E-marketing Heroes ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา


Heroes คนไทย ที่มีความสามารถพิเศษต่างกันไป และพวกเขาก็ใช้ความสามารถเหล่านั้นในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย

สองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสมาอบรมหลักสูตร Training the trainers on e-marketing ในขณะที่ก็ได้ดูดีวีดีซีรีสย์ฝรั่งเรื่อง Heroes ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยว คนที่มีความสามารถพิเศษเหนือธรรมชาติ ไม่น่าเชื่อว่าสองสัปดาห์นี้จะสามารถดูจบไป 20 กว่าตอนเลยทีเดียว (ตอนละประมาณเกือบชั่วโมง) หนังเรื่องนี้ผู้สร้างผูกเรื่องราวได้สนุกน่าติดตามทีเดียว เริ่มจากการใช้ชีวิตอยู่อย่างธรรมดาทั่วไป จนเกิดความสงสัยในความสามารถพิเศษของตนเอง จากนั้นก็เริ่มเปิดเผยความสามารถพิเศษของตัวละครแต่ละตัว ปีเตอร์ เพทเทลลี, ฮิโระ นากามูระ, ไซลาร์ และคนอื่นๆ มีการฆ่าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้พลังพิเศษของคนอื่นมาเป็นของตน มีการเทเลพอร์ทไปยังอนาคตและย้อนอดีต ที่สำคัญคือการช่วยนิวยอร์คจากการระเบิดครั้งใหญ่ ซึ่งทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดจากความสามารถพิเศษของคนเหล่านี้เนี่ยแหละ ที่เลือกจะใช้พลังของตนไปในทางไหน สำหรับ Heroes ที่ผมอยากจะเล่าให้ฟังในวันนี้ พวกเขาใช้ความสามารถของตนในเรื่องเกี่ยวกับการทำ e-marketing หรือการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ที่แปลง่ายๆ ว่า "การทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์เพื่อเอื้อให้เกิดการซื้อขายสินค้าหรือบริการ" นั่นเอง

คนแรกที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ คุณภาวุธ  จาก tarad.com เซียนอีคอมเมิร์ซที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการอินเทอร์เน็ต เขาได้มาแชร์เกี่ยวกับ การเริ่มต้นทำ e-marketing โดยเน้นย้ำในเรื่องความสำคัญของการกำหนดเป้าหมายให้ถูกต้อง 5W1H (who, where, what, why, when, how) ซึ่งถ้าวิเคราะห์ส่วนนี้ผิดก็จะทำให้สิ่งที่จะทำต่อๆ ไปผิดกันตามไปหมด นอกจากนี้อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือเรื่องกระบวนการทั้งหมดที่ต้องคำนึงถึงอันได้แก่
1. การสร้าง campaign ที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย บรรลุวัตถุประสงค์
2. การเลือกสื่อที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น e-mail, VDO, Social network, หรือ blog
3. การจัดทำเนื้อหา website หรือ landing page ให้เอื้อต่อ campaign นั้นๆ
4. การเก็บรวบรวมข้อมูลจากการนำ lead ลูกค้าเข้าสู่ระบบ
5. การดำเนินการปิดการขาย หรือติดตามผล
6. การประเมินผลและสรุปรายงาน
แต่ละขึ้นตอนมีรายละเอียดพอสมควรที่เดียว ซึ่งที่แน่ๆ คือ แค่ฟังแล้วไม่เอาไปทำ มันก็จะหายไปจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ไม่เร็วก็ช้า

คุณศิวัตร จาก minteraction.net ผู้อยู่ในวงการสื่อโฆษณาออนไลน์มาเป็นเวลานาน แถมมีผลงานหนังสือแปลที่เยี่ยมที่สุดเล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่าน Online advertising playbook ได้มาชี้ประเด็นการทำโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งวิธีการแบ่งประเภทกลุ่มเป้าหมายออกเป็น
1. demographics targeting ตามประชากรศาสตร์
2. contextual targeting ตามเนื้อหาเว็บไซต์ที่จะนำโฆษณาไปลง
3. geographic targeting ตามพื้นที่ของกลุ่มผู้ชม
4. behavioral targeting ตามพฤติกรรมของผู้ใช้เว็บไซต์นั้นๆ
5. daypart targeting ตามช่วงเวลาของวัน
แล้วทิ้งท้ายเรื่องของการวัดผลลัพธ์และประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอน (ซึ่งถ้าขั้นตอนยาก ก็ปรับเปลี่ยนขั้นตอนให้ง่ายและน้อยลง)

คุณธีรเทพ  จาก watchkzy.com ซึ่งถ้าลองค้น google ดูจะพบว่าเคยไปร่วมแข่งอัจฉริยะข้ามคืนมาแล้ว (ไม่เกี่ยว) สิ่งที่มานำเสนอก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับการทำ SEO ซึ่งแบ่งเป็น On-page (ทำในเว็บ) และ Off-page Optimization (ทำนอกเว็บ) ที่เน้นความสำคัญของคีย์เวิร์ด การใช้ https://adwords.google.com/select/KeywordToolExternal เพื่อหาคำที่เหมาะสมคำนวณค่า KEI จากจำนวนผลลัพธ์การค้นหายกกำลัง 2 หารจำนวนหน้าใน google แล้วพอที่ได้คำที่เหมาะก็ไปใส่ใน title tag, description tag และเทคนิคอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น
การใช้ www.seo-browser.com ดูว่า Search engine มองเห็นเว็บไซต์ของเรายังไง
การทำ sitemap ไว้ให้ Search engine เข้ามาดู
การใช้ www.domaintools.com เพื่อตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับโดเมนนั้นๆ
ของเล่นสนุกๆ อย่าง www.websiteoutlook.com เอาไว้คำนวณเล่นๆ ว่าเราน่าจะได้ค่าโฆษณาเท่าไรต่อวัน

ถัดมาคุณอภิศิลป์  จาก macroart.net ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็น geeketer หรือ ผู้รอบรู้ทางการตลาดออนไลน์ ได้มาพร้อมสไลด์จำนวนมากแต่ไม่น่าเบื่อ ในเรื่องเกี่ยวกับ Social Media Marketing ที่เน้น การประยุกต์ใช้งาน Facebook และ twitter พร้อมเว็บน่าสนใจไม่ว่าจะเป็น
twitpipe.com - ไว้เปรียบเทียบเรื่องราวที่ tweet ให้เห็นความเคลื่อนไหวพร้อมๆ กัน
tweetbeep.com - ไว้แจ้งเตือนถ้ามีใครพูดเกี่ยวกับเราใน twitter
blogsearch.google.com - ไว้ค้นหา blog ที่สนใจ
alerts.google.com - ไว้ให้ google ส่งเมล์มาแจ้งเตือน ถ้ามีข้อมูลเกี่ยวกับ keyword ที่เราสนใจ
mashable.com - ไว้ติดตามข่าวคาวความเคลื่อนไวเกี่ยวกับ Social Media
ซึ่งสิ่งที่เน้นที่สุดก็คือ การทำการตลาดออนไลน์ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตลอดเวลาตามสถานการณ์แวดล้อมที่เป็นไป

คนถัดมาก็เซียนอีกเช่นกัน คุณกิตกา  จาก keng.com ที่รู้จักกันในนามเซียน blog เมืองไทย เขาได้มาชี้ให้เห็นประเด็นความสำคัญของ blog ที่ไม่ใช่แค่เขียน แต่ต้องมีกลยุทธ์ในการเขียน อีกครั้งที่พูดถึงเป้าหมาย และการทำกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย เช่น ดูว่าเราจะสื่อสารกับใคร เนื้อหาควรมีสัดส่วนอย่างไร เพื่อให้ blog ของเราแสดงภาพลักษณ์ที่ต้องการออกมาได้อย่างชัดเจน แต่อีกสิ่งที่ผมได้จากการอบรมคือเทคนิคในเรื่องการทำสไลด์เว้นว่างให้ผู้ร่วมสัมมนาเติมคำ มันทำให้เกิดการตื่นตัว รอดูว่าเอ๋... ถึงเวลาต้องจดหรือยังนะ

อาจารย์อรพรรณ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีลีลาการสอน ได้นอนไม่หลับจริงๆ แม้ว่าจะเป็นเย็นวันศุกร์หลังเลิกงาน ประเด็นที่มานำเสนอแบ่งออกเป็น กฎหมายที่เกี่ยวกับการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
พรบ. ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 เพิ่มเติมการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ - เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทั้ง registered และ verified (trustmark)
พรบ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 - เพราะการทำอีคอมเมิร์ซถือเป็นการตลาดแบบตรง ที่กฎหมายต้องการทราบว่ามีใครทำ และจะคุ้มครองผู้บริโภค
พรบ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 - ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ผู้ขายพูดโฆษณาเกินจริง อันนำไปซึ่งการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
พรบ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2542 - เกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เพื่อสร้างความแตกต่างในแบรนด์ของเรา
พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 - ที่ให้ความคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิด แต่ไม่ได้คุ้มครองความคิดนะ เพราะใครๆ ก็คิดได้
พรบ. ว่าด้วยการการทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 - ไว้รองรับจัดการกับอาชญกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น
พรบ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2551 - ที่ทำให้การทำกิจกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์มีศักดิ์และมีสิทธิ์เทียบเท่าโลกจริง
และอีก สองกฎหมายที่ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มี แต่น่าจะมาไม่เร็วก็ช้า คือ spam mail และ privacy

สุดท้าย คุณสมหวัง  จาก paysbuy.com ที่มาสรุปปิดท้าย (แต่ต้องขอโทษด้วยที่อยู่ฟังไม่ตลอดเพราะโดนทีมลากไปทำงานกลุ่ม) และให้ลองทำ workshop จริงๆ เอาความรู้ที่ได้อบรมทั้งหมดมาปฏิบัติ แถมแจกเงินคนละ 10 บาท ผ่านทาง paysbuy อีกด้วย ;)

นี่คือ Heroes คนไทย ที่มีความสามารถพิเศษต่างกันไป และพวกเขาก็ใช้ความสามารถเหล่านั้นในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย นั่งคิดไป นั่งคิดมา เลยคิดได้ว่า จริงๆ พวกเราทุกคนหนะมีความสามารถพิเศษกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราจะดึงมันออกมาใช้ได้ถูกต้องเหมาะสมแค่ไหน ถ้าขั้นสุดยอด เราก็จะทำให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็น specialist ในด้านนั้นๆ ดูอย่างน้องหม่องพับเครื่องบินกระดาษขั้นเทพยังเป็นข่าวได้เลย แล้วพวกเราจะดึงศักยภาพในตัวเองออกมาไม่ได้เชียวหรือ แล้วคุณหละคิดอย่างไร How do u think?

 

คำสำคัญ (Tags): #dbd#e-marketing#heroes#itd
หมายเลขบันทึก: 294090เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2009 00:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านจบแล้วก็พิจารณาตนเองว่ามี ศักยภาพพิเศษ ด้านใดบ้างที่พอจะพัฒนามาเป็น ความสามารถพิเศษ แต่ก็นึกไม่ออก มองไม่เห็น สิ่งที่ผุดขึ้นในคลองความคิด กลับเป็น หน้าที่ไม่สมบูรณ์เพื่อตนเอง ของคานท์

คานท์ มีความเห็นว่า เราทุกคนมีหน้าที่จะต้องพัฒนาศักยภาพพิเศษของเราสู่ความเป็นเลิศด้านใดด้านหนึ่ง แต่ความเกียจคร้านเป็นต้นทำให้สิ่งนี้เสื่อมไปหรือไม่ปรากฎออกมา... หน้าที่อื่นๆ ตามแนวคิดของคานท์ (คลิกที่นี้)

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท