LiBraRianCSR!!!
นาย รัชชานนท์ เจริญเกียรติสถานนท์

จากรุ่งริ่งสู่รุ่งโรจน์ ไปรษณีย์ไทยยุคไอซีที


จากรุ่งริ่งสู่รุ่งโรจน์ ไปรษณีย์ไทยยุคไอซีที

จากรุ่งริ่งสู่รุ่งโรจน์ ไปรษณีย์ไทยยุคไอซีที

บทที่ 1 พลิกตำนานแห่งไปรษณีย์ไทย

หน่วยงานไปรษณีย์นับเป็นหน่วยงานเก่าแก่มากๆหน่วยงานหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2426 ดังนั้นถึงปัจจุบันมีอายุมากกว่า 121 ปี คำว่า คนไปรษณีย์ หรือ บุรุษไปรษณีย์ เป็นที่รู้จักดีในทุกชุมชน และถ้าไปในต่างถิ่น ไม่เชี่ยวชำนาญทาง หาบ้านใครไม่พบ ก็มักชอบแวะที่ทำการไปรษณีย์ และก็ไม่เคยผิดหวัง เพราะคนไปรษณีย์รู้จักประชาชนดีทุกหลังคาเรือน

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2520 มีการปรับเปลี่ยนองค์กรของหน่วยงานไปรษณีย์เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ทันความก้าวหน้าของโลก และสถานการณ์ในประเทศ การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการให้บริการมากกว่าที่เป็นกรมไปรษณีย์โทรเลข จากสถานะรัฐพาณิชย์ ปรับเปลี่ยนเป็นการสื่อสารแห่งประทศไทย สถานะรัฐวิสาหกิจ ภายใต้พระราชบัญญัติ กสท.2519 สังกัด กระทรวงคมนาคม

โดยการสื่อสารแห่งประเทศไทยมีภารกิจในการบริหารจัดการ และให้บริการไปรษณีย์และโทรคมนาคม

มองย้อนไป ณ จุดแรกเริ่มของการเป็นการสื่อสารแห่งประเทศไทย มีแต่คน สิ่งของ และเครื่องมือ โดยมีเงินทุนติดตัวมา 1,800 ล้านบาท ส่วนที่ดินและอาคารที่มีมาแต่เดิมตกไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ ตาม พรบ. ที่ราชพัสดุ ซึ่งทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเช่าอาคารและที่ดินที่ใช้ในกิจการจากกรมธนารักษ์ แต่การดำเนินการของ กสท. ก็เจริญงอกงามใหญ่โตขึ้นตามลำดับ

ด้วยความเป็นหน่วยงานที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับนโยบายการพัฒนาประเทศเพื่อให้ประชาชนมีการติดต่อสื่อสารได้อย่างทั่วถึง รวมถึงในการโทรคมนาคม ก็ต้องทำให้ประเทศไทยติดต่อได้กับทั่วโลก จึงมีการลงทุนทั้งด้านไปรษณีย์และโทรคมนาคม

“หน่วยงานของเราตั้งแต่เมื่อยังเป็นกรมไปรษณีย์โทรเลข จนเป็นการสื่อสารแห่งประเทศไทย ผู้บริหารที่เป็นผู้นำแต่ละคน มีแนวคิดในการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารของประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการยกระดับคุณภาพของการบริการให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะการมองการณ์ไกลของท่านเหล่านั้นคือ รากฐานที่มีความสำคัญแก่กิจการในวันนี้” ธีระพงศ์ สุทธินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ คนแรกของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดเล่าให้ฟัง

ที่มาของการขยายเครือข่ายของไปรษณีย์ เริ่มจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกใน ปี 2504 ที่ต้องเปิดที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ปีละ 40 - 50 แห่ง ทุกปีเครือข่ายงานไปรษณีย์ก็เติบโตขึ้นตามลำดับในขณะที่มีการพัฒนาระบบงานควบคู่กันไปด้วย ตั้งแต่การสร้างศูนย์ไปรษณีย์ กำหนดรหัสไปรษณีย์ เพื่อเป็นกำหนดพื้นที่เขตจ่าย เพื่อให้สอดรับกับการขยายที่ทำการไปรษณีย์ และส่งผลให้การนำจ่ายไปรษณียภัณฑ์ถึงมือผู้รับได้ในเวลาที่รวดเร็ว

สำหรับการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศจริงๆ เริ่มในปี 2525 ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มีคำสั่งให้ขยายที่ทำการไปรษณีย์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึง การจัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตเอกชนด้วย จึงทำให้ในปัจจุบันมีที่ทำการไปรษณีย์อยู่ทั่วประเทศ 1,176 แห่ง และไปรษณีย์อนุญาตเอกชน (ปณอ.) มากกว่า 3000 แห่ง

ในขณะที่เป็นการสื่อสารแห่งประเทศไทย สถานะกิจการในภาพรวมมีกำไรปีละหลายพันล้านซึ่งเป็นผลจากบริการโทรคมนาคม ส่วนบริการไปรษณีย์เป็นบริการสาธารณะที่ต้องจัดให้มีอย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องคำนึงถึงค่าบริการที่คุ้มทุนโดยรัฐบาลได้อาศัยผลกำไรจากบริการโทรคมนาคมช่วยสนับสนุนทำให้ไปรษณีย์พัฒนาเครือข่าย รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบริการไปรษณีย์เป็นไปได้ด้วยดี มีการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ เช่น เครื่องจักรคัดแยกจดหมาย เครื่องจักรคัดแยกพัสดุไปรษณีย์ เคาน์เตอร์บริการที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการปฏิบัติงาน จนถึงการนำคุณภาพของบริการสู่มาตรฐาน ISO 9002 ของบริการ EMS ส่งด่วนพิเศษในประเทศ เพื่อความเชื่อมั่นของบริการไปรษณีย์ นอกจากนี้เริ่มที่จะมองถึงการให้บริการเชิงธุรกิจมีแนวคิดเกี่ยวกับคุณภาพบริการ การตอบสนองความต้องการของลูกค้า การดูแลลูกค้า ฯลฯ ซึ่งบุคลากรทุกระดับได้รับกระแสความคิดนี้ และมีการปรับปรุงงานบริการกันมาโดยตลอด

ในส่วนที่เกี่ยวกับการแปรสภาพกิจการ เป็นนโยบายมาตั้งแต่ปี 2540 แต่มาดำเนินการแปรสภาพกิจการของ กสท. ได้สำเร็จจริงๆในปี 2546 ซึ่งก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อกิจการไปรษณีย์เช่นกัน เพราะทำให้บุคลากรไปรษณีย์มีการเตรียมความพร้อมได้มากขึ้น ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน แนวคิดในการทำงาน และมีการบริหารจัดการภายในที่มองตัวเลขผลการดำเนินงาน ต้นทุนของบริการ จัดทำกลยุทธ์ และแผนธุรกิจ ฯลฯ โดยเฉพาะการที่ขาดทุนของกิจการไปรษณีย์

การจัดตั้ง บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ในวันที่ 14 สิงหาคม 2546 ถือเป็นอีกครั้งของการปรับเปลี่ยนองค์กรจากที่เป็นการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็น “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด” โดยแม้ยังคงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอยู่เช่นเดิม แต่สถานภาพการทำงานต้องเปลี่ยนไปเหมือนกับบริษัทเอกชนทั้งหลาย เพียงแต่เป็นบริษัทที่รัฐโดยกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดไว้

คนไปรษณีย์ทุกคนรู้อยู่เต็มอกว่า บริการไปรษณีย์มีค่าบริการต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริง ซึ่งเป็นผลที่ทำให้กิจการไปรษณีย์ต้องตกอยู่ภายไต้ภาวการณ์ขาดทุนมาโดยตลอด ฉะนั้นหากมีการปรับอัตราค่าบริการบ้างพื่อให้พอสอดคล้องกับต้นทุน หาโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากเดิมการขยายบริการใหม่ๆ และควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สักวันหนึ่งไปรษณีย์ก็คงไม่ขาดทุน เพราะฉะนั้นแผนธุรกิจที่ทำไว้จึงตั้งเป้าหมายหลักอยู่ที่จะพ้นภาวะการขาดทุน และให้เลี้ยงตัวเองได้ในปี 2550

หมายเลขบันทึก: 293550เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณนะค่ะ

มีความรู้มากเพราะตอนนี้หนูกำลังทำรายงานเกี่ยวกัยไปรษณีย์ไทยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท