เครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ตอน 6


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (31)

ปัจจัยความสำเร็จสำหรับเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย อยู่ที่ รองอธิการบดีที่รับผิดชอบเรื่อง การจัดการความรู้ ที่เรียกว่า CKO (Chief Knowledge Officer)  หรือ "คุณเอื้อ"  นั่นเอง  ซึ่งตามธรรมชาติแล้วมักจะดำรงตำแหน่งตามวาระของอธิการบดี ปกติมักจะรู้จักมักคุ้นกันในวงการวิชาชีพและที่ประชุมในระดับต่างๆ อยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับเครือข่ายนี้  ที่สำคัญคือ มี ศ.นพ.วิจารณ์  พาณิช  เปรียบเสมือนเสาหลักหรือแกนที่ดึงดูดเครือข่ายดังกล่าวไว้ด้วยกัน  การบรรยายหรือปาฐกถานำของท่านทุกครั้ง  จะไม่ชี้นำแต่จะกระตุ้นและยุยงส่งเสริมในทางที่ดี  ให้กำลังใจ  "คุณเอื้อ"  และผู้ปฏิบัติงานที่เรียกว่า "คุณกิจ"  แต่ละมหาวิทยาลัยเสมอ  เรื่องการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยนั้น  ท่านอาจารย์ได้มีความภาคภูมิใจที่เป็นผู้ขับเคลื่อนและมีความหวังให้ชาวมหาวิทยาลัยใช้การจัดการความรู้ให้เกิดประโยชน์  ดังที่ระบุไว้ในบล็อกว่า

  • "ในช่วงปี ๒๕๔๗  สคส.ทำงานสร้างและเผยแพร่  KM มาได้ระยะหนึ่งแล้วเริ่มมั่นใจว่าวิธีการที่ค้นพบ หรือทดลองใช้น่าจะได้ผลดี  ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็น change agent สำคัญในสังคม  น่าจะได้เข้ามาขับเคลื่อนขบวนการ KM ในสังคมไทย  โดยการลองเอาไปใช้และพัฒนาขึ้นมาเอง  แล้วโดยธรรมชาติของการเป็น change agent ของมหาวิทยาลัย KM ในมือของมหาวิทยาลัยก็จะถูกเผยแพร่ออกไปเองโดยอัตโนมัติ"
  • "ผลคิดอยู่ตลอดเวลาว่า สคส. ที่เป็นโครงการเล็กๆ ไม่มีทางขยาย KM ไปเต็มพื้นที่ประเทศไทยได้  ต้องหาทางทำให้ "ยักษใหญ๋" ทั้งหลายเข้ามาเป็นเจ้าของ KM และเป็นผู้เผยแพร่ KM ที่ตนรู้จักออกไปสู่สังคมไทย  ให้สังคมไทยได้รับประโยชน์จากเครื่องมือชิ้นนี้  ผมคิดว่า  มหาวิทยาลัยเป็น "ยักษ์ใหญ่" หรือ "มหาอำนาจ" ในสังคม  ส่วน สคส. ที่ผลริเริ่มขึ้นนั้น มีฐานะเป็น "มด" หรือ Nobody ในสังคม  เราไม่มีพลังที่จะเปลี่ยนสังคมได้  ทั้งๆ ที่เรามีความใฝ่ฝัน  และทะเยอทะยานที่จะเปลี่ยนสังคม
  • ผมคิดว่าการดึงดูดทุกมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมขบวนการ UKM เป็นเรื่องเกินกำลังจึงคิดหาทางสร้างเครือข่ายทดลอง (pilot network) ขึ้น มีสมาชิกเพียงจำนวนน้อย  ดำเนินการทดลองพัฒนาวิธีการจัดการความรู้ โดยการใช้งานจริงในบริบทของตัวเองแล้วเอาประสบการณ์มา ลปรร. กัน
  • ด้วยข้อจำกัดผมมีโอกาสยุหรือชักชวนท่านอธิการบดีได้เพียง ๓ มหาวิทยาลัย คือ มน. , มอ., มม.  ส่วนอีก ๒ มหาวิทยาลัย คือ มข. กับ มมส. ได้ข่าวก็ขอเข้ามาร่วม  จึงมีการลงนามความร่วมมือเป็นเครือข่าย UKM ขึ้นที่ มม.  เมื่อวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๔๗ มีสมาชิกก่อตั้ง ๖ องค์กร คือ ๕ มหาวิทยาลัย กับ ๑ องค์กร คือ สคส. แล้วเราก็ไปจัด workshop เพื่อเรียนรู้เครื่องมือ KM กันที่บ้านผู้หว่าน  ระหว่าง ๒๔ - ๒๖ ธ.ค. ๔๗ จบการประชุมตอนเย็นวันที่ ๒๖ ก็ได้ข่าวสึนามิที่ฝั่งอันดามัน  และต่อมา มวล. กับ มรภ.มหาสารคาม มาสมัครเข้าร่วม UKM ด้วย รวมเป็น ๗ มหาวิทยาลัย
  • ในปีแรก สคส. สนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายในการประชุมเครือข่ายบางส่วน  พอเข้าปีที่ ๒ เราก็หย่านมทันที  สคส. สนับสนุนเฉพาะ in kind ไม่มี in cash อีกต่อไป
  • ปีนี้เป็นปีที่ ๔ ของ UKM สมาชิกทั้ง ๗ มหาวิทยาลัยตกลงกันนัดหมายมาลงนามความร่วมมือ UKM ระยะที่ ๒ อีก ๓ ปี  โดย สคส. ไม่ได้เป็นสมาชิกของเครือข่าย  แต่ก็รู้กันว่าเป็นภาคีเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการ
  • ในช่วงเวลาปีเศษที่ผ่านมา  ผมไปร่วมประชุม UKM แบบอยู่ไม่ตลอด  เพราะมีภารกิจอื่น  แต่ก็โชคดีที่เจ้าภาพมักเชิญผมไปพูดเปิดเกม หรือที่เรียกว่า keynote และการประชุม  UKM-13 เรื่อง การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ผมก็ได้รับเชิญไปพูด keynote อีก ผมตั้งใจว่าในการประชุม UKM-14 ที่มมส. เรื่อง การวิจัยและพัฒนาการเรียนการสอน ผมจะเสาะหาคนที่เหมาะสมกว่าผม ไปพูด keynote
  • ในการประชุม UKM-13 ผมอยู่ร่วมตลอดวันครึ่งของการประชุม  จึงได้เรียนรู้ความก้าวหน้า และ impact ของการมี UKM Network ต่อแต่ละสถาบันสมาชิก  และผมก็ประเมินต่อว่าแต่ละองค์กรสมาชิก  ได้ทำหน้าที่ขยายผลเครื่องมือ KM ออกสู่สังคมไทยอย่างน่าชื่นชม
  • สิ่งที่เกิดขึ้น คือ "วัฒนธรรมคู่ขนาน" ที่อยู่บนฐานความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ไม่แบ่งชั้นวรรณะ มีความเคารพชื่นชมให้เกียรติกันบนฐานของความสำเร็จเล็กๆ ในการทำงาน
  • เวที UKM จึงเป็นเวทีพิเศษ  ที่ผู้ปฏิบัติงานระดับหน้างาน มากระทบไหล่ อาจารย์และผู้ใหญ่มากๆ อย่างผม  บนฐานของความเท่าเทียมกัน  คนระดับหน้างานที่มีนวัตกรรมเล็กๆ ในการทำงาน ได้มีโอกาสเป็นผู้พูด  ผู้เล่าเรื่อง โดยมีผู้ใหญ่นั่งฟังและชื่นชม  เวทีเช่นนี้คนมหาวิทยาลัยไม่คุ้นเคย  คนทำงานทั่วไปก็ไม่คุ้นเคย  จึงมักมีเสียงอุทานในทุกครั้งที่มีหน้าใหม่มาร่วมประชุม  ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสการประชุมแบบนี้และรู้สึกดีอย่างไม่เคยมีมาก่อน
  • ที่จริงนี่คือ เวทีหรือ "พื้นที่" KM ที่องค์กรที่มี KM Mastery ได้นำไปใช้  แต่อาจจะยังระบาดไปไม่ทั่วถึงทั้งองค์กร
  • ย้อนกลับมาที่ชีวิตที่พอเพียงของผม  การได้เห็นความสำเร็จเล็กๆ เช่นนี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตยามชราได้เป็นอย่างดี  ว่ายุทธศาสตร์ชีวิตแนว "ทำโดยไม่ทำ" หรือทำโดยโอน ownership ไปให้คนอื่นที่ผมใช้นั้นได้ผลดี อย่างน้อยๆ ก็ในเรื่อง UKM

การจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยอยู่ในกระบวนการเรียนรู้และปรับแต่งให้เหมาะกับบริบทของตนอย่างต่อเนื่อง  ปัจจัยที่ประสบความสำเร็จคือ ชาวมหาวิทยาลัยสามารถเรียนรู้และปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว  บรรยากาศในมหาวิทยาลัยก็เป็นบรรยากาศที่เหมาะสำหรับการจัดการความรู้อยู่แล้ว  หากผู้บริหารในระดับต่างๆ สนับสนุนจะทำให้ขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว  ปัจจัยที่ไม่ประสบความสำเร็จหรือยังเป็นจุดอ่อนอยู่ คือ มีการเปลี่ยนแปลง "คุณเอื้อ" ของแต่ละสถาบันตามระยะเวลา  คุณเอื้อแต่ละแห่งอาจมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายต่างกัน  นอกจากนี้การเชิญสมาชิกของแต่ละมหาวิทยาลัยเข้าร่วมมีจำนวนจำกัดเพียงแห่งละ 10 คนเท่านั้น  เนื่องจากต้องการคุณภาพ  ทำให้ขาดพลังที่จะนำไปขยายผล  นอกจากนั้น  ผู้เข้าร่วมที่มหาวิทยาลัยต้องการเพื่อเชิญมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ไม่สามารถเข้าร่วมได้  นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดด้านการที่ไม่สามารถนำผลจากการประชุมไปปรับใช้กับมหาวิทยาลัยของตนเองได้อย่างจริงจัง  นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมขาดทักษะด้านการเล่าเรื่องความสำเร็จ  ยังยึดติดกับรูปบบกระบวนการสรุป  จัดเก็บ และเผยแพร่  ยังไม่สอดคล้องกันเท่าที่ควร  ตลอดจนการนำผลการประชุมไปขยายผลในระดับคณะหน่วยงานยังขาดความต่อเนื่อง  และบางกรณีไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยเงื่อนไขบางประการดังกล่าวแล้ว  อย่างไรก็ตามคณะทำงานของแต่ละมหาวิทยาลัยได้พยายามปรับปรุงจุดอ่อนดังกล่าว  ด้วยการกำหนดประเด็นไว้ล่วงหน้าเป็นรายปี  นัดหมายผู้ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายจะเชิญมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แต่เนิ่นๆ และแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้ KM ของแต่ละมหาวิทยาลัยให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น  การจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยหรือ UKM จึงมีพัฒนาการและมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน  มากกว่าที่จะใช้เป็นกิจกรรมเชิงพิธีกรรม  พิธีการ  และรอเวลาความสำเร็จเพื่อเป็นบทเรียนขยายผลสู่ชาวอุดมศึกษาต่อไป

โดยสรุปความสำเร็จของเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยที่เห็นชัดเจนในขณะนี้ได้แก่  การที่ชาวมหาวิทยาลัยมีใจร่วมกันที่จะสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นร่วมสำคัญ  ซึ่งได้สร้างความเข้าใจเรื่องการใช้การจัดการความรู้  ด้วยการกำหนดประเด็นร่วม  แล้วคัดเลือก "คุณกิจ" เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กัน ทั้ง 2 ประเด็นถือว่าทำได้ดีแล้ว  สิ่งที่ควรพัฒนาเพื่อนำไปใช้ให้เกิดผลได้แก่  การสกัด  รวบรวมแก่นสาระ  ความรู้ที่ได้จากการประชุม  ซึ่งปรากฏชัดเจนว่ามีบทเรียนความสำเร็จมากมาย  เพื่อนำไปปรับใช้ในแต่ละมหาวิทยาลัย  ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัยว่าจะมีเทคนิคอย่างไรที่จะไปเผยแพร่  และขยายผล  เพื่อนำบทเรียนกลับมารายงานความก้าวหน้า  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยในรอบต่อไปอีก  ให้เกิดวงจรแห่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  เป็นภารกิจที่น่าท้าทายสำหรับเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยอย่างยิ่ง

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้  (รวมบท)

เครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย  ตอน 1  ตอน 2  ตอน 3  ตอน 4  ตอน 5  ตอน 6

บทส่งท้าย

หมายเลขบันทึก: 280772เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2009 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท