คลังสั่ง 4 แบงก์รัฐตรึงดอกกู้ ช่วยผู้มีรายได้น้อย/เกษตรกร/ผู้ส่งออก


คลังสั่ง 4 แบงก์รัฐตรึงดอกกู้ ช่วยผู้มีรายได้น้อย/เกษตรกร/ผู้ส่งออก
     กระทรวงการคลังหารือ 4 ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ร่วมกันกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรและผู้ส่งออก โดยแบงก์เฉพาะพร้อมคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ระดับเดิม
     ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลัง ว่า กระทรวงการคลังได้เรียกผู้แทนสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หารือและร่วมกันออกมาตรการ    เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบการส่งออกรายย่อยจากภาระ   ค่าครองชีพ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในระยะที่ผ่านมา   โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งเตรียมมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าเป็นการเฉพาะหน้า ธนาคารออมสินจะยังคงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนไว้ในระดับเดิมต่อไป เพื่อบรรเทาภาระแก่ลูกหนี้ปัจจุบันของธนาคารออมสินที่มีอยู่กว่า 360,000 ราย รวมถึงลูกหนี้รายใหม่ที่คาดว่าจะมาขอรับสินเชื่ออีกประมาณ 120,000 ราย ภายในสิ้นปี 2549    ด้าน ธอส. ยังคงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเอื้ออาทรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไปจนถึง 30 กันยายน 2549 ปีที่ 1 ร้อยละ 5.5   ปีที่ 2 ร้อยละ 6.0    ปีที่ 3 ร้อยละ 6.5   และปีต่อ ๆ ไป MRR บวก ร้อยละ 0.5 ซึ่งจะส่งผลดี   ต่อการบรรเทาภาระดอกเบี้ยของผู้มีรายได้น้อยที่ประสงค์จะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในโครงการสินเชื่อบ้านเอื้ออาทร ที่คาดว่าจะมีประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับอัตราดอกเบี้ยเดิม จำนวนประมาณ 21,000 ราย วงเงินประมาณ 8,300 ล้านบาท
     ขณะที่ ธ.ก.ส. คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับปัจจุบันของ ธ.ก.ส. ออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2549   ส่วน ธสน. จะจัดสรรวงเงินสินเชื่อแก่ผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อช่วยกระตุ้นการส่งออกต่อไป โดยจัดให้มีโครงการบริการสินเชื่อพิเศษสำหรับผู้ส่งออกรายย่อยในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน (Prime Rate - 0.5 ต่อปี) แยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีผู้ส่งออกที่มียอดส่งออกในรอบปี 2548 ไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาท และสำหรับผู้ส่งออกที่มียอดส่งออกในรอบปี 2548 เกินกว่า 50 ล้านบาท จะได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท   ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ส่งออกรายย่อยในภาวะดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

สยามรัฐ  17  พ.ค. 49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 29207เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2006 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท