LiBraRianCSR!!!
นาย รัชชานนท์ เจริญเกียรติสถานนท์

`๏'เส้นทางไปรษณีย์ไทย 125ปี แห่งการสื่อสาร`๏'


`๏'เส้นทางไปรษณีย์ไทย 125ปี แห่งการสื่อสาร`๏'

`๏'เส้นทางไปรษณีย์ไทย 125ปี แห่งการสื่อสาร`๏'

การสื่อสาร เป็นกระบวนการติดต่อของมนุษย์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อ มูลข่าวสาร ตลอดจนบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ระหว่างผู้ส่งไปยังผู้รับ แม้ทุกวันนี้ช่องทางในการสื่อสารจะมีมากมาย หลากหลายรูปแบบที่มาพร้อมกับความทัน สมัยสามารถส่งได้ทั้งเสียงและรูปภาพ สร้างความสะดวกสบาย ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็วทันใจ แต่ “ไปรษณีย์” ยังคงเป็นช่องทางหนึ่งของการสื่อสาร เป็นสื่อแทนความผูกพันที่ยังไม่เลือนหายไปจากสังคมไทย 

กิจการไปรษณีย์ในสยามประเทศ ถือกำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นผู้นำในการจัดตั้งการไปรษณีย์ร่วมกับ เจ้าหมื่นเสมอใจราชหัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ก่อกำเนิดกิจการไปรษณีย์อย่างเป็นทางการขึ้น ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426




โดยมี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงดำรงตำแหน่ง “อธิบดีกรมไปรษณีย์” เป็นพระองค์แรก มีที่ทำการตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ด้านเหนือปากคลองโอ่งอ่าง หน้าวัดราชบูรณะหรือวัดเลียบ เรียกกันว่า “ไปรสะนียาคาร” ซึ่งถือเป็นสถานที่ทำการแห่งแรกของกรมไปรษณีย์ 

อานุสรา จิตต์มิตรภาพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) เล่าถึงก้าวต่อมาของกิจการไปรษณีย์ไทยให้ฟังว่า กิจการไปรษณีย์ไทย เติบโตมาโดยลำดับ มีการขยายกิจการและปรับปรุงให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น ตลอดจนถึงการทำซองจดหมายและดวงตราไปรษณียากรหรือที่เรียกกันติดปากว่าแสตมป์ออกจำหน่าย โดยแสตมป์ชุดแรกของไทย คือ ชุดโสฬศ ประกอบด้วย 6 ชนิดราคาด้วยกัน คือ 1 โสฬศ 1 อัฐ 1 เสี้ยว 1 ซีก 1 เฟื้อง และ 1 สลึง แต่สำหรับราคาเฟื้องส่งมาไม่ทันตามกำหนดในวันเปิดกิจ การไปรษณีย์จึงไม่มีการนำออกใช้แต่อย่างใด ซึ่งแสตมป์จะมีลักษณะเป็นภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 5 ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย ภายในวงกรอบรูปไข่ จัดพิมพ์เท่ากันทุกชนิดราคา คือ 5 แสนดวง โดยออกแบบจัดพิมพ์จากประเทศอังกฤษ
 



“แสตมป์ไทยมีการสืบสานมาอย่างต่อเนื่องในหลายรูปลักษณ์ จนเรียกได้ว่าเป็นแสตมป์ชาติหนึ่งที่ถูกตาต้องใจบรรดานักสะสมทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น แสตมป์ทองคำดวงแรกของไทย หรือแสตมป์ทองคำดวงที่สอง ที่ระลึกในวโรกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ แสตมป์มหามงคลวโรกาสกาญจนาภิเษก หนึ่งในแสตมป์ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกงานฉลองสิริราชสมบัติปีที่ 50 หรือพระราชพิธีกาญจนาภิเษก แสตมป์ปั๊มทองดวงแรก รำลึกสมเด็จย่าที่เสด็จล่วงสวรรคาลัย รวมไปถึง แสตมป์ดวงยาวที่สุด เท่าที่เคยมีมาเป็นรูปเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ” 

หลังจากดำเนินกิจการได้ 2 ปี ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพสากลไปรษณีย์อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ไปรษณีย์ไทยเป็นที่ยอมรับนับถือจากต่างประเทศ และเริ่มดำเนินการรับส่งหนังสือกับต่างประเทศได้เอง 

“ไปรสนียบุรุษ หรือ หนุ่มไปรษณีย์ ในสมัยนั้น จะสวมเครื่องแบบชุดราชปะแตน นุ่งโจงกระเบน นำจ่ายจดหมายให้แก่ประชาชน ในส่วนที่ตั้งบ้านเรือนแพกันอยู่ริมน้ำ เป็นเรือนแพมุงหลังคาด้วยใบจากหรือหญ้าคา หลายหลังเป็นเรือนแฝดจะอาศัยเรือยนต์ เรือพาย มาส่งถึงมือประชาชน ส่วนที่อยู่บนบกจะขี่จักรยานมาส่งจดหมายถึงหน้าประตูบ้าน รวมทั้งเดินเท้าสะพายกระเป๋าหนังบรรจุไปรษณียภัณฑ์ไป นำจ่ายจดหมายด้วยเช่นกัน” 



จนกระทั่งต่อมามีการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดิน ส่งผลให้มีการโอนกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขเข้า ด้วยกัน เรียกว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2441 และต่อมาในปีพ.ศ. 2483 ได้ย้ายไปใช้อาคารและที่ดินริมถนนเจริญกรุง เขตบางรัก เป็นที่ทำการและเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ที่ทำการไปรษณีย์กลาง” 

เมื่อปี พ.ศ. 2520 มีการจัดตั้ง “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” หรือ กสท.ขึ้น โดยได้รับมอบกิจการด้านไปรษณีย์จาก กรมไปรษณีย์โทรเลขมาดำเนินการ ทำให้บริการด้านไปรษณีย์ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเคร ือข่ายการสื่อสารและโทรคมนาคมยุคใหม่ เชื่อมโยงคนไทยสู่โลกกว้างด้วยคุณภาพมาตรฐานสากล โดยในยุคนี้เริ่มมีการประกาศใช้รหัสไปรษณีย์มีบริการไปรษณีย์รับประกันภายในประเทศ การจำหน่ายซองจดหมายขนาดมาตรฐาน รวมทั้งการเปิดบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษต่างประเทศ หรือ EMS อีกด้วย 

มาในปีพ.ศ. 2542 รัฐบาลมีนโยบายแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ กิจการไปรษณีย์ จึงได้ถูกแยก ออกจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ถือกำเนิดเป็นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2546 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีการปรับปรุงภาพลักษณ์องค์กรใหม่ พัฒนาคุณภาพบริการ และขยายขอบเขตการให้บริการในเชิงธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเปลี่ยนแปลงใน

โลกยุคปัจจุบัน 

“ภารกิจของบริษัท ไปรษณีย์ไทยถือเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์และปณิธานขององค์รัชกาลที่ 5 ที่มีพระประสงค์ ต้องการให้กิจการนี้อำนวยคุณประโยชน์ เป็นกิจการสาธารณูปโภคที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนคนไทย จากวันนั้นจนถึงวันนี้ไปรษณีย์ไทยมีเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วประเทศขณะเดียวกันสามารถติดต่อสื่อสารกับทั่วโลกได้ มีบริการที่ครอบคลุมตั้งแต่การรับส่งจดหมาย ไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ ไปจนถึงบริการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ครบวงจร บริการด้านการเงิน และการรับชำระค่าสินค้าบริการต่าง ๆ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจค้าปลีก และเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ ที่สามารถส่งถึงกันได้อย่างสะดวก
ทันต่อความต้องการของคนในยุคนี้ 

ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่ให้บริการประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตรงนี้คงต้องฝาก คำขอบคุณคนไทยทุกคนที่มีส่วนสนับสนุนกิจการของคนไทย แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขัน คนไปรษณีย์ไทยทุกคนจะมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพเพื่อเป็นอ งค์กร ที่ให้บริการเพื่อคนไทยตลอดไปและบริการนั้นจะต้องเป็นบริการที่มีคุณค่า ให้ผู้ใช้บริการแล้วรู้สึกว่าคุ้มค่า และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากคนไทยด้วยเช่นกัน” 



บนเส้นทางของการติดต่อสื่อสารที่ยาวนานกว่า 125 ปี มีเรื่องราวต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ล้วนเป็นบันทึกแห่งความทรงจำที่ไม่ว่าจะล่วงเลยผ่านกาลเวลาไปนานเพียงใด คุณค่าของคำว่า “ไปรษณีย์ไทย” ก็ไม่เคยเสื่อมคลาย.


ย้อนยุคฉลองวัยสยามสมัย ๑๒๕ ปีไปรษณีย์ไทย

เนื่องในโอกาสครบรอบ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย ในปี 2551 บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้จัดงาน “สยามสมัย 125 ปี ไปรษณีย์ไทย” ขึ้น ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นสถานที่จัดงานในครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคม 2551 โดยในบรรยากาศ “สยามย้อนยุค”บนถนนเจริญกรุง ที่ตั้งของกรมไปรษณีย์โทรเลขที่แรกในปี 2426 

ภายในงานประกอบไปด้วยเรื่องราวอันยาวนานผ่านนิทรรศการ “บนเส้นทาง 125 ปีไปรษณีย์ไทย” 

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กษัตริย์ผู้ทรงคุณูปการในการวางรากฐานกิจการไปรษณีย์ โดยมีการอัญเชิญ “พระราชหัตถเลขาที่เกี่ยวข้องกับกิจการไปรษณีย์” มาจัดแสดง 

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ บอกเล่าเรื่องราวไปรษณีย์ในยุคก่อตั้ง โปสต์แมน และของใช้ส่วนพระองค์ 

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผ่านดวงแสตมป์ โดยเฉพาะชุดสำคัญ เช่น ชุดแสตมป์ ชุดแรกในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี โดยจะอัญเชิญสิ่งสะสมส่วนพระองค์เกี่ยวกับไปรษณียบัตร ซองที่ระลึก และแสตมป์นำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก 

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เกี่ยวกับความสนพระทัยในการสะสมโปสต์การ์ด แสตมป์ และพระราชนิพนธ์ “ไปรษณียบัตรเจ้าฟ้าฯ” 

นอกจากนี้ยังมีแสตมป์ดวงแรกที่มีมูลค่าของประเทศที่สำคัญ ๆ ในแต่ละทวีปมาจัดแสดงเป็นพิเศษ โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจากสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทย และที่พลาดไม่ได้สำหรับนักสะสมกับ แสตมป์ที่ระลึก 125 ปี ไปรษณีย์ไทย (ชุดที่ 1) ซึ่งเป็นการนำแสตมป์ชุดแรกของไทย ชุดโสฬศ กลับมาอวดโฉมอีกครั้งในรูปแบบใหม่ เพื่อบอกเล่าวิวัฒนาการของการพิมพ์แสตมป์แบบออฟเซ็ต โดยจำแนกความแตกต่างที่ความละเอียดของเม็ดสกรีนซึ่งม ีหน่วยเป็น dpi (dot per inch: จุดต่อนิ้ว) ตั้งแต่การพิมพ์ภาพขาวดำแบบลายเส้น ภาพสีที่มีความละเอียดตั้งแต่ 100 dpi 300 dpi และ 600 dpi ตามลำดับไปจนถึงการพิมพ์ด้วยเทคนิคสามมิติแบบความละเ อียดสูงดวงแรกของไทย 

สิ่งพิเศษในแสตมป์ชุดนี้ คือ ข้อความเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่บนแสตมป์ทุกดวง แต่ต้องใช้แว่นขยายส่องดูจึงจะเห็น เป็นข้อความที่เสมือนคำสัญญาของชาวไปรษณีย์ไทย นั่นคือ “ไปรษณีย์ไทยเพื่อคนไทยตลอดไป” โดยภายในงานจะมีบริษัทผู้จัดพิมพ์แสดงให้เห็นตัวอักษ รที่ซ่อนอยู่
.

คำสำคัญ (Tags): #125 ปี#ไปรษณีย์ไทย
หมายเลขบันทึก: 293546เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2009 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท