โอเมกา3ชั้นเทพมาจากปลา+พืช


 

...

อ.นพ.เกบ เมียคินตีพิมพ์ในเว็บไซต์ว่า น้ำมันชนิดดีพิเศษ คือ โอเมกา-3 ช่วยป้องกันโรคหัวใจ และโรคภัยอีกมากมาย ทว่า... ถ้าจะให้ดีกับสุขภาพแล้ว คนเราควรได้รับโอเมกา-3 ทั้งจากปลาและพืช เช่น ข้าวกล้อง ฯลฯ [ drmirkin ]

โอเมกา-3 อยู่ในกลุ่มกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง ทำให้ตัวมันเองมีความบอบบาง หรือถูกทำลายง่ายกว่าไขมันชนิดอื่น เช่น ไม่ทนความร้อนสูงจากการทอด ไม่ทนต่อการทำลายจากออกซิเจน ฯลฯ

...

ธัญพืชไม่ขัดสี (whole grain; whole = ทั้งหมด; grain = ธัญพืช) เช่น ข้าวกล้อง ฯลฯ มีวิตามิน E สูง ช่วยปกป้องโอเมกา-3 ที่มีอยู่ไม่ได้เสื่อมสภาพ หรือเกิดการหืน (rancid = มีกลิ่นบูด มีกลิ่นหืน)

ปลามีโอเมกา-3 สูง แต่ไม่มีวิตามิน E ทำให้ปลามีกลิ่นหืน หรือกลิ่นคาวปลาได้เร็วกว่าอาหารชนิดอื่นๆ (กระบวนการนี้ คือ การถูกทำลายด้วยออกซิเจน หรือออกซิไดซ์ - oxidized)

...

การศึกษา 3 รายงานใหญ่พบว่า โอเมกา-3 จากปลาช่วยป้องกันโรคหัวใจ และโรคภัยไข้เจ็บ เช่น ข้ออักเสบ สะเก็ดเงิน ฯลฯ

การศึกษาเร็วๆ นี้พบว่า โอเมกา-3 (alpha linoleic acids) ในเมล็ดพืช นัทหรือถั่วเปลือกแข็งกระเทาะเปลือก เช่น อัลมอนด์ ฯลฯ ถั่ว ผักใบเขียว และธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ฯลฯ มีความจำเป็นพอๆ กับโอเมกา-3 จากปลาในการป้องกันโรคหัวใจ

...

โอเมกา-3 ในน้ำมันปลามีโมเลกุลเป็นแบบสายยาว (long chain) ทำให้การดูดซึมเข้าไปในเซลล์ และออกฤทธิ์ทำได้ได้เร็วกว่าแบบสายสั้น

ส่วนโอเมกา-3 ในพืชมีโมเลกุลสั้นกว่า ทว่า... ร่างกายคนเราสามารถเปลี่ยนเป็นแบบสายยาวได้

...

ทีนี้ถ้ากินแต่โอเมกา-3 จากปลา... ร่างกายจะได้โอเมกา-3 แบบที่ไม่มีวิตามิน E หรือสารต้านอนุมูลอิสระมากพอ ทำให้โอเมกา-3 เสื่อมสภาพ หรือเกิดการ "หืน" ขึ้นจากออกซิเจนในร่างกาย

ตัวอย่างเช่น น้ำมันปลามีวิตามิน E ต่ำมาก ขณะที่น้ำมันจากพืชมีวิตามิน E สูงมาก ทำให้โอเมกา-3 จากปลาใช้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ อยู่ได้ไม่นานก็เสื่อมสภาพไป

...

ดังนั้นโอเมกา-3 ที่ร่างกายเก็บสำรองไว้ในเนื้อเยื่อไขมันส่วนใหญ่ จึงเป็นโอเมกา-3 จากพืช

ไขมันในอาหารแบ่งเป็น 4 กลุ่มได้แก่ ไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว และไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง

  • (1). ไขมันทรานส์ > พบมากในอาหารจากโรงงาน เช่น เบเกอรี เนยขาว ขนมกรุบกรอบ ฟาสต์ฟูด เนยเทียม ครีมเทียม (คอฟฟีเมต) ฯลฯ > มีอันตรายมากที่สุด
  • (2). ไขมันอิ่มตัว > พบมากในกะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม มันสัตว์ น้ำมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมู ฯลฯ > มีอันตรายมาก
  • (3). ไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (โอเมกา-9) > พบมากในน้ำมันมะกอก คาโนลา รำข้าว ถั่วลิสง เมล็ดชา > ควรเลือกใช้น้ำมันพืชกลุ่มนี้ในการปรุงอาหาร (ยกเว้นน้ำมันมะกอก ใช้ผัดความร้อนต่ำได้ ไม่ควรใช้ทอด)
  • (4). ไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (โอเมกา-3,6) > พบมากในน้ำมันพืชที่ไม่ได้อยู่ในข้อ (2)+(3)

...

โอเมกา-3 ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ความดันเลือดสูง โดยการป้องกันไม่ให้เลือดเกิดก้อนลิ่มเลือดง่ายเกินไป และทำให้หลอดเลือดทำงานได้ดีขึ้น

ช่วง 150 ปีที่ผ่านมา... คนเรากินน้ำมันข้าวโพด ทานตะวัน ดอกคำฝอย เมล็ดฝ้าย และถั่วเหลืองมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ได้รับโอเมกา-6 มากเกิน

...

วิธีกินอาหารให้ได้โอเมกา-3 มากพอ คือ กินปลาที่ไม่ผ่านการทอดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง กินผักใบเขียว เมล็ดพืช เช่น แฟลกซีด ฟักทอง ฯลฯ...

เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง หรือขนมปังขาวเป็นขนมปังโฮลวีท (เติมรำ) อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง กินถั่วหลายๆ ชนิด และนัท (nuts = เมล็ดพืชเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ ฯลฯ)

... 

ภาษาอังกฤษสบายๆ สไตล์เรา                   

หัวข้อเรื่องนี้คือ 'Omega-3s from plants.' = "โอเมกา-3 (หลายชนิด เติม 's') จากพืช (หลายชนิด)"

คลิกลิ้งค์ > ลำโพง/ธงชาติ > ฟัง + ออกเสียงตาม 3 รอบ + ย้ำเสียงที่พยางค์แต้มสี

ตัวอย่าง

  • This fish is rancid. Its smell is bad. = ปลาตัวนี้ (มีกลิ่น) เหม็นคาว. กลิ่น (smell = กลิ่น) ของมันไม่ดี.
  • Omega-3s from fish are not stable. They are easily rancid. = โอเมกา-3 จากปลาไม่เสถียร (stable = คงรูปหรือคงสภาพเดิมไว้ได้นาน เสถียร อยู่ตัว ไม่เสื่อมสภาพง่าย). มันเหม็นหืน (เสื่อมสภาพ) ได้ง่าย.

...

การที่โอเมกา-3 ในปลาถูกทำลายจากออกซิเจนในอากาศ หรือออกซิเจนในร่างกายได้ง่าย ทำให้การกินปลาที่สดใหม่ หรือน้ำมันปลาที่ไม่ถูกออกซิเจน เช่น น้ำมันปลา ปลากระป๋อง (ปกติจะผ่านความร้อนในท่อ เติมเครื่องปรุง ดูดอากาศที่มีออกซิเจนออก ใส่ไนโตรเจนเข้าไปแทน) มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าปลาที่เก่า หรือมีกลิ่นหืน

การทอดจะทำให้น้ำมันปลาซึมออกไปในกระทะ น้ำมันที่ใช้ทอดซึมเข้าไปในเนื้อปลา ทำให้ได้รับน้ำมันปลาน้อยลงไปมาก การกินปลาที่ไม่ได้ผ่านการทอดทำให้ได้โอเมกา-3 จากปลาสูงกว่าปลาทอด 

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ 

 ติดตามบล็อกของเราได้ทาง [ Tweeter ] > Thank drmirkin

ที่มา                                                                      

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > 12 สิงหาคม 2552.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

หมายเลขบันทึก: 286558เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2009 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท