๒.ความหมายของการประเมินเสริมพลัง


การประเมินแบบเสริมพลัง อาศัยหลักการทำงานเป็นทีม โดยไม่มีใครเสริมพลังให้กับใครได้ แต่ทุกคนต้องเสริมพลังให้กับตนเอง

         Fetterman (1996, 1999)  ได้ให้คำนิยามการประเมินแบบเสริมพลังไว้ดังนี้

         (1)  การประเมินแบบเสริมพลังเป็นการใช้มโนทัศน์ของการประเมิน เทคนิคการประเมินและข้อค้นพบจากการประเมินไปกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงการกำกับตนเองโดยใช้ทั้งวิธีการเชิงปริมาณและคุณภาพ 

        (2) การประเมินแบบเสริมพลังเป็นกระบวนการที่กระทำเพื่อช่วยให้กลุ่มบุคคลต่าง ๆ ช่วยตนเองและพัฒนาตนเองโดยใช้วิธีการประเมินตนเองและสะท้อนผลแก่ตนเอง

       กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในการทำงานประกอบด้วยบุคลากรภายในซึ่งทำการประเมินผลด้วยตนเอง และนักประเมินภายนอกจะทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะหรือผู้อำนวยความสะดวก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของบุคลากรภายในว่าต้องการความช่วยเหลือในระดับใด  การประเมินแบบเสริมพลังอาศัยหลักการทำงานเป็นทีมหรือเป็นกลุ่ม โดยไม่มีใครเสริมพลังให้กับใครได้ แต่ทุกคนต้องเสริมพลังให้กับตนเอง  ดังนั้นการประเมินแบบนี้ มิได้จบลงแค่การทราบคุณค่าของการประเมินเหมือนการประเมินแบบเก่า  แต่การประเมินต้องเป็นกระบวนการทำงานที่ต่อเนื่อง ดำเนินต่อไปตลอดระยะของการพัฒนาโครงการ

        เมื่อกล่าวถึงแนวคิดการประเมินเสริมพลังจะมีแนวคิดการประเมินอีกแนวคิดหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกัน คือ การประเมินแบบมีส่วนร่วม (participatory evaluation)  เพราะการประเมินแบบเสริมพลังก็เน้นการมีส่วนร่วมของบุคลากรในหน่วยงานเช่นกัน อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์ พบว่า การประเมินแบบเสริมพลังอำนาจก็มีจุดเหมือนจุดที่แตกต่างกับการประเมินแบบมีส่วนร่วม โดยประเด็นความเหมือนของทั้งสองแนวคิดประการแรกคือ การนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน  มีการร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์ของผลการประเมิน  ประการที่สอง ผู้ประเมินมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกไม่ใช่เป็นผู้ตัดสินเกี่ยวกับการประเมิน  เป็นการตัดสินร่วมกันระหว่างผู้ประเมินและผู้มีส่วนร่วม ประการที่สาม มีจุดมุ่งหมายเหมือนกันคือทำให้บุคลากร องค์กรเกิดความชัดเจน  (illumination)  ในตนเอง และประการสุดท้าย มีการให้ความรู้ในการประเมินแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้มีส่วนร่วม  ส่วนประเด็นความต่างของทั้งสองแนวคิด ประการแรกคือ ระดับการเสริมพลังอำนาจในการกำหนดตนเองของผู้มีส่วนร่วม การประเมินแบบเสริมพลังอำนาจมุ่งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกำหนดตนเองได้โดยอิสระหรือเข้มข้นกว่า ส่วนการประเมินแบบมีส่วนร่วมเน้นการเข้ามามีส่วนร่วม มิได้มุ่งให้เกิดการกำหนดตนเองมากนัก  ประการที่สอง ระดับการควบคุมการตัดสินใจเกี่ยวกับการประเมิน การประเมินแบบเสริมพลังอำนาจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นผู้ควบคุม ส่วนการประเมินแบบมีส่วนร่วมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ประเมินร่วมกันควบคุมอย่างสมดุล  (Cousins, 1996)

อ้างอิง

Fetterman, D.M.  (1999). Empowerment  evaluation[Available  online at: http//www.standford.end/~davide]

Fetterman, D. M. (1998). Empowerment  evaluation: Collaboration, Action  Research, and A  Case  Example. 

               [Available online at : ]

Fetterman, D. M. (1996). Empowerment  evaluation: An introduction  to theory and practice.  In Fetterman

              ,D.M.,Kaftarian,S.J. and Wandersman,A. (Eds.). Empowerment evaluation: Knowledge and tools for  

               self-assessment & accountability. Thousand Oaks,CA:Sage.

Cousins, J. B.,Donohue,J.J. and Bloom,G.A. (1996). Collaborative evaluation in North  America: evaluators’ self-

               reported opinions. Evaluation Practice. 17(3), 207-226.

Cousins, J. B. and Earl,L.M. (1992). The case for  paticipatory evaluation. Educational Evaluation and  Policy

               Analysis. 14, 397-418.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 286565เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2009 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เป็นความรู้ที่ดีค่ะ
  • สามารถนำไปใช้ได้จริงในวิชาชีพค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับความรู้ดี ๆ ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท