยแต่มีราคาสูงก็จะไม่นับเป็นข้อยกเว้น

2) ซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น เมื่อได้รับคูปองส่วนลดสินค้าที่ตรงกับความต้องการของท่านอย่าลืมพกพาไปด้วยเมื่อไปซื้อสินค้า และซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน เมื่อมีการจัดเทศกาลลดราคาสินค้าประจำปีหรือครึ่งปี หรือซื้อสินค้าในงานส่งเสริมการขายเป็นการเฉพาะ

3) อย่าเดินฆ่าเวลาในศูนย์การค้าหรือแหล่งที่มีร้านค้าขายสินค้าในราคาสูง เพื่อป้องกันมิให้มีการเผลอจับจ่ายใช้สอยด้วยการซื้อสินค้าราคาแพงกว่า

4) ทำงานบ้านบางชนิดเอง โดยการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกมาใช้แทนการจ้างแม่บ้าน

5) เลือกใช้บริการทางการเงินที่มีต้นทุนค่าใช้บริการต่ำ เช่น ชำระค่าสาธารณูปโภค หรือการชำระเงินที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกับแหล่งที่ไม่คิดค่าธรรมเนียม

6) เปรียบเทียบบริการบัตรเครดิตและเดบิตของสถาบันการเงินและร้านสรรพสินค้าต่างๆ และเลือกใช้บัตรที่ให้ประโยชน์มากกว่า อาทิ ไม่เก็บค่าธรรมเนียม มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ฯลฯ

7) ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการเดินทางหากสามารถทำได้ อาทิ ค่าใช้จ่ายเดินทางไปทำงาน โดยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแทนการใช้รถยนต์รับจ้างหรือรถยนต์ส่วนตัว

8) เลือกซื้อสินค้ามือสองที่มีคุณภาพแทนการซื้อของใหม่ เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์ โต๊ะและเก้าอี้จากการประมูลเครื่องใช้สำนักงาน ของที่ทำงาน ฯลฯ

9) ซื้อสินค้าที่ต้องใช้เป็นประจำและมีอายุการใช้งานสั้นครั้งละมากๆ เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า เพราะการซื้อยกโหลจะมีราคาถูกกว่า อีกทั้งยังเป็นการประหยัดเวลาในการเดินทางไปซื้อด้วย

10) ลดจำนวนการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านลงบ้าง

ภาระหนี้สิน

ในบางกรณีการก่อหนี้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีพ แต่ไม่ควรนำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือเกิดจากความพลั้งเผลอ ถ้ามีการก่อหนี้ต้องควบคุมหนี้ให้ได้มิให้หนี้มาควบคุมชีวิตของท่าน เนื่องจากภาระหนี้ทำให้ดัชนีเงินเฟ้อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น และหากเป็นการกู้ยืมเงินจำนวนมากมีระยะเวลาผ่อนชำระนาน การชำระหนี้จะมีจำนวนสูงกว่าเงินที่กู้ยืมหลายเท่า แม้ว่าจะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำและชำระหนี้ด้วยเงินที่มีค่าเสื่อมลงจากเงินเฟ้อก็ตาม

ลักษณะการก่อหนี้ที่ดี

การก่อหนี้ที่ดีจะต้องเป็นการนำไปใช้จ่ายเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และผู้กู้สามารถชำระคืนหนี้นั้นได้ คนส่วนใหญ่ก่อหนี้เพื่อจัดซื้อที่อยู่อาศัย อสังหา ริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์อื่น เช่น ที่ดิน รถยนต์ ทั้งเพื่อการใช้สอยและการสะสมไว้เป็นสินทรัพย์ และมีการก่อหนี้เพื่ออุปโภค และบริโภค เนื่อง จากการซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก ผู้ที่มีรายได้ประจำน้อยคนจะสามารถซื้อได้ด้วยเงินสดของตนเอง

จำนวนการก่อหนี้ที่เหมาะสม

คนส่วนใหญ่มักจะมีการก่อหนี้ประเภทที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยกู้ยืมจากสถาบันการเงิน อาทิ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหนี้ระยะยาว เงื่อนไขการให้สินเชื่อไม่เข้มงวดนัก และการก่อหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งสถ

คำสำคัญ (Tags): #การออม
หมายเลขบันทึก: 294779เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2009 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ผมหาบทความนี้มาจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ..อ่านแล้วก็นึกเสียดายโอกาสของตัวเองที่บริหารจัดการด้านการเงินไม่ดีเลยทำให้เราต้องปรับวิธีการดำเนินชีวิตใหม่..การใช้เงิน...ต้องเรียนรู้ ต้องมีการวางแผนการใช้เงิน อายุราชการเหลือเท่าไร อนาคตเราต้องการอะไร กำหนดวัตถุประสงค์ระยะยาวและระยะสั้น...หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อน ๆ ป.โท ม.บูรพา อ่านแล้วแสดงความคิดเห็นให้ผมบ้างนะครับ...( ต้องส่งงานอาจารย์ดร.ดิศกุลครับ)

ผมว่าบทวิเคราะห์น่าอ่านเข้าใจมากกว่าครับ

ออมวันละนิดจิตแจ่มใส

อนาคตไกล

ใช้จ่ายสบายมือ

เห็นด้วยค่ะ เห็นด้วย

คิดว่ายังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้น "ออม" ตั้งแต่วันนี้

ดูดีมีประโยชน์มากเลยเราจะได้ไม่เป็นหนี้สินกันเยอะแยะน๊อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท