เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

“ไซ” เครื่องมือจับปลาภูมิปัญญาคนไทยของชาวบ้าน ต.เพชรชมภู อ. โกสัมพีนคร จ. กำแพงเพชร


ในอดีต วิถีชีวิตของชาวบ้าน เมื่อเสร็จจากฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว ชาวบ้านมักมีเวลาว่าง

จากการทำนา จึงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยการประกอบอาชีพต่างๆ เพื่อเสริมรายได้ของพวกเขา เช่น  ทำไร่ทำสวนและการหาปลา โดยออกหาปลาตาม ห้วย หนอง คลอง บึง มีการใช้เครื่องมือดักปลา
                           ไซ  เป็นเครื่องจักสานใช้สำหรับดักจับปลาที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทย  โดยใช้ไซซึ่งมีงา ติดไว้ทั้งสองตอนปลาสามารถว่ายน้ำเข้าไปได้แต่ออกไม่ได้   ไซลูกหนึ่งจะมีงา   งา  คือ  งาขึ้นดักปลาที่ว่ายทวนน้ำ จะหันปากไปหาก้นไซ  และงาลงใช้ดักปลาที่ลงมาตามน้ำ  จะหันปากไปทางปากไซ  งาทั้งสอง

จะอยู่เยื้องกัน  ใส่ถัดจากไม้โขนงข้างละประมาณ  ๒๐   ซม.  ขนาดของงาไซจะขึ้นอยู่กับขนาดใหญ่-เล็กของไซ  ที่ปากไซ  จะใช้กะลามะพร้าวปิดไว้  แล้วขัดไขว่ด้วยไม้ไผ่เล็ก ๆ   อัน  เวลาที่เทปลาออกมาจากไซ

ก็จะเปิดปากออก  และปิดไว้อย่างเดิมนำไซไปวางดักไว้ตามห้วย  หนอง  หรือคลอง  ที่มีการไหลของน้ำตลอดเวลา โดยวางในแนวเหนือน้ำเพราะปลาจะว่ายทวนน้ำ  หาไม้มาปักให้ไซติดอยู่กับที่ เพราะแรงของน้ำที่ไหลอยู่ตลอดเวลานั้นอาจจะสามารถทำให้ไซลอยน้ำไปได้เมื่อดักเสร็จแล้วก็ต้องคอยไปดูว่ามีปลาเข้ามาติดในไซหรือไม่ ถ้ามีปลาอยู่ในไซก็เอาปลาออกแล้วสามารถดักต่อไปอีกได้   ด้วยความอุดมสมบูรณ์เพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ  เมื่อครั้งสมัยโบราณ  กุ้ง  หอย  ปู    ปลา  สามารถที่จะหากินได้โดยง่าย  เพียงแต่ใช้ไซ  ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ดักจับสัตว์น้ำ แบบง่าย   ก็จะได้ปู ปลาต่าง ๆ  มาเป็นอาหารอย่างไม่ยากเลย
                           ตำบลเพชรชมพู อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ในอดีตเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ตามห้วย หนอง คลอง บึง เป็นแหล่งของสัตว์น้ำที่ชาวบ้านสามารถหาอาหารได้เป็นอย่างดี  ชาวบ้านตำบลเพชรชมพู จึงได้จักสานเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่เรียกว่า ไซ ไว้ใช้กันอย่างแพร่หลาย   

ชนิดของไซที่ทำ คือ ไซสองหน้า หรือไซสองงา  เนื่องจากมีงาอยู่   ด้าน จึงเรียกว่า

ไซสองหน้า  หรือ ไซสองงาสานด้วยผิวไม้ไผ่เป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมต่าง ๆ มีรูปทรงกลม  ก้นด้านบนจะคอดเหมือนคอขวด มีฝาปิดเปิดเอาปลาออก เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ปากกว้าง มีความยาวประมาณ  ๑ เมตร ใช้ดักปลาในน้ำนิ่ง และน้ำตื้น

   

                             ไซ เป็นเครื่องจักสานประเครื่องดักจับสัตว์น้ำที่มีความสำคัญ  และมีคุณค่าต่อวิถีชีวิตของคนในตำบลเพชรชมภู  ในอดีต ทุกบ้านจะทำไซไว้ใช้เอง  โดยจะนำไซไปดักไว้ตามคลองที่น้ำไหลผ่าน  ซึ่งสถานที่ดักก็จะมีอยู่ทั่วไปตามไร่ตามนา  ในฤดูฝนมีน้ำหลาก  ชาวบ้านออกไปทำไร่  ทำนา  ก็จะนำไซไปดักทิ้งไว้ด้วย  ก็จะได้ปู  ปลาต่าง ๆ  มากมาย  บางครั้งอาจยกไซไม่ได้เนื่องจากหนักเพราะดักปลาได้เกือบเต็มไซ  ปลาที่ได้ก็จะนำไปประกอบอาหารสำหรับทุกคนในครอบครัว  แบ่งปันให้เพื่อนบ้านบ้าง  โดยไม่ต้องซื้อขายกัน  ที่เหลือก็จะนำมาถนอมอาหารเช่น  ทำปลาร้า  ปลาเค็ม  ปลาย่าง  เก็บไว้กินยามฤดูแล้ง  ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ที่สามารถหาปลากินได้อย่างเหลือเฟือ  เป็นที่มาของความเชื่อในเรื่องโชคราง  ชาวบ้านตำบลเพชรชมภู มีความเชื่อว่าไซ  เป็นเครื่องรางที่จะช่วยดักเงินทอง  โชคลาภได้  จึงมักจะนำไซไปแขวนไว้ตามหน้าร้านค้า  ประตูบ้าน  หรือใช้ผูกเสาเอกในพิธีลงเสาเอกบ้านเรือน  เพื่อความเป็นสิริมงคลดังกล่าว

                           ในปัจจุบัน ชาวบ้านตำบลเพชรชมภู  กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร  ไม่ได้ทำไซ  ไว้ใช้ดักปลาทุกบ้านเหมือนแต่ก่อน   ผู้จักสานไซเป็นเหลืออยู่ไม่มาก  และไม่ได้ถ่ายทอดให้แก่ลูกหลาน  เพราะไซไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน   ด้วยเหตุผลต่าง ๆ  เช่น  ไม่มีสถานที่สำหรับดักปลาเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพไปแล้ว  ปัจจุบันปริมาณปลามีไม่มาก  ซื้อจากตลาดสะดวกกว่ามีปลาให้เลือกมากมาย  ไม่มีเวลาเพราะต้องไปประกอบอาชีพที่อื่น  การดักไซไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป  เป็นต้น  ปัจจุบัน ไซ จึงเป็นเครื่องจักสานที่ไม่มีความสำคัญ  ต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน  เหลือเพียงตำนาน หรือคำบอกเล่าของพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เล่าให้ฟังว่าเคยไซดักปลาได้อาหารอย่างเหลือเฟือ  ด้วยความอุดมสมบูรณ์  ซึ่งไม่อาจจะหวนกลับคืนมาได้อีก

 

 

ประสพสุข  กันภัย

นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ

หมายเลขบันทึก: 286716เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2009 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณนะคะ

แอบมากู้ไซโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอ copy ทั้งหมดเพื่อการศึกษาค่ะ

ครูวิไล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท