LiBraRianCSR!!!
นาย รัชชานนท์ เจริญเกียรติสถานนท์

ดอกผล 7 ปี หนุน 21,000 ชีวิต เดิมพัน “พลังบริการคุณภาพ” ปณท.สู่บทท้าทายใหม่


ดอกผล 7 ปี หนุน 21,000 ชีวิต เดิมพัน “พลังบริการคุณภาพ” ปณท.สู่บทท้าทายใหม่

ย้อนหลังไปกว่า 7 ปี ส่วนงานไปรษณีย์ในชายคาของ กสท กับช่วงหัวเลี้ยวของการแยกตัวออกเป็นบริษัทจำกัด เช่นเดียวกับ ทีโอที กสท ตามนโยบายของกระทรวงไอซีที ปณท ในวันนั้น ถูกกังขาและตรึกตรองอย่างมาก ของทั้งผู้บริหาร พนักงานและคนภายนอก  ด้วยจำนวนคนที่มีถึง 21,000 คนและขาดทุนเฉลี่ย 1200ล้านบาทต่อปี ว่าท้ายสุดแล้วองค์กรแห่งนี้จะมีอนาคตใหม่ได้หรือ??

ถึงวันนี้ต้องยอมรับว่า กำไรที่ต่อเนื่อง และรูปลักษณ์บริการที่พลิกเปลี่ยนไปอย่างมาก คือฝีมือและวิสัยทัศน์ ของทีมบริหารและคนปณท ที่ได้เก็บเกี่ยวดอกผลในวันนี้

แต่นั่นก็ไม่ใช่ที่หมายอย่างมั่นคงได้ตลอดไป

...นับตั้งแต่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) แยกกิจการออกจากการสื่อสารแห่งประเทศ ไทย โดยบริหารงานในรูปบริษัทจำกัด ภายใต้การกำกับของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 ถือเป็นก้าวสำคัญของการบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าด้วยตนเอง ซึ่งท้าทายชาว ปณท ทุกคน  และถูกเฝ้ามองตั้งแต่ก้าวแรกว่าจะสามารถอยู่รอด เเละสร้างผลกำไรได้อย่างไร?

กับบริการสื่อสารพื้นฐานเพื่อประชาชนที่มีผลตอบเเทนต่ำ อีกทั้งการสื่อสารผ่านจดหมายนับวันก็จะน้อยลง  อันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยเข้ามาเเทนที่

ทว่าเพียงขวบปีเเรกของการดำเนินกิจการ ปณท ได้สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ ที่สามารถสร้างผลประกอบการเป็นกำไรเเละส่งรายได้เข้ารัฐ เเละเปลี่ยนโฉมใหม่พร้อมก้าวต่อไปไม่หยุดยั้ง สู่การเป็นองค์กร เเห่งความหวังที่ทุกคนจับตามอง...

เราผ่านมาสู่ปีที่7 จากหน่วยงานที่ขาดทุนเฉลี่ย 1,200 ล้านบาทต่อปี เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เมื่อแยกออกมาเรากำไรโตมาตลอด มากน้อยตามภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ เรามุ่งมั่นสร้างรายได้ใหม่ จากธุรกิจใหม่ทุกๆปี

ออมสิน ชีวะพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นายใหญ่ที่เป็นลูกหม้อของกสท มาอย่างยาวนาน และเลือกที่จะเดินร่วมกับอนาคตใหม่ของปณท มาตั้งแต่เริ่มต้น และถือเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนลักษณ์ใหม่ในปณท กล่าวในการแถลงสู่การดำเนินงานในรูปบริษัทเป็นปีที่ 7 พร้อมกับประธานบอร์ด ศิวะ แสงมณี เมื่อ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา

ออมสิน กล่าวว่า  ปณท  สามารถสร้างแบรนด์ ไปรษณีย์ไทยให้เป็นที่เชื่อมั่นยอมรับและเกิดมูลค่าได้ พร้อมริเริ่มและพัฒนาหลากหลายบริการคุณภาพ เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของคนไทย   ใน การเป็นผู้เชื่อมโยงคนไทยที่ดีที่สุดตลอดไป

โดยในปีจากนี้ไป ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงมุ่งสร้างบริการที่มีคุณภาพเเละมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าประชาชนทุกคนมั่นใจได้ว่า พลังแห่งบริการคุณภาพ ผ่านคนไปรษณีย์ พร้อมระบบบริการคุณภาพ

ในส่วน ผลดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้  มีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก เพราะมีปัจจัยในเรื่องการเมือง และเศรษฐกิจภาพใหญ่โดยตรง โดยมีรายได้รวม 7,390 ล้านบาท ซึ่งมาจากธุรกิจสื่อสาร 5,470 ล้านบาท หรือ 74% และมาจากกลุ่มงานขนส่ง logistics 729 ล้านบาท หรือ 9.9%  

นอกจากนั้น มาจากกลุ่มธุรกิจค้าปลีก 6% หรือ 443 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจการเงิน 472 ล้านบาท หรือ 6.4% ที่เหลือคือรายได้ปลีกย่อย 276 ล้านบาท โดยกำไรใน 6 เดือนแรกคือ 263 ล้านบาท จากประมาณการกำไรทั้งปีที่ตั้งไว้ 700 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในความเป็นจริง  บริษัทคงไม่สามารถทำกำไรไปถึง 700 ล้านบาทได้แน่นอนในปีนี้   แต่ใน 6 เดือนสุดท้ายนี้คาดว่าน่าจะทำกำไรได้เกิน 350 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้กำไรทั้งปีอยู่ในระดับไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท

สิ่งที่เราจะทำได้คือทำกำไรให้ต่ำกว่าเป้าให้น้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าน่าพอใจมาก ในขณะที่ภาคธุรกิจขนส่งทั่วโลกย่ำแย่หนัก มีการปลดคนออกจากระบบจำนวนมาก

เขากล่าวว่า บริษัทมีแผนในการเพิ่มรายได้ในระยะสั้นนี้ ด้วยการขยายเวลาในการเปิด-ปิด ในจุดที่เปิดให้บริการ และบริการรถตู้เคลื่อนที่ ตามจุดพื้นที่ต่างๆหรือนิคมอุตสาหกรรม เพื่อขยาย outlets ออกไป

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มรายได้แบบ gimmick ด้วยการจำหน่ายไปรษณีย์สะสมในรูปแบบต่างๆ จำหน่ายหรือติดตั้งตู้ไปรษณีย์ และบริการรับติดตั้งจานดาวเทียมในพื้นที่ที่มีการนำส่งอุปกรณ์ดาวเทียมให้ลูกค้าด้วย

ส่วนแผนระยะยาวยังคงต้องเน้นการพัฒนาบุคลากรที่มีมากถึง 21,000 คน และการพัฒนาระบบIT เพื่อรองรับการตกต่ำของ mail แต่รายได้จะพึ่งพาในส่วนของ logistics มากขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ปณท กำหนดเป้าพัฒนาคุณภาพบริการEMS world ให้ได้ระดับ 97.25% ในสิ้นปีนี้ หลังจากที่บริษัทได้รับรางวัลขนส่งในประเทศยอดเยี่ยมระดับ ASEAN ที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนที่แล้ว ด้วยคะแนนคุณภาพบริการที่ระดับ 95.28%

ปัจจุบัน ปณท  เข้าสู่การดำเนินงานในปีที่7 นับจากวันที่แยกตัวออกมาจาก กสท

อย่างไรก็ตามภายใต้การดำเนินงานตลอด 6 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องคือ

ปี 2547 สร้างกำไรสุทธิเท่ากับ 229 ล้านบาท หนึ่งในปัจจัยสำคัญมาจากการที่รัฐบาลอนุญาตให้ ปณท เพิ่มอัตราให้บริการพื้นฐานจาก 2 บาท เป็น 3 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนจริงมากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ ปณท ได้ดำเนินโครงการสำคัญ ๆ

ปี 2548 - 2549   แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยภายนอก ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ภาวะราคาน้ำมันแพง การปรับฐานเงินเดือนพนักงาน และภาระเงินสมทบกองทุนบำเหน็จและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  แต่ปี 2548  และ 2549 มีผลกำไรสุทธิที่เติบโตขึ้นเป็น 347 ล้านบาท และ 777  ล้านบาท ตามลำดับ

ปี 2550 ปณท สามารถมีผลกำไรสุทธิอย่างก้าวกระโดด เป็นจำนวน 1,786 ล้านบาท ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธินั้น เกิดจากการที่ ปณท มีรายได้ค่าปฏิบัติการโทรเลขจาก บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่งไม่ได้ประมาณการไว้ล่วงหน้า จำนวน 1,341 ล้านบาท

ปี 2551 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ทำให้ทุกภาคส่วนธุรกิจได้รับผลกระทบ เเต่ช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ทำให้ ปณท มีรายได้สุทธิ 972 ล้านบาท

บริษัทเปลี่ยนรูปไปมาก ปัจจุบันเราทำบริการทุกสายที่เกี่ยวข้องและมีกำไร มีการเพิ่มปริมาณการส่งที่เพิ่มน้ำหนักขึ้นอย่าง EMS เพิ่มได้ถึง 20-200 กิโลกรัม และสามารถเช็กสถานะพัสดุได้ และอนาคตจะพัฒนาบริการส่ง logisPost plus ซึ่งจะส่งพัสดุขนาดใหญ่ไปต่างประเทศมากขึ้น

ออมสิน กล่าวด้วยว่า  ทาง ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี  รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กำลังเจรจากับ พรทิวา นาคาศัย รมว.กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ไปรษณีย์ทำหน้าที่เป็นศูนย์กระจายผลไม้ในทุกภูมิภาค 

แนวคิดดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้ผลไม้ในแต่ละจังหวัดขายได้แล้ว ยังช่วยให้บริการด้านการขนส่ง (ลอจิสติกส์) ของไปรษณีย์มีรายได้มากขึ้น ซึ่งเป็นบริการที่ไปรษณีย์จะให้ความสำคัญต่อจากนี้ เพื่อทดแทนรายได้จากธุรกิจหลัก เช่น การส่งจดหมาย ธนาณัติ ที่มีรายได้ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นอกจากเส้นทางลอจิสติกส์ภายในประเทศแล้ว ยังจะขยายเส้นทางการให้บริการไปยังต่างประเทศมากขึ้น  ซึ่งจะทำให้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย สามารถส่งของขนาดใหญ่ หรือ ที่มีปริมาณมากๆไปให้กับญาติพี่น้องในต่างประเทศได้มากขึ้น

รวมทั้งอยู่ระหว่างการลงทุนด้านระบบไอทีเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถเชื่อมข้อมูลการใช้บริการของลูกค้าได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่บริการ สมาร์ทการ์ด ของไปรษณีย์ ในรูปแบบเดียวกับบริการบัตรสะสมแต้ม หรือ บัตรสมาชิกของห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นการนำกลยุทธ์ซีอาร์เอ็มมาใช้กับบริการไปรษณีย์ด้วย

เขากล่าวว่า การที่ไปรษณีย์พยายามหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ นั้น เพื่อรับมือกับรายได้และกำไรของไปรษณีย์ในปีนี้ที่มีแนวโน้มว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ จากการที่คนใช้บริการของไปรษณีย์น้อยลง เพราะได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ

ด้านศิวะ แสงมณี ประธานบอร์ดปณท กล่าวว่าบริษัทเดินมาถูกทางแล้ว ในการเน้นย้ำคุณภาพที่ดีและพัฒนาบริการมาตรฐาน ระบบไอทีที่จะมารองรับอนาคตอย่างต่อเนื่อง

กจญ.ไปรษณีย์ไทย กล่าวถึง แนวทางจากปีที่ 7 ไปว่า จะเป็นการต่อยอดทิศทาง จุดให้บริการครบวงจร (Super Service Center) ไปสู่การ สร้างพลังแห่งบริการคุณภาพโดยการวางแนวทางการพัฒนาโดยมุ่งเน้นให้เกิดความครอบคลุม

เพราะบุคลากรถือเป็นสินทรัพย์ (Asset) ที่มีค่าที่สุด จึงให้ความสำคัญต่อบุคลากรเป็นอย่างมาก เพื่อให้บุคลากรทุกระดับมีความพร้อมในการให้บริการลูกค้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างบรรยากาศที่ดีและปลอดภัยในการทำงาน การจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อบุคลากร

และสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เป็นการสร้างบรรยากาศภายในองค์กรให้บุคลากรทุกระดับมีการพัฒนาการให้บริการผ่านการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ภายในองค์กรอยู่ตลอดเวลา

บริษัทมีการประกวดที่ทำการไปรษณีย์ดีเด่น 2552 เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้พนักงานใน ปณ. ทั่วประเทศ ร่วมกันปรับปรุงและพัฒนา

ในส่วนของการพัฒนาคุณภาพของระบบ   ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาศูนย์คัดแยกไปรษณีย์ เพื่อรองรับการให้บริการในกลุ่มธุรกิจสื่อสารและกลุ่มธุรกิจขนส่ง ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อรองรับการให้บริการในทุกกลุ่มธุรกิจ

1)  การจัดตั้งศูนย์คัดแยกเฉพาะสำหรับบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกันระหว่างงานไปรษณีย์แบบปกติกับระบบงานไปรษณีย์ด่วนพิเศษ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการที่จะพัฒนาให้บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด

2)  ขยายเครือข่ายศูนย์ไปรษณีย์ในเขตภูมิภาคเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมศักยภาพให้กับ ปณท ในการขยายการให้บริการในลักษณะลอจิสติกส์อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

3)  นำระบบคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ในทุก ๆ กระบวนการให้บริการ จากเดิมที่มีการนำมาใช้ในขั้นตอนรับฝาก ณ จุดให้บริการและกระบวนการคัดแยก ณ ศูนย์ไปรษณีย์แล้ว ก็จะมีขยายไปสู่ขั้นตอนการส่งต่อ และขั้นตอนนำจ่าย ณ ปลายทางด้วย เพื่อควบคุมให้คุณภาพการบริการในทุก ๆ ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องอยู่ในระดับมาตรฐานทั้งกระบวนการมากที่สุด

4) พัฒนาระบบเคาน์เตอร์ให้บริการไปรษณีย์อัตโนมัติ (New CA POS) อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างมาตรฐานการให้บริการที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลออนไลน์ระหว่าง    ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศให้มีเสถียรภาพสูงขึ้น

นอกจากนี้ ทิศทางการพัฒนาบริการ จะอยู่ภายใต้แนวคิดของการพัฒนาบริการที่มีคุณภาพ และสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้ดี ปณท จึงกำหนดแผนงานว่าด้วย

1) ขยายเครือข่าย ร้านไปรษณีย์ไทยซึ่งเป็นรูปแบบเครือข่ายในลักษณะแฟรนไชส์ตามแหล่งชุมชนย่านธุรกิจเพิ่มขึ้น ]

2) ศึกษาแนวทางในการขยายขอบเขตการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในกลุ่มสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น

3) ศึกษาแนวทางการขยายขอบเขตการให้บริการลอจิสติกส์ไปสู่ผู้ให้บริการเช่าพื้นที่คลังสินค้าเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ให้บริการเฉพาะกิจกรรมการขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียว

4) ขยายเวลาให้บริการธนาณัติออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยลูกค้าสามารถใช้บริการในวันหยุดราชการได้

 เรามีคนมากถึง 21,000 คน ซึ่งหลายๆคนมักมองว่าเป็นวิกฤต แต่ที่นี่มองว่าเป็นโอกาส ถ้าสามารถพัฒนาขึ้นมาช่วยกันทำงาน

ออมสิน บอกถึงแนวคิดในด้านบวก และการมองโอกาสแทนที่การกล่าวหาตัวเองในทิศทางที่เป็นอคติ และว่า

นี่เป็นส่วนหนึ่งของดอกผลที่เกิดขึ้นจากการคิดในทางบวก และมุ่งมั่นพัฒนาหน่วยงานและองค์กรขึ้นมา เพื่อรองรับบริการใหม่ๆและการหารายได้ทุกอย่างที่มีโอกาสที่ปณทดำเนินการอยู่ในทุกวันนี้

เมล์และธนาณัติกำลังจะหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาคธุรกิจขนส่งโลกที่ตกต่ำลงไปด้วย ตามภาพใหญ่ของการนำเข้าส่งออกที่ถูกบีบโดยเศรษฐกิจ แต่นี่ก็เป็นโอกาสที่เราจะสร้างคนและวางระบบไอที เพื่อรอการฟื้นคืนกลับมา เราจะได้ไม่เสียโอกาส

            กจญ.ไปรษณีย์ไทย สรุปท้ายว่า ทุกภาคส่วนที่มีโอกาสและสร้างรายได้ให้กับหน่วยงานได้ คือภารกิจที่เขาและผู้รับไม้ต่อในอนาคต จะต้องรีบเดินไปเก็บเกี่ยวให้ได้ทันท่วงเวลา ด้วยแรงหนุนของคนกองหลังระดับ 20,000 กว่าคนนี้

 

การขยายและเสริมศักยภาพเครือข่าย ปี 2551- สิงหาคม 2552

·        เปิด “ร้านไปรษณีย์ไทยขยายเครือข่ายการให้บริการไปรษณีย์

ปณท ขยายเครือข่ายบริการคุณภาพ ริเริ่มโครงการ “ร้านไปรษณีย์ไทย โดยให้บุคคลภายนอกเป็น ผู้ลงทุนและให้บริการงานไปรษณีย์ ภายใต้การควบคุม กำกับดูแล จัดระบบบริหารจัดการ และควบคุมคุณภาพโดย ปณท ซึ่งปัจจุบันมีร้านไปรษณีย์ไทยเเล้ว 27 ร้าน ทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑล เเละคาดการณ์ว่าภายในปี 2552 จะมีร้านไปรษณีย์ไทยมากกว่า 50 ร้าน เพื่อให้บริการไปรษณีย์แก่ประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น และมั่นใจได้ว่ามีมาตรฐานเดียวกับใช้บริการที่ไปรษณีย์ทั่วประเทศ

·        บริการไปรษณีย์รถยนต์ (ปณย.)

ปณท ได้เพิ่มความสะดวกสบายในด้านการให้บริการไปรษณีย์ และบริการอื่นๆ โดยมุ่งเน้นการเข้าถึงแหล่งชุมชน และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยตั้งเป็นไปรษณีย์รถยนต์ (ปณย.)  ให้บริการไปรษณีย์ที่หลากหลาย ครบถ้วน ตามจุดต่างๆ นำร่องในเขต กทม.และภูมิภาค เช่น ปณย.มีนบุรี  ปณย.คลองหลวง ปณย.บางพลี ปณย.บางละมุง ปณย.เชียงใหม่ ปณย.ภูเก็ต  และปณย.หาดใหญ่ เป็นต้น และในปี 2552 จะจัดตั้งเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อยุธยา นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง ชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมเวลโกร์ว ฉะเชิงเทรา นิคมอุตสาหกรรมสุรนารี นครราชสีมา นิคมอุตสาหกรรมปราสาท สุรินทร์ นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร สมุทรสาคร

·        ตั้งเคาน์เตอร์/ ที่ทำการไปรษณีย์ใหม่

ปณท ขยายเครือข่ายการให้บริการไปรษณีย์ให้เข้าถึงคนไทยทุกพื้นที่มากขึ้น โดยการตั้งเคาน์เตอร์ไปรษณีย์ และไปรษณีย์รับฝากเพิ่มเติมตามแหล่งชุมชน สถานศึกษา และแหล่งอุตสาหกรรม ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เช่น นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง พระจอมเกล้าธนบุรี ตลาดโรงเกลือ  ท่าขอนยาง เป็นต้น และในปี 2552 จะจัดตั้งเคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์ จำนวน 16 แห่ง เช่น เคาน์เตอร์ฯ ห้วยขวาง เคาน์เตอร์ฯ บิ๊กซี ลพบุรี เคาน์เตอร์ฯ เกาะพีพี กระบี่ เคาน์เตอร์ฯ เขาหลัก พังงา เคาน์เตอร์ฯ ตลาดอินโดจีน มุกดาหาร เป็นต้น

·        ขยายเวลาบริการเสาร์-อาทิตย์

นอกจากจุดให้บริการที่มีเพิ่มขึ้นแล้ว ปณท ขยายเวลาการให้บริการเพิ่มมากขึ้น ทั้งนอกเวลาทำการในวันธรรมดา และวันเสาร์-อาทิตย์ โดยเฉพาะบริการการเงินเพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ ล่าสุดมีจำนวนที่ทำการไปรษณีย์ที่เปิดให้บริการ 6 วัน และ 7 วันต่อสัปดาห์ จำนวนทั้งสิ้น 558 แห่ง ทั่วประเทศ

·        การปรับปรุงรูปลักษณ์ที่ทำการไปรษณีย์

 ปณท ยังดำเนินการปรับปรุงที่ทำการไปรษณีย์ใหม่ ทั้งการจัดสรรพื้นที่ ความสะอาดเรียบร้อยต่างๆ เพื่อให้ทุกที่ทำการไปรษณีย์มีความสวยงาม ทันสมัย น่าใช้บริการ สะท้อนแบรนด์ ไปรษณีย์ไทยตลอดจนการขยายวันและเวลาให้บริการที่ตอบสนองทุกความต้องการมากขึ้น

รางวัลที่ภาคภูมิของ ปณท

หมายเลขบันทึก: 293560เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท