หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

คิดใหม่ ทำได้ : การจัดการป่าโดยชุมชน ของชุมชน เพื่อชุมชน


คิดใหม่ ทำได้ : การจัดการป่าโดยชุมชน ของชุมชน เพื่อชุมชน

พวกเราต้องรักษาแข่งกับป่าไม้ คำแนะนำของพระป่ารูปหนึ่งที่ธุดงค์ผ่านเข้าไปและอยู่จำพรรษาในหมู่บ้านเมื่อหลายสิบปีก่อน หลังจากพื้นที่ของหมู่บ้านทุกตารางนิ้วทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ถูกอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชประกาศทับที่ และมีความพยายามจะย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ เมื่อปี ๒๕๒๔

คำแนะนำดังกล่าวยังก้องอยู่ในใจของชาวบ้านจนถึงทุกวันนี้ และเสียงนั่นเป็นที่มาของการดูแลจัดการป่าของบ้านห้วยปลาหลด ชุมชนชาวลาหู่เฌเล จนป่าไม้ฟื้นตัวกลับมาอุดมสมบูรณ์ กล่าวได้ว่าผืนป่านี้เป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดตาก และได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวของ ป.ต.ท.  ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับชุมชนที่มีผลงานดีเด่นในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน

ไพรัช  กีรติยุคคีรี สมาชิก อบต.บ้านห้วยป่าหลด ซึ่งมีโอกาสได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ กล่าวว่าผืนป่าของบ้านห้วยป่าหลดที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษา มีสภาพที่สมบูรณ์มาก ผืนป่าเขียวครึ้มเต็มพื้นที่ ในขณะที่เลยเขตหมู่บ้านออกไปผืนป่าอยู่ในสภาพที่วิกฤติเต็มที

 

วิกฤติชุมชน : ป่าลด ถูกกดดันให้ย้ายออกจากพื้นที่

บ้านห้วยปลาหลด ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นหมู่บ้านชาวลาหู่เฌเล หรือลาหู่ดำ ขนาดร้อยกว่าหลังคาเรือนตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช และเขตพัฒนาพื้นที่ดอยมูเซอของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดตาก ห่างจากตัวจังหวัดตากไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๕ เส้นทางสายตาก แม่สอด ประมาณ ๓๕ กิโลเมตร จนถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๒๘ เลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังเป็นระยะทาง ๗  กิโลเมตร

เมื่อราว ๔๐ ปีที่แล้ว ชาวลาหู่ ๔ ครอบครัวเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้ชาวบ้านย้ายตามเข้ามาอยู่มากขึ้น

การทำมาหากินหลักของชาวบ้านคือการทำไร่ ผลิตผลจากไร่ส่วนใหญ่ใช้บริโภคในครอบครัวเป็นหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพด พืชผักต่าง ๆ ที่เป็นอาหารประจำวันของชาวบ้าน การใช้พื้นที่ทำกินชาวบ้านได้ยึดถือธรรมเนียมการใช้ที่ดินที่สืบทอดมาจากบรรพชน ในลักษณะการหมุนเวียนกลับมาใช้ หลังจากใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกแล้ว ๑ ปี  ก็จะเว้นไว้ราว ๓ ๔ ปี ก็จะกลับมาใช้พื้นที่ใหม่

ในอดีตเมื่อชาวบ้านเข้ามาตั้งรกรากใหม่ ๆ นั้น ชาวบ้านจำนวนมากเสพและติดฝิ่น ต้องใช้ฝิ่นจำนวนมากเพื่อการเสพ นอกจากการเสพแล้ว ฝิ่นถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างเป็นกอบเป็นกำ ชาวบ้านจำนวนมากจึงหันไปปลูกฝิ่นเกือบทั้งหมู่บ้าน

การทำไร่ฝิ่นเป็นการใช้ที่ดินที่ต่างจากการทำไร่ข้าวของชาวบ้าน การทำไร่ข้าวจะเป็นการใช้ที่ดินแบบหมุนเวียน ไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ในไร่แบบขุดรากถอนโคน แต่การทำไร่ฝิ่นชาวบ้านจะถางพื้นที่จนโล่งเตียน ใช้ที่ดินจนหมดความสมบูรณ์แล้วก็เปลี่ยนไปทำที่ใหม่ในลักษณะไร่เลื่อนลอย ผืนป่ามหาศาลจึงถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามแม้ว่าชาวบ้านจะใช้ที่ดินทำไร่ฝิ่นจำนวนมาก แต่ชาวลาหู่ก็ยังยึดถือคำสอนของบรรพชน พื้นที่ป่าบางแห่งจะไม่เข้าไปแตะต้องใช้ประโยชน์ เช่น พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ป่าศาลเจ้า พื้นที่ป่าช้า ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนรวมของชุมชน ป่าที่เหลือรอดจากการทำลายก็จะเป็นพื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้

ปี ๒๕๒๔ อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ได้ประกาศพื้นที่อุทยาน พื้นที่ดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ของหมู่บ้านทุกตารางนิ้ว มีความพยายามจากทางราชการที่จะอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยให้คำสัญญากับชาวบ้านว่าจะหาพื้นที่ให้อยู่ใหม่ มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าอยู่ที่เดิม

ผู้ใหญ่บ้านและแกนนำชุมชนในสมัยนั้น ได้ไปดูพื้นที่ที่ทางราชการจะให้ย้ายไปอยู่ พบว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตชาวลาหู่ การทำมาหากินลำบาก จึงได้ตกลงร่วมกันว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็จะไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่นี้โดยเด็ดขาด

ก่อนหน้าที่ทางราชการ จะประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ พระอาจารย์เด่น  นนฺทิโย พระป่าจากวัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ธุดงค์ผ่านเข้ามาในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.ตาก ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในหมู่บ้านได้นิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี่ และได้ชักชวนชาวบ้านให้รู้จักการทำบุญตามแนวทางพระพุทธศาสนา ระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ในหมู่บ้านชาวบ้านต่างให้ความเคารพบูชา และทำบุญโดยการถวายภัตตาหารอย่างสม่ำเสมอ

หลังจากที่ตกลงกันว่าจะไม่ย้ายออกตามคำสั่งทางราชการ ผู้ใหญ่บ้านได้เข้าไปปรึกษากับพระอาจารย์เด่น และท่านได้ให้คำแนะนำกับชาวบ้านว่า ถ้าจะอยู่ที่นี่ต่อไปชาวบ้านจะต้องช่วยกันดูแลรักษาป่า รักษาป่าแข่งกับป่าไม้ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าชาวบ้านก็รักษาป่าได้

จากนั้นเป็นต้นมาชาวบ้านก็เริ่มต้นดูแลรักษาป่าอย่างจริงจัง แม้ว่าในระยะแรกจะเป็นไปด้วยยากลำบาก เพราะความกดดันจากทางราชการต่างต่างนานา ไม่ว่าจะเป็นความพยายามใช้กำลังเข้ามาขมขู่ชาวบ้านให้ย้ายออก การถูกจำกัดการพัฒนาเนื่องจากอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ การกดดันให้ย้ายเจ้าหน้าที่ฯ ที่ยืนอยู่ข้างชาวบ้านออกจากพื้นที่ เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความพยายามของชาวบ้านในการดูแลกจัดการป่าของชาวบ้านลดลง ตรงกันข้ามการณ์ดังกล่าวกลับเป็นพลังเสริมให้ชาวบ้านทำงานอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยมีพระอาจารย์เด่น  นนฺทิโย เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านมาตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบัน

 

คิดใหม่ ทำได้ : การจัดการป่าโดยชุมชน ของชุมชน เพื่อชุมชน

หลังจากได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์แล้ว ชาวบ้านได้พูดคุยกันอย่างจริงจังว่าจะทำอย่างไรจึงจะให้ป่าฟื้นตัวคืนมาให้เร็วที่สุด เพื่อพิสูจน์กับทางราชการว่าชาวบ้านก็สามารถดูแลและอยู่ร่วมกับป่าได้ การทำงานในช่วงนั้นกล่าวได้ว่าค่อนข้างลำบาก เนื่องจากชาวบ้านไม่มีประสบการณ์ในการจัดการมาก่อน มีแต่เพียงภูมิปัญญาที่ตกทอดมาจากบรรพชนที่เกี่ยวกับการใช้ที่ดินซึ่งเป็นการอยู่ร่วมกับป่าอย่างสันติ เช่น การหมุนเวียนใช้ที่ดินแบบไร่หมุนเวียน การไม่เข้าไปตัดต้นไม้ในบางพื้นที่ เช่น ป่าศาลเจ้า ป่าช้า และป่าต้นน้ำ ฯลฯ

ชาวบ้านได้วิเคราะห์กันว่าสาเหตุที่ทำให้ป่าลดลงอย่างรวดเร็วคือการทำไร่ฝิ่นของชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านจำนวนมากเสพฝิ่นและฝิ่นก็สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้มาก การห้ามมิให้ชาวบ้านทำไร่ฝิ่นอีกต่อไปรวมทั้งการตัดทำลายไร่ฝิ่นที่ชาวบ้านบางคนลักลอบปลูกจึงเป็นภารกิจแรก ๆ ของชุมชน จากนั้นก็ได้เริ่มทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟู รักษาและจัดการป่า แม้ว่าระยะแรกจะเป็นการลองผิดลองถูกแต่ชาวบ้านก็สะสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ จนป่ากลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง

กลยุทธ์และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชาวบ้านคิดค้นขึ้นมา ผ่านการลองผิดลองถูกจนเป็นที่มาของของสำเร็จในการดูแลจัดการป่ามีหลายประการ ได้แก่

การปรับเปลี่ยนการผลิต

หลังจากได้ตกลงใจร่วมกันว่าจะรักษาป่าแข่งกับป่าไม้ ภารกิจแรกคือการเลิกปลูกฝิ่น ในระยะแรกยังมีสมาชิกในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งยังดื้อดึงลักลอบปลูกอยู่บ้าง ชาวบ้านก็จะรวมตัวกันไปตัดทำลายไร่ฝิ่น ไม่ยอมให้มีใครในหมู่บ้านทำไร่ฝิ่นอีกต่อไป

เนื่องจากชาวบ้านในหมู่บ้านเสพและติดฝิ่นเป็นจำนวนมาก นอกจากการปราบปรามทำลายไร่ฝิ่นแล้ว ชาวบ้านจึงได้ร่วมกับทางราชการบำบัดผู้ติดฝิ่นให้กับชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยได้รับการสงเคราะห์จากพระอาจารย์เด่นในหลายเรื่อง จนผู้เสพฝิ่นในหมู่บ้านลดลงไปเรื่อย ๆ จนหมดลง

พื้นที่ที่เป็นไร่ฝิ่นของเก่าของชาวบ้าน เมื่อหยุดปลูกป่าก็ค่อยเริ่มฟื้นตัว เจ้าของพื้นที่ได้เริ่มนำไม้ยืนต้นจำพวกลูกเนียง ไม้ไผ่ กาแฟ ไปปลูกแซมในพื้นที่ป่าในลักษณะวนเกษตร จนกระทั่งชาวบ้านได้เริ่มเก็บผลผลิตมาจำหน่ายเป็นรายได้มาหลายปีแล้ว

สำหรับพื้นที่ราบเชิงเขา ผืนเล็ก ๆ มีลำห้วยไหลผ่าน ชาวบ้านจะใช้พื้นที่นี้สำหรับการปลูกซาโญเต้ หรือ ฟักแม้ว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชาวบ้าน ยอดฟักแม้วที่เป็นที่นิยมของคนเมืองจากบ้านห้วยปลาหลดชาวบ้านจะนำไปวางขายที่ตลาดชาวไทยภูเขา บ้างก็จำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน การปลูกซาโญเต้ของชาวบ้านที่นี่จะไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นขี้วัวและขี้ไก่ ทำให้ต้นทุนการผลิตไม่สูง รายได้จึงเป็นกอบเป็นกำ

ส่วนการทำไร่ของชาวบ้านยังยึดถือธรรมเนียมแบบเดิม กล่าวคือยังใช้พื้นที่ในลักษณะการหมุนเวียนกลับมาใช้ หลังจากใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกแล้ว ๑ ปี  ก็จะเว้นไว้ราว ๓ ๔ ปี ก็จะกลับมาใช้พื้นที่ใหม่ นอกจากข้าวที่ได้จากการทำไร่แล้ว ยังมีพืชอาหารอื่น ๆ เช่น แตง พริก ฟักทอง ข้าวโพด ฯลฯ สำหรับการมาบริโภคในครอบครัว รวมทั้งการใช้เลี้ยงสัตว์อีกด้วย

การแบ่งเขตพื้นที่

ชาวบ้านได้กำหนดพื้นที่สำหรับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์เป็นเขต ได้แก่  พื้นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นพื้นที่ที่ห้ามชาวบ้านเข้าไปตัดไม้โดยเด็ดขาด พื้นที่ดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ป่าศาลเจ้า ๔ แห่ง พื้นที่ป่าช้า ๔ แห่ง พื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำกว่า ๑๐ แห่งพื้นที่ทำกินและใช้สอย แบ่งเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ พื้นที่วนเกษตร พื้นที่ทำไร่ และพื้นที่ทำสวนผัก สำหรับพื้นที่วนเกษตร ชาวบ้านจะปลูกไม้ยืนต้นเช่น กาแฟ ลูกเนียง ไม้ไผ่ ฯลฯ แซมไปกับต้นไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติ หากไม่สังเกตให้ดีจะพบว่าพื้นที่นี้เป็นผืนป่า ชาวบ้านนอกจากจะเก็บเกี่ยวผลผลิตจากพืชที่ปลูกแล้ว ยังได้อาศัยไม้จากในพื้นที่มาใช้สอยซ่อมบ้านเรือน ตัดมาทำฟืนอีกด้วย ส่วนพื้นที่ทำไร่ มีทั้งพื้นที่ที่ใช้เพาะปลูกในปีปัจจุบันและพื้นที่ที่ปล่อยทิ้งไว้ให้ฟื้นความอุดมสมบูรณ์ก่อนที่จะกลับมาใช้ใหม่หลังจากพักไว้ราว ๓ ๔ ปี และพื้นที่ทำสวนผักจะอยู่บริเวณที่ราบลุ่มเชิงเขา การใช้พื้นที่บริเวณนี้จะเป็นการใช้พื้นที่ค่อนข้างถาวร มีการบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ พื้นที่เลี้ยงสัตว์ อยู่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ใช้สำหรับเป็นที่เลี้ยงสัตว์วัวของชาวบ้าน สภาพพื้นที่แห่งนี้ไม่เหมาะสำหรับทำการเกษตร

การเพิ่มพื้นที่ป่าและความชุ่มชื้นให้ผืนป่า

หลังจากชาวบ้านเลิกปลูกฝิ่น ต้นไม้ตามธรรมชาติก็เริ่มขึ้นและเติบโต รวมกับไม้ยืนต้นที่ชาวบ้านนำไปปลูกแบบวนเกษตร พื้นที่นี้ก็เริ่มเป็นผืนป่าแบบหนึ่ง

สำหรับพื้นที่ที่มิใช่ที่ทำกิน ชาวบ้านได้นำต้นไม้ชนิดต่าง ๆ เข้าไปปลูก โดยจะเลือกเอาวันสำคัญ ๆ ในแต่ละปี การดูแลต้นไม้ให้เติบโต ป้องกันไม่ให้ไฟป่าเข้า เพียงไม่กี่ปีสภาพพื้นที่ก็กลายเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่ป่าของหมู่บ้านก็เพิ่มขึ้น

นอกจากการปลูกป่าเพิ่มเติมในบางพื้นที่แล้ว ชาวบ้านยังได้รวมตัวกันทำฝายกั้นน้ำเพื่อชะลอการไหลของน้ำ และเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าตามลำห้วยสาขาต่าง ๆ ในพื้นที่ป่าของหมู่บ้านหลายแห่ง ทำให้ผืนป่าชุ่มชื้นขึ้นส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ในแถบนั้น ลำห้วยเล็กน้อยในอดีตที่มีน้ำไหลไม่ตลอดทั้งปี ปัจจุบันมีน้ำไหลตลอดทั้งปี น้ำที่เก็บกักไว้ชาวบ้านยังสามารถนำไปใช้ในการเพาะปลูกพืชเพื่อจำหน่ายในยามหน้าแล้งได้

การป้องกันการทำลายป่า

ไม่เพียงการเพิ่มพื้นที่ป่าโดยการปลูกไม้ยืนต้นนานาชนิดเท่านั้น ชาวบ้านยังป้องกันการตัดไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ด้วย ในบางครั้งมีชาวบ้านจากนอกหมู่บ้านเข้ามาลักลอบตัดชาวบ้านต้องรวมตัวกันจับกุม ยึดไม้ของกลาง

แม้ว่าจะไม่มีการเดินเวรยามตรวจตราการบุกรุกตัดไม้ แต่พื้นที่ทำไร่ของชาวบ้านก็อยู่รอบ ๆ หมู่บ้านแทรกตัวอยู่ในเขตป่า การออกไปทำไร่ทำสวนของชาวบ้านก็จะเป็นการตรวจตราไปในตัว เมื่อพบสิ่งผิดสังเกต หรือพบคนเข้ามาลักลอบตัดไม้ก็จะมาแจ้งชาวบ้านในหมู่บ้านแล้วก็จะรวมตัวพากันไปหยุดยั้งการตัดไม้ของผู้ลักลอบ

นอกจากการป้องการการลักลอบตัดต้นไม้ ชาวบ้านยังร่วมมือกันป้องกันและดับไฟป่าอีกด้วย ในช่วงต้นแล้งของแต่ละปีชาวบ้านจะช่วยกันทำแนวกันไฟรอบเขตพื้นที่ป่าของหมู่บ้าน ป้องกันไม่ให้ไฟซึ่งเกิดจากการจุดไฟล่าสัตว์ เผาป่าเพื่อหาผลผลิตของชาวบ้านหมู่บ้านอื่นจากนอกเขตลามเข้ามาภายในพื้นที่ป่า ในบางคราวที่ไฟลุกลามเข้ามาในเขตชาวบ้านก็จะรวมตัวกันไปดับไฟป่า แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาดึกดื่นค่ำคืน จักรพงษ์  มงคลคีรี ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลดเล่าว่า เมื่อแล้งที่ผ่านมาไฟลามเข้ามาในพื้นที่ป่าของหมู่บ้านราวตีสอง เขาและกรรมการหมู่บ้านต้องไปปลุกชาวบ้านให้ตื่นขึ้นมาแล้วช่วยกันไปดับไฟป่า กว่าจะดับไฟจนหมดเวลาก็ล่วงไปถึงบ่ายโมง

 

ความสำเร็จ : ป่า คน อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและพอเพียง

ความพยายามของชาวบ้านในการฟื้นฟู ดูแลและจัดการป่ามากว่า ๒๐ ปี ตั้งแต่ถูกอุทยานประกาศทับที่ การถูกกดดันให้ย้ายออกจากพื้นที่ รวมทั้งถูกจำกัดการพัฒนาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นถนน โรงเรียน สถานีอนามัย ฯลฯ แต่ข้อจำกัดดังกล่าวก็ไม่เป็นอุปสรรคของชาวบ้านที่ไม่สามารถฝ่าพันไปได้ ในทางตรงกันข้ามสิ่งดังกล่าวกลับกลายเป็นพลังให้ชาวบ้านได้สำแดงว่าพวกเขาสามารถฟื้นฟู ดูแลและจัดการป่า จนป่าฟื้นความสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ภายในเวลาราว ๒๐ ปี

หากผู้เยี่ยมเยียนจากภายนอกเข้าไปในหมู่บ้าน เส้นทางขรุขระที่นำเข้าไปถึงหมู่บ้านตลอดสองข้างทางจะปกคลุมด้วยแมกไม้นานาพรรณราวป่าดงดิบ เมื่อเข้าไปถึงใจกลางหมู่บ้านมองไปรอบ ๆ บริเวณหมู่บ้านก็จะเห็นผืนป่าเขียวครึ้มไปทั่ว ผืนป่าที่มองเห็นด้วยสายตานั้นเป็นสวนวนเกษตรของชาวบ้าน ที่นอกจากจะมีต้นไม้ตามธรรมชาติแล้วยังมีไม้ผลนานาชนิดที่ชาวบ้านปลูกแซมไว้ เช่น กาแฟ ลูกเนียง ไม้ไผ่ เพื่อเก็บผลิตผลบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้ของครอบครัว

และหากมองให้ไกลออกไปลิบ ๆ ก็จะเป็นป่าทึบเป็นหย่อม ๆ พื้นที่บริเวณนี้จะเป็นป่าอนุรักษ์ของชุมชน ที่ห้ามชาวบ้านเข้าไปตัดไม้ใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่นี้มีหลายแห่งได้แก่ พื้นที่ป่าช้า พื้นที่ป่าศาลเจ้า และพื้นที่ป่าต้นน้ำ

หากเรามีโอกาสเดินออกจากหมู่บ้าน ไปทางทิศเหนือหรือตะวันตกของหมู่บ้าน ตามเส้นทางเล็ก ๆ ก็จะพบสวนผักซาโญเต้ หรือฟักแม้ว กระจายอยู่เป็นหย่อมตามที่ราบเล็ก ๆ ชายเขาและมีลำห้วยเล็กไหลผ่าน ชาวบ้านจะกั้นฝายชั่วคราวกักน้ำไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกในหน้าแล้ง

เดินเลยออกไปก็จะเห็นพื้นที่ทำไร่ข้าวของชาวบ้าน กระจายตัวอยู่ทั่วไปในพื้นที่ที่ลาดชันไม่มาก และไม่อยู่ไกล้กับป่าต้นน้ำ ในพื้นที่นี้จะมีพืชผักนานาชนิด ทั้งข้าว ข้าวโพด พริก เผือก ฟักทอง แตงกวา ฯลฯ ที่ชาวบ้านใช้บริโภคในครอบครัวและเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการประกอบพิธีกรรม ที่เหลือยังได้นำไปจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครอบครัวทางหนึ่ง

ชาวบ้านจำนวนหนึ่งในหมู่บ้านเลี้ยงวัวเพื่อเป็นรายได้ทางหนึ่งของครอบครัว โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่ต้องใช้เงินก้อน เช่น ค่าใช้จ่ายในการศึกษา การรักษาพยาบาล ฯลฯ ชาวบ้านได้กันพื้นที่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการเพาะปลูกพืช ไว้สำหรับเป็นที่เลี้ยงวัว

หากถามชาวบ้านว่า จากการลงมือฟื้นฟู ดูแลรักษาและจัดการป่าจนป่ากลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ชาวบ้านได้รับอานิสงส์ใดบ้างจากการกระทำดังกล่าว ก็จะได้รับคำตอบว่า

อานิสงส์ประการสำคัญที่ชาวบ้านได้รับคือความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินผืนป่า ส่งผลอย่างยิ่งกับการเพาะปลูก ข้าวไร่และพืชไร่อุดมสมบูรณ์ให้ผลผลิตดี ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี นอกจากนั้นอานิสงส์ดังกล่าวยังเผื่อแผ่ไปยังการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างเช่นซาโญเต้หรือฟักแม้ว ที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้าน รวมทั้งไม้ยืนต้นนานาชนิดที่ปลูกแซมกับต้นไม้ธรรมชาติในสวนวนเกษตรในปัจจุบันก็สามารถเก็บผลผลิตมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกด้วย

ประการถัดมา ความร่วมไม้ร่วมมือของชาวบ้านในการทำงานอย่างหนักในการฟื้นฟู ดูแลรักษาและจัดการป่า กลายเป็นความสมัครสมานสามัคคีของชุมชน และสิ่งนี้เป็นพลังที่สำคัญในการดำรงอยู่ของชุมชน กล่าวได้ว่าความเข้มแข็งนี้เกิดขึ้นมาจากการหันหน้าเข้าหากันทำงานดังกล่าว ฯลฯ

ด้วยเหตุและผลที่กล่าวมาแต่ต้น จึงน่าจะเป็นน้ำหนักอย่างเพียงพอที่คณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียวได้ประกาศยกย่องให้หมู่บ้านห้วยปลาหลด ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวประเภทชุมชนประจำปี ๒๕๔๘ รางวัลดังกล่าวนอกจากจะเป็นการยกย่องให้กำลังใจชุมชนแล้ว ยังจะเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่น ๆ ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานจัดการป่าโดยชุมชน ของชุมชน เพื่อชุมชน อีกต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 291711เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2009 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท