ไรน้ำนางฟ้า ความแปลกใหม่ของสัตว์น้ำที่น่าติดตาม


ความหลากหลายของไรน้ำนางฟ้าในประเทศไทย
แหล่งที่พบ
ไรน้ำนางฟ้าเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างหายากในบริเวณเขตร้อนชื้น ส่วนใหญ่พบอาศัยอยู่ในน้ำจืดในเขตอบอุ่นของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป อาฟริกา และเอเชีย สำหรับในเอเชียพบว่ามีไรน้ำนางฟ้าที่ตั้งชื่อแล้ว 6 ชนิด อาศัยอยู่ในอินเดีย และอินโดนีเซีย แหล่งที่อยู่อาศัยของไรน้ำนางฟ้ามีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือเป็นบ่อหรือคลองที่มีน้ำขังอยู่ชั่วคราวในฤดูฝน (temporary pond) เท่านั้น ในช่วงฤดูแล้งน้ำจะแห้ง ก่อนที่น้ำจะแห้งตัวเมียจะผลิตไข่ที่มีเปลือกหนาจำนวนมาก เมื่อน้ำแห้งไข่เหล่านี้จะอยู่ในระยะพักตัว เมื่อฝนตกมาใหม่ในปีถัดไปไข่สามารถฟักเป็นตัวอ่อนและเจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป สำหรับไรน้ำเค็มหรืออาร์ทีเมีย (Artemia salina) ที่ในวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสั่งซื้อไข่จากต่างประเทศเพื่อใช้เลี้ยงลูกกุ้งลูกปลานั้น จัดเป็นไรน้ำนางฟ้าชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบน้ำเค็ม
ในประเทศไทยพบอาศัยอยู่ในบ่อที่มีน้ำขังชั่วคราวขนาดเล็ก คลองข้างถนน และนาข้าว
ฤดูกาลที่พบ
ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม
ความหลากหลายของไรน้ำนางฟ้าในประเทศไทย
ปัจจุบันคณะนักวิจัยจากศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบไรน้ำนางฟ้าในประเทศไทย 3 ชนิด ทั้งสามชนิดเป็นสัตว์ชนิดใหม่ของโลกและจัดเป็นสัตว์น้ำประจำถิ่น ที่พบในประเทศไทยเท่านั้น  ดังนี้
1.ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร  (Streptocephalus sirindhornae Sanoamuang, Murugan, Weekers & Dumont, 2000)  (ภาพที่ 1)

ตัวใส หางแดง ตัวยาว 1.3-3.0 เซนติเมตร ตัวผู้มีหนวดยาว ตัวเมียมีถุงไข่ 1 ถุง อยู่บริเวณกลางตัวด้านท้อง ไข่กลมมีลวดลายคล้ายลูกตะกร้อ เป็นชนิดที่พบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ที่สำรวจพบแล้วในแหล่งน้ำจาก 38 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี หนองบัวลำภู มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ นครราชสีมา มุกดาหาร นครพนม สกลนคร หนองคาย เลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ตาก ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ เชียงราย น่าน สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี เพชรบุรี ชัยนาท อุทัยธานี และประจวบคิรีขันธ์ 

2. ไรน้ำนางฟ้าไทย (Branchinella thailandensis Sanoamuang, Saengphan & Murugan, 2002)  (ภาพที่ 2)
ตัวสีส้มแดงตลอดทั้งตัว ตัวยาว 1.7-4.3 เซนติเมตร ตัวเมียมีสีเข้มกว่าตัวผู้  มีถุงไข่ 1 ถุง ไข่กลมคล้ายกับไข่ของไรน้ำนางฟ้าสิรินธร แต่มีขนาดใหญ่กว่าประมาณสองเท่า ที่สำรวจพบแล้วอยู่ในเขต 11 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ชัยภูมิ ลพบุรี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และอุทัยธานี
3. ไรน้ำนางฟ้าสยาม (Streptocephalus siamensis Sanoamuang & Saengphan)  (ภาพที่ 3)
ตัวใส สีตัวบางครั้งเป็นสีฟ้าอ่อน หางสีแดง ตัวยาว 1.1-2.0 เซนติเมตร ตัวเมียมีไข่เป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายปิรามิด (tetrahedral eggs) เป็นชนิดที่หายากมาก ปัจจุบันพบที่จังหวัดสุพรรณบุรี และกาญจนบุรีเท่านั้น

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29214เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2006 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท