โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (6) แม่สั้น จันทร์เงิน


มาเป็นนักเรียนชาวนานี้...ตรงใจ เสียดายที่เมื่อแม่ยังเป็นสาวๆ...เมื่อก่อนก็ไม่มา...

๖ เรื่องเล่าจากนักเรียนชาวนา

แม่สั้น จันทร์เงิน

     ลมยามบ่ายพัดมาเบาๆ แม้แดดจะแรง แสงแดดจะจ้า จึงพาเราๆ ท่านๆ มาหลบมุม แถวๆ บ้านหนองแจง ในอำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่อีกแห่งหนึ่งของมูลนิธิข้าวขวัญ มานั่งรับลมเย็นๆ บริเวณร่มไม้หน้าบ้าน บ้านหนองแจง...ลมแรงดีจริงๆ

     ที่โรงเรียนชาวนาบ้านหนองแจงนี้ ใคร่อยากจะให้เราๆ ท่านๆ ได้รู้จักกับแม่สั้น จันทร์เงิน เป็นนักเรียนชาวนาอายุ ๘๒ ปี แม้อายุจะมากกว่าใครอื่นๆ แต่ความคล่องแคล่วสู้ได้เป็นที่หนึ่ง ออกจะเก่งกว่ารุ่นหนุ่มสาวเสียอีกกระมัง

     นักเรียนชาวนาอย่างแม่สั้น ผู้มีอารมณ์ดี นั่งคุยกันไป เดี๋ยวก็แทรกด้วยเสียงหัวเราะ ปะปนบ้างกับรอยยิ้ม คุยกันสนุกๆกับแม่สั้น พลอยได้ความรู้และข้อคิดหลายประการ

      ภาพที่ ๓๘ แม่สั้น จันทร์เงิน

     แม่เล่าว่า "แม่เกิดและโตที่บ้านหนองแจง พ่อแม่ก็เป็นคนบ้านหนองแจง พอจำความได้ก็ทำนาแล้ว อายุ ๗ ขวบ ยังเด็กอยู่...ไปหัดดำนาหัดเกี่ยวข้าวกับแม่ ดูซิ...เคียวบาดมือด้วย

     มีพี่น้องรวม กัน ๕ คน แม่เป็นพี่สาวคนโต เวลาไปทำนาก็ไปหมดทั้งพ่อแม่และน้อง...ไปทำนากัน มีนา ๑๒๐ ไร่ เป็นนาแปลงเดียว แต่ทำไม่หมดหรอก ทำนาแค่ครึ่งเดียว มีควาย ๑๑ ตัว วัว ๓๐ กว่าตัว

     นา ๖๐ ไร่ ได้ข้าวเปลือกราวๆ ๓๐ กว่าเกวียนเป็นอย่างต่ำ ได้ข้าวก็เก็บไว้กิน สีกินกันเป็นเกวียน และเก็บเอาไว้ทำพันธุ์ ก็เอาไว้เป็นเกวียน ที่เหลือก็ขายให้เถ้าแก่ สมัยก่อนเกวียนละ ๖๐ บาท ได้ดีเลย (หัวเราะ)

     สมัยก่อนนั้น ปลูกข้าวเบาข้าวหนัก ข้าวเบาก็มีพันธุ์เกาะตะไคร้ พันธุ์ที่หนึ่ง พันธุ์เล็บมือนาง ข้าวหนักก็มีพันธุ์พวงเงิน พันธุ์พวงระย้า พันธุ์เวียงระแหง พันธุ์สำเภาล่ม นาหนองปลูกข้าวหนัก ที่สูงปลูกข้าวเบา ข้าวกลาง แล้วก็เกี่ยวถอยๆ กันไป

     แล้วหน่วยงานเกษตรเอาข้าวพันธุ์ใหม่มาให้ เขาบอกข้าวเก่าไม่เอาแล้ว เอาข้าว กข ๗ มาให้ ส่วนข้าวที่ปลูกกันนั้นเขาบอกว่าพันธุ์ไม่ดี เขาให้เอาข้าวของเขา ...ก็จึงต้องเชื่อเขา ... แล้วก็ถือว่าสูญแล้วข้าวพันธุ์เก่าๆ หายไปหมด มีแต่พันธุ์ใหม่

     สมัยก่อนนาน้ำฝน ฝนมันดี พอเข้าเดือนหก (ประมาณเดือนพฤษภาคม) จัดแจงไถนาตกกล้ากันแล้ว ดำกันแล้ว ปลา กุ้ง หอย พอน้ำมีก็ขึ้นมากัน ตัวใหญ่ๆ ตุ่นก็มีอยู่ตามที่ดอน กระรอก กระแต แย้ อยากกินอะไรก็ไปจับ อึ่ง กบ แมงดา พอฝนตกมาก็ไปจับ อึ่งได้เป็นกระสอบๆ อุดมสมบูรณ์ ไม่เคยอดอยาก แม้จะเดือนสี่เดือนห้า (ประมาณเดือนมีนาคม - เดือนเมษายน) ก็ยังไปหาปลาจากสระได้ ปลาช่อน ปลาดุก ของเหล่านี้ไม่ได้ซื้อไม่ได้ขาย ได้มาก็เอาแจกตามพี่ตามน้องกัน ส่วนเหลือก็เอาทำปลาร้า กะปิ น้ำปลา ไม่ได้ซื้อ เพราะทำกันเอง ใครมาเห็นหนองแจงก็อยากอยู่ อุดมสมบูรณ์ข้าวปลาอาหาร

     แม่อายุได้ราวๆ ๔๐ ปีกว่าก็เห็นเริ่มจะใช้สารเคมีกันแล้ว หน่วยงานเกษตรมาแนะนำ ต่อมาก็สหกรณ์ อยากได้ให้ไปเข้าที่สหกรณ์ เรื่องปุ๋ยเรื่องยา ไม่รู้ว่าปุ๋ยยาอะไร เขาว่าปุ๋ยดีก็เอา เขาว่ายาดีก็เอา เขาก็เอามาส่งให้ พอที่นาเก็บเกี่ยวได้ เขาก็มาเก็บเงิน ที่ว่าดีนี้...เพราะเขาไม่ได้เก็บเงินเชียว แต่ว่าสารเคมีมันไม่ดีหรอก ก็ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวกับเขาเลย (หัวเราะ) เขาบอกแต่ว่าอันไหนใช้ตอนนั้น จดเอาไว้ให้ เหมือนตัวเราเป็นคนโง่

  ภาพที่ ๓๙ แม่สั้น จันทร์เงิน นักเรียนชาวนาคนขยัน

     ตอนที่ฉีดยาก็จ้างเขา แม่ไม่ฉีดเองหรอก...กลัว มันเหม็นนะ ในสมัยก่อน หว่านหรือดำแล้วก็แล้วกัน ถ้าเป็นหนอนก่อตัวแดงๆ ก็พ่นสะเดา หรือเอากิ่งเอาใบยอ ใบคูณ ใบสะเดา ใบสาก เอามากองๆกันไว้ พอเย็น ลมพัดไปทางเหนือ ก็จุดไฟ ลมก็จะปวนในทุ่งนา ไล่เพลี้ยได้ หนอนก่อก็หาย ได้ผลดี ไม่เคยใช้ยาไปฉีดเลย พ่อแม่ก็ทำมาอย่างนั้น แต่พอระยะหลังๆ ที่ใช้สารเคมีกัน ก็ลองเอาแบบเดิม แต่ก็ไม่หาย

                     สารเคมี...อันตรายทั้งนั้น ผักเป็นยา ข้าวก็อันตราย

     ไม่เคยปวดหัว...ก็ปวด ไม่เคยปวดท้อง...ก็ปวด ไม่เคยปวดแข้งปวดขา...ก็ปวด แม่ก็รู้นะ พอได้ฟังข่าว เขาว่าสารเคมีเป็นอันตราย กินผักเหมือนกินยาเข้าไป...มีอันตราย

     ตอนนั้นแม่อายุได้ ๕๐ กว่าแล้ว เคยปวดท้อง เป็นหนักมาก ต้องไปนอนโรงพยาบาล ๓ คืน หมอบอกว่าเป็นเพราะสารเคมี ตอนนี้แม่จึงเลิกกิน ก็ดีแล้ว...ไม่เจ็บไม่ได้ไข้อะไรเลย"

     แม่สั้นเล่าความมาได้จังหวะยาวๆ แล้วก็หยุดพักตำหมากสักประเดี๋ยว แม่สั้นจึงตำหมากไปคุยไป จึงถามต่อไปว่า อายุปานนี้แล้ว มาเป็นนักเรียนชาวนาคิดอย่างไรละแม่

     "มาเป็นนักเรียนชาวนานี้...ตรงใจ เสียดายที่เมื่อแม่ยังเป็นสาวๆ...เมื่อก่อนก็ไม่มา มาแนะนำเมื่อตอนที่แม่จะหมดวัยแล้ว (หัวเราะ)

     เป็นนักเรียนชาวนา ยาไม่ต้องซื้อ ปุ๋ยก็ไม่ต้องซื้อ ลงทุนนิดๆหน่อยๆ อย่างนี้รวยได้ (หัวเราะ)"

     แม่สั้นตอบอย่างสั้นๆ เป็นคำตอบที่กินใจยิ่งนัก คิดว่าจะไม่ถามต่อแล้ว แม่สั้นตำหมากเสร็จพอดี ให้แม่สั้นนั่งเคี้ยวหมากดีกว่า ลมเย็นๆพัดมากระทบกายให้สบายๆ

 

หมายเลขบันทึก: 28821เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2006 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2012 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

คุณย่าอยู่ที่ไหนหรือค่ะ หนูก็ตระกูลจันทร์เงินค่ะ

นาย สลักจิต จันทร์เงิน

อยากรวมญาติชักวัน

กนกกาญจน์ จันทร์เงิน

ดีค่ะ ลูกหลานจะได้รู้จักบ้างว่าจันทร์เงินมีใครบ้าง อยู่ที่ไหนบ้างค่ะ

จันทร์เพ็ญ จันทร์เงิน

พี่สาวกนกกาญจน์ค่ะคุณย่าของเราสองคน...อยากเห็นหน้าคนนามสกุลจันทร์เงินทุกคน

สุรีรัตน์ จัทร์เงิน

ลูกหลานจัทร์เงินค่ะ

วรวิทย์ จันทร์เงิน

ผมก็ตระกูลจันทร์เงินคับ

คุณแม่ของหนู ก็นามสกุลจันทร์เงิน เหมือนกันค่ะ :D

ุถ้าพวกเรานัดรวมญาติ แบบเป็นตระกูลใหญ่ก็คงจะดีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท