ดูงานมูลนิธิพุทธฉือจี้ : ข้อเขียนของ ศ. นพ. วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม


“ปรากฏการณ์ฉือจี้ (Tzu Chi Phenomenon)” เกิดขึ้นจากความศรัทธาและพัฒนาได้ด้วยระบบบรรษัทภิบาล (corporate governance

ฉือจี้ -- สำนักพุทธที่น่าอัศจรรย์

ศาสตราจารย์นายแพทย์วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผมเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้มีโอกาสอ่านบทความทั้ง 5 ตอนเรื่อง “จิตอาสา พลังสร้างโลก” ของคุณหมออำพล จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการ สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) แล้ว จะอดใจไม่ได้ที่อยากหาทางไปดูไปเห็นด้วยตาตนเองสักครั้งว่า “ฉือจี้” มีความน่าสนใจอย่างที่เขียนไว้จริงหรือ?

ความประทับใจ

จะว่าเป็นบุญหรือโอกาสก็แล้วแต่การตีความ ด้วยการชักชวนของคุณหมออำพล ผมก็ได้ร่วมทีมไปทัศนศึกษาเกี่ยวกับกิจการของ “สำนักพุทธฉือจี้” ที่ไต้หวันพร้อมกับกลุ่มนักวิชาการและผู้บริหารด้านสุขภาพรวม 32 ท่าน ในระหว่าง 26-30 เมษายน 2549 ที่ผ่านมา ด้วยการประสานงานอย่างดีเยี่ยมของคุณหมออุกฤษฏ์ มิลินทางกูร ร่วมกับพี่น้องอาสาสมัครฉือจี้ในประเทศไทย และด้วยบารมีของผู้อาวุโสที่ร่วมคณะ เช่น ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี และศาสตราจารย์วิจารณ์ พานิช เป็นต้น ได้ช่วยให้เรามีโอกาสเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ สำหรับเรื่องราวที่เป็นรายละเอียดนั้น เนื่องจากจะมีหลายท่านช่วยกันบันทึกอยู่แล้ว ผมจึงไม่ขอสาธยายซ้ำในที่นี้ อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราได้ประสบพบเห็นนั้นได้สร้างความประทับใจอย่างมากต่อทุกคนในคณะที่ไปเยือน มากจนเกิดพลังศรัทธาที่อยากจะช่วยกันสืบสาน “เจตนารมณ์” ของมูลนิธินี้ให้แพร่หลายในบ้านเมืองของเรา

ที่ผมเกริ่นมาเช่นนี้ ไม่ใช่เกิดจากความซาบซึ้งหรือ “อิน” กับประสบการณ์ที่พบเห็นเพียงประเดี๋ยวประด๋าว แต่ผมยอมรับว่าปรากฏการณ์ฉือจี้ได้สร้างแรงดลใจแก่ผมจริงๆ

ความที่ผมสามารถสื่อด้วยภาษาจีนได้พอสมควร ทำให้ผมได้มีโอกาสเข้าใจเรื่องราวของฉือจี้เพิ่มขึ้นจากเอกสารและโปสเตอร์ต่างๆ ที่กำลังนำมาแสดงนิทรรศการเนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีที่ฉือจี้ก่อกำเนิดขึ้นมาในไต้หวัน

ฉือจี้มี “4 ปณิธานหลัก (ซื่อต้าจื้อเยี่ย)” คือ การสร้างบุญทาน (ฉือซั่น) รักษาพยาบาล (อีเหลียว) ให้การศึกษา (เจี้ยวอื้ว์) และรักษาวัฒนธรรม (เหวินฮว่า) ทั้งนี้ ยังร่วมกับอีก 4 กิจกรรมสำคัญจนกลายเป็น “8 ก้าวย่างที่ยิ่งใหญ่ (ปาต้าเจี่ยวปู้)” ได้แก่ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วโลก การบริจาคไขกระดูกและเลือดในสายสะดือ การธำรงสิ่งแวดล้อมด้วยการจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าขยะ และการเป็นอาสาสมัครด้วยแรงศรัทธา (จื้อกง)

ประเทศไทยก็ได้รับการสงเคราะห์จากฉือจี้เหมือนกัน เช่น การสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กชาวเขาที่อำเภอฝาง เป็นต้น สำหรับธรณีพิบัติภัยสึนามิที่ภาคใต้นั้น ชาวฉือจี้ได้มีส่วนช่วยเหลืออย่างทุ่มเทตั้งแต่ต้น แต่เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศไม่รับการบริจาคจากต่างชาติ ฉือจี้จึงไม่ได้ช่วยสร้างที่พักอาศัยอย่างเป็นระบบเหมือนที่ได้ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยคราวเดียวกันในประเทศอื่นๆ เช่น ที่อิน­โดนีเชีย

สิ่งที่น่าวิเคราะห์ก็คือ เหตุใดโดยการนำของท่านสมณาจารย์เจิ้งเอี๋ยน จึงมีผู้คนจำนวนมหาศาลจากทั่วโลกถึง 6-7 ล้านคนที่ยินดีบริจาคทั้งกำลังเงิน กำลังทรัพย์อย่างเป็นระบบ สามารถขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่องได้ถึงเพียงนั้น? ทั้งๆ ที่ท่านก็เป็นเพียงภิกษุณีร่างเล็กๆ ที่พูดจาช้าๆ นอบน้อมถ่อมตน และในสมณาราม (วัด) ที่ท่านพำนักไม่ได้มีการจุดธูปเทียนบูชาพระโพธิสัตว์เฉกเช่นวิถีพุทธทั่วไป ทั้งนี้ ท่านเห็นว่าจะได้ไม่ต้องเพิ่มการตัดไม้มาประดิษฐ์ธูปเทียน

ความประหลาดใจ

กล่าวกันตามความจริงเชิงประจักษ์ บ้านเราใช่ว่าจะไร้พระเถระที่มีบารมีสูงพอที่จะสร้างศรัทธาให้ศาสนิกชนบริจาคเงินทองจำนวนมากมายเพื่อการทำบุญกุศล แต่เท่าที่ทราบ เงินที่ทำบุญส่วนใหญ่เหล่านั้นจะถูกนำมาสร้างวัดวาอาราม หรือแม้จะมีการสร้างสาธารณประโยชน์ด้วยก็จริง แต่มีน้อยนักที่ได้สร้างระบบบริหารจัดการที่สามารถขยายเครือข่ายของพลังศรัทธาให้เกิดประสิทธิผลกว้างไกลเช่นเดียว­กับฉือจี้

ผมจึงมองว่า “ปรากฏการณ์ฉือจี้ (Tzu Chi Phenomenon)” เกิดขึ้นจากความศรัทธาและพัฒนาได้ด้วยระบบบรรษัทภิบาล (corporate governance)

หลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเราได้พบเห็นล้วนสร้างความประทับใจ เกิดความซาบซึ้งตรึงใจ และเกิดแรงดลใจให้อยากมีส่วนร่วม นี่คือมูลเหตุของความศรัทธา

เราเคยพบเห็นคนให้ทานหรือบริจาคข้าวของสงเคราะห์ผู้อื่นมาไม่น้อย แต่เราไม่ค่อยเคยเห็นผู้ให้เหล่านี้น้อมตัวมอบสิ่งของให้แก่ผู้มาขอความช่วยเหลือด้วยความสุภาพถ่อมตน

แพทย์แทบทุกคนเคยผ่านการเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์โดยการผ่าศพครูใหญ่ แต่ไม่ค่อยมีที่ไหนที่ได้จัดระบบให้เกียรติต่อร่างครูใหญ่และญาติของท่านเยี่ยงญาติของผู้เรียนเองเหมือนที่โรงเรียนแพทย์ของมูลนิธิฉือจี้ปฏิบัติกัน

ภาพของอาสาสมัคร (จื้อกง) จำนวนมากที่กระจายช่วยงานต่างๆ ในโรงพยาบาลและโรงงานจัดการขยะด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตรกับทุกคน และเรื่องราวการมุ่งมั่นช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ตลอดจนผู้ป่วยและญาติที่เล่าสู่กันฟังนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีปรากฏให้เห็นกันนักในสังคมอื่น

ท่านสมณาจารย์เจิ้งเอี๋ยนเป็นผู้ที่มีจิตวิทยาสูงยิ่งในการสร้างความไว้วางใจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความศรัทธามีความยั่งยืน ความไว้วางใจดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะท่านได้ปฏิบัติตนเป็นเยี่ยงอย่างของความสันโดษ ไม่มีการนำเอาทรัพย์สินใดๆ ที่ได้รับบริจาคเพื่อกิจการของฉือจี้มาใช้จ่ายส่วนตัวของท่านและบริวาร นั่นคือ การถือคติ “ไม่ทำงาน ไม่ต้องกิน (no food, no meal)” ไม่อาศัยอาหารจากการบิณฑบาต และขอให้ค่าใช้จ่ายพื้นฐานของกิจกรรมการกุศลทุกอย่างโดยชาวฉือจี้ ต้องเป็นความรับผิดชอบของชาวฉือจี้เอง

ท่านสมณาจารย์เจิ้งเอี๋ยนยังเป็นปราชญ์ที่ทันสมัย นอกจากท่านจะได้นิพนธ์หนังสือแสดงธรรมะและปรัชญาไว้มากมายแล้ว ท่านยังสามารถใช้เทคโนโลยีและสื่อสารพัดในการจัดการเชิงระบบ ซึ่งส่งผลไปถึงคนทั่วโลก

ในวันที่คณะผู้ดูงานได้เข้าร่วมสัมมนาภาคเช้ากับท่านสมณาจารย์นั้น ผมมีโอกาสได้ยืนอยู่ใกล้ๆ กับท่านตอนที่คณะให้เกียรติผมเป็นตัวแทนกล่าวแสดงความรู้สึกและขอบคุณด้วยภาษาจีนกลาง สิ่งที่ผมสังเกตด้วยความทึ่งก็คือ แม้วัยของท่านจะสูง (ปัจจุบันอายุประมาณ 70 ปี) แต่ท่านได้ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง notebook และ PDA ในการจดบันทึกและกำกับรายการสัมมนาเองทุกขั้นตอน ท่านจะเป็นผู้สรุปย่อๆ และให้แง่คิดเพิ่มเติมหลังจากแต่ละคนได้กล่าวหรือเล่าเรื่องราวจบลงแล้ว เนื้อหาที่พูดนั้นได้แสดงว่าท่านเข้าใจอย่างลึกซึ้งทั้งศาสตร์และศิลป์แทบทุกสาขาที่มีการเอ่ยถึง

เมื่อพิเคราะห์โดยรวมแล้ว เราสามารถจะหาหลักฐานที่จะสนับสนุนว่า ฉือจี้มีระบบการบริหารจัดการทุกอย่างที่องค์กรสมัยใหม่ต่างนำมาปฏิบัติกันอยู่ และฉือจี้ได้ปฏิบัติเช่นนั้นมานานมากแล้ว เช่น กระบวนการ 5 ส (ในโรงเก็บไม้) การพึ่งตนเอง (การหล่อเทียนขาย ร้านขายหนังสือ ของที่ระลึก) การจัดการความรู้ (การสัมมนาตอนเช้า สถานีวิทยุโทรทัศน์ต้าอ้าย) การประกันและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และการบริหารด้วยระบบบรรษัทภิบาลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ความตั้งใจ

ผมได้ความรู้สึกจากผู้ร่วมคณะหลายท่านที่ตั้งใจจะทำอะไรหลายๆ อย่างเหมือนที่ชาวฉือจี้ทำอยู่ และพี่น้องชาวฉือจี้ที่ไปด้วยกันหลายท่านก็ได้เชิญชวนให้ผมช่วยริเริ่มกิจกรรมตามรอยเท้าของท่านสมณาจารย์ เช่น การจัดหน่วยแพทย์อาสาออกรักษาผู้ป่วยในที่ทุรกันดาร การช่วยกันจัดการขยะเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น ผมเห็นด้วยว่ากิจกรรมเหล่านั้นมีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่เมื่อประเมินตามสภาวะจริงที่เป็นไปได้กับตัวเราแล้ว ผมเองกลับคิดว่า เราควรเริ่มทำอะไรให้สอดคล้องกับภารกิจประจำที่เราทำอยู่แล้ว โดยการนำเอาหลักคิดของฉือจี้มาประยุกต์ แม้หลายกิจกรรมอาจไม่สามารถใช้เครื่องหมายแสดงความเป็นฉือจี้โดยตรงด้วยซ้ำไป

ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อคณะแพทยศาสตร์แห่งหนึ่งในส่วนภูมิภาค ซึ่งมีภารกิจด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาลที่ฉือจี้มีรูปแบบการจัดการที่ดีอยู่แล้ว ผมจะลองตั้งต้นที่ภารกิจสองด้านนี้ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นก่อน

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องช่วยกันทุกครั้งที่มีโอกาสก็คือ การเผยแพร่ประสบการณ์ที่ผมได้พบเห็นมาให้กับคนอื่นๆ ด้วยการเล่าหรือส่งต่อบทความที่เขียนโดยคุณหมออำพล จินดาวัฒนะ นอกจากนี้ ผมคิดว่า ต้องตีเหล็กยามร้อน ก่อนที่อารมณ์ร่วมจะจางไปกับภารกิจประจำที่รัดตัวเราอยู่ ลำพังตัวผมคนเดียวอาจยังไม่เพียงพอที่จะทำอะไรได้มากนัก (แม้จะเชื่อว่าทฤษฎี “ผีเสื้อกระพือปีก” อาจเกิดขึ้นจริง) หากเป็นไปได้ ผมอยากให้มีการจัดทีมดูงานฉือจี้ขึ้นอีกชุดหนึ่ง (หรือหลายชุด) เพื่อที่ผมจะได้ส่งบุคลากรที่เป็นมือปฏิบัติไปเรียนรู้ด้วย ผมเชื่อว่า ถ้าทุกสถาบันที่เริ่มมีกิจกรรมต่างมีเวทีมาเล่าสู่กันฟังและร่วมกันสร้างเป็นเครือข่ายขึ้นมา ประเทศไทยจะมีนวัตกรรมใหม่ให้กับฉือจี้ได้ไม่น้อยอย่างแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 28602เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2006 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2016 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
ผมประทับใจในหลักปฏิบัติที่ฉือจี้ดำเนินการอยู่มากครับ   ไม่เคยได้รับรู้เลย   จะนำไปปฏิบัติและหาแนวร่วมครับ

รู้สึกซาบซึ้ง และประทับใจกับหลักการให้ ของ ฉือจี้ค่ะ และดีใจมาก ที่อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มีโรงเรียนฉือจี้ ปีนี้ส่งลูกเข้าเรียน ป.1 ทั้ง2 คน ด้วยหวังว่าจะช่วยหล่อหลอมให้ลูกเติบโตเป็นคนดีต่อไป

ดิฉันได้มีโอกาสรับรู้ "ฉือจี้" ครั้งแรกจาก อ.กรรณิการ์ บันเทิงจิตร (สสร.ปัจจุบัน) ประมาณกลางปี 2549 หลังจากคณะนี้กลับจากไต้หวัน อ.กรรณิการ์ ได้นำเสนอเป็น Power Point  ดิฉันประทับใจ(แม้จะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ) จึงขอ copy มาเผยแพร่ต่อ ๆ ไป สังคมโลกต้องการคนที่เสียสละ มีจิตอาสา /จิตสาธารณะ การเมตตา เอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ลดความเห็นแก่ตัว การกอบโกยผลประโยชน์ การเอารัดเอาเปรียบ ยุติความรุนแรงทุกประเภท ร่วมสร้างสันติวัฒนธรรม เพื่อสังคมสันติสุขขณะนี้ดิฉันกับเพื่อนๆ นักวิชาการที่ จ.อุดรธานี กำลังสร้างสรรค์โรงเรียนปลอดความรุนแรง (ต้นแบบ) กลุ่มเพื่อนครูทั้ง 2 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ได้ฟังเรื่อง "ฉือจี้" แล้วอยากไปศึกษาดูงาน ร.ร.ตามแนวฉือจี้ ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แต่ทั้งดิฉัน และ อ.กรรณิการ์ ไม่มีข้อมูลว่า ร.ร.นี้มีแนวปฏิบัติแบบฉือจี้ หรือไม่อย่างไร เพื่อการตัดสินใจว่า สมควรที่จะไปเยี่ยมดูงานหรือไม่ คงต้องขอรบกวนท่านอาจารย์หมอ ช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วย รวมทั้งสถานที่ตั้งร.ร. ด้วยค่ะ

นิสิต (ฟารีดา)                                                          กลุ่มสันติวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี 

มารู้จัก ฉือจี้ ก็ที่แวนคูเวอร์นี้ค่ะ 

ทางคณะทันตแพทย์ได้รับทุนจาก ฉือจี้ 

ให้ไปช่วยจัดระบบบริการสำหรับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ 

ตอนไปดูงานตามบ้านพักคนชรา ก็เจอ อาสาสมัครของ ฉือจี เรื่อยๆค่ะ 

ได้บทความพระไพศาล วิสาโลที่เขียนเกี่ยวกับมูลนิธิพุทธฉือจี้ ขออนุญาตนำมานำเสนอค่ะ

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=inthedark&month=15-08-2007&group=5&gblog=42

สนใจในเรื่องของพุทธฉือจี้ อยากทราบว่ามีความแตกต่างจากพุทธอย่างและจะนำมาปรับใช้ร่วมกันอย่างไร เพราะรับผิดชอบงานการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ฝาก link แนะนำ VDO ฉือจี้ สำหรับผู้ที่สนใจครับ

http://tzuchi.bloggang.com

กำลังรวบรวมให้มากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้สนใจ พุทธฉือจี้ครับ

ผมประทับใจมาก ที่ได้เข้ารับการอบรมของฉื้อจี้ มันทำให้ผมได้รู้จักกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ จากเด็กห้วยสักวิทยาคม จังหวัดเชียงราย

เสียใจที่ส่งลูกเรียนที่โรงเรียนฉือจี้ เชียงใหม่ เรื่องคุณธรรมก็เป็นที่น่าสงสัยว่า ในไทย จะทำได้ดีเหมือนที่ไต้หวันหรือเปล่า หรือ ทำเพื่อธุรกิจโรงเรียน เอาพุทธนำ แต่วิชาการอ่อนแอ ครูอาจารย์ฝีมือการสอนไม่เป็นที่ประทับใจ

น่าจะเปิดเป็นมูลนิธิ ทำการกุศลไป อย่ามาทำการสอนเลย สงสารผู้ปกครองที่คาดหวังไว้กับบุตรหลานที่ส่งมาเรียน มารยาทดี กตัญญู แต่การเรียนอ่อน สอบต่อไม่ได้ ไม่เป็นที่น่าภาคภูมิใจ เห็นผู้ปกครองเสียใจที่ลูกสอบต่อที่ไหนไม่ได้ ก็สะท้อนใจเป็นอย่างยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท