จับภาพ สถาบันบำราศนราดูร (ตอนที่ 2)


คนที่ป่วยด้วยกันเองจะเข้าใจปัญหา เห็นอกเห็นใจกันและยอมรับฟังความคิดเห็นกันมากกว่าคนไม่ได้อยู่ในสภาพเดียวกับตน

       จากฉบับที่แล้ว จับภาพ สถาบันบำราศนราดูร (ตอนที่ 1)

     

         จากนั้นก็ได้เวลาที่ดิฉันและทีมงานประชาสัมพันธ์นัดสัมภาษณ์ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร  ณ ตึกอำนวยการชั้น 3 ทีมจับภาพได้มีโอกาสพบคุณจันทรา เมฆาวัฒน์ เลขาศูนย์พัฒนาคุณภาพ (มีชื่อเล่นว่าพี่มอม) ซึ่งพี่มอมได้ให้ข้อมูลว่า “สถาบันฯ เราพึ่งจะได้การรับรอง HA (Hospital Accreditation) ซึ่งทีมงานก็พึ่งเสร็จสิ้นภารกิจนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราซึ่งได้แก่ พี่มอม คุณชนกพรรณ และทีมงานอีก 2คน เคยได้รับการอบรมจาก ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด ที่ ม. ธรรมศาสตร์  ทำให้ได้รับความรู้และเข้าใจในเรื่องการจัดการความรู้มากขึ้น ดังนั้นหลังจากที่ได้การรับรอง HA  แล้ว ในขณะนี้เราจะดำเนินงานต่อคือการเริ่มใช้การบันไดแห่งการเรียนรู้และธารปัญญาในเรื่องของ ความคลาดเคลื่อนทางยา เป็นเรื่องแรก  โดยการคิดตามตัวประเมิน 6 ข้อ สู่การจัดทำบันไดแห่งการเรียนรู้ เพื่อจัดกลุ่มผู้ให้กับผู้เรียนรู้ และทางเราก็ได้มี Blog คือ www.gotoknow.org/BIISOHA เพื่อใช้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกช่องทางหนึ่ง” และ พญ. นภา จิระคุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านแผนงาน ได้ให้ข้อมูลว่า “เข้าใจว่า KM เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน แต่กิจกรรมที่หนึ่งที่ทำคือ.... การ Code โรค อันได้แก่โรคเฉพาะทาง โรคเอดส์ โรคผิวหนัง โรคที่เกี่ยวกับเด็ก โดยให้พยาบาลสอนเจ้าหน้าที่ที่มีวุฒิแค่ ปวช. ซึ่งการสอนเป็นลักษณะพี่สอนน้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถจำ Code โรคได้เพื่อใช้ในการทำงานและอยากจะนำวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้มาใช้กับพยาบาลคนอื่นๆ ในหน่วยงานของตน” และทางทีมงานก็ได้สัมภาษณ์ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร คือ  รศ.พญ. อัจฉรา เชาวณิช คุณหมอได้เล่าว่า “สาเหตุที่ต้องนำเครื่องมือ KM เข้ามาช่วยในสถาบันฯ โดยเริ่มจากการการบังคับตนเองในฐานะผู้บริหารสถาบันฯ ในปี’37ได้เข้าไปเรียนกับอาจารย์ชาวต่างชาติ เพื่ออยากเรียนรู้ฐานของการคิดและการได้รับการอบรมในการบริหาร TQM, QCC จากมหิดล และ ในปี’40 ที่คุณหมออนุวัฒน์นำ HA เข้ามา และเราได้จัดทำเพื่อให้ได้ HA  เมื่อเราได้การรับรอง HA ในปีนี้ 2549 เราก็ได้รับทราบว่ากรมเข้าใน กพร. และทางกพร. กำหนดว่า KM ต้องเป็นอยู่ใน Blue print for change ของทุกกลยุทธ์ นั่นคือความจำเป็นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องตอบคำถาม กพร. และ KM เป็นส่วนสำคัญของ HA ด้วย  เราจึงพยายามทำงานชิ้นเดียวและเราต้องผ่านการทดสอบนี้ให้ได้ นั่นคือเราได้งานแล้วและ activity ต่อไปคือเราต้องขับเคลื่อนให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีของทีมงานในสถาบันฯ และสนใจที่จะนำกระบวนการ KM เข้ามาใช้ช่วยในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคน และคิดว่าการนำ KM มาใช้จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า และคลังความรู้ได้จัดเก็บไว้ในห้องสมุดและเป็นคนแรกในสถาบันฯ ที่สมัคร Blog คือ www.gotoknow.org/achara และนำไปเผยแพร่ให้กับเจ้าหน้าที่ในสถาบันฯ ”

         หลังจากทานอาหารกลางว้นแล้วเราได้เริ่มกิจกรรมภาคบ่ายโดยกิจกรรมแรกคือฺ Bed sore,การใช้หนอนรักษาแผล ที่ตึก  5/4 IPD เราได้การต้อนรับจากคุณณัฐนันท์ หาญณรงค์ พยาบาลประจำตึก  5/4 IPD ได้พาชมการสาธิตใช้หนอนรักษาแผลผู้ป่วยคนหนึ่งที่มีแผลกดทับ และเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ซึ่งจะพบในกลุ่มผู้ป่วยที่สูงอายุและเป็นอัมพาธ หลังจากชมการสาธิตเสร็จสิ้น เราก็ได้พูดคุยถึงความเป็นมาในการนำหนอนรักษาแผล ซึ่งคุณณัฐนันท์ หาญณรงค์ ได้ให้ข้อมูลว่า นายแพทย์บัญชร  ศิริพงศ์ปรีดา  เป็นผู้นำวิทยาการนี้เข้ามาใช้ในสถาบันฯ โดยเริ่มจากทดลองใช้กับผู้ป่วยเอดส์ตึก 7 ในเดือนตุลาคม 48 และพบว่าได้ผลดี ซึ่งวิธีการรักษาด้วยหนอนบำบัด (Maggot Therapy)  จะนำมารักษากับการรักษาบาดแผลคนไข้ที่มีการเรื้อรัง ซึ่งหนอนชนิดนี้เราจะสั่งซื้อและนำมาใช้เลย ซึ่งจะแพ็คเป็นถุงๆ  และในการบำบัดอาจมีการบำบัด 2- 3 ครั้งในรายที่บาดแผลไม่ใหญ่ หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะบาดแผลของผู้ป่วย  และการนำหนอนมาบำบัดนี้ หนอนเหล่านี้จะผลิตเอนไซม์เพื่อช่วยในการย่อยเซลล์ของเนื้อเยื่อที่ตายแล้วและดูดส่วนที่ย่อยแล้วไปเป็นอาหารซึ่งหนอนแมลงวัน (Maggot) เหล่านี้จะย่อยสลายเฉพาะเนื้อเยื่อที่ตายแล้วเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าเอนไซม์มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียในบาดแผล และทำให้แผลสะอาด ลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ของแผล และข้อดีอีกประการคือการกระตุ้นให้เกิดการสร้างเสริมเซลล์เนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ ” เป็นที่น่าเสียดายที่เราอดสัมภาษณ์คุณหมอบันชร เนื่องจากท่านติดภารกิจในห้องผ่าตัด (สามารถอ่าน เรื่องของหมอและหนอน)

      กิจกรรมต่อไปคือการเข้าสังเกตการณ์การประชุมกลุ่มผู้ป่วย ARV (Anti Retro Viral)  ตึก1 ชั้น 2 ห้อง 5 เมื่อเราเข้าห้องประชุมเราได้พบคุณพรศิริ เรือนสว่าง ซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการประชุมในขณะนั้น เราได้ข้อมูลหลังจากนั้นว่า กลุ่มที่มาประชุมครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 2 แล้ว และเกิดการรวมกลุ่มจากการพบกันหลังจากได้รับการอบรมจากพยาบาลในเรื่องการดูแลตนเองและได้รับยาต้านไวร้ส ซึ่งในการประชุมทุกครั้งจะเป็นเวลาหลังจากพบแพทย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนหลังจากใช้ยาต้านไวรัส ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีผลเช่นไรเมื่อใช้ยา และจะปฏิบัติตนเช่นไร ซึ่งเป็นการประชุมในลักษณะเพื่อนบอกเพื่อน ซึ่งในการประชุมวันนี้เป็นการนั่งล้อมวงซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมเต็มทุกที่นั่ง มีบางรายเป็นผู้ป่วยที่ได้รับยาครั้งแรกมาเล่าประสบการณ์ของตนหลังจากใช้ยาต้านไวรัส บางรายเป็นญาติของผู้ป่วยก็มารับฟังคำแนะนำเพื่อนำไปปฏิบัติใช้กับผู้ป่วย ในการประชุมครั้งนี้ดิฉันได้แง่คิดว่า คนที่ป่วยด้วยกันเองจะเข้าใจปัญหา เห็นอกเห็นใจกันและยอมรับฟังความคิดเห็นกันมากกว่าคนไม่ได้อยู่ในสภาพเดียวกับตน
       หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมการนำเสนอการประชุมของกลุ่มกุมารเวช ชั้น 3 ตึกอำนวยการ โดยเราได้พบพญ. รุจนี สุนทรขจิต หัวหน้ากลุ่มกุมารเวช ท่านได้ให้เกียรติเราในการนำเสนอด้วยตัวเองในเรื่องการดูแลผู้ป่วยเด็กเอดส์ที่ได้รับยา ARV ตัวอย่าง ซึ่งจะมีการประชุมในกรณีศึกษาทุกวันพุธช่วงทานข้าวกลางวัน ซึ่งวันนี้ก็เลยนำภาพของพุธที่ผ่านมาเสนอแก่ทีมงานจับภาพ ซึ่งคุณหมอได้เล่าว่า “ได้มีการสรุปทบทวนกิจกรรมทางคลินิก ( PCT กุมาร) และในบางครั้งองค์ความรู้ที่ขาดก็ได้ดำเนินการเชื่อมโยงกันระหว่างวิชาชีพอื่น เช่น หมอผิวหนัง เภสัช ในสถาบันฯ  เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่สมบูรณ์ขึ้น” และในการนี้คุณหมอได้กรุณานำสรุปบันทึกการประชุมให้ทีมงานจับภาพดู และบอกว่า เป็นข้อมูลเปิดเผยในกลุ่มงานเพื่อให้ทุกคนได้รับทราบและปฏิบัติตาม
        และกิจกรรมสุดท้ายคือ Micro after talk ของกลุ่มเทคนิคการแพทย์ ได้รับการต้อนรับจากคุณบุญช่วย เอี่ยมโภคลาภ หัวหน้าเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ ได้นำเสนองานของกลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ในส่วนการจัดการความรู้ของกลุ่มจุลชีววิทยา ได้เลือกหัวข้อการประชุมพัฒนาคุณภาพประจำวัน เป็นการประชุมร่วมกันของบุคลากรทุกคนในหน่วยงานจุลชีววิทยา กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ มีจำนวน 17 คน มีการประชุมทุกวัน เวลาประมาณ 15.45-16.00 น.

สาเหตุเนื่องมาจากเกิดปัญหาหน้างานบ่อยครั้ง และแก้ไขเฉพาะหน้างาน ไม่ได้แจ้งให้คนอื่นรับทราบ ไม่มีการบันทึก บ่อยครั้งที่ไม่ได้แก้เชิงระบบ ทำให้ปัญหาเดิมเกิดซ้ำอีก

เป้าหมาย เพื่อสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน  แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาการเกิดซ้ำ เพื่อให้มีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดการกล้าแสดงออกและรับผิดชอบ สร้างภาวะผู้นำ สร้างวัฒนธรรมการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้  

วิธีการ เจ้าหน้าที่ทุกคนมาร่วมประชุมพร้อมกัน ไม่ได้ค้นหาว่าใครผิด เราจะแก้ไขอย่างไร มีการกำหนดประธาน เลขา และในระยะหลังทุกคนสามารถเป็นประธานและเลขาได้ มี Check List 27 ข้อ ซึ่งประธานก็พูดตาม Check List และเลขาจะจดรายละเอียด ปัญหา การแก้ไข ของการรายงานของเจ้าหน้าที่ และมีการจัดเก็บข้อมูล (ภาพถ่าย) ได้นำข้อมูลภาพของงานในกลุ่มใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์กลาง ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกคน  องค์ความรู้ที่ขาดคือ การจดบันทึก”
ผลิตผลที่เกิดขึ้นในการประชุม คือ

  • แนวทางแก้ปัญหา
  • Innovation (การสร้างตู้ย้อมสี, One Specimen One Box ได้แนวคิดจากการไปซื้อของที่คาร์ฟู, การทำเครื่องเกลี่ยเชื้อ)
  • Interesting Case
        หลังจากการนำเสนอแล้ว เราก็ได้เวลาที่ Micro after talk ของกลุ่มเทคนิคการแพทย์ เมื่อไปถึง บรรยากาศในห้องประชุมมีความเป็นระเบียบ ห้องสะอาดและไม่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ และเมื่อถึงเวลาการประชุม ได้เห็นภาพภาวะผู้นำ ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนกล้าที่จะเสนอความคิด กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดในสิ่งที่ตนทำและระดมความคิดในกลุ่มหาทางแก้ไข ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นเรื่องที่ดีถ้าเกิดกลุ่มคนลักษณะนี้ในทุกองค์กร และทุกแห่งในประเทศไทย

สามารถเข้าไปดูรายละเอียดของสถาบันบำราศนราดูรได้ที่ http://www.bamras.org

หมายเลขบันทึก: 27810เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2006 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้รับประโยชน์ในการมองภาพภายในสถาบันบำราศนราดูรที่คนภายนอกไม่สามารถเห็น เช่นสไตล์การทำงาน  เป็นต้น (อ่านตอน1 มาแล้วค่ะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท