เรียนรู้จากสื่อ เรื่อง การสังเคราะห์โปรตีน


ผมมีสื่อคอมพิวเตอร์ เรื่อง การสังเคราะห์โปรตีน(protein synthesis)อยู่ชุดหนึ่ง ทำเองกับมือเมื่อ   4-5 ปีที่แล้ว เหตุมาจากพี่ที่โรงเรียนแนะนำโปรแกรม swish ให้รู้จัก โดยบอกว่าสามารถสร้างสื่อการเรียนการสอนได้ดี สร้างภาพเคลื่อนไหวได้ แปลงไฟล์นำเสนอบนเว็บไซต์ได้ อีกทั้งนำเสนอเป็นวีดิทัศน์ก็ได้ด้วย ฟังแล้วน่าสนใจมาก จึงศึกษา ลองทำ ลองเล่น พอรู้แนวทาง เลยคิดจะทำสื่อการเรียนการสอน ด้วยโปรแกรมดังกล่าวขึ้นมา

การเรียนการสอนชีววิทยาบางเรื่อง นักเรียนต้องอาศัยจินตนาการเป็นอย่างมาก เพราะไม่สามารถเห็นจริง ภาพตัวอย่างมักเป็นภาพนิ่ง เข้าใจยาก เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับ DNA ไม่ว่าจะเป็น การจำลองตัวเองของ DNA การสังเคราะห์ RNA หรือการคัดลอกรหัส รวมทั้ง การแปลรหัสในการสังเคราะห์โปรตีน ผมจึงตั้งใจจะทำสื่อคอมพิวเตอร์ เพื่อแสดงภาพเคลื่อนไหวเรื่องต่างๆเหล่านี้ไว้ใช้สอนนักเรียน สุดท้ายมาลงตัวที่เรื่อง การสังเคราะห์โปรตีน ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ 2 ขั้น ได้แก่ การคัดลอกรหัส(Transcription) และการแปลรหัส(Translation)

ผมทำเสร็จ แบบไม่เสร็จดี ด้วยด้อยความรู้เรื่องเทคนิคโปรแกรม แต่ก็ได้ทดลองใช้สอนนักเรียนชั้น ม.6 ซึ่งเรียนเรื่องนี้จนได้ ปรากฏว่าได้ผลดีครับ คะแนนที่นักเรียนทำแบบทดสอบค่อนข้างดี เคยลองใช้สถิติ T-test วิเคราะห์ ผลก็ออกมาดี แตกต่างอย่างมีนัยยะระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน ซึ่งเคยนำเสนอที่ gotoknow แห่งนี้ในช่วงนั้น รวมถึงสาขาชีววิทยา สสวท. ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์สื่อนี้ทางเว็บไซต์ สื่อนี้จึงถูกนำไปใช้ในหลายโรงเรียนแล้ว ในรูปของวีดิทัศน์ เพราะผมเป็นคนแนบไฟล์ส่งให้ทางอีเมล์ด้วยตัวเอง

สำหรับโรงเรียนผม ใช้สอนอีกสองสามครั้งในปีการศึกษาต่อๆมา โดยเมื่อปีล่าสุดไม่ได้ใช้ เพราะติดขัดเรื่องเวลา รวมทั้งห้องคอมพิวเตอร์โรงเรียนผม ไม่สะดวกที่จะให้นักเรียนใช้สื่อในวิชาอื่นๆมากนัก เพราะลำพังการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์เอง ไม่ว่าจะเป็นสาระการเรียนรู้พื้นฐานหรือเพิ่มเติมตามหลักสูตร ก็ต้องใช้ห้องอย่างเต็มเหยียด แทบจะไม่มีเวลาว่างอยู่แล้ว

การเรียนการสอนชีววิทยาชั้น ม.6 ในปีการศึกษานี้ วนมาถึงรอบที่ต้องเรียน เรื่อง การสังเคราะห์โปรตีนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ผมสอนอย่างนี้ครับ แบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเลขคี่ อีกกลุ่มเลขคู่ กลุ่มเลขคี่เรียนด้วยสื่อคอมพิวเตอร์ก่อนเลย ส่วนกลุ่มเลขคู่ช่วงที่รอเลขคี่เรียน อ้อ! ที่ผมเล่าๆมา ผมมีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของโรงเรียนให้นักเรียนใช้ร่วมกันอยู่เครื่องเดียวครับ  ระหว่างที่กลุ่มเลขคี่เรียน กลุ่มเลขคู่ ต้องไม่รอเฉยๆ ทุกคนต้องศึกษาสาระสำคัญของการสังเคราะห์โปรตีนจากหนังสือเรียน หมายถึง กลุ่มเลขคี่ใช้สื่อคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้ศึกษาเนื้อหาสาระก่อน แต่เลขคู่จะมีโอกาสศึกษาเนื้อหาสาระมาก่อนแล้ว

ภาพบรรยากาศการเรียนการสอนในห้อง ระยะเวลาทั้งหมดสองชั่วโมงครับ ฉะนั้น จะมีโอกาสเรียนรู้ประมาณกลุ่มละหนึ่งชั่วโมงพอดี

นักเรียนตั้งใจที่จะเรียนรู้ดีมากครับ ผลคะแนนจากการทำแบบทดสอบก่อนและหลังเรียน 10 ข้อ ออกมาอย่างนี้ กลุ่มเลขคี่ ซึ่งไม่ได้ศึกษาเนื้อหาสาระก่อน ได้คะแนนเฉลี่ยก่อนเรียน 2.20 และหลังเรียน 8.00 กลุ่มเลขคู่ ซึ่งศึกษาเนื้อหาสาระมาก่อนแล้ว ได้คะแนนเฉลี่ยก่อนเรียน 6.71 และหลังเรียน 7.64 คะแนนดังกล่าวพอบอกได้ว่า สื่อคอมพิวเตอร์สามารถพัฒนาการเรียนรู้ เรื่อง การสังเคราะห์โปรตีน ให้นักเรียนได้

และเมื่อลองพิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้น ด้วยการเทียบเฉพาะคะแนนก่อนเรียนของทั้งสองกลุ่ม กลุ่มเลขคี่ ซึ่งไม่ได้ศึกษาเนื้อหาสาระก่อนได้ 2.20 ส่วนกลุ่มเลขคู่ ซึ่งศึกษาเนื้อหาสาระมาก่อนแล้วได้ 6.71 ตัวเลขทั้งสองน่าจะยืนยันนักเรียนได้ว่า ควรศึกษาเนื้อหาสาระมาก่อนเรียน

ผมสรุปการจัดการเรียนการสอนของตัวเองครั้งนี้ว่า ต้องพยายามใช้สื่อ แต่ว่าจะทำอย่างไรดี..นักเรียนจึงจะอ่านหนังสือมาล่วงหน้าก่อนเรียน  

หมายเลขบันทึก: 286724เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2009 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • เรื่องสื่อที่เป็นคอมพิวเตอร์สำคัญนะครับ
  • มีเครื่องเดียว
  • เลยลำบาก
  • ฉายขึ้น LCD ในห้องโสตฯได้ไหมครับ
  • การที่จะให้นักเรียนอ่านก่อนมาเรียน
  • คงต้องใช้คะแนนล่อ
  • ประมาณว่า บอกว่าจะทดสอบ
  • ตรงที่ต้องการให้อ่านก่อนมาเรียน
  • ลองดูนะครับ
  • ผมพยายามหลายๆวิธีครับ เรื่อง ให้นักเรียนอ่านหนังสือมาก่อนเรียน..แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
  • นักเรียนบางคนไม่สนคะแนนครับ..จริงๆนะครับ(ขอย้ำๆ)(ฮา)
  • ปัจจุบันก็ทดลองกับอีกวิธีหนึ่งกับม.4และม.5 ได้ผลเป็นประการใด จะนำมาเล่าให้ฟังอีกครั้งครับ
  • ขอบคุณข้อคิดเห็นของอ.ขจิตมากครับ

แต่ว่าจะทำอย่างไรดี..นักเรียนจึงจะอ่านหนังสือมาล่วงหน้าก่อนเรียน  

                        สู้ ๆ  ครับ

  • อาจเป็นเพราะ ผมต้องเหมาสอนนักเรียนตั้งแต่ ม.4-ม.6 เลย หมายถึง ต้องสอนต้องเรียนด้วยกัน 6 เทอมติดต่อ..
  • ปัญหาบางอย่างจึงแก้ยาก ทั้งที่ไม่น่ายาก ใหม่ๆก็ดีครับ นานๆไปชักชิน แบบเดิมอีกแล้ว นักพฤติกรรมเรียกความเคยชิน(ฮา)
  • ขอบคุณรองฯวิชชาครับ

สวัสดีค่ะคุณครู ICT เต็มรูปแบบ ที่โรงเรียนสาระวิทย์เพิ่งติดโปรเจ็คเตอร์เดินหน้าโรงเรียนดีใก้ลบ้านค่ะ เป็นเต่าต้วมเตี้ยม..คริ...คริ...

  • โรงเรียนดีใกล้บ้าน..ทำให้ICTพัฒนา เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน
  • อยากให้โรงเรียนผมเป็นโรงเรียนดีใกล้บ้านบ้างจัง ทำไงดี? 
  • ขอบคุณอ.rindaครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท