การพัฒนา (3)


อุปสรรคปัญหาที่พบประจำในการพัฒนา

อุปสรรคปัญหาที่พบประจำในการพัฒนา

            อุปสรรคที่เป็นปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในโลกนี้มีมากมาย  ไม่มีปัญหาอุปสรรคใดที่เกิดจากสาเหตุเพียงสาเหตุเดียว  ในบรรดาปัญหาที่เป็นอุปสรรคเหล่านั้น  ซึ่งได้พบ  ได้เห็น  และได้ยินเป็นประจำในการลงไปพบปะประชาชนท้องถิ่นหมู่บ้าน  เพื่อหาข้อมูลมาพัฒนาคน  พัฒนาชุมชนและพัฒนาสังคมนั้น  พอสรุปได้ ดังนี้

            1.  ปัญหาคนไทยในชนบทมีความเชื่อแบบขาดปัญญา  เช่น  เชื่อว่าผู้ที่มีฐานะร่ำรวยในปัจจุบันนี้  เพราะชาติก่อนเข้าได้สร้างบุญกุศลไว้มาก  มาในชาตินี้  เขาจึงมีฐานะดีร่ำรวยและมีวาสนา  ในทางตรงกันข้าม  ที่คนจนในปัจจุบันไม่มีฐานะร่ำรวยนั้น  เพราะเชื่อว่าเมื่อชาติก่อน  เขาได้สร้างบาปกรรมไว้มาก  ไม่เคยทำบุญทำกุศล  ไม่เคยทำความดี  คือ ให้ทานรักษาศีลเลย  เกิดมาในชาตินี้  เขาจึงเป็นคนยากจนและทุกข์ยากลำบาก

            เนื่องจาก  ชาวบ้านที่ยังฝังใจอยู่กับความเชื่อเช่นนี้  จิตทำให้เขาไม่ขยันขันแข็งไม่แสวงหาทรัพย์สินเงินทองและอดออมเอาไว้  ได้ปล่อยตัวปล่อยใจให้เป็นไปตามความเชื่อและตามยถากรรม  และที่สำคัญที่สุด  คือ  ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง  ไม่ได้พัฒนาตัวของตัวเองเลย  และไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน  สังคมของตัวเองเลย  ที่เป็นดังนี้ก็เพราะเขามีความเชื่อที่ผิดๆ นี่เอง  สุดท้ายพวกเขาจึงมีความเป็นอยู่อย่างนั้น

            2.  ปัญหาโครงสร้างของสังคมไทย  เพราะในสังคมไทยนั้นได้แบ่งแยกคนออกเป็น  2 ชั้น คือ

                        2.1  ชนชั้นผู้ปกครอง  ได้แก่ พวกขุนนางที่เป็นข้าราชการหรือพวกนายทุน

                        2.2  ชนชั้นผู้ถูกปกครอง ได้แก่ คนธรรมดา ชาวไรชาวนา  กรรมกร  บ่าวไพร

            3.  ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและผู้ตาม  เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและผู้ตามนั้นตั้งอยู่บนฐานของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของกันและกัน เช่น ผู้นำที่สามารถยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้ตามได้โดยการให้  เพื่อให้ผู้ตามมีความจงรักภักดีและอยู่ภายใต้อำนาจของตนเอง อย่างเช่น การให้ผลประโยชน์  เงินทอง และทรัพย์สินอย่างอื่น  เพื่อเป็นการตอบแทน เป็นต้น  สุดท้าย  จึงทำให้พวกเขามีความสัมพันธ์กัน

            4.  ปัญหาคนไทยไม่ยอมรับนับถือคนในระดับเดียวกันหรือต่ำกว่า  ที่เป็นเช่นนี้  เนื่องมาจากระบบพวกพ้องที่ช่วยเหลือกันจนทำให้ได้ดี  โดยกระโดดข้ามหัวคนอื่นขึ้นไป  ระบบนี้ยังมีให้เห็นและเป็นที่ตรึงใจอยู่ในสังคมไทยมานาน  ส่งผลต่อมา คือทำให้คนไทยไม่นิยมยกย่องนับถือผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีความอาวุโสมากกว่าตนและกำลังมีมากขึ้นในสังคมไทยทุกๆ วัน

            5.  ปัญหาคนไทยในชนบทติดนิสัยในการรับ  ที่เป็นเช่นนี้  เนื่องจากคนไทยในชนบทห่างไกลยังติดนิสัยในการรับและการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น  หรือจากหน่วยงานของรัฐจนเป็นนิสัยสุดท้าย  ส่งผลให้คนไทยเป็นคนมีนิสัยเสีย  อ่อนแอ  ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง  คือ ชอบขอรับความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือหน่วยราชการอื่น

            6.  ปัญหาคนไทยมีนิสัยหยิ่ง  ปัญหานี้เกิดขึ้น  เพราะคนไทยชอบทำอะไรตามใจตนเองอย่างอิสระ  จนมีคำพูดต่อมาว่า  ทำอะไรตามใจตัวเองได้  คือ ไทยแท้  ซึ่งในหลายๆ กรณีก็ได้กลายมาเป็นข้อเสียไปเลยก็มี

            7.  ปัญหาคนไทยไม่ชอบการค่าขาย  เรื่องนี้  เป็นจุดอ่อนของคนไทยมาก  เพราะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ  ทุกระดับ  ตั้งแต่หมู่บ้าน  ชุมชน  ไปจนถึงระดับประเทศและต่างประเทศ  ในระยะยาวต่อมา

          8.  ปัญหาคนไทยไม่ชอบความจริง  ปัญหาข้อนี้ที่เกิดขึ้นกับคนไทยมานานจนทำให้คนไทยมีนิสัยชอบเอาตัวรอด  ชอบทำงานแบบขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ  ที่สุดจนกลายเป็นนิสัย  และทำให้คนไทยไม่มีความจริงจังและจริงใจอะไรกับใครเลย  นับว่าเป็นกรรมของคนไทยแท้ๆ ที่ชอบพูดโกหก

            9.  ปัญหาคนไทยไม่ชอบทำงานเป็นกลุ่ม  ปัญหาข้อนี้มีมากในหมู่คนไทย  เพราะหาทำงานเป็นกลุ่ม  เป็นทีมเมื่อไร  จะมีปัญหาทุกครั้งไป

            10.  ปัญหาคนไทยทำงานไม่มีแผน  ปัญหาข้อนี้ส่งผลทำให้คนไทยติดนิสัยในการทำงานที่ไม่มีแผนงาน  สุดท้ายได้เกิดเป็นความบกพร่องและขาดความรอบคอบในการทำงาน  และทำให้งานสำเร็จช้าด้วย

            11.  ปัญหาคนไทยชอบหวังน้ำบ่อหน้า  ปัญหานี้  ทำให้คนไทยมีนิสัยหวังแบบลมๆ แล้งๆ และชอบการพนันขันต่อ  ชอบเสี่ยง หวังว่าผลจะเป็นอย่างที่ฝันเอาไว้หรือเปล่าไม่รู้ได้  (แต่ก็ชอบหวังแบบสร้างวิมานในอากาศ)

            12.  ปัญหาคนไทยชอบความสะดวกสบาย  ปัญหาข้อนี้  ส่งผลทำให้คนไทยมีนิสัยมักง่ายไม่ชอบความพิถีพิถัน  ขาดความมุมานะ  เมื่อเจอปัญหาและอุปสรรคแล้วจะเกิดความท้อแท้  ไม่มีความมานะอดทน

            13.  ปัญหาคนไทยในชนบทไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง  ปัญหานี้เกิดขึ้น  เนื่องจากคนไทยในชนบทชอบความเป็นอยู่แบบเดิมๆ ชอบประเพณีแบบเดิมๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เช่น ปู่ย่า  ตายาย  มีความเป็นอยู่มาอย่างไรในอดีต  ก็มักให้เป็นไปตามนั้นและไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าด้วย เช่น การวางแผนครอบครัว เป็นต้น  ในช่วงแรกๆ ไม่มีการวางแผนครอบครัวและแผนการประกอบอาชีพเลย  ในอดีตเป็นมาอย่างไร  ก็ให้เป็นไปอย่างนั้น

            14.  ปัญหาคนไทยมีนิสัยเอาแต่ได้  ปัญหาข้อนี้มักเกิดขึ้นกับคนไทยบางคน  เช่น  ไม่ได้เป็นคนจน  เวลาทางราชการหรือองค์กรเอกชนบางแห่งได้นำของมาแจก  เขาชอบบอกไว้ก่อนว่า  ยากจน เป็นต้น  เพื่อที่จะได้รับของนั้นมาอย่างฟรีๆ   

            15.  ปัญหาคนไทยมีนิสัยชอบลืมง่าย  ปัญหาข้อนี้เห็นได้ชัดมาก คือ  เมื่อเกิดความเจ็บใจจากการกระทำของคนอื่นแล้ว  แทนที่เราคนไทยจะจดจำ  แต่กลับไม่จดจำ ลืมความเจ็บในอดีตไปได้ง่ายมาก เป็นต้น

            16.  ปัญหาคนไทยชอบใช้อภิสิทธิ์  เรื่องนี้  คนไทยชอบใช้เสมอ  คือชอบใช้อภิสิทธิ์  มีความภาคภูมิใจในการทำอย่างนั้น  ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง  แต่ก็บอบทำโดยถือว่าการใช้อภิสิทธิ์นั้นทำให้ตนเองเก่งกว่า  และดีกว่าคนอื่น เสมอ

            17.  ปัญหาคนไทยชอบความฟุ่มเฟือย  ปัญหาข้อนี้ส่งผลในระยะกาลต่อมา คือ คนไทยมีนิสัยชอบความฟุ่มเฟือย  ไม่ชอบการประหยัดและอดออม  โดยชอบทำตัวเป็นคนที่มีรสนิยมสูง  ชอบใช้และซื้อแต่ของที่มีราคาแพงๆ ทั้งๆ ที่ตัวเองมีเงินเดือนน้อย มีรายได้น้อยไม่ค่อยจะพอใช้อยู่แล้ว  แต่ก็ยังชอบหยิบยืม  และเป็นหนี้เป็นสิน  เพื่อนำเอาเงินมาซื้อของที่มีราคาแพงๆ เป็นต้น

            18.  ปัญหาคนไทยไม่รู้จักแพ้-ชนะ  ปัญหาที่คนไทยมีนิสัยไม่รู้จักแพ้-ชนะที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อมีการแข่งขันฟุตบอล  เป็นต้น  ผู้แพ้ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา  ไม่ยอมรับว่าฝ่ายตัวพ่ายแพ้  บางครั้งถึงกับเกิดเป็นเรื่องเป็นราวไปใหญ่โตก็มีให้เห็นอยู่มากมาย  และบ่อยๆ ด้วย

            19.  ปัญหาคนไทยไม่นิยมยกย่องสตรี  ปัญหาข้อนี้มีให้เห็นอยู่มากมาย  โดยเฉพาะปัญหาสตรีในประเทศไทยมีเป็นจำนวนไม่น้อยที่ลงเลือกตั้ง  และได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้นำ เช่น เป็นผู้ใหญ่บ้าง (หญิง) และเป็นกำนัน (หญิง) เป็นต้น  และมักจะไม่ค่อยได้รับการยกย่องจากหมู่คนไทยเท่าที่ควร  มิให้เห็นอยู่ในหลายพื้นที่

            20.  ปัญหาคนไทยมีน้ำใจคับแคบ  ปัญหาข้อนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยมานาน คือ ทำให้คนไทยมีนิสัยไม่อยากให้ใครเด่นเกินตัวเอง  ไม่ยอมรับฟังคำแนะนำและคำชี้แจงของคนอื่นเลย  อาจมีบ้างที่บางครั้งยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น  แต่ส่วนมากก็เป็นเพียงรับและฟังเท่านั้น  ซึ่งจริงๆ แล้ว  เขาไม่ได้ใส่ใจในคำแนะนำเลย

            21.  ปัญหาคนไทยชอบสร้างอิทธิพล  ปัญหาเรื่องนี้  เป็นเรื่องที่คนไทยชอบใช้มากคือ  ชอบสร้างความยิ่งใหญ่  หรือเป็นเจ้าพ่อให้กับตัวเอง  หรือกลุ่มของตัวเอง

            22.  ปัญหาคนไทยไม่ตรงต่อเวลา  ปัญหานี้มีมานานแล้ว  ส่งผลทำให้คนไทยเราเป็นคนที่ชอบหลบหลีก  ชอบอ้างโน่นอ่างนี่  ซึ่งเป็นสาเหตุของความไม่ตรงต่อเวลานานๆ เข้าจึงได้กลายมาเป็นนิสัย

            23.  ปัญหาคนไทยไม่รักของส่วนรวม  ปัญหาข้อนี้เห็นได้ง่ายมาก  เช่น ของส่วนรวมที่พวกเขาได้พากันสร้างขึ้นมาเป็นสาธารณะ  และเมื่อเกิดการชำรุด  ก็ไม่ได้ซ่อมแซมรักษาไว้เหมือนเดิม  จึงมีความเสื่อมโทรมไปเร็วกว่าที่ควรจะเป็น

            24.  ปัญหาคนไทยชอบพูดมากกว่าการกระทำ  ปัญหานี้เห็นได้ง่ายมากในทุกหมู่บ้าน  ทุกชุมชน

            25.  ปัญหาคนไทยชอบโอ้อวด  ปัญหาข้อนี้เห็นได้ในทุกชุมชน  เพราะเขาชอบคุยโตโอ้อวดสารพัดอย่าง  เพื่อนำความดีมาสู่ตัว  นำความชั่วไปให้คนอื่น  หากพิจารณาแล้ว  น่าสังเวชจริงๆ คนไทยนี่

            26.  ปัญหาคนไทยชอบสอดรู้สอดเห็น  เรื่องนี้  คนไทยชอบมาก  โดยเฉพาะชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องไร้สาระ  และเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น  โดยไม่เคยมองดูข้อบกพร่องของตัวเองเลย  เข้าทำนองว่า  ขนตาที่อยู่ใกล้ตาของตัวเอง  แต่ก็ไม่สามารถมองเห็นได้เลย เป็นต้น

            27.  ปัญหาเรื่องคนไทยชอบของฟรี  เรื่องนี้  คนไทยชอบมาก  โดยเฉพาะถ้าหากได้อะไรมาฟรีๆ แล้วยิ่งชอบใจ  ในที่สุด  จึงได้กลายมาเป็นนิสัยประจำตัวของคนไทยไป  ดังที่เราพอจะทราบอยู่บ้างแล้ว

 

สรุป

            จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาถึงปัญหาและอุปสรรคข้างต้นนั้น  ได้ส่งผลทำให้การพัฒนาคน  พัฒนาชุมชน  พัฒนาสังคมของประเทศไทยประสบความล้มเหลวและล่าช้า  เพราะคนไทยบางพวกมีนิสัยไม่ชอบแยกแยะข้อดีและข้อเสียออกจากกัน  และลักษณะปัญหาของคนไทยที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น  มีปรากฏอยู่ในจิตของคนไทย  ทั้งในเมืองและชนบท  เพราะฉะนั้น  จึงเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ระดับเป็นอย่างมากและปฏิเสธได้ยาก หากมีผู้กล่าวว่า นิสัยของคนไทยที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เป็นไปในแง่ลบมากกว่าแง่บวก

            อย่างไรก็ตาม  การศึกษาและการเรียนรู้ให้เข้าใจถึงลักษณะและอุปนิสัยใจคอของคนไทยและของผู้อื่นอย่างถ่องแท้มากที่สุดนั้น  ก็เพื่อจะได้นำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาคน  พัฒนาชุมชน  พัฒนาสังคมที่ถูกต้องและให้บรรลุเป้าหมายได้และจะไม่ได้ต้องวิตกกังวลในการพัฒนาคนมากเกินไป  ดังคำกล่าวของขงจื้อ  ปราชญ์ชาวจีนที่ได้กล่าวไว้ว่า  จงอย่าวิตกกังวลว่า  ผู้อื่นจะไม่เข้าใจท่าน  แต่จงตระหนักและวิตกกังวลว่า  ท่านเข้าใจผู้อื่นมากเพียงใด

 

ที่มา...

พระปริยัติวราภรณ์  (เจริญ  จนทโทภาโส).  (2548).  หลักการพัฒนา.  กรุงทพฯ : สหธรรมิก.  (หน้า  15-73)

หมายเลขบันทึก: 292164เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2009 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท