ความ "เนียน" ในระบบการศึกษา...?


เมื่อได้อ่านบันทึกของท่าน ดร.ประพนธ์ ผมสุขยืด beyondKM ในเรื่อง ภาษาไทยวันนี้ ขอเสนอคำว่า “เนียน” เป็นสิ่งที่ดีเยี่ยม จึงขอโอกาสต่อยอดแนวคิดมาเป็นตอน ๆ ดังนี้

ตอนที่ 1 ระบบการศึกษาไทย

ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 596 คำว่า “เนียน” หมายถึง (1) มีเนื้อละเอียดนุ่มนวล เช่น เนื้อเนียน; (2) เรียบสนิท เช่น เข้าไม้ได้เนียนดี ความหมายที่ผมจะพูดถึงในบันทึกนี้ น่าจะตรงกับความหมายที่สองที่มีความหมายในทำนองที่ว่า “เรียบสนิท เข้ากันได้ดี”

         สิ่งที่ “คาใจ” ผมมาเป็นเวลานานก็คือการที่เราไม่สามารถผสานสิ่งต่างๆ ที่ทำอยู่นี้ให้เนียนเป็น “เนื้อเดียวกัน” ได้ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นใน “ระบบการศึกษา” ผมมองว่ายังห่างไกลจากความหมายของคำว่า “เนียน” ค่อนข้างมาก ดังจะเห็นได้ว่านักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ยังมองการเรียนรู้ในลักษณะว่าเป็นเรื่องที่หนัก ไม่อยากจะอ่าน ไม่อยากจะเขียน ไม่อยากจะเรียนรู้ ซึ่งครูเองก็จนปัญญา ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ไม่รู้วิธีที่จะกระตุ้นจูงใจ ในที่สุดก็หันไปใช้อำนาจที่มีอยู่ ใช้คะแนนเป็นตัวล่อ ใช้การสอบเป็นตัววัดเป็นการตัดสินว่าผู้เรียนคนนี้สมควร “ผ่าน” หรือไม่ ทำไปๆ จนการสอบกลายเป็นหัวใจของการศึกษาไปโดยปริยาย (ดร.ประพนธ์ ผมสุขยืด beyondKM)

 


 

ต่อยอดความคิด...

 

นักศึกษาไม่ใช่ “ผู้เรียน” ผู้เรียนจึงมิใช่ “นักศึกษา…”
ผู้ที่สมมติตน ถูกสมมติตน สมัครเข้าสถานศึกษาแล้วได้ชื่อว่านักเรียน นักศึกษา เข้าไปเรียน ไปศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ปริญญา”
การที่จะได้ปริญญามาแต่ละใบก็ต้องผ่านเกณฑ์ และเกณฑ์นั้นย่อมมาจากการ “สอบ...”

ผู้เรียนรู้ เรียนรู้อยู่ “ทุกลมหายใจ” เรียนและรู้ไปมิได้หวังอะไรนอกจาก “ความรู้...”
คนที่เรียน ที่รู้นี้ ไม่ถูกสมมติว่าเป็นนิสิติ นักศึกษา หรือแม้นว่าเป็น “นักเรียน”
คนที่เรียนรู้อยู่ทุกลมหายใจ ทดลอง วิจัย แก้ไข สรุปผลอยู่ทุกลมหายใจ แต่ไม่มีผลงานทางวิชาการใด ๆ จะให้การยอมรับ...

ครูเองมิใช่ผู้สอน ผู้สอนนั้นมิใช่ “ครู...” (จรรยาบรรณของคุณครู "ข้อที่ 10" )
ครูแท้ ๆ สมัยนี้อยู่นอกโรงเรียน อยู่ “ชายขอบ” ของมหาวิทยาลัย (ชายขอบมหาวิทยาลัย  และ ชายขอบของนักพัฒนา )
ครูที่แท้นั้นอยู่บ้าน อยู่นา อยู่สวน ครูทั้งหลายเหล่านี้ท่าน “เก่ง” จริง
ท่านมีเทคนิค มีวิธี มีกลยุทธ์ เพราะความรู้ที่ท่านได้มา มีอยู่คือ “ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge)” ดังนั้น ครูที่แท้ ไม่ต้องเรียนเรื่องเทคนิคการสอน ไม่ต้องเตรียมการสอน แค่บอกสิ่งที่ตนเองรู้ให้กับผู้อื่นนั้นคือการสอนที่มีคุณค่าอย่างเอนกอนันต์

ครูในโรงเรียน อาจารย์ในมหาวิทยาลัย เรียนมาสอน สอบมาสอน อ่านหนังสือมาสอน ดังนั้นจึงต้องเรียนเทคนิคการสอน เตรียมการสอน เมื่อมีปัญหาก็ต้องหาเวลาไปอบรมเพื่อแก้ไขปัญหา และหาเวลาทำวิจัยเพื่อพัฒนาเทคนิคการสอน (ไม่วิจัยแล้วเอาอะไรไปสอน )
ครูที่เรียนแบบนี้จะ “จนปัญญา” และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับเด็กนักเรียน
เพราะถ้าหากปัญหาไม่ตรงกับที่เรียนมาก็ “จบ (เห่)”

ผู้ที่มีความรู้จากการสอบถูกการยอมรับให้เป็น “ครู” เป็น “อาจารย์”
ผู้ที่มีปัญญาจากการปฏิบัติถูกการตีค่า ตีความเป็น “ชาวบ้าน” ผู้ที่ต้องรู้ และต้องพัฒนาจาก “ครู” และ “อาจารย์” ที่เรียน ที่สอบมา แล้วสมมติว่า “มีความรู้”

จะทำอย่างไรให้เนียน…?
เมื่อก่อน รวมถึงตอนนี้ หลักสูตร “พัฒนบูรณาการศาสตร์ (Integral Development Science)” ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ประยุกต์ ได้ยอมรับ “ปราชญ์ท้องถิ่น ("ปราชญ์ชาวบ้าน" ปราชญ์แห่งชีวิต) ” ยกท่านขึ้นมาเป็นครู เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก แนวความคิดนี้ดีมาก หลักสูตรนี้ดีมากต้องพัฒนาให้ “เนียน...”

ผู้เรียนต้องเนียนด้วย ถ้า “เนียน” จริง ต้องสามารถก้มกราบเท้า “ครู” ได้ด้วยใจจริง
คนใดที่สามารถกราบเท้าผู้สอน ผู้ให้ความรู้ได้ ผู้นั้นจะเรียนรู้ด้วย “ความเนียน”

ปัจจุบัน นักเรียน นักศึกษา ไหว้ครู กราบครู ไม่ค่อยจะลง กราบตามธรรมเนียม ไหว้ตามหน้าที่
ครูคนใดปฏิบัติ ปฏิบัติตนให้นักเรียนกราบได้ ครูคนนั้น “เนียน...” (สิ่งนี้ต้องใช้ใจวัด)

จิต และ ใจ ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ยอมรับเพราะเขาบอกว่าเป็น “นามธรรม”
การสอบ การเขียน การพูด การแสดงออกนั้นเป็น “รูปธรรม” เขาจึงยอมรับและตัดสินกันแค่นั้น

หากรับการตัดสินด้วยจิต ด้วยใจแล้ว ระบบการศึกษาไทยจึงจะ "เนียน..."

ถ้าตามหลักการแล้ว “ปริญญากิตติมศักดิ์” ที่มอบให้แก่ผู้รู้ มีให้แก่ปราชญ์ ในแต่ละสาขาเป็น “หลักการ” ที่ “เนียน” มาก
แต่ทว่า... เดี๋ยวนี้ มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเลย “หายเนียน!!!” เพราะผู้รู้ถูกแบ่งความเนียนด้วย “ผู้มีฐานะ (มีอุปการะมหาวิทยาลัย...)”

ยิ่งพูด ยิ่งเขียนไปเหมือน “งูกินหาง” ปัญหาพัลวัน พัลเก
คนมีความรู้ คนเก่ง (เก่งจริง) จะสมัครงาน แต่ถ้าไม่มี “ปริญญา” เขาก็ไม่รับ เพราะเขารับแต่คนมี “ปริญญา”
เด็กจึงเรียนเพื่อ “ปริญญา” มิใช่เพื่อ “ความรู้”
คนมีความรู้ คนเก่ง (เก่งจริง จะสมัครงาน และมี “ปริญญา” แต่ไม่มี “เส้น ไม่มีสาย เขาก็ไม่รับ เดี๋ยวนี้เขาชอบรับ “เด็กเส้น” เด็กเดี๋ยวนี้เขามีทางออก มีทางหางานทำได้โดยไม่ต้องใช้ความรู้
เด็กเดี่ยวนี้จึงใช้กระดาษสองใบ คือ ปริญญาและเงิน เป็นใบเบิกงานของชีวิต
ความรู้นั้นเป็นเพียงส่วนประกอบ เป็นไม้ประดับของชีวิต...

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ “ไม่ใช่ปัญหา…!”
เพราะปัญหาเป็นอะไรที่สามารถแก้ไขและหาทางออกได้
แต่ทว่า “ระบบการศึกษา” ไทยเป็นอะไรที่ไม่สามารถหาทางออกได้ดังนั้นจึง “มิใช่ปัญหา...”

เราทำได้เพียงแต่ว่า “ทำตัวเองให้เนียน”
ถ้าหากเป็นนักเรียนอยู่ อยู่ในสถานะ “นักเรียน” ก็ทำตัวเองให้เนียนกับความรู้ให้คนอื่นเขาดูเป็นแบบ เป็นอย่าง
แล้วรอวัน รอเวลา รอโอกาส หัวหน้า ผู้บริหาร “ผู้ใหญ่” ที่เนียน ๆ มองเห็น ยกย่อง เชิดชู เปิดประตูให้คนอื่นรู้ถึงความเนียน
ดังนั้น ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจ ต้องให้โอกาส “คนเนียน” ยกย่องคนเนียนให้เป็น Best Practice
เดี๋ยวนี้เขายกย่องคนรวย คนเก่ง (มีปริญญา) กันมาก คน “เนียน” มีน้อยถึงน้อยมาก
นักเรียน นักศึกษาทั้งหลาย เขาฉลาด เขารู้ว่า สังคม “ประชาธิปไตย” เขาควรเลือกเดินอยู่ฝั่งคนน้อยหรือฝั่งคนมาก

คนเนียน เด็กเนียน นักศึกษาเนียนต้อง “เข้มแข็ง” ไม่ย่อท้อ รู้จักสร้างตนเองเพื่อ “รอ” วันที่ผู้ใหญ่ “เนียน ๆ” มองเห็นและให้โอกาส
ผู้ใหญ่เนียน ๆ ในสังคมนี้มีเยอะ มีมาก
วันหนึ่งถ้าท่านเห็น วันนั้นชีวิตเราจะ “เนียน...”


หมายเลขบันทึก: 280399เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2009 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เขียนแบบผู้ด้อยความรู้

การศึกษาคืออะไร   ใครตอบได้

การศึกษาของไทย   จะเอาแบบไหน

การศึกษาของไทย   จะไปทิศทางใด

การศึกษาของไทย   ผู้หย่าย(ใหญ่)ลองลงมาดู

(ดูให้นาน ๆ แล้วก็จะเนียนเอง)

  • ผู้เรียน..ถ้า “เนียน” จริง ต้องสามารถก้มกราบเท้า “ครู” ได้ด้วยใจจริง...ผู้นั้นจะเรียนรู้ด้วย “ความเนียน”...

  • ครูคนใดปฏิบัติ ปฏิบัติตนให้นักเรียนกราบได้ ครูคนนั้น “เนียน...” (สิ่งนี้ต้องใช้ใจวัด)

  • คนเนียน เด็กเนียน นักศึกษาเนียนต้อง “เข้มแข็ง” ไม่ย่อท้อ รู้จักสร้างตนเองเพื่อ “รอ” วันที่ผู้ใหญ่ “เนียน ๆ” มองเห็นและให้โอกาส
    ผู้ใหญ่เนียน ๆ ในสังคมนี้มีเยอะ มีมาก
    วันหนึ่งถ้าท่านเห็น วันนั้นชีวิตเราจะ “เนียน...”

  • เด็กๆ ม.6/5, ม.6/6, ม.6/7, ม.6/8, ม.2/9, ม.2/10

  •  อ่านแล้วคงเข้าใจครูแป๋มมากขึ้นนะคะ...เนียน....

  •  







การศึกษาไทยจะเนียนได้เริ่มต้นที่ตัวเรา

ตัวเรานั้นเป็นทั้งนักเรียนไทย เป็นทั้ง "ครูไทย"

เราไม่สามารถทำให้ใครเนียนได้ เราไม่สามารถทำให้ระบบเนียนได้ แต่เราสามารถทำตัวเราให้เนียนได้

เราเป็นนักเรียนก็เป็นนักเรียนที่ดี เป็นนักเรียนที่เนียน

เราเป็นครูก็เป็นครูที่ดี เป็นครูที่เนียน

เริ่มต้นได้ วันนี้ นาทีนี้ ลมหายใจนี้

เรียนรู้และอยู่คู่กับ "ความเนียน..."

เราต้องตั้งจิต ตั้งจิต ใช้ชีวิต ดำเนินชีวิต “เรียบสนิท เข้ากันได้ดี” กับ "ความรู้"

มองทุกอย่างในชีวิตเป็นโอกาสแห่ง "การเรียนรู้"

เมื่อชีวิตย่างก้าวไม่ว่าจะในห้องเรียน นอกห้องเรียน ทุกย่างก้าวคือ "การเรียนรู้"

ไม่ว่าย่างก้าวในชีวิตจะล้มเหลว ผิดหวัง สำเร็จ สมหวัง ทุก ๆ อย่างนั้น คือ "ความรู้"

ตั้งจิต ตั้งใจไว้ใน "ความรู้"

เอาความผิดเป็นครู นำความรู้ให้อยู่คู่กับประสบการณ์ แล้วศานติสุขจะเกิดขึ้นกับ "การศึกษาไทย..."

คำว่า เนียน ในภาษาถิ่นทางภาคใต้ อาจรวมหมายถึง ทำให้ละเอียด รอบคอบ และดูกลมกลืน เมื่อมาใช้ทางการศึกษา น่าจะสอดคล้องกับสุภาษิต ที่ว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง การเรียนรู้ การศึกษา ต้องซึมซับเนื้อหาแต่ละรายวิชาอย่างถ่องแท้ สามารถนำมาสรุปเป็นความรู้ของตนเองได้ นี่คือ การใช้คำว่า เนียนอย่างแท้จริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท