ใช้ KM เป็นเครื่องมือดำเนินการพัฒนาบุคลากร


สกว. ต้องมี KM Coordinator ระดับปริญญาโท 1 คน ทำงานเต็มเวลา ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการทำ KS (Knowledge Sharing – แลกเปลี่ยนเรียนรู้) ระหว่างพนักงานในระหว่างการทำงานประจำ

ใช้ KM เป็นเครื่องมือดำเนินการพัฒนาบุคลากร

วิจารณ์  พานิช

1 มิ.ย.48

 

          สคส. ได้รับการร้องขอจากองค์กรแม่คือ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ให้ช่วยคิดโมเดลจัดการความรู้     สำหรับใช้ในกิจกรรมพัฒนาบุคลากร   ซึ่งมีอยู่ประมาณ 80 คน    เพราะว่า สกว. กำลังอยู่ระหว่างถูกประเมินในฐานะหน่วยงานที่เป็น กองทุน     ต้องแสดงให้กรมบัญชีกลางเห็นว่าเป็นหน่วยงานกองทุนที่เป็น Learning Organization และมีการดำเนินการ KM     โดยที่กรมบัญชีกลางได้ว่าจ้าง TRIS ให้เป็นผู้ประเมิน     มี KPI (Key Performance Indicators) เรียบร้อย

 

          ผมเสนอแบบทุบโต๊ะเลยว่า   สกว. ต้องมี KM Coordinator  ระดับปริญญาโท 1 คน   ทำงานเต็มเวลา     ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการทำ KS (Knowledge Sharing – แลกเปลี่ยนเรียนรู้) ระหว่างพนักงานในระหว่างการทำงานประจำ

 

          KM Coordinator ก็คือ คุณอำนวย

 

          เดินเรื่อง KM ด้วย KS คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานประจำ     โดยต้องทำให้ไม่เพิ่มงาน   และเกิดผลดีต่อการทำงานประจำ     เกิดการเรียนรู้ของพนักงาน

 

          ผมเรียน รอง ผอ. สกว. (ผศ. วุฒิพงศ์  เตชะดำรงสิน) ว่า     ถ้า สกว. ต้องการแต่เพียงให้ได้ชื่อว่ามีการทำ KM     ต้องการแต่เพียงให้ผ่านการประเมินของ TRIS โดยไม่แคร์เรื่องผลต่อการพัฒนาบุคลากร     ไม่แคร์ผลต่อการพัฒนาองค์กร     ทาง สคส. ก็จะไม่รับเป็นที่ปรึกษาให้     เพราะเราทำงานเพื่อเป้าหมายนั้นไม่เป็น

 

          ผมเป็นคนที่ทำงานแบบหลอก ๆ ไม่เป็น     เป็นนิสัยส่วนตัวครับ

 

          KM ของ สคส. เดินเรื่องด้วย   เรื่องราวของความสำเร็จ   นำความสำเร็จมาเล่าสู่กัน   และสกัด (capture)   ความรู้เพื่อการปฏิบัติ  ที่อยู่ในความสำเร็จนั้น     ออกมาบันทึกไว้เป็น ขุมความรู้ (KA – Knowledge Assets) และสังเคราะห์เป็น แก่นความรู้ (Core Competence) เพื่อการบรรลุ หัวปลา ของบุคลากร   ของหน่วยงานย่อย   และขององค์กร

 

          ตกลงเราจะมีการ  แลกเปลี่ยน,  บันทึก,  และสังเคราะห์ยกระดับความรู้เพื่อการปฏิบัติ         ทำกิจกรรมองค์ 3 (แลกเปลี่ยน  บันทึก  ยกระดับ) ของความรู้อย่างเป็นเนื้อเดียวกับการปฏิบัติงานประจำวัน

 

          คุณอำนวย จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในกิจกรรมองค์ 3 นี้   เพื่อให้ คุณกิจ ของพนักงาน สกว. ไม่เกิดการเพิ่มงาน   ไม่รู้สึกเป็นภาระเพิ่มขึ้น   แต่รู้สึกว่ามีความคึกคักขึ้น   การทำงานสนุกและน่าภาคภูมิใจมากขึ้น

 

          คือเมื่อทำงานไป   ทุกคนก็จะเอา ของดี มาอวดกันเป็นระยะ ๆ     ของดี ก็คือผลสำเร็จของงาน

 

          คุณอำนวย จะเป็นผู้สร้างบรรยากาศให้การอวด ของดี เป็นความภาคภูมิใจของผู้มี ของดี มาอวด   และเป็นความชื่นชมของผู้ได้เรียนรู้จาก ของดี ของเพื่อน

 

          แต่ ของดี ต้องไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอยหรือไม่มีกติกา   ต้องมีกติกาในการกำหนดว่าอะไรคือ ของดี     กติกาก็คือ   ต้องเป็นของดีเพื่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร

 

          ของดี คือ   ผลสำเร็จเพื่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร   ในการทำงานจนบรรลุผลสำเร็จ   จะต้องมีความรู้ที่เป็นความรู้เพื่อการปฏิบัติ

 

          เป้าหมายขององค์กร   ก็คือ หัวปลา ซึ่งจะต้องมีทั้ง หัวปลาใหญ่   หัวปลาเล็ก   ที่ว่ายน้ำไปในทิศทางเดียวกัน   ตาม โมเดลปลาตะเพียน ไงครับ

 

          งงหรือครับ    ถ้าท่านงง   แสดงว่ายังเป็นมือใหม่ในวงการ KM   ให้เข้าไปอ่านบทความในเว็บไซต์ www.kmi.or.th หรือ อ่านหนังสือ จัดการความรู้  ฉบับมือใหม่หัดขับ   เขียนโดย ดร. ประพนธ์  ผาสุขยืด  ก็ได้

 

          คุณเอื้อ (CKO – Chief Knowledge Officer) และผู้บริหารสูงสุด (CEO – Chief Executive Officer) จะต้องเข้ามาร่วมแจมด้วย   โดยการทำให้เป้าหมายขององค์กรมีความชัดเจนทั้งในเชิงนามธรรมและรูปธรรม   และชัดเจนในหลากหลายบริบท   รวมทั้งโยง หัวปลา ขององค์กรเข้ากับ หัวปลา ของ KM   นี่คือบทบาทในการทำให้ KV (Knowledge Vision) ชัด    โดยการจัดหรือส่งเสริมให้มีการจัดกระบวนการเพื่อให้พนักงานร่วมกันตอบคำถามว่า ความรู้ด้านไหนบ้างที่เป็นหัวใจในการบรรลุความสำเร็จขององค์กร  ซึ่งก็คือการกำหนด แก่นความรู้ (Core Competence)  ภาพใหญ่ขององค์กร  นั่นเอง

 

          KM เป็นการทำงานจากหลากหลายทิศทาง   มาบรรจบกันที่จุดเดียวคือ   ความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กร

 

          KM เดินเรื่อง แก่นความรู้ อย่างน้อยก็จาก 2 ทิศทาง   คือ

          - จากระดับจุลภาค   เอาความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเล่าสู่กันฟัง   สกัดออกมาเป็นขุมความรู้   และสังเคราะห์หลาย ๆ ขุมความรู้ขึ้นเป็นแก่นความรู้

          - จากระดับมหภาค     เอาเป้าหมายขององค์กรเป็นตัวตั้ง   ช่วยกันกำหนดแก่นความรู้ที่ต้องการเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น

 

 

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน 3 เวที

          สกว. ควรกำหนดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวของความสำเร็จอย่างน้อยใน 3 เวที

          1. การพูดคุยกันส่วนตัว   ในวงสนทนา   วงกาแฟ

          2. การบันทึกลง blog   สกว. ต้องกำหนดใน Job Agreement ว่าพนักงานทุกคนต้องบันทึกเรื่องราวและวิธีทำงานที่ตนเห็นว่าเป็นความสำเร็จ   หรือน่าภาคภูมิใจ   ลงใน blog ของตน     อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง   ผู้ที่บันทึกบ่อยและมีคุณภาพ   มีความรู้ที่มีพลัง   จะได้รับรางวัลทุกเดือน

          3. เวทีประชุม   เช่นการประชุม RM (Research Management)

 

          คุณอำนวย จะทำหน้าที่เชื่อมโยงทั้ง 3 เวทีนี้ให้เกิด synergy ระหว่างกัน   และเกิดความสนุกสนาน   ภาคภูมิใจ

 

          เคล็ดลับภาคปฏิบัติมีมากครับ   คงสาธยายไม่หวาดไหว

 

 

คุณอำนวย ทำอะไรบ้าง

          คุณอำนวย ต้องทำงานเต็มเวลา   และต้องคอยรายงานและขอคำแนะนำจาก คุณเอื้อ  และผู้ร่วมงาน (คือพนักงานทุกคน) ของ สกว.  อยู่ตลอดเวลา   ภารกิจหลัก ๆ มีดังต่อไปนี้

1.      จัด workshop หรือ ตลาดนัดความรู้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวของความสำเร็จ   สำหรับสกัด ขุมความรู้ และสังเคราะห์เป็น แก่นความรู้

2.      เอา ขุมความรู้ และ แก่นความรู้ ขึ้นเว็บไซต์  และ blog ขององค์กร   ให้พนักงานเข้าดูได้สะดวก

3.      คอยปรับปรุง ขุมความรู้ และ แก่นความรู้ อยู่ตลอดเวลา

4.      จัดให้มี ขุมความรู้ และ แก่นความรู้ ของ ปลา หลายขนาด   ทั้ง แม่ปลา  และ ลูกปลา    โดยที่เจ้าของ ขุมความรู้ และ แก่นความรู้  ควรเป็นผู้ร่วมกันปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา

5.      ทำหน้าที่เป็น blog manager เพื่อดูดจับและยกระดับความรู้   และให้รางวัลแก่ คุณกิจ นักแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน blog    เรื่องนี้จะมีรายละเอียดและเคล็ดลับมาก   ขอยังไม่เล่า

6.      รับข้อเสนอแนะเรื่อง KM จาก คุณกิจ มาปรึกษา คุณเอื้อ เพื่อดำเนินการ

7.      หาทางเชื่อมโยง KM ของ สกว. ไปยัง node, ภาคี,  และพันธมิตรของ สกว.

8.      จัด Training Workshop เป็นกิจกรรมเสริม   ตามข้อเสนอแนะของ คุณกิจ

9.      จัด มหกรรมความรู้เพื่อการจัดการงานวิจัยร่วมกับพันธมิตรของ สกว.

10.  หน้าที่อื่น ๆ ที่จะคิดออกเมื่อปฏิบัติงานจริง

 

       

  ผมคิดว่าทุกองค์กรที่ต้องการเป็น LO (Learning Organization) สามารถนำโมเดลนี้ไปปรับใช้ได้

ทั้งสิ้น     โดยจะต้องปรับรายละเอียดให้เหมาะสมต่อภารกิจขององค์กรนั้น ๆ

 

                                                                                      วิจารณ์  พานิช

                                                                                         1 มิ.ย.48

 

หมายเลขบันทึก: 28เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2005 07:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ที่ Microsoft พนักงานเกือบ 1500 คนมีบล็อค และตอนนี้การเขียนบล็อคก็เป็นตำแหน่งงานใหม่ล่าสุดขององค์กรเอกชนไปแล้ว เช่น ตำแหน่ง Chief Blogger ซึ่งทำหน้าที่เขียนบล็อคหลากหลายบล็อคให้บริษัท เช่น เขียนบล็อคเกี่ยวกับบริษัทเพื่อสื่อสารสัมพันธ์กับลูกค้า เป็นต้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท