ทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องมือแข่งขันในตลาดโลก


เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วย Creative Products

กังหันน้ำชัยพัฒนา ในโครงการพระราชดำริ

เมื่อก่อนได้ยินคำว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" มักเข้าใจว่ามีความหมายนัยยะของกฎหมาย เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ของผู้อื่น
ความจริงแล้ว ความหมายมันมีมากกว่านั้น ในทางกฎหมาย ทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Intellectual Property หมายถึงประเภทของการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า แผนภูมิวงจรรวม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พันธุ์พืช ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย  ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (เริ่มใช้ปี 2553) ระบุว่า รัฐมีนโยบายในการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ( Creative Economy)  เน้นพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ส่งเสริมงานฝีมือและพัฒนาสินค้าเชิงสร้างสรรค์ ( Creative Products) รวมถึงส่งเสริมการออกแบบและการวิจัยและพัฒนา  เหล่านี้ล้วนเป็นงานใช้ความคิดสร้างสรรค์และใช้ปัญญาทั้งสิ้น

สำหรับ ลิขสิทธิ์ เป็นการคุ้มครองงานที่เกิดจากสร้างสรรค์  เป็นต้นว่า งานวรรณกรรม หนังสือ นวนิยาย บทความ งานวิจัย งานนาฎกรรม รำฟ้อนต่างๆ งานดนตรี ทำนองเพลง งานภาพยนตร์ ฯ ซึ่งงานประเภทนี้ผู้สร้างสรรค์จะได้รับสิทธิ์คุ้มครองทันทีโดยอัตโนมัติ เมื่อมีการสร้างสรรค์งานนั้นขึ้น  (อ้างอิงจาก พรบ ลิขสิทธิ์ 2537)  ส่วนสิทธิบัตร เป็นการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ ที่ต้องมีการจดทะเบียน เพื่อป้องกันการละเมิดหรือนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีอายุการคุ้มครอง 20 ปี แต่ถ้าเป็นอนุสิทธิบัตรมีอายุการคุ้มครอง 6 ปี

สิ่งประดิษฐ์ที่เราอาจเคยเห็นในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา ของมูลนิธิชัยพัฒนา ส่วนทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น เช่น พันธุ์พืช ทั้งพันธุ์พืชพื้นเมืองและที่ปรับปรุงขี้นมาใหม่ เช่น ข้าวหอมมะลิ  กล้วยไม้ตามชื่อพระนาม เช่น แคทลียา ควีนสิริกิติ์ รองเท้านารีพริ้นเซสสังวาลย์

    

      แคทลียาควีนสิริกิตต์                      ไข่เค็มไชยา                                  กล้วยตากบางกระทุ่ม 

 

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ก็อย่างเช่น สินค้าพื้นบ้าน OTOP ของไทย บ่งบอกชื่อที่ผลิต อย่าง มะขามหวานเพชรบูรณ์ ไข่เค็มไชยา ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กล้วยตากบางกระทุ่ม  เครื่องหมายการค้าและบริการ เช่น ตรารับรองเชลล์ชวนชิม  เครื่องหมายสินค้าเป็ปซี่ สัญญลักษณ์ของการบินไทย ฯ

     


จากการที่ผู้เขียนได้อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอเมริกา พบว่า ประเทศสหรัฐอเมริกามีการวางรากฐานการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน  เพราะการค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี จะนำมาซึ่งการพัฒนาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ๆ และกลายเป็นสินค้าที่สามารถส่ร้างมูลค่าในการแข่งขันในตลาดโลกได้  และยังมีการส่งเสริมการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ทุกระดับการศึกษา ซึ่งของไทยนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ได้ทรงส่งเสริมและสนับสนุนการส่งนักเรียนเข้าแข่งขันโอลิมปิกทางวิชาการมานานหลายสิบปีแล้ว

นอกจากนี้ในระดับอุดมศึกษาของสหรัฐได้มีการกำหนดเป็นนโยบายครบวงจร ตั้งแต่การสร้างสรรค์งานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการนำงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์  โดยร่วมทุนกับภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเอกชน ซึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาได้เริ่มทำมานานแล้ว และในสถาบันอุดมศึกษาของไทยก็ได้นำแนวทางมาปฏิบัติ ดังเช่นการจัดตั้ง หน่วยงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย  สำนักงานถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี หรือศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ   ทั้งยัง มีการสนับสนุนและจูงใจให้อาจารย์และนักวิจัยทำงานวิจัยมากขึ้น โดยการมีนโยบายแบ่งผลประโยชน์และรายได้ที่ได้จากการวิจัยอย่างชัดเจน จัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการวิจัยที่ทันสมัย  การอนุญาตให้อาจารย์สามารถทำธุรกิจกับภาคเอกชนหรือเป็นที่ปรึกษาเพื่อประโยชน์ทางด้านวิชาการ  เช่น มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นต้น

ในส่วนของภาครัฐเอง สมัยประธานาธิบดี George W. ฺBush ได้ประกาศว่า รัฐบาลจะมุ่งมั่นนำประเทศก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งนวัตกรรมอเมริกันและรักษาความเป็นผู้นำโลกด้านเศรษฐกิจบนฐานการแข่งขันและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เมื่อปี คศ. 2006   มาตรการหนึ่งที่น่าสนใจปรากฎใน ยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอเมริกัน (American Competitibeness Initiative -ACI) คือ การส่งเสริมการวิจัยโดยการเพิ่มงบประมาณในโครงการวิจัยโดยเฉพาะสาขาใหม่ๆ เช่น นาโนเทคโนโลยี ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ พลังงานทดแทน

แม้กระเทศเรายังห่างไกลเขา แต่ก็เป็นที่น่ายินดีอย่างหนึ่ง เมื่อได้เห็นข่าวนักเรียนไทยได้รับรางวัลการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ สาขาต่างๆ มากมายหลายรางวัลในแต่ละปี ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้  หากยังต้องการการส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันโดยภาครัฐอย่างจริงจัง และต้องพัฒนาตั้งแต่การศึกษาระดับต้นๆ ให้เด็กไทยรู้จักคิด และสร้างสรรค์ผลงาน นวัตกรรมใหม่ๆ โดยการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สร้างนิสัยให้รู้จักตั้งคำถาม ค้นคว้าวิจัยและรักการเรียนรู้ให้มากขึ้น


ท้ายนี้ไม่รู้จะเกี่ยวกันหรือเปล่า แต่ผู้เขียนเห็นแรงบันดาลใจจากงานประดิษฐ์ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ อย่างเช่น ราชาเพลงป๊อปผู้ล่วงลับ ไมเคิล แจ๊คสัน เขาก็มีนวัตกรรมชิ้นหนึ่งที่ได้รับการจดสิทธิบัตรไว้ด้วยคือ  “รองเท้าต้านแรงโน้มถ่วง” (anti-gravity shoes) ซึ่งนวัตกรรมการออกแบบรองเท้าดังกล่าวได้รับสิทธิบัตรจากสำนักสิทธิบัตรสหรัฐฯ โดยได้รับหมายเลขสิทธิบัตร (Patent number) 5,255,452 เมื่อ 26 ต.ค.2536

 

ท่าเอนเอียงตัว 45 องศากับพื้น
ซึ่งปรากฏในเพลง Smooth Criminal
หลายคนเดาว่ามีการฝังแม่เหล็กไว้ที่พื้นเวที
แต่ที่จริงแล้วในสิทธิบัตรบอกรายละเอียดว่า .. เป็นรองเท้าแบบพิเศษ ที่ช่วยกระชับข้อเท้า
แต่เอาผ้ามาคลุมให้เหมือนเป็นถุงเท้า ที่พื้นรองเท้าเจาะใส่ร่องโลหะ สำหรับไว้ล็อคกับหมุดโลหะเล็ก ๆ
ซึ่งติดตั้งโผล่มาจากพื้นเวที  แต่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

  

สามารถเข้าไปอ่านสิทธิบัตรของเขาได้ที่ http://www.google.com/patents?vid=USPAT5255452 หรือค้นหาคำว่า anti-gravity illusion

น่าทึ่งมากๆ เลยค่ะ  นอกจากเขาจะเป็นอัจฉริยะด้านดนตรีแล้ว ยังเป็นอัจฉริยะในการประดิษฐ์คิดค้นอีกด้วยแต่เด็กไทยและคนไทยเราก็ทำได้  ถ้าเราส่งเสริมให้ความรู้ และปลูกฝังเสียตั้งแต่วันนี้นะคะ ไม่แน่อนาคตอาจจะมีคนไทยมีชื่อเสียงดังก้องโลกบ้างก็ได้

 

ขอขอบคุณแหล่งอ้างอิง

OKNation Blog  http://www.oknation.net/blog/tnitaram/2009/07/30/entry-1

Mcot Blog  http://blog.mcot.net/peerapon/page2/&thisy=&thism=&thisd=

ชนิตา รักษ์พลเมือง.(2550). รายงานการวิจัยเรื่องการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาในสถาบันการศึกษาของสหรัฐอเมริกา. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

ขอแนะนำ หลักสูตรทรัพย์สินทางปัญญา สามารถลงทะเบียนเรียนได้ฟรี ที่ http://iptraining.moc.go.th หรือ http://www.iptraining.org  ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา

  

หมายเลขบันทึก: 286555เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2009 19:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท