ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา
เทคโนโลยีสามารถนำไปใช้ได้ในทุกวงการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่เว้นแม้แต่วงการทางการศึกษา ทั้งนี้เพื่อช่วยปรับปรุงระบบต่างๆ ของการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการศึกษาเราเรียกว่า “ เทคโนโลยีการศึกษา ” ( Education Technology ) มีผู้ให้ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาไว้หลายความหมายด้วยกัน ดังนี้
เทคโนโลยีการศึกษา หมายถึง การนำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อการออกแบบและส่งเสริมระบบการเรียนการสอน โดยเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน มีการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนมากกว่ายึดเนื้อหาวิชา มีการใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติโดยผ่านการวิเคราะห์และการใช้โสตทัศนูปกรณ์ รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ สื่อการสอนประเภทต่างๆ ในลักษณะของสื่อประสมและการศึกษาด้วยตนเอง เทคโนโลยีการศึกษาในความหมายกว้างแล้วจะเป็นคำซึ่งรวมทรัพยากรใดๆ ก็ตามที่ใช้ในการศึกษาแก่ผู้เรียน โดยอาจรวมถึงวิธีการ เครื่องมือหรือกระบวนการ แต่หากเป็นในเชิงปฏิบัติ คำนี้จะมีใช้ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งจะหมายถึงการใช้เทคโนโลยีเช่น ฟิล์มสตริป เครื่องฉายสไลด์ เทปเสียง โทรทัศน์และห้องปฏิบัติการภาษา เมื่อมีการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมาใช้ในช่วงปี พ.ศ. 2523-2532 ( ทศวรรษ 1980s ) จึงเป็นยุคของการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นฐานในการเรียนรู้ และในปัจจุบันจะเป็นการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารควบคู่ไปกับคอมพิวเตอร์ สรุปได้ว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นคำที่ใช้ หมายถึง การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเรียนการสอนให้เหมาะสมในแต่ละยุค เทคโนโลยีการศึกษาพัฒนามาจากการออกแบบการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ โดยรวมถึงสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
1. ความสนใจในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องของการเรียนรู้ เช่น บทเรียนแบบโปรแกรมและบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นต้น
2. ด้านพฤติกรรมศาสตร์และทฤษฎีการเรียนรู้ เช่น ทฤษฎีการเสริมแรงของสกินเนอร์
3. เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ เช่น โสตทัศนูปกรณ์ประเภทต่างๆ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย
เทคโนโลยีการศึกษา เป็นการประยุกต์เอาเทคนิค วิธีการ แนวความคิด อุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษา ทั้งในด้านการขยายงานและด้านการปรับปรุงคุณภาพของการเรียนการสอน ตามนัยนี้ เทคโนโลยีการศึกษาจึงครอบคลุมเรื่องต่างๆ 3 ด้านด้วยกัน คือ การนำเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้ในการเรียนการสอน การผลิตวัสดุการสอนแนวใหม่ รวมถึงการใช้เทคนิคและวิธีการใหม่ๆ
จากความหมายที่กล่าวมาจะเห็นว่า เทคโนโลยีการศึกษา เป็นการประยุกต์เอาเทคนิค วิธีการ แนวความคิด วัสดุ อุปกรณ์และสิ่งต่างๆ ที่เป็นเทคโนโลยีสาขาต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการพิมพ์ ระบบโทรคมนาคม เป็นต้น มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการนำบุคคลหรือองค์กรต่างๆ โดยเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนของการประยุกต์สิ่งเหล่านี้มาใช้เพื่อการวางแผน วิเคราะห์ปัญหาและแก้ปัญหาทางการศึกษาด้วย
พัฒนาการของความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา
ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษามีพัฒนาการไปตามยุคสมัยตามพัฒนาการของเทคโนโลยีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากการให้ความหมายอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการให้คำนิยามและศัพท์ แผนการสอนโสตทัศน์แห่งสมาคมการศึกษาแห่งชาติ ( Department of Audiovisual Instruction of the National Education Association ) สหรัฐอเมริกา จนถึงล่าสุดในการให้ความหมายอย่างเป็นทางการของสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ( Association for Education Communications and Technology ) ในปี พ.ศ. 2537 ตามที่ ไรเซอร์และอีลี ( Reiser and Ely. 1997 ) ได้สรุปไว้ ดังนี้
เทคโนโลยีการศึกษา เป็นคำที่ใช้กันทั่วไปและมุ่งเน้นรวมคำอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีการสอน ( Instructional Technology ) สื่อการศึกษา ( Education Media ) เทคโนโลยีการเรียนรู้ ( Learning Technology ) และคำอื่นในทำนองเดียวกันนี้เข้าไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า คำว่า เทคโนโลยีการศึกษาและ เทคโนโลยีการสอน เป็นคำที่กว้างที่สุดและเหมาะสมที่สุดที่จะใช้ในการกล่าวถึงในแวดวงวิชานี้และนับได้ว่าเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน การให้นิยามและความหมายของคำๆ นี้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 จนถึงปัจจุบัน ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาในระยะเริ่มแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1920s และ 1930s จะเกี่ยวข้องกับการสื่อสารด้านโสตทัศน์ที่นำความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการบันทึกเสียง วิทยุกระจายเสียงและภาพยนตร์เสียง มาใช้เพื่อการเรียนรู้ในลักษณะของโสตทัศนวัสดุและอุปกรณ์ จนถึงต้นทศวรรษ 1950s ผู้นำทางด้านสื่อโสตทัศน์หลายท่าน เช่น แชนนันและวีเวอร์ได้หันมาให้ความสนใจทฤษฎีและแบบจำลองการสื่อสาร โดยในปี พ.ศ. 2506 แผนการสอนโสตทัศน์แห่งสมาคมการศึกษาแห่งชาติ ( DAVI ) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาไว้ ดังนี้ “ การสื่อสารทางโสตทัศน์เป็นสาขาหนึ่งของการปฏิบัติและทฤษฎีทางการศึกษา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกแบบและการใช้เนื้อหาในขั้นต้น และควบคุมกระบวนการเรียนรู้ ” ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 แผนกการสอนโสตทัศน์ ( DAVI ) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ( AECT ) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาใหม่ดังนี้ “ เทคโนโลยีการศึกษาเป็นวงความรู้ที่เกี่ยวพันถึงความสะดวกในการเรียนรู้ของมนุษย์ผ่านทางการวินิจฉัยอย่างมีระบบ การพัฒนา การรวบรวม และการใช้ทรัพยากรการเรียนรู้อย่างเต็มที่ โดยการจัดการของกระบวนการเหล่านี้ ”
หากเปรียบเทียบความหมายในปี 2506 กับความหมายในปี 2515 จะเห็นว่าเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำว่า “ เทคโนโลยีการศึกษา ” ( Education Technology ) ในขณะที่ปี 2506 ยังใช้คำว่า “ การสื่อสารทางโสตทัศน์ ” ( Audiovisual Communications ) อยู่และยังสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของทฤษฎีการสื่อสารและการออกแบบเนื้อหา แต่ความหมายของปี 2515 จะใช้คำว่า “ ทรัพยากรการเรียนรู้ ” ( Learning Resources ) ในลักษณะของสื่อ วัสดุ อุปกรณ์และเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำว่า “ การจัดการ ” ( Management ) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวพันที่เพิ่มขึ้นในการจัดการบุคลากรและองค์กร
ในปี พ.ศ. 2526 สมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาได้ให้ความหมายของคำว่าเทคโนโลยีการศึกษาใหม่ว่า “ เทคโนโลยีการศึกษาเป็นกระบวนการที่ประสานกันอย่างซับซ้อนโดยรวมถึงบุคคล วิธีการ แนวคิด อุปกรณ์และองค์กร เพื่อการวิเคราะห์ปัญหาและเพื่อวางแผน ทำให้เป็นผลสำเร็จประเมินและหาทางออกของปัญหาเหล่านั้นโดยรวมทุกแง่ทุกมุมของการเรียนรู้ของมนุษย์ ” ซึ่งความหมายในปีนี้ได้มีการนำคำต่างๆ ซึ่งต่อมาได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการศึกษา เช่น คำว่า “ ปัญหาการเรียนรู้ของมนุษย์ ” ( Human Learning Problems ) และ “ การหาทางออกของปัญหา ” ( Solutions ) ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในวงการเทคโนโลยีสมรรถนะ ( Performance Technology ) นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกของคำว่า “ การวิเคราะห์ “( Analysis ) รูปแบบของกระบวนการวางแผนซึ่งในขณะนั้นเริ่มได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น
สำหรับความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาในยุคปัจจุบัน เริ่มขึ้นจากช่วงปี พ.ศ. 2526 ถึง พ.ศ. 2538 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มีพัฒนาการทางด้านต่างๆ เกิดขึ้นมากมายอันส่งผลกระทบกับวงการเทคโนโลยีการศึกษา ทฤษฎีการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยและคอนสตรัคชันนิสม์ ( Constructionism ) ซึ่งเป็นทฤษฎีการศึกษาที่พัฒนาขึ้นโดยพาเพิร์ต ( Patert ) อันเป็นทฤษฎีที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีความรู้ ( Theory of Knowledge ) ของเพียเจต์ ที่กล่าวว่า “ คนเราสร้างความรู้ที่ได้จากการมีส่วนร่วมในลักษณะที่ตื่นตัว ” นั่นคือ คนเราสร้างความรู้ ความเชื่อจากประสบการณ์ที่ได้รับ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ไมโครคอมพิวเตอร์ ซีดี-รอมและอินเทอร์เน็ต ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวงการศึกษา รวมทั้งการขยายตัวอย่างกว้างขวางของเทคโนโลยีสารสนเทศที่เข้ามามีอิทธิพลนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2537สมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาในยุคปัจจุบันไว้โดยสรุป ดังนี้ “ เทคโนโลยีการศึกษา เป็นทฤษฎีและการปฏิบัติของการออกแบบ การพัฒนา การใช้ การจัดการ และการประเมินของกระบวนการและทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้ ” ถ้าพิจารณาจากความหมายนี้จะสามารถแบ่งขอบเขตของเทคโนโลยีการศึกษาได้ 5 กลุ่ม ( Domains ) คือ การออกแบบ ( Design ) การพัฒนา ( Development ) การใช้ ( Utilization ) การจัดการ ( Management ) และการประเมิน ( Evaluation )
<table cellspacing="0" cellpadding="0" width="100%" border="0"><tr><td><div>
พัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษา
กลุ่มโซฟิสต์ ( The Elder Sophists ) เป็นผู้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในวงการศึกษาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล โดยใช้การสอนแบบบรรยายเพื่อสอนมวลชน จากนั้นมีนักการศึกษาอีกหลายท่านที่มีบทบาทในด้านเทคโนโลยี เช่น โคมินิอุส ( Comenius ) ได้เริ่มใช้ภาพประกอบบทเรียนในหนังสือ The Orbis Pictus จนได้รับยกย่องว่าเป็น “ บิดาของเทคโนโลยีการศึกษา ” แลงแคสเตอร์ ( Lancaster ) ริเริ่มการจัดสภาพห้องเรียนและการใช้สื่อการสอนราคาเยา หรือหลักการและทฤษฎีของนักจิตวิทยาหลายท่านที่สามารถนำมาใช้ในเทคโนโลยีการศึกษาได้เป็นอย่างดี เช่นจิตวิทยาในการสอนเด็กของเฟรอเบล ( Froebel ) ทฤษฎีประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้ของดิวอี้ ( Dewey ) และทฤษฎีการวางเงื่อนไขเชิงปฏิบัติของสกินเนอร์ ( Skinner ) เป็นต้น นักเทคโนโลยีการศึกษา นักจิตวิทยา และนักวิทยาศาสตร์ ที่นำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการศึกษา มีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา พัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษาสามารถแบ่งได้ ดังนี้
<p> </p> พัฒนาการก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
พัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษาในระยะก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย เป็นการใช้กระดานชนวน กระดานดำ หนังสือเรียนที่มีจำนวนจำกัดและมีวัสดุภาพเล็กน้อยเท่านั้น ในกระบวนการเรียนการสอน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2343 มีการเปลี่ยนแปลที่สำคัญเกิดขึ้นกับวงการอุตสาหกรรม โดยมีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรกลเพื่อการทอผ้าเกิดขึ้น ซึ่งนับเป็นการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรม แต่การปฏิวัติในครั้งนั้นมิได้มีผลต่อวงการศึกษาแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีการศึกษายังคงเป็นเช่นเดียวกับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามในช่วงปลาย
คริสศตวรรษนี้ได้เกิดแนวโน้มที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่สำคัญ คือ มีการแสดงนิทรรศการของ American Schools เกี่ยวกับหนังสือเรียน แผนที่ ลูกโลกและสื่อการสอนในงาน International Exposition ขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลียในปี พ.ศ. 2518 และวงการอุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา เริ่มมีระบบการจัดการและระบบการเงินที่ทันสมัย ในสมัยนี้ เฮนรี อดัมส์ ( Henry Adams ) ได้พยากรณ์ถึงยุคปรมาณูและปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2493 ที่เทคโนโลยีได้เจริญขึ้นและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสังคมของชาวอเมริกัน ศิลปะ ปรัชญาและสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ อย่างมากมายตามมาด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เทคโนโลยีจะมีบทบาทอย่างมากในวงการทั่วไป ตั้งแต่ระยะนี้จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 เทคโนโลยีมีบทบาทต่อวงการศึกษาน้อยมาก แม้จะมีระบบการพิมพ์ที่รวดเร็ว มีวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และอุปกรณ์การสื่อสารต่างๆ เกิดขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่ในวงการศึกษาแล้วแทบจะไม่ได้นำสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์กับการเรียนการสอนเลย ระบบการเรียนการสอนยังคงเป็นไปอย่างเดิม
<p>
</p> </div></td></tr></table><table cellspacing="0" cellpadding="0" width="100%" border="0"><tr><td><div></div></td></tr></table><table cellspacing="0" cellpadding="0" width="100%" border="0"><tr><td><div></div></td></tr></table><table cellspacing="0" cellpadding="0" width="100%" border="0"><tr><td><div></div></td></tr></table><table cellspacing="0" cellpadding="0" width="100%" border="0"><tr><td><div>
</div></td></tr></table><table cellspacing="0" cellpadding="0" width="100%" border="0"><tr><td><div></div></td></tr></table>