วิจัยชั้นเรียน ตอนที่ 2 ชั่วโมงบิน


สัมฤทธิผลทางการเรียนมาจากจำนวนชั่วโมงในการฝึกฝนครับ

คำว่าชั่วโมงบินเป็นคำที่นักบินใช้บอกระดับประสบการณ์และความสามารถนะครับ ผู้ที่มีชั่วโมงบินสูงก็จะมีประสบการณ์มาก ตัดสินใจได้ดี มีทักษะ กระบวนการคิด และการตัดสินใจที่เด็ดขาดและเฉียบคม ทั้งนี้เพราะการบินมีความรับผิดชอบสูงมาก ทั้งต่อตนเอง ผู้โดยสาร ทรัพย์สินรวมถึงตัวเครื่องบินด้วย

คำว่าชั่วโมงบินนำมาใช้ในกิจการหรือกิจกรรมอื่นๆ ด้วย โดยมีความหมายเชิงเปรียบเทียบเพื่อบอกถึงระดับประสบการณ์ของการทำกิจกรรมนั้นๆ ในที่นี้ ผมจะพูดถึงชั่วโมงบินของเด็กในการฝึกฝนตนเองครับ

มีงานวิจัยที่สำคัญมากชิ้นหนึ่ง ริเริ่มโดย ลูอิส เทอร์แมน เมื่อปี ค.ศ. 1921 โดยมีสมมติฐานว่า ความสำเร็จในชีวิตแปรผันตามไอคิว หมายความว่าไอคิวยิ่งสูง ความสำเร็จในชีวิต การมีผลงานโดดเด่น ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงโลก ก็ควรจะสูงตามไปด้วย การวิจัยเริ่มจากการคัดเลือกเด็กที่มีไอคิวสูงมาจำนวนหนึ่งและติดตามความก้าวหน้าและสัมฤทธิผลทางการเรียน ติดตามยาวนานจนกระทั่งเด็กโตเป็นผู้ใหญ่มีอาชีพการงาน จนถึงขั้นที่เป็นจุดสูงสุดในชีวิตของคนกลุ่มนั้น เรียกว่าทำวิจัยจนกระทั่งตัว เทอร์แมน เสียชีวิตแล้วลูกของเขาต้องมานั่งทำงานวิจัยต่อกันเลยทีเดียว

ผลออกมาขำๆ คือว่า จากเด็กกว่า 1,500 คนที่มีไอคิวเกิน 140 มีเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จระดับสูง แต่ไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จเข้าขั้นปรมาจารย์หรือเข้าขั้นเปลี่ยนแปลงโลกใดๆ เลย ที่ขำที่สุดคือ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อ ดร.วิลเลี่ยม ชอตกี้ ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง เป็นผู้ที่ เทอร์แมน ระบุว่าไม่ใช่อัจฉริยะ จึงคัดชื่อออกจากการวิจัยครับ

มีผลงานวิจัยอีกชิ้นนึงที่สำรวจผู้คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต อย่างเช่น ไอน์สไตน์ โมสาร์ท ดาวินชี่ จอร์แดน เบคแคม ฯลฯ ปรากฏว่าปัจจัยอันหนึ่งที่มีนัยสำคัญคือ "จำนวนชั่วโมงในการฝึกฝน" ครับ ในหนังสือ Outliers (สัมฤทธิ์พิศวง) ของ Malcolm Gladwell ระบุตัวเลข 10,000 ชั่วโมงที่ส่งผลให้ เดอะบีทเทิล บิล เกตส์ ประสบความสำเร็จสูงสุดระดับโลกในอาชีพของตัวเอง แกลดเวลล์ ยังสรุปต่ออีกนิดนึงว่า ไอคิวสำคัญบ้างตอนเริ่มต้น แต่ทุกคนที่มีระดับไอคิวปรกติ สามารถฝึกฝนและพัฒนาตนเองจนกระทั่งกลายเป็นบุคคลสำคัญได้

ฝากให้คิดต่อครับ

1.จะกระตุ้นให้เด็กฝึกฝน และรักการฝึกฝนได้อย่างไร

2.ทำอย่างไรให้เด็กมีชั่วโมงในการฝึกฝนมากๆ

3.ทำอย่างไรให้เด็กเชื่อ และมั่นใจ และเชื่อมั่นว่า ยิ่งฝึกมาก ยิ่งได้มาก และส่งผลในระยะยาว

4.ทำอย่างไรให้การฝึกฝนนี้เป็นการฝึกที่สนุก มีความสุข ท้าทาย และเด็กกระหายที่จะฝึก

บทส่งท้าย

ตอนเรียน ม.2-3 ผมมีอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ท่านนึงชื่อ มาสเตอร์พัฒนะ ท่านเป็นคนตัวใหญ่ เสียงดัง ท่าทางใจดี ทุกครั้งที่มาสเตอร์เข้าห้องเรียน ประโยคแรกที่ท่านพูดคือ "วันนี้คุณคิดหรือยัง" สอนๆ ไปท่านก็จะพูดว่า "คิดวันละนิดครับ" ก่อนออกจากห้องท่านจะตบท้ายว่า "หาโจทย์แปลกๆ มาทำ" "แข่งกันทำโจทย์" "แข่งกันทำหลายๆ วิธี หาวิธีที่สั้นที่สุด" วิธีการพูดและน้ำเสียงที่ใช้จะเป็นแบบท้าทาย ยียวน กวนโอ๊ยสุดๆ ทำให้สำนวนหรือประโยคที่มาสเตอร์พูดติดหูพวกเราอย่างรวดเร็ว

ในตอนแรก (อาทิตย์แรกๆ) ชั้นเรียนมีการตอบสนองต่ำมาก แต่ที่น่าประหลาดใจคือเมื่อผ่านไป 2-3 อาทิตย์ โดนมาสเตอร์พูดกรอกหูทุกวันๆ ปรากฏว่าเกิดปรากฏการณ์ที่เด็กทั้งชั้นเรียนเอาโจทย์มานั่งทำทุกที่ทุกเวลา ทั้งตอนเรียน ตอนพักกินน้ำ พักกลางวัน ตอนเย็นก่อนกลับบ้าน เมื่อก่อน เวลาพักจะเห็นแต่เพื่อนๆ เล่นสนุกเป็นลิงกันทุกคน แต่ตอนนี้หันไปทางไหนก็เห็นแต่เพื่อนๆ นั่งจับกลุ่มกันเอาโจทย์แปลกๆ มาแบ่งปันกันทำ อาจจะแข่งกันทำบางที ทุกคนจะมีกระดาษทด ดินสอ ติดตัวตลอดเวลา เผื่อใครจะมาท้าทายให้ทำโจทย์แปลกๆ จะได้นำกระดาษ ดินสอมาทดมาคิดได้ทันที

สิ่งประหลาดที่เกิดกับผมคือ ในตอนแรกๆ เราต้องใช้กระดาษคิด คิดๆ เขี่ยๆ เพื่อให้มองปัญหาให้ออก เมื่อฝึกมากๆ เข้า ปรากฏว่าในตอนหลัง เพื่อนเอาโจทย์มาท้าทาย ผมมองแว้บๆ ก็เห็นวิธีทำแล้ว เอาดินสอมาขีดๆ เขี่ยๆ 2-3 ทีก็ได้คำตอบแล้ว นับเป็นประสบการณ์สุดยอดที่ท่านมาสเตอร์พัฒนะฝากเอาไว้ให้ครับ 

หมายเลขบันทึก: 294123เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท