กรณีศึกษา


การเสริมแรง

กรณีศึกษานักเรียน  ( CAR 3 )

 

                                        เรื่อง  นักเรียนไม่สนใจเรียน  และทำงานไม่เรียบร้อยด้วยการเสริมแรงทางบวก

 

                                                                                      ศักดิ์ชัย  เจียวก๊ก

 

 

 

 

                ข้าพเจ้า   นายศักดิ์ชัย  เจียวก๊ก    ตำแหน่งครู  โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒  ประสบการณ์ทำงาน

21  ปี  ปัจจุบันทำการสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/2  สภาพโรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดกลาง  มีนักเรียน

676  คน    ครู  31  คน  นักการ  2  คน 

                โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒  เป็นโรงเรียนในพระราชดำริ  โรงเรียนแกนนำ  และโรงเรียนผู้นำการเปลี่ยนแปลง  การจัดการเรียนรู้ ใช้การสอนทางไกลผ่านดาวเทียมประมาณร้อยละ  60   

          ในปีการศึกษา  2551  ก่อนปิดภาคเรียน  ข้าพเจ้าได้นำแบบ  ปพ.ต่าง ๆ  เช่น  ปพ.6 , ปพ.5/1 ,ปพ.5/2

และปพ.8  ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/2      เพื่อศึกษาภูมิหลัง  และ  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ผ่านมา  ผลปรากฏว่า  ระดับคะแนน นักเรียนอยู่ในเกณฑ์ ดี   ถึง  ดีมาก   ข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจที่นักเรียนมีผลการเรียนน่าพอใจ  จะทำให้ปีการศึกษาหน้านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดียิ่งขึ้น

                แต่พอเปิดภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2551   มาได้ระยะหนึ่ง     ข้าพเจ้าได้พบปัญหามีนักเรียนจำนวน  4  คน   จากนักเรียนทั้งหมด  28  คน  ชอบคุยกันขณะที่ข้าพเจ้าทำการสอน  บางครั้งก็นำขนมมารับประทานและเมื่อข้าพเจ้าให้การบ้านหรือจดงานลงในสมุดปรากฏว่านักเรียนเหล่านี้ทำงานไม่เรียบร้อยและทำงานไม่เสร็จ

 

                ทุก ๆ  ตอนเย็น  หลังเลิกเรียน  30  นาที  ข้าพเจ้าจะใช้เวลาในการตรวจการบ้าน และได้เรียกนักเรียนทั้ง  4  คน  มาอบรมและพูดคุยอย่างเป็นกันเอง     หลังจากนั้นเป็นเวลา  2  สัปดาห์   ก็พบว่าพฤติกรรมคุยกันและกินขนมในห้องค่อย ๆ ลดลง  แต่พฤติกรรม  การทำงานไม่เรียบร้อย  เช่น  ลายมือไม่สวย  การขีดเส้นหน้า  ลงวันที่

ความสะอาด  และการเขียนสะกดคำ  ยังต้องปรับปรุง

                ข้าพเจ้าจึงตั้งใจ  และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพฤติกรรมเหล่านั้นให้ได้  จึงเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของพฤติกรรมการทำงานของนักเรียนทั้ง  4  คน  ใหม่อีกครั้งหนึ่ง  โดยศึกษาเอกสารที่เกี่ยวกับการปรับพฤติกรรม

โดยการเสริมแรงบวก  ซึ่งป็นทฤษฎีของนักจิตวิทยาสกินเนอร์  คือ  การวางเงือนไขแบบการกระทำ

( Operant  Condiong  Theory )    ลักษณะของตัวเสริมแรง  มี  2  ชนิด  คือ

                1.  ตัวเสริมแรงปฐมภูมิ  เป็นตัวเสริมแรงเน้นคุณสมบัติด้วยตัวของมันเองในการตอบสนองความต้องการทางชีวภาพหรือมีผลต่อผู้ได้รับโดยตรง  เช่น  อาหาร  ความเย็น  เป็นต้น

                2.  ตัวเสริมแรงทุติยภูมิ เป็นตัวเสริมแรงที่ต้องผ่านกระบวนการพัฒนาคุณสมบัติของการเป็นตัวเสริมแรง  โดยการนำไปสัมพันธ์กับตัวเสริมแรงปฐมภูมิ  เช่น  เงิน  รางวัล  คำชมเชย  เป็นต้น

                ในที่สุดข้าพเจ้าได้เลือกการเสริมแรงทางสังคมด้วยการใช้  คำยกย่อง  ชมเชย  เมื่อนักเรียนทำงาน

แบบฝึกหัด  ข้าพเจ้าจะให้คำยกย่อง  ชมเชย  ด้วยคำพูดหรือ การเขียน  บางครั้งจะแตะไหล่นักเรียนเบา ๆ

พยักหน้า  ยอมรับ  และยิ้ม  ขณะเดียวกันไม่สนใจต่อพฤติกรรมไม่สนใจเรียนของนักเรียนบางคน  ได้บันทึก

พฤติกรรมของนักเรียนทุกครั้ง  ที่เกิดพฤติกรรมพึงประสงค์เป็นเวลา  1   เดือน  ผลปรากฏว่า  พฤติกรรมไม่สนใจเรียน  การทำงานไม่เรียบร้อยลดลง  โดยก่อนทำการปรับพฤติกรรมมีพฤติกรรมไม่สนใจเรียน  ทำงานไม่เรียบร้อยถึงร้อยละ  80  แต่หลังจากการใช้วิธีเสริมแรงทางสังคมต่อพฤติกรรม        การสนใจเรียน  การทำงาน

สมุดจดงาน  ปรากฏว่า  พฤติกรรมไม่สนใจเรียน  และทำงานไม่เรียบร้อยลดลงเหลือร้อยละ  20

                สรุปผล

                ในการแก้ปัญหานักเรียนเป็นรายกรณี เรื่องนักเรียนไม่สนใจเรียน  และทำงานไม่เรียบร้อย  การเสริมแรงทางบวกของนักเรียน  4  คน     ผลปรากฏว่านักเรียนได้ให้ความร่วมมือในกิจกรรม  ตั้งใจทำงานให้เรียบร้อย  ทำงานสะอาดมากขึ้น  ลามมือปรับปรุงได้ดีขึ้น  โดยจากการสังเกตคะแนนประเมินสมุดที่นักเรียน  สามารถพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น  เป็นพัฒนาการที่สมควรได้รับการพัฒนาต่อไป

                การเสริมแรงทางบวกนอกจากจะได้ผล กับเรื่องนักเรียนไม่สนใจเรียน  และทำงานไม่เรียบร้อย 

ยังสามารถแก้ปัญหา  พฤติกรรมการสอนของครู  ครูสามารถนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน

                ข้อเสนอแนะ

                1.  ครูควรดูแลการจดสมุดงานของนักเรียนต่อไปจนกลายเป็นความเคยชิน  ไม่ใช่เกิดจากความคาดหวังของรางวัล

                2.  นำไปใช้กับนักเรียนที่มีปัญหาคนอื่น ๆ  ต่อไป

                3.  ควรแนะนำให้ครูในโรงเรียนได้นำไปใช้  เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียน

หมายเลขบันทึก: 284403เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2009 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท