พนมกับพนมเปญ


พนมเปญ

<!-- /* Font Definitions */ @font-face {font-family:"Angsana New"; panose-1:2 2 6 3 5 4 5 2 3 4; mso-font-charset:0; mso-generic-font-family:roman; mso-font-pitch:variable; mso-font-signature:16777219 0 0 0 65537 0;} /* Style Definitions */ p.MsoNormal, li.MsoNormal, div.MsoNormal {mso-style-parent:""; margin:0cm; margin-bottom:.0001pt; mso-pagination:widow-orphan; font-size:12.0pt; mso-bidi-font-size:14.0pt; font-family:"Times New Roman"; mso-fareast-font-family:"Times New Roman"; mso-bidi-font-family:"Angsana New"; mso-fareast-language:EN-US;} @page Section1 {size:595.3pt 841.9pt; margin:72.0pt 90.0pt 72.0pt 90.0pt; mso-header-margin:36.0pt; mso-footer-margin:36.0pt; mso-paper-source:0;} div.Section1 {page:Section1;} -->

พนม กับพนมเปญ

 

            เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ ผมไม่เคยไปพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชามาก่อนเลย ที่จริงเมื่อตอนยังมีตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเรื่องง่ายมากที่จะไปเยี่ยมเมืองหลวงของประเทศใดๆ ในกลุ่มอาเซียน เพราะเรามีเครือข่ายอาเซียนทางการศึกษาที่เรียกว่า SEAMEO (South East Asia Ministry of Education Organization) เป็นหน้าที่ด้วยซ้ำไปที่จะต้องไปเยี่ยมเยือนซึ่งกันและกัน แต่ผมกับพนมเปญมีอันต้องแคล้วคลาดกันเสมอ คงเป็นด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ค่อยราบรื่นนัก กับโอกาสไม่ค่อยอำนวย แต่อยู่ดีๆ ดร.ธงชัย  ชิวปรีชา อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ก็บอกว่าอยากจะชวนไปเที่ยวเขมร ไปกับ Mr.Akio ชาวญี่ปุ่น คนนี้เคยพาผมไปญี่ปุ่นไปดูงานเรื่องลูกคิดมาแล้วหนึ่งครั้ง

                Mr.Akio เป็นคนสนใจเรื่องการศึกษาเป็นประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Education for Development Foundation)  ในระดับนานาชาติ ตั้งมูลนิธิแม่อยู่ญี่ปุ่นมีมูลนิธิสาขาอยู่ที่ไทย เขมร และลาว  เคยทำโครงการสอนเด็กไทยใช้ลูกคิดและจัดหาทุนเพื่อการศึกษาในชนบทไทยปีหนึ่งนับร้อยทุน เมื่อคิดจะไปช่วยเขมร เขาจึงขยายมูลนิธิไปตั้งที่นั่น

                Mr.Akio ชวนผมไปเล่นกอล์ฟระหว่างตีกอล์ฟก็เล่าโครงการให้ฟังว่าอยากไปช่วยเขมรพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะด้านการบริหาร  วิธีการก็คือจะจัดโปรแกรมปริญญาโททางการบริหารการศึกษาโดยพัฒนาหลักสูตรกับมหาวิทยาลัยไทยทำเพื่อเขมรโดยเฉพาะใช้คนไทยสอน แต่ไปสอนที่เขมรเขาเห็นว่าผมและช.อ.ศ. น่าจะช่วยเขาได้ เพราะเรามีเครือข่ายและสมาชิกมากโดยเฉพาะเขาคิดว่าผมคงติดต่อผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถแต่เกษียณแล้วไปช่วยสอนได้  ผมฟังแล้วก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและท้าทายมากเลยตกลงใจไปกับเขา

                เช้า 15 มิถุนายน 2552 ได้ฤกษ์เดินทางตามนัดหมายของการบินไทยเวลา 07.50 น. ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 10 นาทีถึงพนมเปญ การเดินทางเที่ยวนี้สะดวกสบายเพราะเขาให้นั่งชั้นธุรกิจ ผมตื่นเต้นตอนเครื่องใกล้ลง ท้องฟ้าแจ่มใส เห็นมหานทีแม่โขงแยกเป็นสายใหญ่ๆ 4 สาย บ้านเรือนตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำ แม่น้ำกว้างใหญ่กว่าเจ้าพระยาหลายเท่า เห็นพื้นดินเป็นสีแดง ที่สนามบินต้องทำวีซ่าก่อนเข้าเมืองเสียเงินไปราวๆ 50 เหรียญ แต่ไม่เป็นไรเพราะไม่ได้จ่ายเอง ที่จริงไปเที่ยวนี้ผมไม่ได้ใช้เงินตัวเองแม้แต่บาทเดียว ยกเว้นจ่ายค่าแท็กซี่ขากลับเข้าบ้านเท่านั้น จากสนามบินไปโรงแรมเขาให้พักโรงแรมห้าดาวอย่างดีชื่อ Raffle hotel เข้าโรงแรม 10 นาทีก็ออกไปที่กรมอุดมศึกษา (Higher Education) ที่นี่เป็นภารกิจแรกที่ไปพบเจ้าหน้าที่เจรจาเรื่องโครงการ หน้าที่ผมคือให้การรับรองว่าถ้าเกิดโครงการนี้จริง ผมจะให้ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรและจัดหาผู้สอนให้ เนื่องจากเป็นการเจรจากับเจ้าหน้าที่จึงยังไม่มีข้อตกลง ดูเจ้าหน้าที่ก็สนใจดี

                ตอนบ่ายไปพบ Secretary of State เขาบอกว่าเทียบได้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นตำแหน่งการเมือง ถ้าเทียบของไทยคล้ายๆ Permanent Secretary   เขาบอกว่าปลัดกระทรวง แต่ของเราเป็นข้าราชการประจำ ห้องทำงานเขาเป็นห้องไม่ใหญ่มีโต๊ะประชุมด้วย เทียบกับห้องปลัดกระทรวงเราไม่ได้ คนที่ไปพบชื่อ ดร.นาท  บุญเรือน ชื่ออย่างนี้จริงๆ เมื่อแนะนำตัวว่าผมเคยเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการของไทย ดูเขาจะให้ความเกรงใจ โอภาปราศรัยดี การเจรจาเป็นเรื่องของญี่ปุ่นกับเขมรมากกว่า เสร็จแล้วไปเยี่ยมมหาวิทยาลัย Royal University of Phnom Penh เจรจาความกันจนมืดค่ำจึงล่ำลากลับ

                วันรุ่งขึ้น (ที่ 16 มิ.ย.) ไปเยี่ยมสถานทูตไทยพบท่านทูตพูดคุยกันอย่างดี ท่านทูตบอกจำผมได้แต่ผมจำท่านไม่ได้ กลางวันร่วมรับประทานอาหารกลางวันอย่างเป็นทางการกับทูตญี่ปุ่นและทูตไทยประจำเขมรพร้อมๆ กัน จิบไวน์คนละ 2 แก้ว พอแก้มแดง บ่าย 4 โมงเย็นไปเจรจาความที่ Department of Higher Education ต่อ เป็นอันว่าจบการเจรจาธุรกิจ แต่ยังไม่มีคำตอบว่าข้อเสนอของเราเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่แสดงความสนใจ แต่ผู้ใหญ่ขอให้ทำโครงการเสนอไปอีกครั้ง Mr.Akio ก็เลยพูดเหมือนยื่นคำขาดว่า ถ้าไม่สนใจก็ไม่เป็นไร เราจะไปทำที่อื่นต่อ เป้าหมายเราอีกที่หนึ่งคือลาว ประเทศเพื่อนบ้านอีกประเทศหนึ่ง

                ไปพนมเปญครั้งนี้ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนเลย ได้แต่นั่งรถเข้าห้องประชุม เข้าร้านอาหาร แล้วก็เข้าโรงแรมอาบน้ำเข้านอน ถึงกระนั้นก็คิดว่าได้เห็นบ้านเมืองพอสมควร สิ่งแรกที่เห็นคือพนมเปญเจริญกว่าที่เคยเห็นในภาพยนตร์หรือในข่าวสารคดีมาก คนเขมรใช้รถราคาแพง ผมเห็น LEXUS วิ่งอยู่ดาษดื่น ไม่เห็นรถเก๋งคนเล็กๆ แบบบ้านเรา ปิกอัพก็มีไม่มาก ถนนหนทางกว้างขวางแต่ไม่ค่อยตีเส้น เลยหาแถวไม่ค่อยเจอ รถวิ่งไม่เร็ว ทำให้มีเวลาชมบ้านชมเมือง ผมพยายามแกะตัวหนังสือเขมร ก็แกะได้พอสมควร สังเกตให้ดีจะมีความเหมือนกับอักษรไทยโบราณและอักษรลาว บางตัวก็เหมือนกันเช่น ก.ไก่ เป็นต้น ผมเห็นทะเบียนรถเขียนอย่างนี้ เกาะกง ผมถามคนเขมรว่าอ่านว่าเกาะกงใช่ไหมเขาตอบว่าใช่ แถมชมว่าผมเก่งที่จริงไม่เก่งเลยเขียนเหมือนกันทุกประการ บ้านเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อยพอสมควร มีกิจการของไทยและประเทศอื่นๆ อยู่มาก เช่น ผมเห็นมีปั๊ม ปตท.อยู่ทั่วไป เห็นธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ถนนหลักๆ เขาไม่มีเสาไฟฟ้าให้เกะกะคงเอาลงดิน

                เสร็จภารกิจแล้วมื้อเย็นราว 2 ทุ่มไปรับประทานอาหารชื่อร้าน Mali คิดว่าเป็นร้านอาหารไทย แต่ไม่ใช่เจ้าของเป็นเยอรมันถามเขาว่าแปลว่าดอกไม้ใช่ไหม เขาตอบว่าเป็นชื่อดอกไม้ ผมคิดว่าเป็นมาลี แต่ที่จริงคือ มะลิ ดอกมะลินั่นเอง มื้อนี้เขาสั่งเนื้อควายอบมากินกัน ผมกินไม่ลง คิดถึงอดีตวัยเยาว์เคยเป็นเด็กเลี้ยงควายทำให้นึกสงสาร

                เสียดายมีเวลาจำกัดอยู่ได้ 2 วัน 2 คืนเต็มวันที่ 3 ก็เดินทางกลับ ต้องหาทางไปใหม่ให้ได้ ไปอีกทีอาจไปสอนครูเขมรเลยก็ได้ไม่แน่เหมือนกัน

(ดร.พนม  พงษ์ไพบูลย์)

ประธาน ช.อ.ศ.

กรรมการที่ปรึกษา EDF

หมายเลขบันทึก: 278438เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท