ปลายปี 2543 น้ำท่วมหาดใหญ่ คนสงขลาใช้วิทยุในสงขลา และใช้สถานที่ในสงขลาในการประสานงานช่วยเหลือน้ำท่วมหาดใหญ่ น้ำท่วมคืนแรก วิทยุก็เริ่มเปิด 24 ชั่วโมง เป็นผลจากการตัดสินใจที่ฉับไวของผู้ที่ปฎิบัติงาน (เสียดายที่ผมไม่ได้บันทึกข้อมูลรายละเอียดไ้ว้ ไม่กล้าลงรายละเอียด เพราะคงผิดพลาดเยอะ จำได้แต่ว่าเป็นคลื่น FM เก้าสิบกว่า ๆ อะไรสักอย่าง) เป็นการเปิดบทแรกให้คนท้องถิ่นเริ่มเห็นศักยภาพของวิทยุชุมชน
ทำไมผมไม่กล่าวถึงสื่อทีวี ?
เหตุผลคือ ในช่วง 2-3 วันที่การช่วยเหลือเหมือนการดิ้นรนเอาชีวิตรอดในความมืดนั้น ทีวีกำลังติดตามข่าวอีกซีกโลกหนึ่งอย่างเข้มข้น รายนาที เกี่ยวกับการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ที่ฟลอริดา ที่ทำให้บุชเป็นประธานาธิบดีอย่างฉิวเฉียดไม่กี่ร้อยคะแนนเสียง และความสนใจรอง เกี่ยวกับนักโทษแหกคุกหรือการจี้อะไรสักอย่าง ที่ถ่ายทอดสดกันได้อย่างน่าตื่นเต้น โดยมีข่าวเพียงไม่กี่วินาทีว่ามีน้ำท่วมที่หาดใหญ่ และมีภาพข่าวย้อนยุคมีคนเดินลุยน้ำเล่น ชวนให้นึกว่าใครนะ ดัดเจริตพาดหัวข่าวหวือหวาเกินเหตุ น้ำท่วมนิ้วเดียวเอง (นั่นคือภาพที่คนที่อื่นเห็นจากโทรทัศน์ แต่คนในพื้นที่แปลให้ฟังว่า หมายถึงชูมือขึ้นให้สุด จะมีนิ้วเดียวโผล่เหนือพื้นผิวน้ำ)
ธค 2548 ก็เป็นวิกฤติน้ำท่วมอีกครั้งหนึ่ง ที่วิทยุชุมชนมีบทบาทเป็นอย่างสูงในการที่ช่วยเหลือท้องถิ่น โดยที่คนจะลืมไปเลยว่า ทีวีก็เป็นสื่อมวลชน คราวนี้เป็นคลื่น FM 88 MHz มอ เป็นหลักในช่วงต้น และมีคลื่นอื่นรับช่วงต่อในภายหลัง ในบริเวณที่มีปัญหานั้น ๆ โดยตรง ส่วนสื่อทีวี ลดบทบาทตัวเองเป็นเพียง PR ของกิจกรรมเก็บตกหลังงานเลิก
ในช่วงเดียวกันนี้ บทบาทวิทยุท้องถิ่นที่จังหวัดยะลาก็ได้รับการกล่าวขานภึงว่าเป็นจุดศูนย์กลางการประสานงานช่วยเหลือช่วงน้ำท่วมได้ดี
ในช่วงเดือนเมษายน 2549 วิทยุชุมชนอีกแห่ง (คลื่น FM97) ก็เปิดบทใหม่ให้กับชุมชนว่า วิทยุไม่ได้มีไว้สำหรับน้ำท่วมอย่างเดียว แต่มีไว้สำหรับการเมืองภาคประชาชนได้ด้วย ท่าที-จุดยืน จะถูกหรือจะผิด แล้วแต่ว่าใครเป็นผู้ตัดสิน แต่ระดับความสั่นสะเทือนของผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถมองข้าม
บทต่อไปของคลื่นวิทยุชุมชน จะเป็นอย่างไร จะทำให้นิยามคำว่า สื่อมวลชน เปลี่ยนไปอย่างถอนรากถอนโคนหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การจับตามอง