การใช้สิทธิทางศาลกรณีโคบอลท์-60 (คดีปกครอง)


การดำเนินคดีกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติต่อศาลปกครอง

15 พฤศจิกายน 2543 ผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องต่อ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พป.) ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ และเคยขอทราบความคืบหน้าเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๔ แต่ปรากฎว่า พป. เพิกเฉย
7 มีนาคม 2544 ผู้เสียหาย ร้องทุกข์ต่อ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องร้องทุกข์รับที่ 140/2544 ต่อมาเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าว ถูกโอนมายังศาลปกครองตามมาตรา  103 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
รายละเอียดทางคดี
-คู่ความ : นางสาวสมใจ แก้วประดับ ที่ 1 กับพวกรวม 12 คน v. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
-คดีหมายเลขดำที่ 1516/2544 คดีหมายเลขแดงที่ 1820/2545

ประเด็นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

สืบเนื่องจากความเสียหายที่เกิดแก่ผู้เสียหายนั้น เกิดจากการที่สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พป.) จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกระเบียบ ข้อบังคับ วางมาตรการและปฏิบัติการเพื่อควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์พลังงานปรมาณู การเก็บรักษากัมมันตรังสี และการจัดการกากกัมมันตรังสีให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้และประชาชน โดยดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานปรมาณูเพื่อสันติและกฎหมายอื่นๆ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2537 กล่าวคือ
1) พป. ละเว้นไม่ออกระเบียบข้อบังคับ มาตรการและปฏิบัติการเพื่อควบคุม ดูแล การเก็บรักษาวัสดุกัมมันตรังสีให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างพอเพียงตามกฎหมาย
2) พป.ละเลยไม่ดำเนินการตรวจสอบการย้ายสถานที่เก็บรักษาวัสุดต้นกำเนิดรังสีจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งที่ได้ทราบข้อมูล และมีหน้าที่ต้องตรวจสอบข้อมูลเพื่อความปลอดภัยทางรังสี
3) พป. ละเลยไม่ดำเนินการตรวจสอบให้โรงพยาบาลรามาธิบดีและหรือบริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด ผู้ครองครองดำเนินการจัดการกับต้นกำเนิดรังสีที่เลิกใช้งาน หรือจัดการกากกัมมันตรังสีโดยต้องขออนุญาตส่งออก หากไม่สามารถส่งกลับไปยังผู้ผลิตได้ พป. มีหน้าที่ต้องรับจัดการกากกัมมันตรังสีต่อไป แต่กลับเพิกเฉย ละเลยไม่ดำเนินการตรวจสอบการครอบครอง การเก็บรักษา การย้ายสถานที่เก็บรักษา วัสุดต้นกำเนิดรังสีของบริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด และหรือบริษัท กมลสุโกศล จำกัด ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ทราบข้อมูลแล้ว และยังมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้มีใบอนุญาต จัดสถานที่เก็บรักษาให้ถูกต้องและปลอดภัยจากการแพร่กระจายและการสูญหายตามกฎหมาย ซึ่งหาก พป. ดำเนินการดังกล่าวข้างต้น การแพร่กระจายของกัมมันตรังสีย่อมไม่เกิดขึ้น

โดยขอให้ศาลปกครองพิพากษาให้ พป. จ่ายค่าเสียหายสำหรับ (1) ค่ารักษาพยาบาล, (2) ค่าเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล (3) ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต (4) ค่าทดแทนความเสียหายอื่นที่มิใช่ตัวเงิน รวมถึงค่าเสียหายเชิงลโทษ และ (5) ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต

27 กันยายน 2545 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายและค่าเสียหายด้านต่างๆ ดังนี้

1) จากการตรวจเลือดครั้งสุดท้าย ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7-ที่ 12 พบว่าผลเลือดใกล้เคียงกับค่ามาตรฐาน สำหรับโครโมโซมที่เสียหายจะตายไป และจะมีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน การได้รับรังสีแกมมาเพียงครั้งเดียวไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง

นพ.ยงยุทธ คงธนารัตน์ สังกัดราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า ไม่สามารถทราบปริมาณรังสีที่ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายได้รับ ดังนั้น ผลกระทบต่อร่างกายภายใน โครโมโซม เลือด ดีเอ็นเอ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ถือเป็นการประมาณการที่อาจเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ แต่จากผลสรุปจากการศึกษาในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและผู้รอดชีวิตจากผลของระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่น พอสรุปได้ว่า ผู้รอดชีวิตโดยได้รับปริมาณรังสีสูงจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์มีชีวิตเหมือนคนปกติในวัยเดียวกัน, ข้อสรุปของคณะอนุกรรมการเฝ้าระวังฯ (สธ.) ที่เสนอให้มีการติดตามผลเป็นเวลา 10 ปีนั้น เนื่องจากมิใช่บุคคลผู้ทำการตรวจรักษา จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าคำชี้แจงของนพ.ยงยุทธ และพญ.วารุณี เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 ไม่มีพยานอื่นมาสนับสนุนข้ออ้างของตนในประเด็นนี้ จึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 ราย ต้องทำการรักษาตัวต่อไปในอนาคตอีก 15 ปี

2) ค่ารักษาพยาบาล พิพากษาให้ พป. จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามที่ปรากฎตามใบเสร็จรับเงิน

3) ค่าขาดไร้อุปการะ ไม่กำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 3 เนื่องจากผู้ฟ้องคดีที่ 3 มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายที่เสียชีวิต จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ แต่กำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้ผู้ฟ้องคดีที่ 5-6 ในฐานะบิดา-มารดาของผู้เสียหายที่เสียชีวิต

4) ค่าเสียหายจากการไม่สามารถประกอบการงานในปัจจุบันและอนาคต ศาลกำหนดให้ พป. จ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี[1] ดังนี้

4.1) ค่าเสียหายจากการไม่สามารถประกอบการงานในปัจจุบันของผู้ฟ้องคดีที่ 5-6, ที่ 7, ที่ 8 ศาลคำนวณคำนวณจากฐานอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำ 165 บาทต่อวัน โดยผู้ฟ้องคดีที่  5-6 คำนวณจาก 32 วัน, ผู้ฟ้องคดีที่ 7 คำนวณจาก 36 วัน, ผู้ฟ้องคดีที่ 8 คำนวณจาก 4 วัน

4.2) ศาลไม่กำหนดค่าเสียจากการไม่สามารถประกอบการงานในอนาคตให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1, ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 8  เนื่องจากไม่ปรากฎว่าบุคคลผู้ฟ้องคดีได้รับบาดเจ็บถึงขนาดไม่สามารถประกอบการงานในอนาคตได้ จึงไม่กำหนดให้

4.3) ศาลไม่กำหนดค่าเสียจากการไม่สามารถประกอบการงานในอนาคตให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 5-6 เพราะมาตรา 446 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้เฉพาะผู้ที่ถูกทำให้ ไม่สามารถโอนสิทธิ, ไม่ตกสืบไปถึงทายาท

4.4) ผู้ฟ้องคดีที่ 9 ถูกตัดนิ้วมือถึงระดับโคนนิ้วไปทั้งหมด 10 นิ้ว ไม่สามารถใช้มือได้ตามปกติ จึงสูญเสียความสามารถประกอบการงานโดยสิ้นเชิงทั้งในปัจจุบันและอนาคต, คำนวณจากรายได้ของผู้ฟ้องคดีที่ 10 คือเดือนละ 6,000 บาท

4.5) ผู้ฟ้องคดีที่ 10 สามารถใช้มือขวาทำงานได้ประมาณร้อยละ 90 ส่วนมือซ้ายถูกตัดนิ้วมือ 1 ข้อ จึงถือว่าเสียความสามารถประกอบการงานเพียงบางส่วน

4.6) ศาลเห็นว่ากิจการร้านเสริมสวยไม่ปรากฎว่ามีรายได้เท่าใด จึงไม่กำหนดค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้หลังเกิดเหตุให้

รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,222,301 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ภายในกำหนด 30 วัน

24 กันยายน 2547 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในประเด็นสงวนสิทธิแก้ไขคำพิพากษาในส่วนค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ดังนี้
1) ประเด็นค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วง 2 ปี
- การตรวจเม็ดเลือดแดง และตรวจโครโมโซม สามารถทำที่โรงพยาบาลราชวิถีอยู่แล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลในการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพแต่อย่างใด[1]
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ รพ.ราชวิถี ของผู้เสียหายที่ 9 และ ที่ 10 จำนวน 230 บาท และ 620 บาทนั้น เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความผิดของผู้ฟ้องคดีเอง ที่ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของรพ. ราชวิถี เพื่อให้ได้รับการยกเว้นค่าใช้จ่ายดังกล่าว ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าตรวจรักษาดังกล่าว[2]
2) ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีเสนอว่าต้องมีการเฝ้าระวังในอนาคตอย่างน้อย 6 ปี และขอให้พป.ตั้งเป็นกองทุนเพื่อชดเชยค่าติดตามเฝ้าระวังทางสุขภาพและค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ศาลปกครองเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีจะเรียกร้องให้ พป. ดำเนินการใดๆ ได้ก็ต่อเมื่อ พป.มีสิทธิที่จะกระทำได้ ซึ่งสิทธินั้นหมายความว่าประโยชน์อันบุคคลพึงมีอยู่โดยมีกฎหมายบัญญัติรับรองไว้ แต่การตั้งกองทุนดังกล่าว หามีกฎหมายบัญญัติรับรองให้เป็นสิทธิแก่ผู้เสียหายไม่ ศาลจึงไม่อาจบังคับให้ได้[3]
3) ประเด็นค่าใช้จ่ายในการติดตามอาการในอนาคต เนื่องจาก
-พญ.วารุณี จินารัตน์ รองผู้อำนวยการ รพ.ราชวีถี ชี้แจงว่า โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลอื่นของรัฐได้ทำการตรวจรักษาผู้เสียหาย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
-พญ.วารุณี จินารัตน์ ยืนยันว่า โครโมโซมของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7-ที่ 10 มีอาการดีขึ้น อีกทั้งรูปร่างของโครโมโซมที่ผิดปกติของผู้เสียหายดังกล่าว ไม่สามารถบ่งชี้ว่าจะเกิดโรคได้
-บาดแผลของผู้ฟ้องคดีที่ 9 –ที่ 11 นั้นหายแล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีไปโรงพยาบาลราชวิถีก็เพื่อตรวจติดตามผลเท่านั้น และการตรวจติดตามผลนั้น พญ.วารุณี จินารัตน์ ชี้แจงว่าก็เพื่อเป็นบทเรียนการศึกษาในอนาคตเท่านั้น ซึ่งหากมีผลกระทบอย่างใดจะได้รักษาได้เร็วขึ้น ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7-ที่ 12 จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจติดตามอาการแต่อย่างใด
4) ประเด็นค่ารักษากรณีป่วยเป็นมะเร็งโดยคำนวณตามความเสี่ยง เมื่อปรากฎว่า ผลการตรวจโครโมโซมของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7-ที่ 10 มีอาการดีขึ้น และโครโมโซมส่วนที่ผิดปกติไม่สามารถบ่งชี้ว่าจะเกิดโรคได้ ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 11 และที่ 12 ผลการตรวจโครโมโซมเป็นปกติ แม้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 9 – ที่ 11 จะอ้างว่าสภาพบาดแผลเปลี่ยนแปลงไป แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้จากแพทย์ว่าบาดแผลของผู้ฟ้องคดีหายดีแล้ว โอกาสเป็นมะเร็งน้อยมาก ดังนั้น ข้อเท็จจริงยังไม่พอรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7-ที่ 12 มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคมะเร็งแต่อย่างใด อีกทั้งค่ารักษากรณีป่วยเป็นมะเร็งคำนวณตามความเสี่ยงนี้ มิได้เป็นประเด็นพิพาทมาตั้งแต่ต้น ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7- ที่ 12 เพิ่งอ้างเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี ภายหลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้
5) ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลพิพากษาให้สงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาในส่วนค่ารักษาพยาบาลในอนาคตออกไปเป็นคราวๆ ละ ไม่เกิน 2 ปี จนกว่าจะครบกำหนด 10 ปี ศาลเห็นว่า ตามมาตรา 444 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้อำนาจศาลสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาได้ไม่เกิน 2 ปี เมื่อศาลได้สงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาไว้ 2 ปีแล้ว ศาลจึงไม่อาจที่จะสงวนสิทธิแก้ไขคำพิพากษาอีกต่อไปได้
ศาลพิพากษายกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7-ที่ 12 ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลในอนาคตที่จะต้องติดตามผลการตรวจเลือด โครโมโซม ดีเอ็นเอและบาดแผลของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 – ที่ 12
สถานะปัจจุบัน อยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองฉบับลงวันที่ 24 กันยายน 2547 ต่อศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองสูงสุด) ยื่นอุทธรณ์เมื่อ 26 ตุลาคม 2547 ในประเด็นการกำหนดค่ารักษาพยาบาลในอนาคต


[1] คำพิพากษาศาลปกครองกลาง, อ้างแล้ว, น.6
[2] คำพิพากษาศาลปกครองกลาง, อ้างแล้ว, น.7
[3] คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 1516/2544 คดีหมายเลขแดงที่ 1820/2545 วันที่ 24 กันยายน 2547 หน้า 8


[1] เรียงลำดับผู้เสียหายตามลำดับการเป็นผู้ฟ้องคดีในศาลปกครอง
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29329เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2006 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท